หลายคนได้ยินคำว่า 'ไฟเซอร์' กับ 'โมเดอร์นา' แล้วอาจจะปวดใจ เพราะรู้สึกว่าเป็นวัคซีนที่หายากหาเย็นเหลือเกิน แม้จะดี แม้จะมีเงิน ก็ไม่อาจซื้อหามาฉีดได้
.
แต่รู้ไหมครับว่า น่าจะมีผู้หญิงคนหนึ่งปวดใจมากกว่าใครๆ เวลาพูดถึงสองชื่อนี้ เพราะเธอคือผู้ที่เป็น 'ตัวเชื่อม' ของทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักเธอเท่านั้นเอง และถ้าจะว่าไป จะถือว่าเธอเป็น 'เจ้าแม่' แห่งวัคซีน mRNA ก็เห็นจะได้
.
ย้อนกลับไปในทศวรรษ 90s เคยมีแนวคิดเรื่องฉีด mRNA เข้าไปในร่างกายแล้วทำให้มันสร้างภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว แต่คนสำคัญที่บุกเบิกเรื่องนี้จริงๆ นานหลายทศวรรษ ก็คือผู้หญิงคนนี้ที่มีชื่อว่า คาทาลิน คาริโค (Katalin Karikó)
.
เธอเป็นชาวฮังการีที่มาอยู่อเมริกา แล้วก็สนใจเรื่องนี้มาก ในตอนนั้นสนใจเพราะคิดว่า mRNA จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็งได้ แต่ในตอนนั้น เธอ 'มาก่อนกาล' มากๆ จึงแทบไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากใครเลย ในยุคนั้น แนวคิดเรื่องการใช้ mRNA มาต่อสู้กับเชื้อโรค ยังเป็นเรื่องคนตามไม่ทัน จึงไม่มีการให้ทุนทั้งจากรัฐบาล จากบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง จะได้ทุนจากมหาวิทยาลัยก็นิดๆ หน่อยๆ
.
ในปี 1990 เธอเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เธอพยายามจะขอทุนมาศึกษาเรื่อง mRNA ที่ใช้ในการรักษาโรค และได้ทุนก้อนเล็กๆ ก้อนแรกมา ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นงานวิจัยหลักในชีวิตของเธอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะได้ทุนก้อนต่อๆ มาตามที่หวัง งานของเธอก้าวล้ำนำหน้าจนไม่มีใครคาดคิดว่า ในอีกราวสองทศวรรษถัดมา มันจะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล
.
ในปี 1995 เธอถึงขั้นถูก demote ด้วยซ้ำ ตอนนั้นเธอกำลังไต่เต้าในตำแหน่งทางวิชาการเพื่อขึ้นไปเป็นศาสตราจารย์ แต่เพราะไม่ได้รับเงินทุนมากพอท่ีจะทำงานและนำเสนองานออกมา เธอจึงไม่ได้ตำแหน่งทางวิชาการนั้น เธอบอกว่า ปกติแล้วถ้าใครเจอสถานการณ์แบบเธอ ก็คงจะ ‘เซย์กู๊ดบาย’ แล้วก็เลิกทำงานนี้แล้ว แต่เธอไม่
.
ที่จริงแล้ว ปี 1995 คือปียากลำบากของเธอ สามีของเธอยังติดอยู่ที่ฮังการี ยังไม่สามารถย้ายตามเธอมาอเมริกาได้เพราะมีปัญหาเรื่องวีซ่า แถมเธอยังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งด้วย แต่เธอก็ยังทุ่มเททำงานที่เธอเชื่อมั่น
.
แล้วในปี 1997 เธอก็ได้พบกับนักภูมิคุ้มกันวิทยาชาวอเมริกันอย่าง ดรูว์ ไวส์แมน (Drew Weissman) ซึ่งได้ร่วมงานกันพัฒนาเรื่องภูมิคุ้มกันอย่างจริงจังจนตีพิมพ์งานวิจัยออกมา และมีการจดสิทธิบัตรการค้นพบในการศึกษาของเธอหลายเรื่อง
.
ปรากฏว่า งานวิจัยของเธอไปเตะตา เดอร์ริค รอสซี (Derrick Rossi) ซึ่งทำงานด้านชีววิทยาสเต็มเซลล์อยู่ที่สแตนฟอร์ด เขาคิดว่างานของเธอยิ่งใหญ่มากจนควรจะได้รางวัลโนเบล
.
รอสซีเลยไปเจอคนนั้นคนนี้ แล้วสุดท้ายก็พากันไปเจอกับบริษัท Venture Capital ที่สนับสนุนให้เขากับเพื่อนๆ ทำบริษัทใหม่ชึ้นมาเพื่อทำงานวิจัยและสร้างวัคซีนแบบ mRNA เพื่อต่อต้านมะเร็ง
.
บริษัทนั้นมีชื่อว่า Moderna
.
เรื่องนี้ฟังดูไม่เกี่ยวอะไรกับคาริโค แต่ที่มันน่าเจ็บใจก็คือ มีการติดต่อจากบริษัทที่ให้ทุนโมเดอร์นา มาขอซื้อสิทธิบัตรการค้นพบบางอย่างของเธอเพื่อนำไปใช้ แต่ปรากฏว่าคาริโคไม่มีจะขายให้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของทุน เพิ่งจะขายทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นไปให้คนอื่น คาริโคจึงไม่มีอะไรจะขายให้
.
แต่พอถึงปี 2013 คาริโคพบว่า Moderna ได้ทำสัญญาร่วมกับ AstraZeneca เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี mRNA แบบหนึ่งขึ้นมา สัญญาที่ว่ามีมูลค่าสูงลิบถึง 240 ล้านเหรียญ คาริโคเลยตระหนักถึง ‘มูลค่า’ ที่เกิดจากการทำงานของตัวเอง
.
ให้บังเอิญว่า ในเยอรมนี มีแพทย์ชาวตุรกีคนหนึ่งตั้งบริษัท BioNTech ขึ้นมา และอยากพัฒนาวัคซีนต่อต้านมะเร็งโดยใช้เทคโนโลยี mRNA นั่นทำให้คาริโคตัดสินใจโบกมืออำลาจากการทำงานในมหาวิทยาลัย เพื่อหันมารับตำแหน่ง Senior Vice President ของ BioNTech
.
การแข่งขันระหว่าง Moderna กับ BioNTech เริ่มต้นขึ้นเงียบๆ จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด -19 ขึ้น ทันใดนั้น ทั้งสองบริษัทก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่รู้จักกี่เท่า และเป็นคู่แข่งสำคัญในการผลิตวัคซีน mRNA ขึ้นมา
.
BioNTech ต้องการพันธมิตรที่แข็งแกร่ง จึงไปเจรจากับ Pfizer อันเป็นบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่เพื่อมาร่วมทุน สุดท้ายก็เลยเกิดเป็นวัคซีนที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า 'ไฟเซอร์' กับ 'โมเดอร์นา'
.
ถึงวันนี้ แม้ว่าจะยังไม่มี ‘คนทั่วไป’ ในประเทศไทยคนไหนได้สัมผัสกับวัคซีนเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่เราก็คุ้นหูกับเทคโนโลยีวัคซีน mRNA จากทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นากันเป็นอย่างดีแล้ว
.
แต่จะไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ก็อย่าลืมนึกถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ คาทาลิน คาริโค ที่จริงๆ เธอน่าจะร่ำรวยมหาศาลระดับพันล้านหมื่นล้านได้เลย แต่เธอก็พลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย