30 มิ.ย. 2021 เวลา 08:41 • กีฬา
แม้จะโดนวิจารณ์แรงๆ มาตลอดหลายปี แต่แกเร็ธ เซาธ์เกต ก็อดทน แล้วพิสูจน์ตัวเองตอกหน้าคำด่า ด้วยผลงานชิ้นแล้วชิ้นเล่า นี่คือเรื่องราวนักสู้ของผู้จัดการทีมชาติอังกฤษคนปัจจุบัน
1
สำหรับเหตุผลที่เขาถูกตั้งแง่แต่แรกจากแฟนๆ ก็พอเข้าใจได้ เพราะเซาธ์เกตมีดีกรีน้อยมาก หากเทียบกับผู้จัดการทีมชาติคนที่ผ่านๆ มาน่ะสิ น้อยจนน่ากังวลใจ
เซาธ์เกต เปิดฉากอาชีพผู้จัดการทีม ด้วยการพามิดเดิลสโบรห์ จบรองบ๊วยในฤดูกาล 2008-09 ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก
1
จากนั้นฤดูกาลต่อมา 2009-10 มิดเดิลสโบรห์ลงเล่นในแชมเปี้ยนชิพ ผลงานก็ยังแย่ต่อไป พวกเขาแพ้เวสต์บรอมวิช คาบ้าน 5-0 และ มีฟอร์มการเล่นที่น่าเอือมระอามากๆ จนแฟนบอลเข้ามาชมในสนามน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
เมื่อมันจมดิ่งถึงขีดสุดแล้ว ประธานสโมสรสตีฟ กิ๊บสัน จึงไล่เซาธ์เกตออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม วันที่โดนไล่ออก เซาธ์เกตไม่ได้เจ็บแค้นใคร เขาเขียนจดหมายขอบคุณทุกคนในสโมสร และบอกว่าเป็นเกียรติมาก ที่ให้โอกาสเขาคุมสโมสรที่ยอดเยี่ยมแห่งนี้
"ผู้คนที่อยู่ใกล้เขาจะรู้เลยว่า เซาธ์เกตเป็นไนซ์กายมาก เขาใจดี แต่ก็ไม่อ่อนปวกเปียก เขาสุภาพ ให้เกียรติคนอื่น และมีความเป็นสุภาพบุรุษ และจุดสำคัญที่สุดคือเขากระหายที่จะไปถึงชัยชนะให้ได้" กอร์ดอน ค็อกซ์ นักข่าวของสโมสรมิดเดิลสโบรห์เล่า
ปัญหาของเซาธ์เกตไม่ใช่เรื่องบุคลิกส่วนตัวหรือความมุ่งมั่น คือหลายคนชอบนิสัยของเขานะ แต่ปัญหาอยู่ที่เซาธ์เกตมีความรู้เรื่องแท็กติกน้อยเกินไป
กล่าวคือในปีแรกที่เขาคุมมิดเดิลสโบรห์ เซาธ์เกตคือโค้ชคนเดียวใน 20 ทีมของพรีเมียร์ลีก ที่ไม่มีวุฒิโปรไลเซนส์
2
ตอนนั้น ผู้บริหารของมิดเดิลสโบรห์ตัดสินใจแต่งตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นอดีตนักเตะของสโมสร มีเครดิตที่ดี นักเตะน่าจะเชื่อฟัง แต่สกิลการคุมทีม ความรู้ด้านการวางแผนการเล่น เขาแทบไม่มีเลย ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไร ที่โบโร่จะฟอร์มดีแค่วูบวาบ แต่พอต้องยืนหยัดในระยะยาวก็ไม่รอด
หลังจากโดนไล่ออกในเดือนตุลาคมปี 2009 เซาธ์เกตเอาเวลานี้ไปเรียนโปรไลเซนส์ จากนั้นก็ไปทำงานเป็นผู้วิเคราะห์เกมทางโทรทัศน์ได้ระยะหนึ่ง จนในเดือนสิงหาคมปี 2013 โค้ชทีมชาติชุด u-21 สจ๊วร์ต เพียร์ซ ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ตำแหน่งว่างลง สมาคมฟุตบอลอังกฤษ จึงทาบทามเซาธ์เกต มาเป็นโค้ช u-21 แทนที่ และเขาตอบตกลง พร้อมเซ็นสัญญา 3 ปี
เกมแรกสุดของเซาธ์เกต วันที่ 5 กันยายน 2013 เขาพาอังกฤษชุด u-21 เจอกับมอลโดว่า และชนะไป 1-0 โดยไลน์อัพชุดแรกสุดของเขาคือ แจ๊ค บัตแลนด์, ลุค ชอว์, จอห์น สโตนส์, ไมเคิล คีน, นาธาเนียล ชาโลบาห์, อันเดร วิสดอม, นาธาน เรดมอนด์, เจมส์ วอร์ด-เพราส์, ทอม แคร์โรลล์, วิลฟรีด ซาฮา และ ไซโด เบราฮิโน่
2
เกมที่ 2 ของเซาธ์เกต คือเสมอฟินแลนด์ 1-1 ฟอร์มโดยรวมก็ยังไม่ค่อยดี
จนมาเข้ารูปเข้ารอย ในเกมที่ 3 เมื่อเอาชนะซาน มาริโน่ 4-0 โดยจุดสำคัญในนัดนี้ คือเซาธ์เกต ทดลองใช้งาน แฮร์รี่ เคน กับ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ลงเป็นตัวจริงพร้อมกันครั้งแรก เคนยิงแฮตทริก ส่วนสเตอร์ลิ่งก็เลี้ยงกระจุย เซาธ์เกตจึงได้เห็นแล้วว่า คอมบิเนชั่นของ เคน-สเตอร์ลิ่ง มันประสานงานกันได้ยอดเยี่ยมจริงๆ
สิ่งที่เราเห็น คือเซาธ์เกตร่วมงานกับกลุ่มนักเตะบางคน เช่น ชอว์, สโตนส์, เคน และ สเตอร์ลิ่ง มาตั้งแต่แรก โค้ชและกลุ่มผู้เล่นเหล่านี้ สั่งสมความเชื่อใจกันมานานหลายปี และพวกเขาก็จะสานต่อความสัมพันธ์ดีๆ จากทีมชุดเล็ก ไปจนถึงทีมชาติชุดใหญ่ในอนาคตด้วย
2
ผลงานของเซาธ์เกตกับทีมชาติอังกฤษชุด u-21 ถือว่าน่าประทับใจมาก เขาคุมทีมไป 33 นัด เอาชนะไป 27 นัด
จุดแข็งของเซาธ์เกตที่ถูกพูดถึงคือเขาให้ความสำคัญกับการสื่อสารอย่างมาก โดยดันแคน วัตมอร์ อดีตนักเตะทีมชาติที่เคยร่วมงานกับเซาธ์เกตในทีม u-21 เล่าว่า "เขาอาจเป็นผู้จัดการทีมที่ดีที่สุด ที่ผมเคยร่วมงานด้วย เขาจะมีเวลาให้ผู้เล่นแต่ละคน 20 นาที เพื่อนั่งคุยกันทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอล แต่เรื่องชีวิตทั่วๆไปด้วย"
2
หลังจบยูโร 2016 ทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่มีการเปลี่ยนโค้ช รอย ฮอดจ์สัน อำลาตำแหน่ง แล้วเป็นแซม อัลลาร์ไดซ์เสียบแทน โดยบิ๊กแซม เปิดหัวเกมแรกของตัวเองในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ด้วยการเอาชนะสโลวะเกียไป 1-0
1
แต่คุมทีมได้แค่นัดเดียว อัลลาร์ไดซ์ไปโดนเดลี่ เทเลกราฟ อัดวีดีโอแบล็คเมล์ ว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย กับการรับเงินใต้โต๊ะ จนสุดท้ายสมาคมฟุตบอลอังกฤษ สั่งไล่ออกอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของวงการเอาไว้ นั่นทำให้ อังกฤษจึงขาดแม่ทัพไปอย่างฉับพลันมาก
ตอนนั้น ฟุตบอลลีกก็เปิดฤดูกาลแล้ว โค้ชดีๆ คนไหนก็มีงานหมด ดังนั้นสมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงไม่มีทางเลือกนัก ต้องจับเอาเซาธ์เกต ที่เป็นโค้ช u-21 ดันขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีมชุดใหญ่ชั่วคราว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน
1
สมาคมเอง ก็ไม่ได้เชื่อใจเซาธ์เกตขนาดนั้น จึงยื่นข้อเสนอให้คุมแค่ 4 นัด เท่านั้น และระหว่างนี้ สมาคมก็จะไปตามหาโค้ชที่น่าจะเหมาะสมกับตำแหน่งจริงๆ มาเสียบแทน คือช่วยให้เซาธ์เกต ประคับประคองระหว่างนี้ไปก่อน
แต่ปรากฏว่า โค้ชเฉพาะกิจอย่างเซาธ์เกต ทำผลงานได้ดีกว่าที่คิด
3 นัดในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก อังกฤษชนะมอลต้า 2-0, เสมอสโลวีเนีย 0-0 และ ชนะสกอตแลนด์ 3-0 ถือว่าทรงดี เกมรับไม่เสียประตู ส่วนเกมที่ 4 เป็นนัดอุ่นเครื่องกับสเปน เสมอกันไป 2-2
เมื่อผลงานพอใช้ได้ สมาคมจึงไม่อยากเปลี่ยนม้ากลางศึก วันที่ 30 พฤศจิกายน 2016 มีการแต่งตั้งให้เซาธ์เกต คุมทัพอังกฤษชุดใหญ่ไปจนจบฟุตบอลโลกที่รัสเซีย จากนั้นค่อยมาพิจารณาอีกที ว่าดีพอจะได้คุมต่อในทัวร์นาเมนต์ต่อไปหรือไม่
การประกาศแต่งตั้งเซาธ์เกตเป็นเฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ สิ่งที่สมาคมได้รับคือ "โดนด่าเละ"
ฟิล แม็คนัลตี้ นักเขียนจากบีบีซี ระบุว่า "แกเร็ธ เซาธ์เกตเนี่ยนะ จะเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ เขาดีพอแล้วหรอ? นี่เป็นโค้ชทีมชาติที่ดีกรีแย่ที่สุดในรอบ 20 ปีเลยก็ว่าได้"
ส่วนแดเนียล เทย์เลอร์ นักข่าวจากเดอะ การ์เดี้ยน แสดงคอมเมนต์ว่า "หาคำอธิบายไม่ได้ ว่าทำไมโค้ชที่โดนมิดเดิลสโบรห์ไล่ออก หลังทำทีมตกชั้น ถึงได้รับโอกาสอันทรงเกียรติขนาดนี้"
กระแสคำด่ามีเยอะมาก แต่ก็มีบางคนที่สนับสนุนเขาอยู่บ้าง เช่นเฮนรี่ วินเทอร์ส นักข่าวจากเดอะ ไทมส์ ที่เขียนว่า "ลองไปดูสถิติในทีม u-21 ของเซาธ์เกตสิ เขาทำผลงานดีแค่ไหน บางทีเขาอาจจะเหมาะกับการปั้นเยาวชนในเจเนเรชั่นต่อไปของเรา ผมคิดว่าเขาแข็งแกร่งกว่าที่คุณเห็นนะ"
แน่นอน เสียงด่ามีมากกว่าเสียงชมอยู่แล้ว คิดตามคอมม่อนเซนส์ โค้ชทีมชาติอังกฤษคนที่ผ่านๆมา ล้วนมีดีกรีโชกโชน เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์, สเวน โกรัน-เอริคส์สัน, ฟาบิโอ คาเปลโล่ แม้กระทั่งรอย ฮอดจ์สัน แต่ละคนคุมทีมมาแล้วทั่วยุโรป
เทียบกับเซาธ์เกต ก็จะเห็นว่ามีประสบการณ์น้อยมาก ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าเขาจะไปรอดกับภารกิจที่ยากเย็นขนาดนั้น
แต่แม้จะโดนด่าโดนแซะ แต่เซาธ์เกตก็ไม่ได้ตีโพยตีพายอะไร เขารู้ดีว่าตัวเองอยู่จุดไหน แม้ใครจะบอกว่าส้มหล่นได้รับงาน หรืออะไรก็ช่าง แต่เมื่อได้โอกาสแล้ว เขาก็อยากลองทำให้มันดีจนสุดมือเลย จะดีจะร้ายให้มันรู้กันไป
3
ในเกมที่เสมอสเปน 2-2 ที่เวมบลีย์ เซาธ์เกตใช้แผน 4-2-3-1 ตามสมัยนิยม และสิ่งที่เขาค้นพบคือ "มันไม่เวิร์ก" กล่าวคือแผนนี้ ถ้าใช้กับทีมเล็กก็พอได้อยู่ แต่พอเจอกับทีมใหญ่ด้วยกัน มันมีจุดอ่อนมากเกินไป
ฟูลแบ็กสองคนของอังกฤษ เวลาดันบุกขึ้นไป ก็จะเหลือกองหลังแค่ 2 เซ็นเตอร์แบ็กห้อยอยู่ ซึ่งมันมีรูโหว่ ให้ทีมเสียประตูได้ตลอด ในสมัยเป็นนักเตะ เซาธ์เกตก็เล่นเป็นเซ็นเตอร์แบ็ก เขาเข้าใจดีว่า สำหรับกองหลังที่มีความเร็วน้อยๆ เวลาต้องเจอคู่แข่งโต้กลับเร็ว มันน่าสะพรึงกลัวขนาดไหน
2
ที่สำคัญ เซาธ์เกตมองว่า ในเกมระดับสูงแบบนี้ ถ้าเกมรับไม่แน่นคุณก็คงยากจะชนะใครได้ อาจหวือหวาได้บางเกม แต่ในนัดชี้เป็นชี้ตาย สุดท้ายจะแพ้เสมอ
1
นั่นทำให้ตลอดปี 2017 เซาธ์เกต ทำการทดลองบางอย่างขึ้นมา นั่นคือใช้ระบบ 3 เซ็นเตอร์แบ็ก
ในปี 2017 อังกฤษจะมีโปรแกรมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 6 นัด และอุ่นเครื่อง 4 นัด ถ้าเป็นเกมฟุตบอลโลกเขาก็ใช้ 4-2-3-1 ตามปกติ แต่ในเกมอุ่นเครื่องเขา เทสต์ระบบใหม่คือ 5-3-2
2
อุ่นเครื่องนัดแรก แพ้เยอรมัน 1-0 ใช้ 3 เซ็นเตอร์คือ ไมเคิล คีน, แกรี่ เคฮิลล์ และ คริส สมอลลิ่ง
อุ่นเครื่องนัดที่ 2 แพ้ฝรั่งเศส 3-2 ใช้ 3 เซ็นเตอร์คือ ฟิล โจนส์, แกรี่ เฮคิลล์ และ จอห์น สโตนส์
สองนัดแพ้รวด กองหลังเก็บคลีนชีทไม่ได้ ทำให้เซาธ์เกตมองแล้วว่า แกรี่ เคฮิลล์ คนที่เขาตั้งใจอยากจะวางเป็นเซ็นเตอร์แบ็กคีย์แมน ดูจะไม่ค่อยเหมาะซะแล้ว ดังนั้น ในเกมอุ่นเครื่องนัดต่อไป เขาจึงทดลองใช้เซ็นเตอร์แบ็กคนใหม่ นั่นคือแฮร์รี่ แม็กไกวร์
3
อุ่นเครื่องนัดที่ 3 เสมอเยอรมัน 0-0 ใช้ 3 เซ็นเตอร์คือ ฟิล โจนส์, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ และ จอห์น สโตนส์
1
อุ่นเครื่องนัดที่ 4 เสมอบราซิล 0-0 ใช้ 3 เซ็นเตอร์คือ โจ โกเมซ, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ และ จอห์น สโตนส์
หลังจากเสมอแชมป์โลกเยอรมัน และเสมอบราซิลที่มีเนย์มาร์ แบบคลีนชีททั้งสองนัด ทำให้เซาธ์เกตจึงค้นพบแล้วว่า แผน 5-3-2 มัน "ใช้การได้จริง" กล่าวคือต่อให้เจาะคู่แข่งไม่เข้า แต่เราก็ไม่แพ้เหมือนกัน
1
ขณะที่แฮร์รี่ แม็กไกวร์ กับ จอห์น สโตนส์ ก็ยึดตำแหน่งตัวจริงของเซาธ์เกตตั้งแต่นั้น สองคนนี้เล่นด้วยกันได้ดี ส่วนเซ็นเตอร์แบ็กอีก 1 คน ยังพอจะหมุนเวียน หาคนอื่นมาเสียบแทนได้อยู่
ปัญหาที่เซาธ์เกตเจออย่างหนักมากๆ คือเสียงวิจารณ์จากแฟนๆ
นั่นเพราะ แผน 5-3-2 มันเป็นกลยุทธ์ของทีมที่เน้นเกมรับเป็นหลัก การตั้งแผนมาแบบนี้ ก็เหมือนจะบอกว่า แทนที่จะบุก แต่เล่นเพลย์เซฟไว้ก่อนดีกว่า แบบเอาให้จบ 1-0 พอ ซึ่งกลยุทธ์แบบนี้ มันเป็นแผนของทีมเล็กชัดๆ
เซาธ์เกต โดนแขวะว่าก็เพราะเคยแต่คุมทีมเล็กๆ อย่างมิดเดิลสโบรห์น่ะสิ พอมาทีมชาติก็เลยเอาแนวคิดของทีมเล็กมายัดใส่ให้ทีมชาติด้วย เล่นแบบไม่ให้แพ้ แทนที่จะตั้งเป้าหมายคือต้องชนะ แบบนี้มันจะสนุกตรงไหน
1
กลายเป็นว่าแม้เซาธ์เกตจะพาอังกฤษผ่านไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้อย่างสวยงาม ด้วยสถิติไร้พ่าย แต่เขาก็ยังโดนวิจารณ์ต่อไปเรื่อยๆ ศึกของเซาธ์เกตจึงไม่ได้มีแค่คู่แข่ง แต่ยังมีแฟนบอลทีมชาติตัวเองที่พร้อมใจเหยียบย่ำเขาตลอดเวลาด้วย
2
การประกาศตัว 23 ขุนพล ไปลุยฟุตบอลโลกที่รัสเซีย สร้างความประหลาดใจอย่างมาก เพราะเซาธ์เกต เลือกแต่นักเตะอายุน้อยๆ เต็มไปหมด อังกฤษชุดนั้นมีอายุเฉลี่ย 26 ปี กับอีก 18 วัน เป็น squad ที่อายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ตลอดกาล (เป็นรองแค่ชุด 1958 กับ 2006 เท่านั้น)
เซาธ์เกตเชื่อมั่นในกลุ่มดาวรุ่งชุด u-21 ที่เขาเคยร่วมงานกันมา และ แฮร์รี่ เคน ถูกแต่งตั้งเป็นกัปตันทีม ของทีมสิงโตคำรามชุดนี้ แม้จะมีอายุแค่ 24 ปีเท่านั้น
1
จุดแข็งของอังกฤษในยุคเซาธ์เกตคือ บรรยากาศในแคมป์ไม่มีดราม่าใดๆเกิดขึ้นเลย ถ้าเราย้อนไปดูยุคคาเปลโล่ มีเรื่องให้สื่อได้เล่นตลอด แต่กับยุคของเซาธ์เกต ด้วยความที่เขาเคยเป็นนักเตะทีมชาติมาก่อน จึงเข้าใจเรื่องการรักษาบาลานซ์ ระหว่างตัวนักเตะ กับสื่อมวลชนเป็นอย่างดี
ไม่ได้บอกให้นักเตะเก็บตัวเงียบ จนสื่อเสนออะไรไม่ได้เลย แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยจนสื่อเสนอข่าวฉาวรายวันได้ เป็นบรรยากาศที่กำลังพอดีๆ
ขณะที่เรื่องของแท็กติก ก่อนบอลโลกจะเริ่ม เซาธ์เกต กับผู้ช่วยผู้จัดการทีม สตีฟ ฮอลแลนด์ ได้ปรึกษากันว่าจะเล่นแผนไหนดี ถ้าเพลย์เซฟ ก็ 4-3-3 ไป เพราะนักเตะส่วนใหญ่ในพรีเมียร์ลีกก็จะเล่นแผนนี้กัน
1
แต่เซาธ์เกตคิดว่าไม่ไหวจริงๆ ในยุคฮอดจ์สันใช้ 4-3-3 ทีมก็ตกรอบเร็วตลอด จากนั้นอัลลาร์ไดซ์ก็มาใช้ 4-3-3 เช่นกัน ก็ชนะสโลวะเกียแบบหืดจับ คือถ้ายึดติดกับแผนเดิมๆ แล้วมันเข้าท่า มันก็คงเข้าท่าไปนานแล้ว ดังนั้นทำไมไม่ลองเสี่ยงเปลี่ยนแผนซะวันนี้เลยล่ะ
2
สตีฟ ฮอลแลนด์ เคยทำงานกับเชลซี ในยุคอันโตนิโอ คอนเต้ และให้คำแนะนำว่า ระบบ 3 เซ็นเตอร์แบ็กนั้นไม่จำเป็นต้องทำแบบดั้งเดิม คือใช้เซ็นเตอร์ตัวใหญ่ 3 คน ยืนเรียงกัน แต่สามารถประยุกต์ใช้ ด้วยการวาง 2 เซ็นเตอร์แบ็กธรรมชาติ + 1 ฟูลแบ็ก ได้
1
เชลซีชุดแชมป์ลีก ฤดูกาล 2016-17 มีดาวิด ลุยซ์ กับ แกรี่ เคฮิลล์ เป็น 2 เซ็นเตอร์แบ็กธรรมชาติ บวกกับ 1 ฟูลแบ็กคือเซซาร์ อัซปิลิกวยต้า ทั้ง 3 คนนี้ยืนเรียงกันเป็นไลน์กองหลัง ส่งผลให้เกมรับแน่น แต่ก็ยังมีตัวที่มีความเร็ว ในการวิ่งไล่บี้คู่แข่ง ไม่ใช่ช้ากันไปหมดทั้ง 3 ตัว
นั่นทำให้เซาธ์เกต ตัดสินใจเลือกไคล์ วอล์กเกอร์ เป็นเซ็นเตอร์แบ็กอีกหนึ่งตัว เล่นร่วมกับแม็กไกวร์ และสโตนส์
1
ตอนนี้อังกฤษได้แผนแล้ว 3-5-2 ดูจะลงตัวที่สุด ขณะที่วิธีการเล่น เซาธ์เกตก็ได้ไอเดียเช่นกัน นั่นคือ "ไม่เร่ง ไม่รีบ" ค่อยๆเข้าทำไปเรื่อยๆ เล่นแบบเน้นปลอดภัยให้มากที่สุด ไม่ให้เสียประตูไว้ก่อน
ใครจะบอกเล่นไม่สนุก ใครจะบอกส่งตัวรับมาเยอะเกินเหตุ หรืออะไรก็แล้วแต่ จะว่ายังไงก็ช่างสิ ฟุตบอลระดับนี้ ไม่ได้มาเล่นเอาสวย แต่มาเล่นเพื่อชนะต่างหาก
1
ครองบอลให้เยอะ ป้องกันตัวเองไว้ แล้วค่อยไปลุ้นจากจังหวะลูกนิ่งเอา พวกฟรีคิก เตะมุม จุดโทษ เน้นให้มากที่สุดเลย คือถ้าโอเพ่นเพลย์ ยิงไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไปหวังเอาจากเซ็ตพีซแทน
1
ในฟุตบอลโลก 2018 อังกฤษยิงประตูจากเซ็ตพีซได้ทั้งหมด 9 ลูก ซึ่งในรอบ 52 ปีของฟุตบอลโลก ไม่เคยมีประเทศไหน ที่ทำประตูจากลูกเซ็ตพีซได้มากขนาดนี้มาก่อนในทัวร์นาเมนต์เดียว
2
อังกฤษจบบอลโลกด้วยอันดับ 4 นั่นทำให้เซาธ์เกตได้โอกาสคุมทีมชาติต่อไป ในทัวร์นาเมนต์ที่สอง นั่นคือยูโร 2020
แต่แม้อังกฤษจะเข้ารอบฟุตบอลโลกได้ลึกที่สุดในรอบ 28 ปี แต่เซาธ์เกตก็ยังโดนแขวะอยู่เรื่อยๆ ว่าเล่นด้วยแท็กติกทีมเล็กบ้าง บางคนก็บอกว่าโชคดีจับสลากเจอสายอ่อนบ้างพอเจอของแข็งก็เสร็จ บ้างก็บอกว่าเล่นเป็นแต่จุดโทษเตะมุมเข้าทำแบบอื่นไม่เป็น คือในภาพรวมเซาธ์เกตยังได้รับเครดิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมากนัก
ในช่วง 3 ปี จากฟุตบอลโลก 2018 มาถึงยูโร 2020 อังกฤษสร้างนักเตะดาวรุ่งหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการเต็มไปหมด
ผู้เล่นกลุ่มเดิมที่ใช้งานอยู่ พัฒนาขึ้น อย่างพวกแฮร์รี่ เคน, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ หรือ จอห์น สโตนส์ ขณะที่ กลุ่มหน้าใหม่ ที่สอดแทรกเข้ามา อย่างแจ๊ค กรีลิช, เจดอน ซานโช่, ฟิล โฟเด้น, เมสัน เมาท์ และ บูกาโย่ ซาก้า ทำให้หลายคนบอกว่า อังกฤษชุดยูโร 2020 มีคุณภาพเทียบเคียงกับชุดยูโร 1996 เลยทีเดียว
ขณะที่ตัวเซาธ์เกตเองก็พัฒนาขึ้น เขาไม่ได้มีแต่ระบบ 5-3-2 อีกแล้ว แต่มีใช้แผนอื่นๆ ได้ด้วยเช่น 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 พลิกแพลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หัวใจหลักที่ยังคงยึดเสมอคือ เกมรับสำคัญที่สุด
1
แต่ละเกม ต้องมีมิดฟิลด์ตัวรับ 2 คน ยืนเพื่อคอนโทรลเกมไว้เสมอ ซึ่งแน่นอน พลังเกมรุกก็จะลดลง แต่พลังเกมรับก็จะแข็งแกร่งขึ้น
1
อย่างที่ทุกคนรู้กัน ในอดีตอังกฤษเคยอัดเอาซูเปอร์สตาร์ ลงสนามพร้อมกันมาแล้ว อย่างในฟุตบอลโลก 2006 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย สเวน-โกรัน เอริคส์สัน ส่ง เบ็คแฮม, แลมพาร์ด, เจอร์ราร์ด, โจ โคล, เวย์น รูนี่ย์ ลงเล่นตัวจริงพร้อมกัน กลายเป็นว่า ตัวบุกเยอะเกิน ดูน่ากลัวในไลน์อัพก็จริง แต่พอเล่นจริงๆ แล้ว มันไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ เกมรุกแย่งกันเล่น เกมรับก็มีรูโหว่
ดังนั้นเซาธ์เกต จึงคิดถึงสมดุลของทีมก่อนเป็นอันดับแรก นั่นเป็นเหตุผลที่ดีแคลน ไรซ์ กับ คาลวิน ฟิลลิปส์ จะได้ลงเสมอทุกเกม ขณะที่ตัวรุกอย่างเจดอน ซานโช่ หรือ มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็ต้องรอโอกาสข้างสนาม
5
อย่างกรณีของซานโช่ เซาธ์เกตโดนด่าเละแทบทุกวัน ว่าทำไมมีสตาร์ระดับท็อปอยู่ในมือ แต่ไม่ยอมใช้ ซึ่งโค้ชบางคนอาจจะหวั่นไหวตามกระแสสื่อ แต่ในเมื่อเซาธ์เกตมองว่าทีมมันสมดุลดีแล้ว จะไปเปลี่ยนทำไมล่ะ ถ้าทีมแพ้แล้วแก้ไขก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ทีมก็ชนะอยู่นะ
3
อังกฤษเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม ต้องมาเจอกับเยอรมัน ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เซาธ์เกตเปลี่ยนจาก 4-2-3-1 ในรอบแรก มาใช้ 5-2-3 มีตัวรุกแค่ 3 คนเท่านั้นทั้งทีม คือ เคน, สเตอร์ลิ่ง และซาก้า
หลายคนบอกว่า เซาธ์เกตจัดตัวขี้ขลาด ได้เล่นในเวมบลีย์แท้ๆ แถมฟอร์มก็ดีกว่าตั้งเยอะ ทำไมไม่ส่งตัวรุกลงมาวัดกันไปเลย เอาแต่เพลย์เซฟอยู่ได้ แต่ก็นั่นแหละ เซาธ์เกตรู้ดีว่าเขากำลังทำอะไรอยู่
เขาไม่ได้ต้องการรางวัลเล่นสวย แต่มาเอาชัยชนะ ดังนั้นการเล่นอย่างระมัดระวังเป็นสิ่งสำคัญ ค่อยๆ บด ค่อยๆ นวดกันไป เดี๋ยวแนวรับของเยอรมันที่รั่วมาก ในทัวร์นาเมนต์นี้ ก็จะเปิดช่องเอง
ส่วนใครจะด่าว่าเขาไม่ใช้ซานโช่ก็ด่าไป ในเมื่อเขาใช้สเตอร์ลิ่งเป็นตัวจริงแล้วมันเวิร์ก มันยิงได้ทุกเกม จะมีเหตุผลอะไรที่เขาต้องเปลี่ยนตัวตามกระแสสังคมล่ะ
เซาธ์เกตวางแผนได้ดี รับมือเยอรมันได้อยู่หมัด จากนั้นครึ่งหลัง การแก้เกมส่งเอาแจ๊ค กรีลิชลงมา ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อังกฤษยิงได้ 2 ลูกรัวๆ และเอาชนะเยอรมันไปอย่างเด็ดขาด 2-0
1
อังกฤษเป็นทีมเดียวในทัวร์นาเมนต์ที่ยังไม่เสียประตูแม้แต่ลูกเดียว เกมรับแกร่งที่สุด และเมื่อเกมรับแน่น บรรดาตัวรุกก็บุกได้อย่างสบายใจด้วย มันกลายเป็นว่าทีมมีความสมดุลมากจริงๆ
3
ทั้งๆที่ ไปดูไลน์อัพ 11 ตัวจริงของเยอรมัน + 4 ตัวสำรอง ทุกคนอยู่ในทีมที่ได้เล่นแชมเปี้ยนส์ลีกในซีซั่นที่แล้วทั้งหมด แต่อังกฤษ มีนักเตะ 5 คน ที่ไม่ได้เล่นแชมเปี้ยนส์ลีกซีซั่นที่แล้ว (พิคฟอร์ด, ไรซ์, ฟิลลิปส์, ซาก้า และ กรีลิช) กลายเป็นว่าแม้ชื่อชั้นจะเป็นรอง แต่การวางแผนที่ถูกต้อง รู้ว่าทีมตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อังกฤษชนะในนัดนี้
2
ตอนนี้ ทุกสำนักพร้อมใจยกอังกฤษเป็นเต็ง 1 คว้าแชมป์ยูโรหมดแล้ว ซึ่งถ้าว่ากันแฟร์ๆ นี่เป็นโอกาสดีที่สุด ที่พวกเขาจะทำได้แล้วจริงๆ
ถึงตรงนี้ ไม่มีสื่อไหนกล้าดิสเครดิตเซาธ์เกตอีกแล้ว ใครจะไปรู้ นี่อาจเป็นผู้จัดการทีมคนแรกต่อจากเซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ ที่พาอังกฤษคว้าแชมป์เมเจอร์ก็ได้
สุดท้ายแล้ว ปรากฏการณ์แกเร็ธ เซาธ์เกต ทำให้เราได้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจหลายข้อ
ข้อแรก คนที่ล้มเหลวกับที่หนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจะล้มเหลวกับอีกที่หนึ่ง อยู่ที่ว่าคุณจะขวนขวายตัวเอง และพัฒนาตัวเองขึ้นมาไหม
5
ข้อสอง การทดลองทีมทำได้ แต่ต้องไปทำในเกมอุ่นเครื่อง ในทัวร์นาเมนต์จริง คุณต้องรู้แล้วว่าจะเล่นแผนอะไร มันไม่ใช่เวทีลองเสี่ยงอีกแล้ว
ข้อสาม หาแนวรับที่ดีที่สุดให้ได้ อย่าไปยื้อใช้คนที่เล่นไม่ได้ ตอนแรกเซาธ์เกต ใช้เคฮิลล์ ใช้ฟิล โจนส์ แต่มันไม่เข้าท่า ก็เปลี่ยนเรื่อยๆ จนได้เจอแม็กไกวร์ เจอสโตนส์ ในที่สุด
ข้อสี่ การเลือกโค้ชทีมชาติ ที่เคยเป็นนักเตะทีมชาติมาก่อน มีประโยชน์ในการรวมใจผู้เล่นให้เป็นหนึ่ง ที่ผ่านมา 20 ปี อังกฤษเปลี่ยนโค้ชมาหลายคน คนสุดท้ายที่เป็นโค้ชทีมชาติคือเควิน คีแกน (ปี 2000) จากนั้นก็ไปทดลองโค้ชบิ๊กเนมมาหลายคน ทั้งเอริคส์สัน และคาเปลโล่ แต่ใครจะรู้ว่าคำตอบที่ใช่ อาจจะกลายเป็นอดีตผู้เล่นทีมชาติของตัวเอง
1
ข้อห้า ถ้ายังชนะอยู่ ก็อย่าเปลี่ยนทีมที่ชนะ เอาสเตอร์ลิ่งลงแล้วยิงได้ คุณจะเปลี่ยนเอาคนอื่นตามกระแสทำไมล่ะ ก็มั่นใจในทีเด็ดของตัวเองไว้สิ
และข้อหก เกมฟุตบอลระดับนี้ มาเพื่อเอาชนะ ไม่มีรางวัล "ทีมทรงดีแห่งปี" ความเขี้ยว และความเยือกเย็น เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ
4
แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อังกฤษกลายเป็นทีมขวัญใจมหาชนอีกครั้ง
และถ้าตอนจบของเรื่องนี้ ทีมสิงโตคำรามไปถึงแชมป์ยูโรได้ล่ะก็
แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมที่โดนคนดูหมิ่น ดูแคลนมาตลอด เขาคนนี้แหละ จะได้รับการอวยยศ เป็นเซอร์แกเร็ธอย่างแน่นอน
1
#SOUTHGATE
โฆษณา