30 มิ.ย. 2021 เวลา 12:21 • การเมือง
นายพล อลาดีน แห่ง The Dictator กับอำนาจเผด็จการที่ดูชั่วร้าย เกินกว่าจะเกิดขึ้นจริง (หรือเปล่า??)
.
*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน*
.
The Dictator (2012) ภาพยนตร์ตลกร้าย ที่บอกเล่าเรื่องราวของประเทศแห่งหนึ่ง ปกครองโดยนายพลคนหนึ่ง (อลาดีน) ในระบอบ “เผด็จการ” และเขาก็สร้างวีรกรรมสุดชั่วร้ายขึ้นมามากมายจนประชาชนและนานาประเทศเอือมระอา ทำให้เกิดการเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง
.
ในตอนท้ายของเรื่อง เขาได้ถามคำถามกลับสู่คนรักประชาธิปไตยว่า
“คุณเกลียดอะไรเผด็จการนัก ลองคิดว่าถ้าประเทศนี้เป็นเผด็จการ เราสามารถยึดสมบัติชาติเป็นของตัวเอง ใช้กลไกภาษีเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เจอวิกฤติหนักก็ไม่เจ็บตัว แถมไม่ต้องสนใจคนรากหญ้า การศึกษาก็ไม่ต้องไปสนใจ สื่อก็ควบคุมชักไยอยู่เบื้องหลังได้ ผลการเลือกตั้งก็โกงได้ ตั้งข้อหาแปลกๆ เพื่อยัดคนเข้าคุกก็ไม่มีใครกล้าโวย”
.
ฟังดูชั่วร้ายมากใช่ไหมครับ สำหรับคำถามตอนท้ายเรื่องของอลาดีน ซึ่งสะท้อนระบอบเผด็จการได้เป็นอย่างดี วันนี้เราลองมาเรียนรู้ความชั่วร้ายนี้ผ่านคำถามของอลาดีนกันครับ
.
.
ยึดสมบัติไว้กับคนบางกลุ่ม
.
ประเทศวาดิยา ที่อลาดีนปกครอง ตั้งอยู่ในแถบตะวันออกกลาง ร่ำรวยจากทรัพยากรน้ำมัน ซึ่งควรจะเป็นสมบัติของชาติ แต่อลาดีนที่เกิดมาเป็นลูกของผู้นำคนก่อน ซึ่งได้รับมอบอำนาจตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และยึดมันไว้เป็นของตัวเอง เขาใช้มันซื้อความสุขให้ตัวเองอย่างบ้าคลั่ง โดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน
.
.
ไม่สนใจเสียงประชาชน
.
อลาดีนมักจะทำอะไรตามใจตัวเองเสมอ อยากจะประกาศอะไรก็ทำเลย ไม่สนใจว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ เช่นการเปลี่ยนบัญญัติคำศัพท์ภาษาวาเดีย ให้เป็นภาษาอลาดีน เพียงเพราะตัวเองไม่ค่อยรู้ภาษา
.
.
ตั้งกลไกเอื้อประโยชน์กันเอง
.
ข้อนี้ไม่ได้เห็นจากอลาดีน แต่เห็นจาก “ลุงทหารคนหนึ่ง” ที่ตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับพวกพ้อง หลังจากชิงอำนาจมาจากผู้นำคนก่อน (อลาดีน) ในระบอบเผด็จการ คนที่มีอำนาจจะสามารถกำหนดทุกสิ่ง เพื่อให้เอื้อประโยชน์กับตัวเองสูงสุด ร่ำรวยกันเอง ช่วยเหลือกันเอง แม้แต่อลาดีนเองก็ยังบอกในตอนท้ายของเรื่องว่า เราสามารถตั้งกลไกภาษีเพื่อช่วยให้เพื่อนรวยขึ้น
.
.
กดหัวคนรากหญ้า
.
การศึกษา ระบบสาธารณูปโภค ไม่ใช่เรื่องสำคัญในสายตาอลาดีน เพราะเขาสนใจแค่ตัวเอง ทุกอย่างที่เขาอยากได้ก็ต้องได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหาความสุขส่วนตัว การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ การจัดงานโอลิมปิกเพื่อยกยอตัวเอง
.
.
ควบคุมสื่อ
.
สื่อในประเทศวาดิยา เหมือนว่าจะดำเนินการรายงานข่าวกันได้ตามปกติ แต่ก็ถูกชักใย บงการอยู่เบื้องหลังโดยคนคนหนึ่ง และครอบครัวของเขาอีกที ดังนั้น “สื่อเสรี” ไม่มีอยู่จริง และเมื่อสื่อไม่มีอิสรภาพ ความจริงในสังคมก็จะไม่มีวันปรากฏ
.
.
โกงได้ทุกอย่าง
.
ตั้งแต่ต้นเรื่อง เราจะเห็นการแข่งขันโอลิมปิก (ที่จัดขึ้นเอง) อลาดีนใช้วิธีโกงจนได้เหรียญทองทุกการแข่งขัน
ไปจนถึงตอนท้ายเรื่องกับฉากเลือกตั้งผู้นำ ตามระบอบประชาธิปไตยที่เลือกใครก็ได้ แต่ถ้าไม่เลือกอลาดีน = ตาย เป็นความเจ็บแสบของการเลือกตั้งปลอมๆ สร้างกฎกติกาแบบโกงๆ โดยผู้นำเผด็จการ
.
.
ยัดข้อหาแปลกๆ และสั่งอุ้มคนโดยไร้เหตุผล
.
ความบ้าอำนาจอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่พอใจอะไรหน่อยก็สั่งอุ้ม ยัดข้อหา ให้ทหารพาตัวไปทำให้สูญหายอย่างลึกลับ อย่างฉากจรวดนิวเคลียร์ที่อลาดีนได้โต้เถียงกับ “นิวเคลียร์ นาดาล” (หัวหน้านักวิจัย) แน่นอนว่าเขาโดนอุ้มไปจัดการ ในภาพยนตร์ยังมีเหตุการณ์แบบนี้อีกหลายครั้ง และทุกครั้งเกิดจากความไม่พอใจ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กแค่ไหนก็ตาม
.
.
ความบ้าอำนาจของผู้นำที่โง่ มีแต่ความเอาแต่ใจ แต่ไร้ซึ่งปัญญา ทำให้เกิดความชั่วร้ายที่ฟังดูแย่เกินกว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่แน่ว่าบางทีอาจมีประชาชนในบางประเทศกำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้
.
.
#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
#activity #movie
โฆษณา