1 ก.ค. 2021 เวลา 12:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ความคุ้มค่าในการซื้อ - ถือหุ้น ในนิยามของ "สถาพร งามเรืองพงศ์" เซียนหุ้นอัจฉริยะหมื่นล้าน
มีคำถามเสมอๆในหมู่นักลงทุนโดยเฉพาะคนที่เลือกลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ “Value Investor” หรือ “VI” ว่าจะต้องถือหุ้นไปนานแค่ไหน ต้องถือไปชั่วชีวิตแบบไม่ขายเลย (ชั่วชีวิต)หรือเปล่า
วันนี้ “คนเล่า หุ้น”มีมุมมองที่น่าสนใจที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้จาก "คุณสถาพร งามเรืองพงศ์" เซียนหุ้นอัจฉริยะหมื่นล้าน ที่อธิบายเรื่องนี้ไว้ในงานสัมนาหุ้น "SET in the city 2012" ว่าการซื้อแล้วถือหุ้นเป็นเรื่องของมุมมองที่มีต่อความคุ้มค่าเหมือนกับในชีวิตจริงที่เราเสียเงิน 500 บาทเข้าไปกินบุฟเฟต์ในร้านอาหารญี่ปุ่น
ไปเจอร้านหนึ่งไปกินครั้งแรกรู้สึกดีมากมีปลาแซลมอน มีเทมปูระ มีอะไรให้กินเยอะแยะ แต่พออีกไม่นานไปดูใหม่จ่าย 500 เหมือนเดิม แต่กลับไม่มีเทมปูระให้เราแล้ว ปลาแซลมอนก็เสิร์ฟช้า ความคุ้มค่าก็หายไป ก็เปรียบเหมือนกับหุ้นตัวนึง ราคาเท่าๆเดิม แต่ความสามารถในการทำกำไร กับการจ่ายปันผลเขาลดลงแบบนี้ก็ไม่น่าสนใจ
 
“มันไม่เกี่ยวกับว่าเราถือหุ้นยาวหรือถือหุ้นสั้น แต่มันเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรของหุ้น กับจ่ายปันผลของเขาลดมันไม่ใช่หุ้นที่คุ้มค่าที่จะลงทุนอีกต่อไปเราก็ขาย”
ในทางตรงกันข้ามสมมุติว่าร้านอาหารร้านเดิม เราจ่าย 500 บาท แต่กลับมีการบริการที่ดีเพิ่มขึ้นเพิ่มอาหารให้เรา อาจจะมีปูอลาสก้า เฮ้ยเราได้กินแบบนี้ได้ยังไง ก็เหมือนกับหุ้นตัวเดิมแต่ความสามารถในการทำกำไรกับจ่ายปันผลของเขาเพิ่มขึ้น จนผู้บริโภค (นักลงทุน) รู้สึกว่าเขาจ่ายเท่าเดิมไม่ได้อีกแล้วเพราะความคุ้มค่ามันเพิ่มมากขึ้น
ในชีวิตจริงเรามักมองว่าเราจ่ายเงินเท่าไหร่แล้วเราได้อะไร เปรียบเหมือนการลงทุนแบบVI ก็ต้องคิดว่าราคาที่เราจ่ายไปแบบนี้เราได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นกำไรปีละกี่เปอร์เซนต์ กำไรจะเติบโตได้กี่เปอร์เซนต์ และจ่ายเงินปันผลกลับมาให้เราได้เท่าไหร่ ..มันไม่เกี่ยวกับระยะเวลา แต่เป็นความุ้มค่าที่จะถือเพื่อลงทุนไป
“VI ไม่ได้บอกว่าเราต้องทน วอเรนต์ บัฟเฟตต์ไม่ได้บอกว่า VI เท่ากับ ความเจ็บปวดที่ต้องทนเมื่อหุ้นลง แต่บัฟเฟตต์บอกว่าให้ลงทุนในกิจการที่คุ้มค่า ที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว”
จะเห็นได้ว่าแนวคิดของคุณสถาพรในข้อนี้ตรงกับ แนวคิดของวอเรนต์ บัฟเฟตต์ที่สอนนักลงทุนว่า “Price is what you pay. Value is what you get. ราคาคือสิ่งที่คุณจ่ายไป แต่มูลค่าคือสิ่งที่คุณได้มา นั่นเองครับ
โฆษณา