3 ก.ค. 2021 เวลา 09:11 • คริปโทเคอร์เรนซี
Parachain แบบละเอียด และทำไมต้องประมูล Parachain?
ปัญหาโลกแตกของบล็อกเชนที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว จนมีแนวความคิดที่มีชื่อว่า "Trilemma of blockchain" เกิดขึ้น กล่าวคือ Decentralization ,Scalability และ Security เราไม่สามารถมี 3 อย่างนี้สูงสุด พร้อมกันได้ในคราวเดียว ถ้าเราต้องการ Decentralization และ Security สูงสุดจะต้องแลกมาด้วย Scalability ที่เสียไปอย่างที่ Bitcoin และ Ethereum เป็น
การมี Scalability และ Security สูงสุด แต่แทบไม่ Decentralize เลยก็อาจจะนึกถึงพวก centrialized institution อย่างเช่น ธนาคารหรือแม้กระทั้ง VISA
แล้วถ้าเราต้องการที่จะแหก trilemma นี้ หรืออีกความหมายนึงคือ
มี 3 อย่างนี้สูงสุดพร้อมกัน จะต้องทำอย่างไร มีหลายๆคน พยายามหาทางออกในเรื่องนี้ มีหลากหลายโมเดลที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่มีแนวคิดนึงที่น่าสนใจและอยากจะพูดถึงมีชื่อว่า sharding system กล่าวคือถ้าเรามีเชนอยู่เพียงเชนเดียว การจะทลายขีดจำกัดนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก → ถ้างั้น ทำไมเราไม่ทำหลายๆเชน ให้มันประมวลผลคู่ขนานกันไปเลยหล่ะ
มีหลากหลายบล็อกเชน ได้นำแนวความคิดนี้ไปใช้แก้ปัญหาเรื่อง scalability อย่างเช่น ETH2.0 ที่วางระบบใหม่โดยมีเชนหลัก เรียกว่า beacon chain และเชนที่ประมูลผลคู่ขนาน เรียกว่า shard chain โดย Kusama และPolkadot ก็ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้เช่นกัน โดยมีเชนหลักเรียกว่า relay chain และมี parachain ประมวลผลคู่ขนานไป ถึงแม้ว่า ETH2.0 และ Kusama จะต่างใช้ sharding system แต่ทั้งสองเชนนี้มีรายละเอียดที่ค่อนแตกต่างกันพอสมควร จะขอ ไม่พูดถึง ณ ที่นี้
เมื่อพูดถึง parachain ตัวบล็อกเชนที่ถูกเขียนด้วยซอฟแวร์ชื่อ substrate นั้น
ไม่จำเป็นต้องมาเป็น parachain ก็ได้ สามารถเป็นบล็อกเชนแบบเดี่ยวๆได้เลย(เรียกว่า standalone blockchain) แต่การมาเป็น parachain นั้นมีข้อดีที่สำคัญคือไม่ต้องกังวลเรื่อง Security เลย การจะ secure บล็อกเชนให้ปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งบล็อกเชนขนาดเล็ก ยิ่งง่ายต่อการโดน attack อย่างเช่น ETH classic ที่ยังเคยโดน 51% attack ไป การเข้ามาเป็น parachain จะทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายไป ทุก parachain มี relay chain เป็นคนคอยดูแลเรื่องนี้ให้อยู่แล้ว ทีมจึงสามารถโฟกัสในการพัฒนาด้านอื่นๆได้มากขึ้น
อย่างที่ได้เคยกล่าวไปแล้ว ในปัจจุบันตัว Kusama relay chain ถูกตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถรองรับ Parachain ได้ราวๆ 100 slot ซึ่งโปรเจคที่จะเกิดขึ้นใน ecosystem มีมากกว่านั้น จึงเกิดแนวคิดเกี่ยวกับการประมูลเกิดขึ้น ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว parachain slot ที่เหลือให้ประมูลจะมีไม่ถึง 100 เพราะ slot ส่วนนึง อยู่ถูกแบ่งไว้สำหรับ Common good parachains(คือเชนที่ถูกสำรองไว้เพื่อประโยชน์โดยรวมต่อเน็ตเวิร์ก เช่นสำหรับเป็น BTC bridge, ETH bridge หรือไว้สำหรับ Mint token และ NFT) ,อีกส่วนนึงถูกแบ่งไว้สำหรับ parathread และส่วนที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่ จึงถูกแบ่งไว้ให้การประมูล
1
หลักการประมูลคือแต่ละทีมที่ต้องการใช้งาน slot จะต้องแข่งกัน โดยใช้โทเคน KSM ในการประมูลทีมที่ชนะจะได้สิทธิการใช้งาน slot แต่สิทธิการใช้งาน slot ดังกล่าวจะเหมือนการเช่าเพราะสามารถใช้งานได้เพียงระยะเวลานึง
ขั้นตอนของการประมูล มีดังนี้
1. Crowdloan ทีมที่จะลงแข่งประมูลต้องหาโทเคน KSM มาวางให้ได้มากที่สุด โดยวิธีการหาโทเคนมาวางไว้ มีด้วยกัน 2 วิธี 1.ใช้เงินของทีมไปซื้อ KSM มาวางเลย ถ้าทีมมีเงินถุงเงินถังก็อาจชนะการประมูลได้ 2.ระดมทุนจาก community โดยเปิดให้คนมาวางล็อคโทเคน KSM เอาไว้
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด! การระดมทุนในที่นี้ แตกต่างจากการระดมทุนทั่วไป(หรือcrowd funding) ที่เราโอนเงินไปให้ทีมโดยตรง และเชื่อใจว่าทีมจะให้โทเคนมาเป็นการแลกเปลี่ยนในตอนที่โปรเจคเปิดใช้งานจริง ซึ่งทีมจะเอาเงินของเราไปทำอะไรก็ได้ แบบนี้ถูกเรียกว่า crowd funding เพราะเงินของเราไปช่วย funding ทีม การระดมทุนของ Kusama นั้นแตกต่างออกไปโดยมีชื่อเรียกว่า crowdloan กล่าวคือ เงินของเราจะถูกส่งไปให้ทีมยืม(Loan) โดยทำผ่าน platform ของ Polkadot.js.org โดยเปิดให้ commumity มาล็อคโทเคน KSM เอาไว้ แต่โทเคน KSM ก้อนดังกล่าวจะไม่ถูกใครแตะต้องทั้งสิ้น เพียงแต่ถูกล็อคไว้ใน Relay chain และจะคืนกลับสู่เจ้าของที่แท้จริงตอนการเช่า slot สิ้นสุดลง
2.Parachain auction เมื่อ Crowdloan เกิดขึ้นได้ระยะนึง ก็ได้เวลาที่งานเลี้ยงจะเริ่มต้นขึ้น ทีมที่จะประมูลจะต้องระบุว่าจะเช่าslot กี่ช่วง โดยช่วงการเช่ามีชื่อเรียกว่า leasing period หนึ่งช่วงการเช่ามีระยะเวลาเท่ากับ 6 สัปดาห์ สำหรับ Kusama ซึ่งหนึ่ง slot ที่เปิดให้ประมูลจะมีความยาวทั้งหมด 8 ช่วงการเช่าหรือ 48 สัปดาห์ ทำให้การประมูลสามารถมีผู้ชนะได้มากสุดถึง8ทีม โดยผู้ชนะแต่ละทีมได้รับไปทีมละช่วงในระยะเวลาเกือบหนึ่งปีนี้ หรืออาจมีสถานการณ์ที่มีการเสนอราคาที่สูง เสนอราคาสำหรับเช่า slot โดยทีมเดียวยาวตลอดทั้ง 8 ช่วงเลย โดยถ้ามีทีมที่จะเช่าแค่บางช่วงการเช่า ระบบจะทำการจับคู่ให้ลงตัวเพื่อเติมเต็มให้ครบทั้ง 8 ช่วง
ตัวอย่างการประมูลโดยมีBobและ Charlie เป็นผู้ชนะ
แต้มการประมูลหรือ Locked value จะเท่ากับจำนวนโทเคนที่วางคูณกับจำนวนช่วงเวลาที่จะเช่า เช่น Alice จะเช่าทั้ง 8ช่วง โดยวางโทเคนไว้ 200 KSM ก็จะได้แต้มเท่ากับ 1600 หรือ Bob ที่จะเช่าแค่ช่วงที่1กับ2 โดยวางโทเคนไว้ 100 KSM ก็จะได้แต้มเท่ากับ 200 อย่างที่กล่าวไปแล้ว ถ้ามีทีมเช่าแค่บางช่วง ระบบจะจับคู่ให้เพื่อเติมให้ครบทั้ง8ช่วง ทำให้ในรูปดังกล่าว Bob กับ Charlie ถูกจับคู่กัน และเอาแต้มมารวมกัน เป็นเหตุให้ทั้ง2 คนนี้เป็นผู้ชนะการประมูลและได้ slot นี้ไป ถึงแม้ไม่มีช่วงไหนเลยที่ทั้งคู่ bid สูงสุด
ถ้าพูดถึงเรื่องการประมูล ปัญหาหลักๆที่มีมาอยู่เรื่อยๆ คือ ผู้ร่วมประมูลมักจะทุ่มเงิน ตอนสุดท้ายก่อนเวลาประมูลจะสิ้นสุด ทีม Parity จึงได้เลือกรูปแบบการประมูลที่มีชื่อว่า candle auction มาใช้ มีความแตกต่างจากการประมูลทั่วๆไป คือเวลาสิ้นสุดการประมูลในแต่ละรอบนั้นจะถูกสุ่ม ไม่ตายตัวและไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ อย่างเช่นเดิมเปิดประมูล 1 สัปดาห์ เมื่อผ่านไป 2 วันระบบสุ่มจะเริ่มต้นขึ้น สุ่มว่าการประมูลจบเมื่อไหร่ ทำให้ทีมที่เข้าร่วมประมูลจะต้องทุ่มเงิน ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการประมูล เพื่อความได้เปรียบสูงสุด การนำ candle auction มาใช้ ทำให้การประมูลมีความแฟร์มากยิ่งขึ้น
3.Launch project ทีมไหนที่ชนะการประมูล โทเคน KSM ที่ถูกล็อคเอาไว้ผ่านแพลตฟอร์ม Polkadot.js ของทีมนั้นๆ ก็จะถูกส่งไปยัง Relay chain โทเคนก้อนดังกล่าวจะช่วยProof การมีอยู่ของ parachain และทำให้ parachain เชื่อมต่อกับ Relay chain และสามารถทำงานได้ ตามที่มันถูกออกแบบมา
4. Lease expire เมื่อใช้งานจนสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ตอนเริ่มประมูล slot ก็จะกลับคืน เพื่อรอการประมูลอีกครั้ง โทเคน KSM ที่ถูกล็อคเอาไว้ ก็จะกลับคืนสู่ wallet ของเจ้าของที่แท้จริง แบบอัตโนมัติ
Q: แล้วทำไมต้องเช่าด้วยหล่ะ ทำไมคนที่ชนะไม่ได้ครอบครอง slot แบบถาวรไปเลย?
A: อย่างที่รู้ๆกัน ในโลกบล็อกเชนมีโปรเจคเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก มีโปรเจคจำนวนไม่น้อยที่พอ ICO เสร็จได้เงินแล้วก็สบายตัวไม่ยอมพัฒนาโปรเจคต่อ ทำให้ไม่เกิด productivity ต่อ ecosystem การที่ Kusama ทำเช่นนี้ เสมือนเป็นการกระตุ้นให้ทีมต่างๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่ community จะยอมที่จะเข้ามาช่วยล็อคโทเค็น ไว้สำหรับเช่า slot ครั้งถัดไป
ตอนถัดไปเราจะมาพูดถึง เรื่องระบบGovernance
ภาพแสดงขั้นตอนของการประมูล
โฆษณา