4 ก.ค. 2021 เวลา 02:50 • ยานยนต์
รถบรรทุก ขับด้วยตัวเอง จะเปลี่ยนโลกการขนส่ง ไปตลอดกาล
2
นอกจากรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าแล้ว
พัฒนาการของรถไร้คนขับ ก็เป็นอีกนวัตกรรมที่คนทั่วโลกต่างจับตามอง
1
ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ขับขี่ได้โดยไม่ต้องจับพวงมาลัยของ Tesla และ Audi
หรือแม้แต่รถมินิแวนไร้คนขับของ Waymo บริษัทในเครือ Alphabet
แต่รู้หรือไม่ว่านอกเหนือจากการเดินทางในชีวิตประจำวันแล้ว ผู้พัฒนานวัตกรรมไร้คนขับก็กำลังขับเคี่ยวกันในอุตสาหกรรมการขนส่งเพื่อพัฒนา “รถบรรทุก” ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
2
แล้วนวัตกรรมรถบรรทุกไร้คนขับนี้ ส่งผลต่อระบบการขนส่งสินค้าอย่างไร
และกำลังพัฒนาไปถึงระดับไหนแล้ว ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
สินค้าแทบทุกชิ้นที่อยู่รอบตัว ต่างต้องเคยผ่านการขนส่งด้วยรถบรรทุกก่อนมาถึงมือเรา
อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นสัดส่วนจากรถบรรทุกกว่า 2 ใน 3 นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมรถบรรทุกในประเทศแห่งนี้ มีมูลค่ากว่า 25 ล้านล้านบาท
2
และด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ
ที่ปัจจุบัน ต่างหันมาแข่งขันกันในเรื่องความเร็วในการจัดส่ง
โดยเฉพาะบริการ “Same Day Delivery” หรือบริการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียว
1
เหล่าคนขับรถขนส่งสินค้ารวมไปถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่ จึงต้องทำงานหนักมากขึ้น
เพราะต้องเพิ่มความเร็วในการขนส่งตามนโยบายของบริษัท รวมถึงต้องทำงานเกินเวลา
1
นั่นจึงทำให้อาชีพคนขับรถบรรทุก มีจำนวนชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 10 ถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน เลยทีเดียว
1
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนขับรถส่งสินค้าของ Amazon.com ออกมาประท้วงเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
1
หรือแม้แต่การนัดกันหยุดงานและออกมาชุมนุมในประเทศเกาหลีใต้ของคนขับรถรับส่งและรถบรรทุกสินค้าหลายบริษัท หนึ่งในนั้นก็คือ Coupang บริษัทอีคอมเมิร์ซเกาหลีใต้ เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แล้วทำไม บริษัทเหล่านี้ไม่จ้างพนักงานขับรถบรรทุกเพิ่ม ?
เหตุผลสำคัญที่บริษัทไม่นิยมจ้างพนักงานขับรถมาเพิ่ม ไม่ใช่เพียงเพราะต้นทุนค่าจ้างที่จะสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่ด้วย
4
อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกามีการประเมินไว้ว่า คนขับรถบรรทุกขาดแคลนมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง และจะขาดแคลนมากขึ้นกว่านี้อีกเป็นเท่าตัว ในอีก 5 ปีข้างหน้า
4
นั่นก็เพราะว่าผู้ประกอบอาชีพขับรถบรรทุก มีอายุเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงและกำลังทยอยเกษียณอายุกันแต่กลับไม่มีคนวัยหนุ่มสาวเข้ามาทดแทน เพราะความนิยมในอาชีพเหล่านี้น้อยลงไปทุกที
นวัตกรรมขับเคลื่อนอัตโนมัติ จึงจะมีบทบาทสำคัญ ในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมรถบรรทุก
1
เพราะระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง จึงสามารถขนส่งได้
แม้ในช่วงนอกเวลางานของคนขับรถซึ่งจะเข้ามาช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าทั้งระบบให้รวดเร็วขึ้น
1
ยกตัวอย่างเช่น เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สตาร์ตอัปรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติสัญชาติอเมริกันที่ชื่อ TuSimple ได้ทดลองขนส่งแตงโมโดยเดินทางผ่าน 3 เมือง เป็นระยะทาง 1,530 กิโลเมตร ผลปรากฏว่าใช้เวลาน้อยกว่ารถบรรทุกแบบดั้งเดิมที่มีคนขับถึง 42% หรือจาก 24 ชั่วโมง เหลือเพียง 14 ชั่วโมง
4
Cr.reder.red
นอกจากเวลาที่ใช้น้อยลงแล้ว พลังงานและแรงงานก็ถูกใช้น้อยลงด้วยเช่นกัน
ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลงในระยะยาว ซึ่งถ้าพัฒนาไปถึงขั้นที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ ก็จะลดต้นทุนได้ถึง 50% แม้ว่าบริษัทจะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาที่สูงในช่วงแรกก็ตาม
4
และเมื่อรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติ มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนแบบใช้ไฟฟ้า
นวัตกรรมดังกล่าวจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปด้วย
1
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถบรรทุกจะมีความท้าทายที่มากกว่ารถยนต์
1
ทั้งในเรื่องของน้ำหนักตัวรถที่มากกว่าและตัวรถที่มีขนาดใหญ่กว่า รวมถึงการพัฒนาระบบเซนเซอร์และระบบคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ ก็ต้องทำให้ตอบสนองได้เร็วกว่า และประมวลผลไปได้ล่วงหน้ากว่ารถยนต์เป็นเท่าตัว
1
เมื่อดูความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไร้คนขับของรถบรรทุก
จากระบบการแบ่งระดับของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติที่กำหนดโดย SAE International
ที่เริ่มจากระดับ 0 คือเป็นยานยนต์คนขับ 100%
ไปจนถึงระดับ 5 ที่เป็นยานยนต์ไร้คนขับ 100%
1
ในปัจจุบันรถบรรทุกไร้คนขับส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า
โดยระดับ 3 ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “Conditional Automation” ซึ่งรถจะขับเคลื่อนได้เองเลย
แต่ยังมีคนขับนั่งไปด้วยเผื่อต้องควบคุมพวงมาลัยในกรณีฉุกเฉิน
ในกรณีของรถบรรทุก จะใช้ระบบเพิ่มเติมที่เรียกว่า “Platoon” ซึ่งคือการที่ให้รถบรรทุกวิ่งตามกันเป็นขบวน โดยแต่ละคันจะเชื่อมต่อด้วยระบบแบบไร้สายเพื่อให้รถคันหลังตอบสนองตามคันที่นำขบวน
2
สำหรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ของรถบรรทุกในช่วงแรกจะเป็น Platoon แบบมีคนขับ
คือรถบรรทุกทุกคันในขบวนยังมีคนขับนั่งไปด้วย และจะใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบ Platoon นี้บนทางหลวงเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนโล่งและเป็นระยะทางยาว พอเข้าสู่ถนนปกติที่พลุกพล่าน ก็จะสลับมาให้คนขับรถแทน
2
ในระยะต่อมา ก็จะถูกพัฒนาไปเป็นระบบ Platoon แบบไร้คนขับ
โดยจะมีคนนั่งหลังพวงมาลัยเฉพาะในรถที่นำขบวนเท่านั้น
ส่วนรถคันอื่นจะขับเคลื่อนเองแบบไร้คนขับ
แต่ยังคงใช้ระบบนี้เฉพาะบนทางหลวงเหมือนเดิม ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้เฉลี่ย 10%
4
ระบบ Platoon แบบมีคนขับ เริ่มทดลองสำเร็จเมื่อปี 2016
จากโครงการ European Truck Platooning Challenge
โดยมีบริษัทชั้นนำอย่าง Daimler, Volvo และ Scania ที่เป็นบริษัทในเครือ Volkswagen ซึ่งสามารถทำสถิติขบวนรถบรรทุกที่วิ่งได้ระยะทางไกลสุดในโครงการนี้ ด้วยระยะทาง 2,000 กิโลเมตร จากประเทศสวีเดน ผ่านเดนมาร์ก เยอรมนี ไปถึงปลายทางที่เนเธอร์แลนด์
ก่อนที่ปีต่อมา Scania และ Toyota เริ่มทดลองระบบ Platoon แบบไร้คนขับได้สำเร็จในประเทศสิงคโปร์
1
และปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่กำลังพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถบรรทุก
ให้เข้าสู่ระดับ 4 ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีระบบเชื่อมต่อกันเป็นขบวนแล้ว
และไม่ต้องมีคนขับรถเลยในช่วงที่เป็นทางหลวง รวมถึงในบางเส้นทางที่มีการบันทึกข้อมูลไปแล้ว
แต่คนขับรถจะมีบทบาทในช่วงเส้นทางที่ซับซ้อนมาก และยังต้องมีคนขนของขึ้นลงรถตามจุดต้นทางและปลายทางอยู่
McKinsey คาดการณ์ว่ารถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 4 หรือ “High Automation” จะสามารถพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์อย่างน้อยภายในปี 2025 ถึง 2027
หลังจากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่ระดับสูงสุดที่ระดับ 5 หรือ “Full Automation”
ที่ยานยนต์จะขับเคลื่อนได้เองแบบไร้คนขับโดยสมบูรณ์
และบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติในปัจจุบัน
อ้างอิงจากการวิเคราะห์ของ Bloomberg ก็คือ TuSimple, Aurora และ Waymo
1
Cr.properea
TuSimple เป็นสตาร์ตอัปนวัตกรรมไร้คนขับที่โฟกัสรถบรรทุกอย่างเดียวมาตั้งแต่แรก และมีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถบรรทุกที่ก้าวหน้าที่สุดในขณะนี้ โดย TuSimple ตั้งเป้าว่าจะวางระบบขนส่งด้วยรถบรรทุกไร้คนขับได้ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในอีก 3 ปีข้างหน้า
ส่วน Aurora และ Waymo เริ่มต้นมาจากการพัฒนารถยนต์และรถให้บริการรับส่งคน ก่อนที่จะเข้ามาสู่ตลาดรถบรรทุก ซึ่งผู้ก่อตั้ง Aurora ก็คืออดีตทีมบริหารจาก Waymo และ Tesla นั่นเอง
3
ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่หลายบริษัทตัดสินใจเลือกพัฒนารถบรรทุกควบคู่ไปด้วย
ก็เป็นเพราะว่า ด้วยความที่รถบรรทุกใช้ขนส่งสิ่งของที่ไม่มีชีวิต
และการมุ่งเน้นในการพัฒนารถบรรทุก ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ไร้คนขับอย่างสมบูรณ์ อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถบรรทุก ก่อนยานยนต์อื่น ๆ นั่นเอง..
1
โฆษณา