2 ก.ค. 2021 เวลา 12:07 • ประวัติศาสตร์
“ลูกเสือคนแรกของประเทศสยาม”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนากองเสือป่าแล้ว ได้มีพระราชปรารภว่า เด็กที่อยู่ในวัยเยาว์ สมควรได้รับการฝึกฝน ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้รู้ในทางเสือป่าเช่นกัน เพื่อว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้น จะได้รู้จักหน้าที่ ซึ่งคนไทยทุกคนควรประพฤติเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากิจการลูกเสือ และตราข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔
นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ ๑” ขึ้น ณ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ วชิราวุธวิทยาลัย) เป็นกองลูกเสือแรกของประเทศสยาม ในเวลาต่อมา มีการจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียนต่างๆ จนกิจการลูกเสือได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ
(คำบรรยายภาพที่ ๑ - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือไทย)
ในระยะแรกแห่งการสถาปนากิจการลูกเสือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คัดเลือกตัวแทนนักเรียนมาลองแต่งเครื่องแบบลูกเสือให้ทอดพระเนตร เพื่อจะได้มีพระบรมราชวินิจฉัย ก่อนประกาศใช้เครื่องแบบลูกเสืออย่างเป็นทางการ
ตัวแทนนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ บุนนาค (ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายลิขิตสารสนอง) โดยในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๕๔ หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ - ภายหลังเป็นพระยาบริหารราชมานพ) ได้นำตัวนักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ ไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
(คำบรรยายภาพที่ ๒ - นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ บุนนาค ในเครื่องแบบลูกเสือ)
หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเครื่องแบบลูกเสือ ที่นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์แต่งมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างถี่ถ้วน เพื่อจะให้เป็นที่แน่พระราชหฤทัยแล้ว ได้มีพระราชดำรัสถามนายจ่ายง (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ - ภายหลังเป็นเจ้าพระยารามราฆพ) ว่า “เฟื้อ เครื่องแบบนี้ดีหรือยัง” นายจ่ายง กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า เห็นว่าดีแล้ว ถ้าต่อไปภายหน้าจะมีอะไรที่ไม่เหมาะสม ก็ยังจะมีโอกาสแก้ไขต่อไปได้”
จากนั้น มีพระราชดำรัสถามนักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ ว่า “เอ็งท่องคำสาบานของลูกเสือได้หรือเปล่า ?” นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ จึงยืดตัวตรง ยกมือแตะหมวกในท่าวันทยาหัตถ์ กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้ว” และเริ่มกล่าวคำสาบาน ดังนี้
๑. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๒. ข้าจะตั้งใจประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย
๓. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนลูกเสือ
เมื่อนักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์กล่าวคำสาบานจบแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรกของประเทศสยาม”
(พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทอดพระเนตรเครื่องแบบลูกเสือ ที่นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ บุนนาค แต่งมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จัดแสดงภายในพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ หอวชิราวุธานุสรณ์)
นักเรียนมหาดเล็กหลวงชัพน์ บุนนาค จึงได้เป็นลูกเสือคนแรกของประเทศสยาม ตามพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๕๔ เป็นต้นมา
ด้วยเดชะพระบารมี และพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทำให้กิจการลูกเสือที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกำเนิดไว้ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน กระบวนการลูกเสือช่วยอบรมบ่มเพาะอุปนิสัยของเด็กและเยาวชน ให้เป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัย และมีจิตสาธารณะ ที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ยังผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคง และเจริญก้าวหน้าสืบมา
โฆษณา