3 ก.ค. 2021 เวลา 07:07 • การศึกษา
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ผู้ที่ถูกโลกยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะนั้น มีวิธีการเรียนรู้หรือเทคนิคในการเรียนรู้อย่างไร เหตุไฉนจึงมีความรู้เหนือมนุษย์มนาทั่วไปนัก วันนี้เราจะได้รับคำตอบนั้นไปพร้อมกันครับท่านผู้ชม
ด้วยที่ว่าหากกล่าวถึงผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็นอัจฉริยะ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็มีมากมายเหลือจะนับไหว ในวันนี้ เราจึงนำมาแค่เพียง 3 คนเท่านั้น แต่ไม่ต้องห่วงครับ ท่านผู้อ่านที่รัก เราจะกลับมานำเสนอให้ครบถ้วนแน่นอน ไม่ช้าก็เร็วครับ
สำหรับ 3 บุรุษที่เราจะมานำเสนอวิธีการเรียนรู้ของพวกเขาในวันนี้นั้น ได้แก่
1) Albert Einstein อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (2422-2498)
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นกับชื่อนี้ เพราะเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเราได้กล่าวถึงมิสเตอร์ไอน์สไตน์ในหัวข้อเรื่องเจ้าผึ้งน้อยไป หากจะกล่าวถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นั้นผมเชื่อเหลือเกินว่าภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวผู้อ่านที่รัก คงจะหนีไม่พ้น ชายผมฟู ยุ่งเหยิง ผู้คิดค้นสมการอันลือลั่น E=mc^2 เป็นอย่างแน่ และวันนี้เราจะได้ทราบถึงวิธีการเรียนรู้ของชายคนนี้กันครับ
2) Richard Feynman ริชาร์ด ไฟน์แมน (2461-2531)
ริชาร์ด ไฟน์แมน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่มิอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 และถูกจัดให้เป็นนักฟิสิกส์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก โดยสำนักข่าว BBC ที่ให้นักฟิสิกส์ชั้นนำทั่วโลก 100 คนช่วยกันตัดสิน ซึ่งชายคนนี้เป็นนักฟิสิกส์สมัยใหม่เพียงคนเดียวที่ชนะใจนักฟิสิกส์ชั้นนำทั้วโลก โดยติด 1 ใน 10 คนแรกของโลก (สมัยใหม่ที่กล่าวถึง คือนับหลังจากยุคทองของทฤษฎีควอนตัม)
3) Elon Musk อีลอน มัสก์ (2514-ปัจจุบัน)
อีลอน มัสก์ CEO SpaceX และ Tesla ผู้ที่ได้รับสมญานามว่าไอรอนแมนในชีวิตจริง เขาฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และสร้างเกมที่ชื่อว่า Blastar ซึ่งขายให้กับนิตยสารคอมพิวเตอร์ในราคา 500 ดอลลาร์ ตั้งแต่ยังอายุ 12 ปี และปัจจุบันเขาก็กลายเป็นมหาเศรษฐีของโลกในที่สุด
มาพบกับคนแรกของเราในวันนี้กับ
Albert Einstein อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (2422-2498)
1) Albert Einstein อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (2422-2498) ไอน์สไตน์นั้นนับว่าสุดยอดอัจฉริยะผู้หนึ่งของโลก ไอน์สไตน์ เกิดเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2422 เขาเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เขาเป็นนักฟิสิกส์ที่คิดค้นและพัฒนาทฤษฎีมากมายเหลือจะนับในช่วงชีวิตของเขา หนึ่งในทฤษฎีเขย่าโลกของเขา คือ ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป ที่ว่าด้วยเรื่องแรงโน้มถ่วงที่ ไอแซก นิวตัน ไม่สามารถให้คำอธิบายได้ทั้งหมดในกฏแรงโน้มถ่วงของท่าน ไอน์สไตน์เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2464 โดยได้ค้นพบกฎที่อธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และภาพจำของหลายๆคนที่เมื่อเอ่ยถึงมิสเตอร์ไอน์สไตน์คงหนีไม่พ้นสมการอันลือลั่น E=mc^2
สำหรับวิธีการเรียนรู้ของเขานั้นมาจากการ จินตนาการ ใช่ครับ จินตนาการ ดั่งที่เขาเคยกล่าวว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เช่น มีนักเรียนสองคนต้องการจะจินตนาการภาพ F=ma คนแรกจะมองสมการชุดนี้ว่า แรง=มวลxความเร่ง ส่วนอีกคนจะจินตนาการภาพว่า "...อ้อ F มันเป็นแรงสินะ ความรู้สึกมันน่าจะคล้ายๆกับตอนที่เราโดนเพื่อนผลัก m คือมวล คือสิ่งที่หนักๆแบบที่เราสะพายกระเป๋ามาโรงเรียนทุกเช้าสินะ ส่วนความเร่ง a เคยรู้สึกตอนที่พ่อขับรถมาส่งเราที่โรงเรียนสินะ ซึ่งจินตนาการที่ใช้ จะต่างกันไปตามประสบการณ์ และความสามารถในการจินตนาการให้รับรู้สูงสุดของแต่ละคน เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสาขาวิชาไม่ว่า จะเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ
ไอน์สไตน์ในวัยเด็กนั้น ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ เขามีปัญหากับการสื่อสาร และเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ จนครูในวัยเด็กของเขาถึงกับเอ่ยกับเขาว่า “ในชีวิตนี้เขาคง ไม่สามารถทำอะไรได้” แต่ไอน์สไตน์พบความสุขของตนเองกับโดยการเล่นในวัยเด็กของเขา เขาชอบแก้ปัญหาเชาว์ ชอบก่อสร้างอะไรยากๆเช่น สร้างบ้านด้วยกองไพ่ และที่สำคัญที่สุดคือ เขาชอบการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เขาแก้โจทย์คณิตศาสตร์เป็นงานอดิเรก ตั้งแต่เด็ก เขาแก้โจทย์ไปเรื่อยๆจนความรู้เขาก้าวข้ามเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ในช่วงปิดเทอม คนก็นำหนังสือคณิตศาสตร์สำหรับชั้นสูงกว่ามาเรียนด้วยตัวเอง เรียนด้วยความสนุก
นี่แหละ เคล็ดลับความฉลาดของไอน์สไตน์ “ทำสิ่งที่ตัวเองรัก” และทำไปเรื่อยๆเพื่อความสนุก โดยไม่ได้หวังผลอะไร จนท้ายที่สุดความสนุกนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นอัจฉริยภาพ
Richard Feynman ริชาร์ด ไฟน์แมน (2461-2531)
2) Richard Feynman ริชาร์ด ไฟน์แมน (2461-2531) ไฟน์แมนเป็นนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 ผลงานของมิสเตอร์ไฟน์แมนมีมากมาย เช่น การขยายทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัมให้กว้างใหญ่ขึ้นมาก ซึ่งนำไปสู่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ของเขา ไฟน์แมนเคยปฏิเสธตำแหน่งนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่ที่ไอน์สไตน์อยู่ เพราะเขาต้องการสอนหนังสือให้กับเด็ก ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดว่า "ผมอยากสอน เพราะในตอนที่ผมไม่มีไอเดียอะไรใหม่ ๆ ในงานวิจัย ผมก็ยังสามารถให้อะไรกับสังคมได้" และยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดของนาโนเทคโนโลยีอีกด้วย เขาถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดนักอธิบาย เพราะเขาสามารถอธิบายเรื่องยากๆให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆด้วยการใช้ภาษาง่ายๆได้ และเค้าก็ยังมีวิธีการเรียนรู้เฉพาะตัวของเค้าอีกด้วย
สำหรับวิธีการเรียนรู้ของไฟน์แมนนั้นมีอยู่ว่า
1)เลือกหัวข้อที่ต้องการศึกษา
สิ่งแรกสำหรับการเรียนรู้ที่ดีนั้น มักเริ่มต้นด้วยการเลือกหัวข้อในการศึกษา เมื่อเลือกได้แล้วคุณก็ทำการศึกษามันจนคุณนั้นคิดว่าคุณเข้าใจเนื้อหานั้นแล้ว
2)เขียนอธิบาย
เมื่อคุณเข้าใจเนื้อหาแล้ว คุณลองเขียนเนื้อหานั้นลงบนกระดาษ โดยเขียนและพูดไปพร้อมๆกัน ประหนึ่งว่าคุณนั้นกำลังอธิบายสิ่งที่คุณศึกษาให้คนอื่นฟัง สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้ว่า ส่วนไหนที่คุณเข้าใจดีแล้ว ส่วนไหนที่คุณยังเข้าใจมันไม่ดีพอ ถ้าคุณพบกับส่วนที่คุณยังเข้าใจมันไม่ดีพอ ลองกลับไปศึกษาส่วนนั้นซ้ำอีกครั้ง จนคุณสามารถอธิบายเรื่องที่คุณกำลังศึกษาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
3)ใช้ภาษาง่ายๆ
เมื่อคุณสามารถอธิบายได้ตั้งแต่ต้นจนจบดั่งที่เขียนไว้ในข้อ 2 คราวนี้คุณลองอธิบายมันใหม่โดยใช้ถ้อยคำง่ายๆ หรือใช้ภาพประกอบการอธิบายของคุณ หากคุณพบว่า ส่วนไหนที่คุณอธิบายยาวเกินไปหรือซับซ้อนเกินไป นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณอาจจะยังเข้าใจเนื้อหาได้ไม่ดีพอ ฉนั้นคุณควรกลับไปศึกษาใหม่อีกครั้ง
เมื่อสามารถใช้ภาษาง่ายๆอธิบายได้ นั่นแสดงว่าคุณเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ และจะสามารถจดจำเรื่องนั้นได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน และจะเป็นอะไรที่ดีมากหากคุณอธิบายสิ่งที่คุณศึกษาให้ใครซักคนจนคนผู้นั้นเข้าใจโดยง่าย
Elon Musk อีลอน มัสก์ (2514-ปัจจุบัน)
3) Elon Musk อีลอน มัสก์ (2514-ปัจจุบัน) มัสก์เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2514 มัสก์นั้นนับว่าเป็นหนอนหนังสือตั้งแต่ยังเยาว์วัย โดยเขาจัดเวลาสำหรับอ่านหนังสือ 10 ชั่วโมงต่อวัน ก่อนอายุ 18 ปีเขาย้ายไปอยู่ที่แคนาดาและ ที่นั่นเขาทำงานหนักเคยทำงานตั้งแต่พนักงานทำความสะอาด ที่มีค่าตอบแทนเพียง 18 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมงเท่านั้น เขาใช้เวลาอยู่พักใหญ่จนเขาตระหนักรู้ได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่อาจพาเขาไปถึงฝั่งฝันได้ ในช่วงนั้นเขามีความสนใจในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีอวกาศ หรือ อินเตอร์เน็ต เขาคิดจะเรียนต่อปริญญาเอกด้านฟิสิกส์และได้รับการติดต่อกลับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่เขาก็มีสิ่งที่สนใจคือ เศรษฐกิจฟองสบู่ไอที หลังจากศึกษาที่สแตนฟอร์ดได้ 2 วันเขาก็ลาออกมาตามความฝัน ตอนนั้นเขาไม่มีอะไรเลย เขาจึงไปกู้เงินและมาสร้างบริษัทที่ชื่อว่า Zip2 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เขาขายบริษัทในราคา 300 ล้านดอลลาร์ แล้วเขาก็นำเงินไปลงทุนก่อตั้ง x.com ขึ้นหรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ PayPal ก่อนที่ภายหลัง ebay จะซื้อมันไปในราคา 1.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ไม่ว่าเงินมากแค่ไหนก็ไม่อาจเติมเต็มความฝันที่อยากท่องอวกาศของเขาได้ จากนั้นเขาลงทุน 100 ล้านดอลลาร์และสร้างบริษัท SpaceX โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอารยธรรมมนุษย์ในอวกาศ จนกระทั่ง SpaceX กลายเป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกที่สามารถส่งจรวดไปวงโคจรโลกได้ แต่ก่อนจะสำเร็จถึงขั้นนั้นเขาก็ล้มเหลวอยู่หลายต่อหลายครั้งเช่นกัน และใน พ.ศ. 2564 เขาก็กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกด้วยทรัพย์สินมูลค่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์
สำหรับวิธีการเรียนรู้ของ มัสก์ นั้นคือ การมองความรู้ให้เป็นต้นไม้
หากจะเปรียบง่ายๆก็คือการมองความรู้เป็นต้นไม้ เราต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่ลำต้น กิ่งก้านสาขาต่างๆ ซึ่งเปรียบดั่งพื้นฐานขององค์ความรู้นั้นๆ ก่อนจะลงลึกไปศึกษาใบไม้แต่ละใบ ซึ่งก็เปรียบได้กับรายละเอียดเล็กๆ แต่แค่เรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักเชื่อมโยงความรู้ให้เป็นด้วย เพราะถ้าหากเชื่อมโยงความรู้ไม่เป็น ทำยังไงก็จำไม่ได้ หลังจากมีลำต้นที่มั่นคงแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่ม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพิ่ม แต่ต้องรู้จักเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกันด้วย ไม่ใช่ว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไรไปเรื่อย แต่ทุกๆอย่างที่เรียนรู้ต้องช่วยส่งเสริมให้ลำต้นของต้นไม้แห่งความรู้นั้นแข็งแรงขึ้นด้วย
ขอบคุณสำหรับการอ่าน ท่านผู้รักการอ่านทุกท่าน สำหรับวันนี้ลาไปก่อน เห็นทีว่าม้าจะถึงที่หมายช้ากว่าลาอย่างแน่นอน (ลาไปก่อน)
สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ ^-^
เรียบเรียงข้อมูล :
NanoZ Science & Technology
โฆษณา