3 ก.ค. 2021 เวลา 01:41 • ประวัติศาสตร์
“เเล็กเกิ่ม-สวายมู้ด” สงครามสยามพ่าย สมรภูมิอัปยศที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์สยาม
1
เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเวียดนามยุคใหม่ได้อุบัติขึ้น เมื่อ “กลุ่มกบฏเต็ยเซิน” (Tây Sơn) ได้ก่อการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปฏิบัติการของกองกำลังเต็ยเซินครั้งในนั้น ได้นำไปสู่การหลอมรวมกันระหว่าง "อาณาจักรตังเกี๋ย" กับ "อาณาจักรโคชินไชน่า" ที่แตกแยกออกจากกันมากว่าสองร้อยปีให้ผสานเข้าด้วยกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
1
ในขณะเดียวกัน อาณาจักรสยามก็ได้ส่งกองทัพนับหมื่นคนเข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้ด้วย แต่ก็นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ของอย่างน่าอับอายของอาณาจักรสยาม เพราะถูกตีจนแตกพ่ายอย่างง่ายดายเพียงชั่วข้ามคืนในสมรภูมิที่มีชื่อว่า “แล็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด"(Rach Gam - xoai Mu) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญและถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาวเวียดนามจากการรุกรานของชาวต่างชาติอย่างอาณาจักรสยาม
1
“เเล็กเกิ่ม-สวายมู้ด” สงครามสยามพ่าย สมรภูมิอัปยศที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์สยาม
ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เกิดความเสื่อมถอยของศูนย์อำนาจเก่าอย่างราชวงศ์เล ได้เปิดฉากให้สองตระกูลขุนนางจิ่งห์ (Trinh) และเหงียน(Nguyen) ที่มีฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต่างลุกขึ้นมาขับเคี่ยวกันเพื่อเข้ามาแทนที่ศูนย์กลางอำนาจเดิมที่ไร้ซึ่งพลัง โดยตระกูลจิ่งห์ได้กุมอำนาจทางตอนเหนือของเวียดนาม เรียกดินแดนในเขตนี้ว่า “อาณาจักรตังเกี๋ย”(Tonqueen) มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองทังลองหรือฮานอย
 
ส่วนตระกูลเหงียนกุมอำนาจทางตอนใต้ แผ่ขยายอำนาจไปจนถึงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เรียกดินแดนในเขตนี้ว่า “อาณาจักรโคชินไชน่า” (Cochinchina)
1
ภายหลังขุนศึกตระกูลจิ่งห์สามารถขจัดอำนาจของขุนศึกตระกูลเหงียนด้วยการส่งไปปกดรองดินแดนทางตอนใต้ ตระกูลจิ่งห์ก็ได้เข้าควบคุมการปกครองเบ็ดเสร็จในฐานะ "อุปราช" (ได่เวีอง หรือ จั่ว) ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระจักรพรรดิ สืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิตเสมือนราชวงศ์ใหม่ โดยที่จักรพรรดิเลต้องอยู่ในฐานะประมุขเชิงสัญลักษณ์ และหลายพระองค์ต้องตกอยู่ใต้การควบคุมชี้นำของตระกูลจิ๋งตั้งแต่ขึ้นครองราชย์
4
แผนที่เวียดนาม ค.ศ.1788
จึงกล่าวได้ว่า จักรพรรดิราชวงศ์เลนั้นทรงดำรงสถานะเป็นเพียงประมุขในทางพิธีการและพิธีกรรมเท่านั้น ไม่มีบทบาทในการริเริ่มหรือบัญชาการนโยบายทางการเมืองการปกครองใดๆ ทั้งนี้ขุนนางฝ่ายปฏิบัติการซึ่งอยู่ภายใต้กรมต่างๆ ต้องขึ้นตรงกับอัครมหาเสนาบดีตระกูลจิ่งห์ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว
2
เมื่อเกิดการแยกตัวก่อตั้งอาณาจักรอิสระ "โคชินไชน่า" โดยขุนศึกตระกูลเหงียนคือ เหงียนหว่างและเหงียน
ฟุกเงวียน ผู้เป็นบุตร ที่ไม่ยอมรับอำนาจของตระกูลจิ่งห์ ทำให้อุปราซจิ่งห์เริ่มต้นทำสงคราม เพื่อปราบปราม ฝ่ายตระกูลเหงียนในฐานะ "กบฏ"
ในปีคริสต์ศักราช 1627 กองทัพฝ่ายตังเกี๋ยเกณฑ์ไพร่พล ทั้งทัพช้าง ทัพม้า และทัพเรือจำนวนมาก มากกว่ากองทัพของโคชินไชน่าหลายเท่านัก แต่สุดท้ายด้วยความไม่ชำนาญพื้นที่จึงถูกทัพฝ่ายเหงียนตีแตกจนต้องเลิกทัพกลับไป
หลังจากนั้นสองตระกูลมีการรบพุ่งกันกินระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ แต่ไม่มีตระกูลใดกุมชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด จนต้องมีการสงบศึกชั่วคราว โดยใช้แม่น้ำแซงห์(Gianh) หรือที่ชาวสยามเรียกว่า แม่น้ำแดง เป็นเส้นกั้นแบ่งเขตอิทธิพล
ในปีคริสต์ศักราช 1771 เกิดความวุ่นวายขึ้นในโคชินไชน่า จุดเริ่มต้นของการจลาจนอยู่ที่หมู่บ้านเต็ยเชิน (Tay Son) นำโดย 3 พี่น้อง เหงียนหยัก (Nguyen Nhac) เหงียนเหวะ (Nguyen Hue) และเหงียนหลือ (Nguyen Lu) อันเนื่องมาจากการปกครองที่กดขี่ของคนตระกูลเหงียน มีการฉ้อราชย์บังหลวงกันอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงมีการจัดเก็บภาษีอย่างหนักทำให้อาณาประชาราษฎร์ในดินแดนตอนใต้เดือดร้อนไปทั่วหัวระแหง นำไปสู่การก่อกบฏที่เรียกว่า “กบฏเตยเซิน” ในที่สุด
หมุดตำแหน่งเขตหมู่บ้านเต็ยเซิน
ภายหลังจากที่กองกำลังกบฏเตยเซินยึดเมืองสำคัญๆ ในโคชินไชน่าได้หลายเมือง ทางด้านตระกูลจิ่งห์เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงได้ตระเตรียมไพร่พลเพื่อบุกลงใต้ กองทัพใหญ่ของตังเกี๋ยได้บุกลงใต้และยึดเมืองฝูซวนหรือเว้ได้ในที่สุดหลังจากต้องทำสงครามขับเคี่ยวกันมายาวนาน
มีผลให้ลูกหลานเจ้าผู้ปกครองตระกูลเหงียนที่ครองอำนาจมาเกือบสองร้อยปีต้องหมดอำนาจลง ขุนนางข้าราชสำนักทั้งพลเรือนและทหาร เช่น องค์ชายเหงียนอ๊านหรือองเชียงสือ ต้องหลบหนีลงไปยังพื้นที่ปากแม่น้ำโขงและไปขอความช่วยเหลือยังสยามในที่สุด ถือเป็นความเกี่ยวข้องของสยามกับการเมืองในเวียดนามครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์เวียดนาม [1]
1
เหงียนแอ็งห์ หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “องเชียงสือ” (Nguyen The ToGia Long)
สยามเข้ามาเกี่ยวข้องกับศึกชิงอำนาจระหว่างเต็ยเชินและตระกูลเหงียนตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน ซึ่งภายหลังจากเจ้าตระกูลเหงียนถูกไล่ล่าจากเตยเชิน ปรากฎมีเจ้าตระกูลเหงียนนามว่า โตนเทิ้ดชวน (Ton That Xuan)' ได้หนีมายังกรุงธนบุรี พร้อมกับหมักเทียนตื๊อ(Mac Thien Tu) ขุนนางตระกูลหมักผู้สนับสนุนตระกูลเหงียน เพียงไม่กี่ปีช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าตากสิน ปรากฎว่าโตนเทิ้ดชวน รวมทั้งผู้ติดตาม 53 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต สาเหตุการตัดสินประหารชีวิตให้รายละเอียดต่างกันในบันทึกของไทยและเวียดนาม
2
หลักฐานไทยกล่าวว่าพระเจ้าตากสินทรงพระสุบินว่าโตนเทิ้ดชวนขโมยเพชรกลืนลงไปและจะหนีจากกรุงธนบุรี ส่วนหลักฐานเวียดนามระบุว่าพระเจ้าตากสินกริ้วที่เรือสินค้าสยามถูกปลันและพ่อค้าถูกสังหารโดยกองโจรเวียดนาม
2
ในขณะนั้นกลุ่มเต็ยเชินยังไม่สามารถโค่นอำนาจตระกูลเหงียนได้เด็ดขาด ด้วยยังเหลือทายาทตระกูลเหงียน คือ เหงียนแอ๊งห์หรีอองเชียงสือ โดยองเชียงสือนี่เองที่หนีมาขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรสยาม
องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ.1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)
ในปีคริสต์ศักราช 1784 ภายหลังจากสถาปนาราชวงศ์จักรีได้เพียงสองปี พระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ตัดสินพระทัยสนับสนุนตระกูลเหงียน พงศาวดารราชวงศ์เหงียนระบุถึงเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรฯ เล่าความทรงจำขณะพระองค์ยกทัพไปตีกัมพูชาในรัชกาลพระเจ้าตากสิน โดยมีการสร้างความสัมพันธ์กับแม่ทัพของเหงวียนแอ็งห์ ที่เป็นตัวแทนเจรจาขณะนั้น มีการสาบานว่า "หากผู้ใดประสบกับภัยหรือเคราะห์ร้าย ให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" เจิววันเตี๊ยบจึงทูลว่าครานี้ได้รับความเดือดร้อนจึงขอให้ช่วยโดยนำธงและดาบที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญาออกมายืนยัน
ต่อมาในเดือนมีนาคม คริสต์ศักราช 1784 หลังสยามยืนยันความช่วยเหลือเหงียนแอ็งห์ก็ออกจากก่าเมา (ca Mau) เมืองทางใต้สุดของเวียดนามเดินทางผ่านกัมพูชามาเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 และเตรียมทัพกลับไปรบกับเต็ยเชิน
แผนภาพการเดินทัพของสยาม
เดือนเมษายน คริสต์ศักราช 1784 รัชกาลที่ 1 ส่งทัพไปตีซาดิ่งห์ (Gia Địng) หรือนครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 2 ทัพ ได้แก่ ทัพแรกนำโดยพระยานครสวรรค์ เดินทัพผ่านกัมพูชา ทั้งนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ปกครองกัมพูชาส่วนในได้เกณฑ์ทหารเขมรมาเข้าร่วมทัพในครั้งนี้ด้วย โดยมีทหารราว 30,000 นาย ส่วนทัพที่สองเป็นทัพเรือนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 มีทหารราว 20,000 นาย เรือรบ 300 ลำ ล่องตัดผ่านอ่าวสยาม (อ่าวไทย) ไปยังเมืองเกียนซาง (Kiên Giang) เพื่อสมทบกับทัพบกที่ยกไปก่อน
ส่วนเหงียนแอ๊งห์ยกกองกำลังของตนไปกับทัพเรือ และสั่งให้ขุนนางที่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของเวียดนามรวมกำลังพลโดยมอบให้จูวันเตี๊ยบเป็นแม่ทัพใหญ่คอยบัญชาการรบ
เมื่อเจ้าเมืองซาดิ่งห์ (ฝ่ายเต็ยเซิน) ทราบว่าสยามยกทัพมา จึงได้เกณฑ์ทัพเรือมาป้องกันเมืองซาแด๊ก (Sa Đéc) ซึ่งการรบในครั้งนี้ทัพของพระยานครสวรรค์เป็นฝ่ายชนะ ทำให้สามารถยึดเรือเชลยและศาสตราวุธได้จำนวนมาก แต่ทว่า พระยานครสวรรค์กลับส่งคืนให้แก่แม่ทัพเต็ยเซิน ซึ่งประเด็นนี้มีความน่าสนใจที่ว่า เหตุใด พระยนครสวรรค์จึงได้กระทำการเช่นนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่ายังคงมีเงื่อนงำที่แอบแฝงอยู่อีกเป็นแน่
แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวของพระยานครสวรรค์ถูกพระยาวิชิตณรงค์ และแม่ทัพนายกองส่งสารกลับไปทูลฯ รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวร กล่าวหาว่าเป็นกบฏ ดังนั้น รัชกาลที่ 1 จึงมีรับสั่งให้นำตัวพระยานครสวรรค์กลับไปไต่สวนจนกระทั่งถูกประหารชีวิต จากนั้นให้พระยาวิชิตณรงค์เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทัพบกแทน
SIAM x VIETNAM
เดือนกรกฎาคม คริสต์ศักราช 1784 กองทัพสยามสามารถยึดเมืองสำคัญได้เป็นจำนวนมาก เช่น เมืองแส็กช้า (Rach Gia)" ในเขตจังหวัดเกียนชางได้ เมืองเจิ้นชาง (Tran Giang) เมืองบาสัก (Bassac หรือ Ba Thac) เมืองท่าโอน (TraOn) เมืองชาแด้ก (Sa Dec) เมืองเมินทึ้ด (Man Thit) แล้ววางกำลังทหารป้องกันเมืองที่ยึดได้
ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเวียดนามทุกฉบับระบุว่า กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 ผู้นี้ ภายหลังจากที่ตีทัพเต็ยเชินแตกที่บาสัก ก็สั่งให้ฆ่าราษฎรผู้บริสุทธิ์ ปล้นชิงทรัพย์สินเงินทองตามอำเภอใจ ราษฎรบาดเจ็บ แลล้มตายจำนวนมาก"
1
บ้างก็บันทึก "ความกังวลของเจ้า และขุนนางตระกูลเหงียน" ต่อพฤติกรรมของ "ผู้ช่วยเหลือ" เหล่านี้เพราะ "สยามโหดร้าย” ไปที่ไหนปล้นที่นั่น ราษฎรนับวันยิ่งมีความขุ่นข้องหมองใจ
2
ปลายเดือนพฤศจิกายน คริสต์ศักราช 1784 จูวันเตี๊ยบนำทัพของตนรุดหน้าไปในสมรภูมิก่อนทัพสยาม แต่ถูกเต็ยเชินชุ่มโจมตีที่แม่น้ำเมินทิ้ด แม้ว่าทัพสยามหนุนมาช่วยทันแต่เขาก็ต้องจ่ายให้ความประมาทนี้ด้วยชีวิต
การสูญเสียจูวันเตี๊ยบยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ด้วยเขาเป็นคนเดียวที่พอที่จะประสานงานและตักเตือนเรื่องพฤติกรรมและความประพฤติของทหารสยามกับแม่ทัพสยามได้
เหตุการณ์นี้ระบุในบันทึกเวียดนามเอาไว้ว่า เหงวียนแอ๊งห์ถึงขั้นปรารภเรื่องนี้กับแม่ทัพนายกองว่า
"หากต้องการบ้านเมืองต้องได้ใจคน ตอนนี้จูวันเตี๊ยบสิ้นชีพแล้ว ไม่มีใครคุมทัพสยามได้ ถ้าได้ซาดิ่งห์แต่ไม่ได้หัวใจราษฎร เราไม่มีอาจทำเรื่องนี้ให้ลุล่วง ถอยกลับเสียดีกว่าเพื่อจะไม่ให้ราษฎรทุกข์ยาก"
ภาพราษฎรของเวียดนามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17
การขอความช่วยเหลือจากสยามสร้างความลำบากใจให้กับเหงียนแอ๊งห์เป็นอย่างมากบันทึกเวียดนามยังระบุไว้อีกว่า พฤติกรรมทหารสยามสร้างความกังวลให้เหงียนแอ๊งห์ ถึงขั้นน้ำตาคลอ แล้วปรารภกับคนสนิทว่า
1
"การกู้บ้านเมืองคืนมา มีหลักอยู่ที่ให้ความห่วงใยประชาราษฎร์ห่วงใยบ้านเมือง แต่ตอนนี้เราให้พวกสยามมากระทำความโหดร้ายตามอำเภอใจ ทำตนเป็นเจ้าผู้ปกครองแล้วพวกเราจะทำไปเพื่ออะไร เช่นนี้แล้วก็จะเป็นการหลอกให้อริราชศัตรู(เต็ยเชิน) กลับเข้ามาพูดกล่าวร้ายเรากับชาวบ้าน ว่าเป็นการเชื้อเชิญให้ศัตรูกลับเข้ามาสร้างความทุกข์ให้ประชาชนอีก เราเองก็ไม่มีกระจิตกระใจจะเห็นภาพแบบนั้น"
1
หากจะให้มองอย่างเป็นกลาง การทำสงครามย่อมมีต้นทุน ไม่ได้ทำสงครามการกุศล มันก็คือการเมืองอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าฉากหน้าอาจจะทำในนามแห่งมิตรภาพ ในนามแห่งศักดิ์ศรี หรือในนามแห่งพระเจ้า
แต่อย่างไรก็ตาม “สงครามก็คือสงคราม” เนื้อในของมันย่อมมีความโหดร้ายป่าเถื่อนและการช่วงชิงผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ภายในเสมอ เมื่อตีได้บ้านได้เมืองการปล้นสะดมทรัพย์สินมีค่าเป็นบำเน็จรางวัลสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกินวิสัยของคนยุคสมัยนั้น
ส่วนเรื่องการฆ่าราษฎรบริสุทธิ์หากเราใช้มุมมองจากคนยุคปัจจุบันไปตัดสิน ก็นับว่าเป็นความป่าเถื่อนอย่างหนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และองเชียงสือเองก็ควรที่จะคำนึงถึงผลลัพธ์เลวร้ายที่อาจตามมาได้ เมื่อตัดสินใจที่จะเปิดประตูบ้านให้คนอื่นเข้ามา เพราะตัวท่านเองมิอาจควบคุมตัวแปรทั้งหมดได้ จากสิ่งที่ไม่ใช่ของท่าน ไม่ใช่อยู่ในการควบคุมของท่าน ไม่ใช่คนของท่าน ไม่ใช่แม่ทัพ หรือนายกองของท่าน
1
“เสมือนดาบสองคม” กล่าวคือ ท่านได้กองทัพมากู้บ้านเมือง แต่ท่านต้องสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตราษฎร์ของท่าน เอง และท่านได้เลือกแล้วที่จะยอมเสียบางสิ่งบางอย่าง เพื่ออำนาจของตัวท่านเอง ด้วยการตัดสินใจของตัวท่านเอง
ราชองครักษ์ (ติดอาวุธด้วยปืนคาบศิลาและดาบปลายปืน) และกองกำลังประจำ (ติดอาวุธด้วยหอกและดาบ) ของราชวงศ์เหงียนในปี ค.ศ. 1830 [ภาพจาก https://www.quora.com]
ช่วงปลายปี ค.ศ. 1784 หลังกษัตริย์ท้ายดึก (Thai Duc) ตัดสินพระทัยส่ง เหงียนเหวะ พระอนุชามาขับไล่ทัพสยามด้วยตนเอง ที่น่าสนใจคือ หลักฐานเวียดนามบันทึกว่าเหงียนเหวะเริ่มต้นด้วยการเจรจากับกรมหลวงเทพหริรักษ์ผ่านชาวกัมพูชาขอยุติสงครามพร้อมส่งแพรพรรณ ทรัพย์สิน เงินทอง ผ่านชาวกัมพูชาคนหนึ่งก่อนถึงสมรภูมิใหญ่ที่ทำให้ต้องสยามปราชัย
หลักฐานเวียดนามบันทึกไว้ว่ามีความพยายามเจรจาศึกจากแม่ทัพใหญ่ของเต็ยเชิน คือ เหงวียนเหวะ ผ่านชาวกัมพูชา ฝากข้อความเจรจายุติสงครามพร้อมแพรพรรณ ทรัพย์สิน เงินทองไปยังกรมหลวงเทพหริรักษ์ความว่า
“บ้านเมืองเรากำลังมีศึกสงครามและชาวบ้านราษฎรระหว่างราชวงศ์เก่าและใหม่ สภาพที่มองดูแล้วอยู่ในความอาฆาตกัน ในเมื่อบ้านเมืองเรากับสยามอย่างห่างไกลกัน ในขณะที่บ้านเมืองของท่านและของเราต่างก็อยู่ห่างชื่งกันและกัน มันไกลกันจนแม้ม้าหรือกระบือที่เร็วที่สุด และแข็งแรงที่สุดก็ไม่สามารถข้ามพรมแดน ไม่รู้ว่าท่านข้ามมายังดินแดนไกลโพ้นเช่นนี้เพื่อการใด ขอให้จงสร้างมิตรภาพกับพวกข้าพเจ้า เสร็จงานแล้วพวกเราจะทำตามธรรมเนียมการส่งเครื่องบรรณาการให้อาณาจักรของท่าน เป็นเช่นนี้แล้วประโยชน์ระยะยาว สำหรับเจ้าขายองค์เก่าของราชอาณาจักรเรา ขอให้ปล่อยเพียงลำพังแล้วรอดู ขอให้ท่านอย่าได้ช่วยเหลือพวกเขาอีก”
ในขณะเดียวกันกรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ส่งสารตอบกลับไปว่า “จงไปบอกนายของเจ้าว่าเราเข้าใจเจตนาดีของท่าน ขอไม่กล้าปฏิเสสิ่งนั้น แต่มีงานใหญ่ที่ไหนกันที่เป็นเรื่องง่ายๆดังนั้นขอให้อย่าแพร่งพรายออกไปเพื่อให้งานเปลี่ยนเรื่องยากที่จะหลอกลวง จงบอกนายเจ้าให้รอชั่วคราว"
แผนภาพสมรภูมิ “เเล็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด”
หลักฐานเวียดนามระบุว่าเหงวียนเหวะเองก็เชื่อในสิ่งที่กรมหลวงเทพหริรักษ์กล่าว คิดเพียงว่าเป็พวกคนไร้อารยะและละโมบในทรัพย์สิน เงินทอง ก็เอาเงินทองมาให้ ทุกวันก็ล่อทหารสยามให้ขึ้นเรือ อวดว่ามีทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน ตอนกลับก็ได้มอบแพรพรรณให้ทหารสยามไปเป็นจำนวนมาก ก็ให้รัพย์สินมากจนเกินพอ เหงีวนเหวะก็เชื่อว่าสยามบรรณาการอันเป็นที่น่าพึ่งพอใจแล้วจึงกลับไป
ในขณะที่ต้องเตรียมรับมือกับเต๊ยเชิน การจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างทหารสยาม และฝ่ายตระกูลเหงียนถือว่าเป็นไปค่อนข้างยาก หลักฐานเวียดนามชี้ให้เห็นการปรับทุกข์ระหว่างเหงวียนแอ็งห์กับแม่ทัพนายกองตระกูลเหงวียน ที่แสดงถึงความลำบากใจที่การขอความช่วยเหลือจากทัพสยามทำให้ไม่สามารถคัดค้านหรือทัดทานสิ่งที่ทหารสยามก่อขึ้นกับราษฎรเวียดนาม ราษฎรเวียดนามยิ่งเจ็บแค้นฝังลึกมากขึ้นจากทหารสยามที่ทำตามอำเภอใจกดขี่ ปลันสะดมชาวบ้าน ยิ่งนานวันยิ่งอาจทำให้เกิดความหมองใจและไม่ไว้วางใจกันมากขึ้น
แผนที่สงครามต่อต้านสยาม (Khang chien chong Xiem,nam 1785)
แม้ว่ากรมหลวงเทพหริรักษ์จะแจ้งข่าวการส่งคนมาเจรจาจากเต็ยเชิน ดูเหมือนว่าเจ้าตระกูลเหงวียนค่อนข้างจะมีข้อกังขากับท่าทีและคำตอบของแม่ทัพสยาม หลังจากฟังเรื่องเล่าแล้วเหงวียนแอ๊งห์ได้เพียงแต่ยิ้ม ไม่กล่าวตอบแต่อย่างใด กรมหลวงเทพหริรักษ์เห็นเช่นนั้นเกรงว่าเหงวียนแอ็งห์จะเกิดความระแวงแคลงใจ จึงชี้แจงว่า
“ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการจากกษัตริย์ของข้าพเจ้าให้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อช่วยท่าน แพ้ชนะเช่นใดก็ยังไม่แน่ชัด ขอให้สบายใจได้ว่าความละโมบในทรัพย์สินก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉานที่กลับข้างไปกัดคนได้ แม้ว่าจะได้ประโยชน์เล็กน้อยแต่สร้างความอัปยศให้กับเกียรติของกองทัพ สร้างความอัปยศให้กับราชอาณาจักรบ้านเมืองเช่นนี้แล้วในใจข้าพเจ้าเองรู้ว่าสิ่งใดควรหลีกเลี่ยงที่จะได้รับการลงโทษจากสวรรค์ ขอ
ให้ท่านอย่าได้มีข้อกังขาใดๆ ปัจจุบันนี้ศัตรูเชื่อข้าพเจ้าอย่างยิ่ง จึงควรใช้โอกาสนี้โจมตีเต็ยเชิน”
1
กองทัพเรือรบของสยามถูกทำลายจนย่อยยับในยุทธนาวี "แล็กเกิ่ม-สวายมู้ด"
จุดสูงสุดของสงครามจึงเกิดขึ้นที่แม่น้ำแล็กเกิ่มและแม่น้ำสว่ายมู้ด แม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำเตี๋ยน จากทิศเหนือ ในพื้นที่จังหวัดเตี่ยนซาง โดยต้นมกราคม คริสต์ศักราช 1785 ทัพเรือเต็ยเชินยกมาตั้งที่เมืองหมีทอ (My Tho) แล้วพยายามส่งกองทัพเล็กๆ มาโจมตีเพื่อตัดกำลังทัพสยาม แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เหงียนเหวะเสียกำลังมากจนเกือบถอยทัพ แต่หลักฐานตระกูลเหงียนระบุว่ามีชายคนหนึ่งที่ "ขายบ้านขายเมือง" ชื่อ เลชวนช้าก (Le xuan Giac)เสนอให้เอากองทหารที่แข็งแกร่งมาดักที่สองฝั่งแม่น้ำแล็กเกิ่มและสว่ายมู้ดรวมไปถึงแม่น้ำเตี่ยน ซึ่งคาดว่าสยามจะยกทัพมาฝ่ายเต็ยเชิน เหงวียนเหวะได้เลือกภูมิประเทศที่ทัพสยามไม่คุ้นเคยแห่งนี้เป็นสถานที่ชุ่มโจมตีโดยมียุทธศาสตร์ "ยิ่งต่อตีเร็ว ยิ่งมีชัยชนะเร็ว" เพื่อยุติสงครามให้เร็วที่สุด
ส่วนกรมหลวงเทพหริรักษ์และเหงียนแอ๊งห์ยกทัพเรือไปบันทายมาศ (ห่าเตียน) สมทบกับทัพพระยาราชาเศรษฐี พระยาทัศดา แล้วยกมาทางปากน้ำเมืองบาสัก ผ่านคลองวามะนาว (Tra Tan)โดยหมายจะตีค่ายเต็ยเชินที่หมีทอให้แตกก่อน จึงให้ทัพบกจำนวนหนึ่งขึ้นฝั่งตรึงกำลังในฐานที่มั่น จากนั้นยกทัพเรือเข้ามาทางแม่น้ำเตี่ยน โดยตั้งใจจะแยกทัพเรือมุ่งลงไปหมีทอ
เอกสารตะวันตกเรียก คังเคา (Can Cao) ส่วนเอกสารไทยเรียกเมืองบันทายมาศ หรือ พุทไธมาศ เป็นรัฐเมืองท่าบริเวณปากแม่น้ำโขง
19 มกราคม คริสต์ศักราช 1785 ขบนเรือรบสยามล่องไปตามแม่น้ำเตี่ยนโดยไม่ระวัง พอถึงเขตที่เต็ยเชินวางกำลังไว้ ณ จุดที่แม่น้ำแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด บรรจบกับแม่น้ำเตี่ยน จึงพบว่าทัพเรือถูกล้อมทั้งหน้าและหลัง ทหารเต็ยเชินที่ชุ่มในพุ่มไม้สองฝั่ง และเกาะกลางแม่น้ำก็ออกมาโจมตี
ทัพสยามตกอยู่กลางทัพเต็ยเชิน ถูกปืนใหญ่ระดมยิงใส่จนแตกพ่ายกรมหลวงเทพหริรักษ์หนีมาได้เพราะข้าในกรมจับกระบือได้ตัวหนึ่งให้ทรงขี่ขึ้นบกหนีเข้าไปทางกัมพูชา ส่วนเหงวียนแอ็งห์หนีไปทางแม่น้ำจ่าหลวด (song Tra Luat) แล้วหนีไปห่าเตียน
ทหารที่เหลือถูกเต็ยเชินสังหารหนีรอดได้เพียงไม่กี่พันนาย ส่วนทัพบกเมื่อรู้ว่าทัพเรือแตกก็ทิ้งค่ายหนี กำลังทหารตระกูลเหงวียนเหลือรอดจากศึกนี้เพียง 800 นาย ความปราชัยครั้งนี้ทำให้กำลังทัพตระกูลเหงียนอ่อนแอลงมาก ฝ่ายเต็ยเชินเมื่อได้รับชัยชนะแล้วก็จับเชลยเก็บเครื่องศาสตราวุธกลับไปยังซาดิ่งห์
กองทัพสยามนับหมื่นต้องทิ้งชีวิตไว้ในสมรภูมิแห่งนี้
หลักฐานราชวงศ์เหงียนบันทึกสาเหตุความพ่ายแพ้ครั้งนี้ว่า "แม่ทัพสยามคือกรมหลวงเทพหริรักษ์ไม่รู้ทำเลที่ตั้ง ไม่รู้ง่ายหรือยาก รู้จักเพียงสั่งให้เรือรบไปรบ ให้กองทัพตรงไปหมีทอ เจอทัพ
ของเต็ยเชินปิดล้อมโจมตีทั้งสองด้าน จึงทำให้ต้องปราชัยครั้งใหญ่ สุดท้ายต้องหนีขึ้นบกข้ามเขาไปยังกัมพูชา"
หลังจากพ่ายให้กับทัพเต็ยเชิน วันที่ 25 มกราคม คริสต์ศักราช 1785 เหงียนแอ๊งห์ให้หมักตื้อชิง นำข่าวการศึกไปแจ้งยังราชสำนักสยาม หลังจากได้รับข่าวจากเหงียนแอ๊งห์แล้ว ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คริสต์ศักราช 1785 รัชกาลที่ 1 ก็ส่งเรือไปรับเหงียนแอ๊งห์ ใช้เส้นทางทะเลให้เข้ามาสยามอีกครั้ง
เหงียนเหวะ (Nguyen Hue) บัญชาการกองกำลังเต็ยเซินยุทธนาวีที่ Rach Gam - Xoai Mut
ส่วนกรมหลวงเทพหริรักษ์ส่งสารแจ้งข้อราชการทัพมายังกรุงเทพฯ ทั้งรัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรฯ ดำรัสให้ถอยทัพกลับเข้าพระนครแล้วลงพระราชอาญากรมหลวงเทพหริรักษ์และข้าราชการผู้ใหญ่ที่ไปร่วมการศึกครั้งนี้
รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการสอบสวนจนพบว่าทัพสยามทำการแบบได้ใจจนตกหลุมพรางขณะที่หลักฐานเวียดนามกล่าวว่าทหารสยามไม่จริงจังกับการศึก มุ่งไปทางอบายมุข เที่ยวข่มเหงประชาชน ทำให้ปราชัยต่อเต็ยเชิน และยังเล่าว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงกริ้วมาก ยิ่งได้ยินพฤติกรรมทหารสยามก็ทรงยืนยันว่า
1
"วันก่อนเห็นเจ้าพวกนี้ให้ทาสขนของกลับมา มีทั้งหญิงสาวทรัพย์สินเงินทอง ก็คิดอยู่ว่าจะเสียการใหญ่ ตั้งใจว่าจะต่อเรือเพื่อส่งไปหนุนแต่ไม่ทัน แพ้ชนะก็เป็นปกติของชายชาติทหาร แต่พวกนี้ปราชัยด้วยสาเหตุใดก็ไม่รู้"
งานเฉลิมฉลองความภูมิใจ ในผลงานอันรุ่งโรจน์ของขบวนการจลาจลเต็ยเซิน (Tay Son)
พฤษภาคม คริสต์ศักราช 1785 เหงียนแอ๊งห์กลับมาถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 ตรัสถามสาเหตุที่ปราชัยทั้งที่มีกำลังเหนือกว่า เหงียนแอ๊งห์ได้ทูลว่า "คิดถึงน้ำใจไมตรีสยาม รัฐเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือ แต่เพราะกรมหลวงเทพหริรักษ์ทะนงตน ชะล่าใจ ไปที่ไหนก็ข่มเหงราษฎรอย่างโหดร้าย
ชาวบ้านไม่พอใจ เป็นเหตุให้ต้องปราชัย"
ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ ยังสอบสวนทหารที่รอดชีวิต ทรงพบว่าเหตุที่พ่ายแพ้เพราะกรมหลวงเทพหริรักษ์ ยกยอปอปั้นตัวเอง วางตนเป็นใหญ่ โหดร้าย บุ่มบ่ามบุกโดยไม่เชื่อฟังเหงียนแอ๊งห์ ความปราชัยครั้งนี้สยามมองว่าสร้างความอัปยศให้กับเกียรติของราชสำนักเป็นอย่างมาก
หลังทรงทราบสาเหตุทั้งหมด รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระประสงค์ประหารพระราชนัดดาทั้งสองพระองค์ หลักฐานเวียดนามบันทึกว่ารัชกาลที่ 1 ตรัสกับเหงียนแอ๊งห์ว่า "นัดดาทั้งสองของเราโง่เขลา ขี้ขลาด หยิ่งยโส ก้าวร้าว จนปราชัยในการศึก เสียไพร่พล สร้างความอัปยศแก่บ้าน
เมือง ทำให้ท่านต้องพบความยากลำบาก"
1
ขณะที่เหงียนแอ๊งห์ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้พระเจ้าหลานเธอว่า "แม่ทัพมีความผิดจริง แต่ภารกิจนี้อยู่ที่มติสวรรค์ด้วย สวรรค์ประสงค์ให้รอต่อไป ขอพระราชทาน
อภัยโทษให้แม่ทัพ" พระเจ้าหลานเธอจึงถูกจำคุกแทน หลังจากนั้นไม่นานกรมหลวงเทพหริรักษ์ก็ล้มป่วย และสิ้นพระชนม์ในที่สุด [2]
1
สงครามแส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ดเป็นความทรงจำที่ถูกเลือกให้กลายเป็นความทรงจำร่วมในมุมมองของเวียดนาม เพราะยุทธนาวีนี้ทำให้เกิดขบวนการปลดปล่อยความทุกข์ยากให้เกษตรกร ปกป้องอธิปไตยของประเทศ เอกราชของประชาชน โดยให้ภาพ “ทหารสยามที่โหดร้าย” พระเอกก็คือ “ทัพเต็ยเซิน” ในขณะที่เวียดนามเลือกที่จะ “จำ” ส่วนสยามนั้นเลือกที่จะ “ลืม”
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ "แล็กเกิ่ม-สวายมู้ด"
เนื่องเหตุการณ์นี้เป็นการบอกเล่าถึงความพ่ายแพ้ของสยาม อีกทั้งยังมีหลักฐานที่แสดงว่าทหารสยามนั้นกดขี่ข่มเหงคนเวียดนาม จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเหตุการณ์นี้ไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทย
จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ไทยเองก็เลือกที่จะใช้โครงเรื่องแบบเดียวกับเวียดนามคือ หยิบเอาศัตรู สร้างวีรบุรุษและผู้ร้ายขึ้นมา เพื่อก่อให้การต่อสู้และเสียสละเพื่อบ้านเมืองของตน โดยเนื้อหาภายในประวัติศาสตร์นั้น เลือกที่จะไม่หยิบยกความผิดพลาดหรือการขยายฐานอำนาจเข้าไปยังรัฐอื่น ๆ ของตนมากล่าวถึง
ประวัติศาสตร์มักถูกเขียนขึ้นโดยผู้ที่ชนะ ดังนั้น การเขียนจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ การเชิดชูความกล้าหาญ และเสียสละในการต่อสู้เพื่อชาติ จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติ และความเป็นชาตินิยมขึ้นมา โดยการแฝงและฝังแนวคิด หรือสร้างความหมายเชิงสัญลักษณให้เหตุการณ์เหล่านั้น โดยมีเป้าหมายก็เพื่อสร้างชุดความคิดและปลูกฝังความเชื่อแบบเดียวกันให้กับคนในชาติ [3]
“ไม่สำคัญว่าท่านมองอะไร แต่ท่านอยากเห็นอะไรมากกว่า คือสิ่งสำคัญ”Henry David Thoreau
ความเป็นชาตินิยมถูกนำมาใช้ในกระบวนการสร้างชาติขึ้นมาใหม่ โดยมุ่งเน้นเเค่การปลุก Emotional (ถืออารมณ์เป็นใหญ่) และทอดทิ้งรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือ ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการสร้างชาติทิ้งไป ทำให้ข้อเท็จจริงบางประการถูกลบเลือนไป หลงเหลือเพียงชุดความคิดทางประวัติศาสต์ที่มีกลิ่นอายของความเป็นชาตินิยมหลงเหลือให้พวกเราได้ลิ้มรสเท่านั้น
ระบบการศึกษาไทยมีส่วนอย่างไร ในการปลูกฝังเรื่องชาตินิยมซึ่งพัฒนามาตั้งแต่การสร้าง "ชีวประวัติของชาติ" ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ข้าพเจ้าเอง รวมถึงผู้อ่านหลายๆ ท่าน คงจะได้ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ของไทยกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
ในบทเรียน ข้าพเจ้าเห็นแต่ความดีงามของบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงยุคของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา บ้านเมืองก็มีแต่ความศิวิไลซ์ เจริญงอกงาม ค่อยๆ มีพัฒนาการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางคนั้งอาจมีบทฝรั่งชั่วเข้ามารุกรานบ้าง หรือมีบทการก่อความไม่สงบของกลุ่มกบฏที่เห็นต่างทางการเมือง แต่สุดท้ายเรื่องราวก็จบลงด้วยดี Happy ending
แต่มีคำกล่าวของนักปราชญ์ที่ลุ่มลึกทางความคิดท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า
“ถ้ำที่ถูกปิดล็อคจากภายใน คล้ายใจที่ปิดล็อคเรื่องราวจากถายนอก มนุษย์เรานั้น มิอาจรับปัญญาหรือแสงสว่างแม้จากสรวงสวรรค์ได้ ด้วยตาที่มืดบอด ด้วยหัวใจที่ดับสนิท เมื่อท่านเปิดตา และเปิดใจ เมื่อนั้น แสงสว่างไสวจะนำพาท่านสู่หนทางแห่งปัญญา” [4]
คิดนอกกรอบ แล้วค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ข้าพเจ้าได้มานั่งขบคิดด้วยตาและใจที่เปิดกว้าง ทำให้ข้าพเจ้าได้เกิดคำถามและฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้กันมานั้น มันมีเรื่องราวเพียงเท่านั้นจริงๆ หรือ? มันยังมีมิติอื่น มุมมองอื่นๆ ที่เรายังมองไม่เห็นอยู่อีกหรือไม่?
ข้าพเจ้าจึงอยากชวนให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองฉุกคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่พวกเราได้เรียนรู้กันมาครั้นในอดีตที่ผ่านมาว่า เราถูกทำให้เชื่อในแบบที่คนกลุ่มหนึ่งอยากให้เราเชื่อมากน้อยเพียงใด ชุดความทรงจำที่ถูกสร้างให้เรามีร่วมกันนี้ เราสามารถคิดต่าง มองต่าง ออกนอกกรอบความคิดเดิมๆ ออกสู่น่านน้ำแห่งใหม่ แล้วค้นพบความจริงในเเง่มุมอื่นที่เราไม่เคยได้รับรู้ ไม่เคยได้มองเห็นได้อีกหรือไม่ ? ท่านลองเปิดใจแล้วค้นหาคำตอบดู
นี่คือ แง่มุมที่ชวนให้ผู้อ่านทุกท่านฉุกคิดด้วยเหตุผลทางวิชาการในอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ส่วนผู้อ่านคือผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ ได้รับความรู้ที่กว้างขวางขึ้น รอบด้านยิ่งขึ้น และมีมุมมองที่หลากหลายด้านมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสติวิจารณาณของทุกท่านเอง สติวิจารณาณด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากการครอบงำ หรือมอมเมาจากผู้ใด สุดท้ายขอให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้รับความสุข ความสนุนและความเพลิดเพลินจากการอ่านนะครับ
และนี่คือเรื่องราวของ “เเล็กเกิ่ม-สวายมู้ด” สงครามสยามพ่าย สมรภูมิอัปยศที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์สยาม
เชิงอรรถ :
[1] อนันท์ธนา เมธานนท์. "ศึกเวียดยามศึก" สงครามในเวียดนามคริสต์ศตวรรษที่ 17-18. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง : ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2556 หน้า 53-8.
[2] มรกตวงศ์ ภูมิพลับ. 2556. แส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด ประวัติศาสตร์การรับรู้มหายุทธสยามพ่ายในมุมอง
ของเวียดนาม. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา32(1): มกราคม-มิถุนายน 2556.
[3] ศิลปวัฒนธรรม. ยุทธนาวี “แส็กเกิ่ม-สว่ายมู้ด” สงครามการปราชัยครั้งใหญ่ของสยาม ซึ่งแทบไม่เคยถูกกล่าวถึง ค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2564 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_69460
[4] ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา. Present ปัญญาจักรวาล(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ openbooks พ.ศ.2562) หน้า 30-31
1
โฆษณา