3 ก.ค. 2021 เวลา 04:53 • ธุรกิจ
รายรับของเรา แบ่งไปอยู่ที่ไหนบ้าง
“ไม่รู้เงินหายไปไหนหมด”
“สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ”
“เรามีหนี้มากเกินไปรึป่าวนะ”
คำถามเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่อาจจะวนเวียนอยู่ในความคิดของเรา รายรับ รายจ่าย ที่เกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา และเราอาจไม่เคยรู้ว่า จริงๆ แล้ว เงินเรา...หายไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง
วันนี้ บุ่นจะชวนมาทำ “งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล” กันค่ะ
งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล ทุกคนทำได้ ไม่ยากเลยค่ะ หลักๆ มีแค่ 2 ส่วน
1. กระแสเงินสดรับ - เรามีรายรับจากไหนบ้าง เงินเดือน ขายของออนไลน์ สอนพิเศษ เงินปันผล รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าบ้าน จดให้อยู่ในช่องรายรับได้หมดเลยค่ะ
2. กระแสเงินสดจ่าย - แล้วรายจ่ายของเราหละ แบ่งไปใช้ทำอะไรบ้าง ตรงนี้แยกออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ เงินออม รายจ่ายคงที่ และ รายจ่ายไม่คงที่
กระแสเงินสดจ่าย จะมีรายละเอียดย่อยๆ อยู่ บุ่นจะพาไปดูว่ามีอะไรบ้าง
2.1 เงินออม - เราสามารถตั้งเป้าหมายได้ว่า จะเก็บเงินระยะสั้น กลาง หรือยาว เพื่อช่วยให้เราเลือกที่เก็บเงินให้เหมาะสมมากขึ้น
2.2 รายจ่ายคงที่ ประกอบไปด้วย
- ค่าประกันต่างๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ
- หนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนอง เช่น รายการผ่อนสินค้า ผ่อนรถยนต์
- หนี้สินที่จดจำนอง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด
2.3 รายจ่ายไม่คงที่ เช่น ค่ากินใช้ในชีวิตประจำวัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง
เมื่อเราใส่รายละเอียดทุกอย่างหมดแล้ว จะทำให้เราเห็นว่าเงินของเรากระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง และยังได้อัตราส่วนทางการเงิน ไว้เช็คสุขภาพทางการเงินของเราอีกด้วยค่ะ
1. อัตราส่วนการอยู่รอด (Survival Ratio)
= กระแสเงินสดรับ/กระแสเงินสดจ่าย
ค่าที่แนะนำคือมากกว่า 1
ตัวอย่างเช่น
เงินเดือน 30,000 บาท รายจ่าย 20,000 บาท จะได้ 30,000/20,000 = 1.5 เท่า
หมายความว่า เรามีรายได้มากกว่ารายได้ 1.5 เท่า
2. อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio)
= รายได้จากทรัพย์สิน/การแสเงินสดจ่าย
ตัวอย่างเช่น 40,000/20,000 = 2
หมายความว่าเรามีรายได้จากทรัพย์สินมากกว่ารายจ่ายถึง 2 เท่า หรือเรียกได้ว่า เรามี “อิสรภาพทางการเงิน” และถ้าอัตราส่วนความมั่งคั่งมีค่ามากกว่า 1 มากๆ ก็คือการที่เรามี passive income เยอะว่ารายจ่ายมากๆ
3. อัตราส่วนความสามารถชำระหนี้ (Solvency Ratio)
= (หนี้สินไม่จดจำนอง + หนี้สินที่จดจำนอง)/กระแสเงินสดรับ
หนี้สินทั้งหมด ไม่ควรเกิน 35% ของรายได้ หากเรามีเงินเดือน 30,000 บาท เราควรมีหนี้สินไม่เกิน 10,500 บาท
4. อัตราส่วนการชำระหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนองจากรายได้ (Debt Service Ratio)
= หนี้สินไม่จดจำนอง/กระแสเงินสดรับ
รายการผ่อนรถ ผ่อนสินค้าต่างๆ เมื่อรวมกันแล้วไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ หากเรามีเงินเดือน 30,000 บาท หนี้สินส่วนนี้ไม่ควรเกิน 4,500 บาท
5. อัตราส่วนการออม (Saving Ratio)
= กระแสเงินสดจ่ายเพื่อการออม/กระแสเงินสดรับ
จำนวนเงินออมที่แนะนำคือ อย่างน้อย 10% ของรายได้หรือเงินเดือน หากเงินเดือน 30,000 บาท ควรออมอย่างน้อง 3,000 บาท และถ้าเราออมมากขึ้น เราก็มีแนวโน้มที่จะถึงเป้าหมายทางการเงินเร็วขึ้น
6. อัตราส่วนเบี้ยประกันต่อรายได้ (Insurance Premium Paid to Income Ratio)
= ประกันต่างๆ/กระแสเงินสดรับ
เรามีประกันมากเกินไปหรือไม่? ค่าใช้จ่ายส่วนนี้แนะนำให้อยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ หากเงินเดือน 30,000 บาท รายจ่ายค่าประกันต่างๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ เราสามารถบริหารให้อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กันทุกคนนะคะ ถ้าชอบกดไลค์ ใช่ฝากกดแชร์ด้วยนะค้า
#งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล
#วางแผนการเงิน
#FinancialNotebook
โฆษณา