3 ก.ค. 2021 เวลา 06:53 • ปรัชญา
"ธรรมที่ทำให้คนงาม"
ท่านบอกว่าธรรมที่ทำให้คนงามมันมีอยู่ 2 อย่างคือ 1.ขันติ - ความอดทน 2. โสรัจจะ - ความสงบเสงี่ยม อดทนต่ออารมณ์ที่ไม่ถูกใจ เพราะว่าเขาพูดมาไม่ถูกใจเขาแสดงกิริยาไม่ถูกใจ ข่มใจไว้อย่าแสดงอาการออก อย่าแสดงอาการผลุนผลันความไม่พอใจ เพราะว่าอาการอย่างนั้นมันเป็นปัจจัยให้เกิดความเร่าร้อน
จงมีความรู้สึกว่า "นินทาปสังสา" การนินทาและการสรรเสริญนี่มันเป็นธรรมดาของโลก ความสุขความทุกข์ใด ๆ ที่เกิดมาในโลกนี้มันเป็นของธรรมดา ในเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์จะพ้นจากการนินทาสรรเสริญไม่มี จะพ้นจากการขัดข้องในด้านทรัพย์สินมันไม่มี
ท่านว่าเศรษฐียังขาดไฟได้ฉันใด อารมณ์ใจเราจะถือว่ามีความสุขคนเขาจะเอาใจเราตลอดกาลตลอดสมัยนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น...อะไรก็ตามที่มันเกิดมาเป็นเครื่องไม่ถูกใจเรา อดกลั้นอดใจเข้าไว้ก่อน ถ้าอดใจได้หน้ามันก็ชื่น ใจมันก็สบาย นี่เป็นเรื่องของ "ขันติ"
"โสรัจจะ" องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงให้เรารักษากำลังใจสงบเสงี่ยม อย่าแสดงออกถึงอาการที่เราไม่พอใจ พยายามดึงกำลังใจทำใจให้มีความสุข อาการภายนอกอย่าแสดงออกแม้ใจจะขุ่นไปนิดหนึ่ง คือว่าการถูกด่า ถูกว่า ถูกนินทา ทำในสิ่งที่ไม่ชอบใจอันนั้นเราไม่ชอบใจ แต่ก็อดกลั้นเข้าไว้ว่ายังไม่ตอบแทน
เขาด่ามาเราไม่ด่าตอบ เขาว่ามาเราไม่ว่าตอบ เขาแกล้งเรามาเราไม่แกล้งตอบ ดูตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าถูกพราหมณ์ด่า ท่านยิ้ม พราหมณ์หาว่าท่านแพ้ ท่านว่าท่านไม่ได้แพ้ ท่านไม่ตอบเพราะท่านเกรงว่าท่านจะเลวกว่าคนที่ด่าท่าน
นี่เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าท่านมีทั้งขันติและโสรัจจะ เขาด่าเขาว่าพระองค์ไม่ทรงโกรธแล้วยังแถมมีอาการมีจริยาทั้งกายวาจาก็สงบเสงี่ยม ที่เขาเรียกว่าโสรัจจะฉะนั้น...พราหมณ์ผู้มีน้ำใจกกักขฬะจึงต้องยอมแพ้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอมขมาโทษ และขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์
เมื่อเข้ามาอยู่ในสำนักขององค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์ที่มีทั้งขันติแล้วก็โสรัจจะ ภายในไม่ช้าพรหมณ์คนนั้นก็เป็น "อรหัตผล"
นี่แหละบรรดาท่านทั้งหลาย ถ้าบรรดาคนทุกคนมีขันติคือความอดทนอดกลั้น ไม่ผลุนผลันแสดงถึงโทสะความโหดร้าย โสรัจจะ ทุกคนมีความสงบเสงี่ยมในใจ ก็เป็นอันว่าคนทั้งโลกก็มีแต่ความงาม เพราะว่าขันตินี่งาม โกรธแล้วหน้ายังยิ้มมันก็สวย
โสรัจจะ อาการทางกายไม่แสดงอาการโต้ตอบ สงบเสงี่ยมเรียบร้อย เป็นอันว่ารายการทั้ง 2 ประการทั้งโลกควรมีอยู่แก่คนทุกคน โลกนี้ทั้งหมดจะหาความทุกข์จากอาการสัมผัสซึ่งกันและกันไม่มี
พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2526),34,155-158
facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง
โฆษณา