4 ก.ค. 2021 เวลา 14:00 • สุขภาพ
🏃เคยฝันว่าวิ่งหนีอะไรสักอย่าง แต่วิ่งแทบตายก็หนีไม่ทัน
หรือเคยฝันว่าขับรถ แต่เหยียบเบรกยังไงก็เบรกไม่อยู่
ฝันว่าทะเลาะกับใครเขา ก็รู้สึกเหมือนไม่มีแรงตะโกน ฟาดฟันกับเขากันบ้างไหมคะ ? ถ้าคุณเคยฝันแบบนี้ แสดงว่าเราคือเพื่อนกัน😂😂
เมื่อไม่นานมานี้แอดได้มีโอกาสดูสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการนอนหลับใน Netflix ซึ่งน่าสนใจมากๆ (ชื่อเรื่อง Headspace: วิธีนอนอย่างเป็นสุข ลองไปหาดูกันได้นะคะ) เนื้อหาตอนหนึ่งพูดเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าทำไมในฝันเราถึงรู้สึกว่าตัวเองวิ่งไม่ค่อยออกอยู่ด้วย ซึ่งแอดเองก็สงสัยเจ้าเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกัน ว่าแล้วก็ได้โอกาสหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้
ภาพจาก Headspace: วิธีนอนอย่างเป็นสุข By Netflix
🛌เรื่องนี้เกิดจากระดับการนอน (Sleep Stage)
ช่วงการนอนหลับของเราจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกันค่ะ ได้แก่
💜NREM (Non-Rapid Eye Movement Sleep) หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ช่วงหลับธรรมดา” ซึ่งการหลับช่วง NREM นี้ยังแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ N1 N2 และ N3
💙ส่วนช่วงที่ 2 จะเป็น “ช่วงหลับฝัน” หรือ REM (Rapid Eye Movement Sleep) ซึ่งเจ้า REM จะเป็นช่วงที่เราหลับลึก มีการเคลื่อนไหวของดวงตาไปมาอย่างรวดเร็ว และฝันเป็นเรื่องเป็นราวแบบยาวๆมากที่สุดนั่นเองค่ะ
ภาพจาก https://www.littledreamsconsulting.com/the-stages-of-sleep/
♻โดยวงจรการนอนหลับ (Sleep Cycle) ของเราจะอยู่ที่ 90 นาที/รอบ ซึ่งแต่ละ Cycle จะประกอบด้วย NREM ประมาณ 80 นาที และ REM 10 นาที
จะเห็นได้ว่าช่วง NREM หรือช่วงหลับธรรมดาจะนานกว่ามาก เพราะเมื่อเราเข้านอน ร่างกายจะค่อยๆไล่ระดับจาก N1 N2 และ N3 จากนั้นจึงไต่ระดับกลับลงมาจาก N3 N2 และ N1 และเข้าสู่ REM นับเป็นวงจรการนอนหลับรอบที่ 1 (จากนั้นจึงเริ่มที่ NREM เหมือนเดิม)
🤔เล่ามายาวเหยียดมาก เข้าสู่คำถามว่า “ทำไมเราถึงรู้สึกไร้เรี่ยวแรงไปหมด เมื่อต้องออกแรงทำอะไรสักอย่างในฝัน”
เมื่อได้รู้เกี่ยวกับวงจรของการนอนหลับมาแล้ว เราจะพบว่าช่วง REM เป็นช่วงที่เราจะฝันเป็นเรื่องเป็นราวได้ยาวนานที่สุด โดยความฝันที่เราออกแรงทำนู่นนี่ มันมักจะมาโผล่เอาช่วง REM นั่นเองค่ะ ซึ่งในช่วงของการหลับฝันนี้ สมองของเราจะตัดการเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อทุกๆมัดในร่างกาย (ยกเว้นกล้ามเนื้อหัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตาและกล้ามเนื้อเรียบ)
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อไหร่ที่เราฝันว่าต้องออกแรง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง บิน ขับรถ หรือตะโกนเสียงดังๆ เราจึงรู้สึกว่ามันทำได้ยากมาก ไม่มีเรี่ยวแรงเอาซะเลย เพราะร่างกายจริงๆของเราถูกตัดการเชื่อมต่ออยู่นั่นเอง จนทำให้บางผลวิจัยชี้ว่า เราอาจจะต้องออกแรงเพื่อเคลื่อนไหวในความฝันมากกว่าชีวิตจริงถึง 2 เท่าเลยล่ะค่ะ
การตัดการเชื่อมต่อจากกล้ามเนื้อหลายๆมัด ในช่วงนอนหลับฝัน (REM) นั้น นักวิจัยบางกลุ่มให้ความเห็นว่า สมองของเราตั้งใจให้ร่างกายเป็นอัมพาตในช่วงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เราแสดงอาการต่างๆตามในฝัน (ที่บางครั้งมันโลดโผนมาก) ออกมาจริงๆ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรานั่นเองค่ะ
💁‍♀️ขอแถมอีกนิด เคยนอนอยู่แล้วรู้สึกเหมือนตกลงมาจากที่สูง กันบ้างไหมคะ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เรากำลังออกจากช่วง REM เพื่อหมุนไปเข้า NREM ในขั้น N1 อีกรอบ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระดับการนอนจากช่วงหลับฝัน ไปยังช่วงหลับธรรมดา (พูดง่ายๆคือจากช่วงหลับลึก ไปสู่ช่วงที่สมองติดต่อกับมัดกล้ามเนื้ออีกครั้ง) นั่นจึงอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนร่วงมาจากที่สูงๆ จนแขน ขา กระตุกได้นั่นเองค่ะ
🌟Tips
- หลายๆคนอาจสงสัยว่า งั้นในช่วง NREM เราไม่ฝันเหรอ? คำตอบคือ เรามีความฝันทั้งในช่วง NREM และ REM ค่ะ แต่การฝันในช่วง NREM ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายยังตื่นตัวอยู่ เรามักจะพบกับความฝันแปลกๆ สั้นๆ หรือน่ากลัว แถมยังฝันหลายๆเรื่องอีกด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายยังไม่เข้าสู่โหมดหลับลึกค่ะ
- การนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ ควรมีวงจรการนอนหลับประมาณ 3-6 รอบ (รอบละ 90 นาทีโดยประมาณ)
โฆษณา