4 ก.ค. 2021 เวลา 12:19 • หนังสือ
LVD 120: หนังสือที่ฉันอ่าน ตอนที่ 6
สวัสดีครับทุกท่าน และแล้วเราก็เข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2021 โดยสมบูรณ์กันแล้วนะครับ เวลาผ่านมาชวนให้ผมนึกย้อนไปถึงปีที่แล้ว ในเวลานี้ของปีที่แล้ว เราเป็น wave แรกที่เราได้รู้จักกับความร้ายกาจของ Covid19 ในวันนั้นผมเองก็คิดว่าสถานการณ์มันย่ำแย่มาก แต่ถ้าเทียบกับตอนนี้ก็ไม่มั่นใจว่าแบบไหนที่รู้สึกแย่กว่ากัน อย่างไรก็ดี เรื่องที่ผมชวนคุยวันนี้คงไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์ช่วงนี้แต่อย่างใดครับ สำหรับสุดสัปดาห์แรกของเดือนแบบนี้ เป็นกิจวัตรประจำเดือนที่ผมจะมารีวิวหนังสือที่ผมอ่านมาแบบสั้นๆ ลองมาดูว่าเดือนนี้มีเล่มไหนมาฝากกันครับ
คือมันอย่างนี้ครับ…
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลาสำหรับการอ่านอยู่พอสมควรนะครับ เมื่อเส้นกั้นระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวมันก็เลือนลางไปเรื่อยๆ แต่เดือนนี้ผมก็ยังมีหนังสือ 3 เล่มมาเล่าให้ฟังนะครับ มีเล่มไหนบ้าง ลองตามมาดูกันครับ
เล่มที่ 1: 21 Lessons for 21st Century
เขียนโดย Yuval Noah Harari
จำนวน 412 หน้า
หนังสือเล่มหนา หนึ่งในสามหนังสือซีรีย์ชื่อดังแห่งยุคของคุณยูวัล โนอาห์ แฮรารี คงแทบไม่จำเป็นต้องบรรยายสรรพคุณเลย หนังสือเล่มหนาที่ชวนสมองเต้นและช่วยเปิดมุมมองต่อเรื่องต่างๆ แม้ว่าเนื้อหาจะถูกแบ่งเป็น 21 บทเรียน แต่คุณยูวัลก็ใช้ความสามารถในการเรียบเรียงบทเรียนทั้งหลายให้มีความต่อเนื่องกันจนเหมือนอ่านนิยาย อ่านไม่เบื่อแต่ก็ต้องใช้สมาธิในการอ่านเพื่อรับเนื้อหาที่ค่อนข้างซับซ้อน
ผมคงไม่สามารถมาเล่าเนื้อหาทั้ง 21 บทเรียนให้ฟังได้นะครับ แต่รวบยอดเป็น10 ความคิดที่ผมรับได้มาเล่าให้ฟัง
1. มนุษย์อยู่กับความเชื่อ และความเชื่อก็เป็นเหมือน Software ในมนุษย์ ตอนนี้อาจจะถึงเวลา update software patch จาก Software ดั่งเดิมที่เป็นการต่อสู้ระหว่างความคิดเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ เป็นเสรีนิยมคือสิ่งถูก จนตอนนี้อาจจะไม่ใช่เสมอไป การผงาดของมังกรฝั่งโลกคอมมิวนิสต์อย่างจีนอาจจะเป็นหลักฐานอย่างดี
2. AI กับ ”ชนชั้นไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” ขอบเขตความสามารถที่ไม่เหมือนเดิม จากเดิมเครื่องช่วยเราแต่งานด้านกายภาพ แต่ตอนนี้ AI สามารถทำงานทางความคิด (Cognitive) ได้ด้วย และเหนือกว่ามนุษย์หลายประการ นอกจากนี้ความสามารถในการเชื่อมต่อระหว่าง AI ทำให้ AI สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่จะเกิด “ชนชั้นไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ”
3. ความเป็นไปได้ของ Universal Basic Income เมื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลายเป็นกระจุก การเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับผลประโยชน์แบบกระจุก มาเป็นรายได้พื้นฐานสำหรับ “ชนชั้นไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” แนวคิดนี้ในโลกเสรีและโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน ช่างเหมือนกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ในอดีต และอะไรละที่จะกลายเป็นความหมายของชีวิตถ้าปราศจาก
“งาน” หรือหน้าที่ประจำวัน
4. Algorithm กับ Free will ในโลกที่ AI เข้ามาอยู่กับเราอย่างกลมกลืนแบบนี้ จริงๆแล้วมนุษย์เรายังมีเจตจำนงค์อิสระอยู่ไหม เมื่อ AI ป้อนทุกอย่างให้คุณ และ Algorithm ก็คำนวณผลตอบรับของคุณไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นหมายถึงว่าเจตจำนงค์ที่ว่าเสรี กลับได้รับอิทธิพลจาก Algorithm
5. ความไม่เท่าเทียม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมขยายตัวจากความไม่เท่าเทียมด้านเศรษฐกิจเป็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากเทคโนโลยีชีววิศวกรรม ลองคิดว่าถ้าต่อไปคนรวยสามารถตัดต่อยีนส์หรือตัดยีนส์ที่จะมีผลต่อโรคภัยไปจนถึงสติปัญญาในอนาคตได้ ไม่แน่ว่ามนุษย์แบบปัจจุบันอาจจะกลายเป็นมนุษย์พันธุ์เก่าก็ได้
6. ชาตินิยมหรือแม้กระทั่งศาสนาอาจเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของโลก เพราะทั้งสองเรื่องแบ่งแยกคนออกจากกัน และปัญหาของมนุษยชาติไม่ได้แก้ได้ในระดับประเทศอีกต่อไป ต่อให้ประเทศหนึ่งจริงจังในการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้าประเทศอื่นไม่ได้ช่วย ประเทศที่จริงจังก็ได้รับผลกระทบโลกร้อนอยู่ดี ทางออกคือ การร่วมมือระดับโลก แต่ก็เป็นไปได้ยากขึ้นทุกที
7. การก่อการร้าย คือ การแสดง เพื่อสร้างความตื่นตระหนักและความกลัว ความจริงคนที่เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในยุโรปมีเพียง 50 คนแต่ละปี เทียบกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ 80,000 คนต่อปี แนวทางการแก้การก่อการร้าย คือ หยุดกลัวเกินจริง
8. สงครามในอดีตเป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ชนะ และแน่ชัดว่าสงครามคือผลของความโง่เขลาของมนุษย์ แต่ความโง่เขลาของมนุษย์ก็ยังคงอยู่เช่นเดียวกับโอกาสของสงครามในอนาคต
9. การยอมรับความไม่รู้เป็นเรื่องสำคัญ เราคิดว่าเรารู้มากจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี แต่จริงๆเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า กาแฟตอนเช้าคั่วมายังไง เตารีดรีดผ้าให้เรียบได้ยังไง ความรู้แบบหมู่คณะแบบนี้ทำให้เราคิดว่าเรารู้แต่จริงๆเราไม่รู้ ยิ่งตอนนี้เราได้รับความรู้แบบหมู่คณะผ่าน Social media จำนวนมาก ทำให้การตัดสินใจหมู่มีผลต่อโลกผ่านการคิดแบบง่ายๆ เพราะคิดว่าตัวเองรู้
10. เราทุกคนควรหันมาสำรวจตัวเอง เทคโนโลยีทำให้เราเข้าใจกลไกของสมองมากกว่าแต่ก่อนอย่างมาก แต่ความเข้าใจต่อกลไกของจิตใจของพวกเรากลับตกต่ำ แบ่งเวลาทำสมาธิเป็นเครื่องเดียวและสำคัญให้เราได้มีเวลาละทิ้งความคิดภายนอก เพื่อเข้าใจความคิดภายในจิตใจ ก่อนที่ AI จะเข้าใจและควบคุมจิตใจคุณ
หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและเนื้อหาตามสไตล์คุณยูวัล ถ้ามีโอกาสคุณก็ควรอ่านในช่วงต้นทศวรรษที่ 21 นี้นะครับ
เล่มที่ 2: อ่านชีวิต พินิจสังคม
เขียนโดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
จำนวน 120 หน้า
หน้งสือเล่มเล็กๆราคาย่อมเยาส่งเสริมการอ่านเพียง 49 บาท ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของท่านก่อศักดิ์ในวัยเกือบ 70 ปี หนังสือที่เป็นเหมือนบันทึกสั้นๆที่คุณก่อศักดิ์เขียนให้กับทีมงาน เนื้อหาแม้ไม่ยาวมาก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจคนอื่นในฐานะมนุษย์ รวมถึงสายตาที่กว้างไกลต่อโลกธุรกิจและมิติสังคม จนตกผลึกเป็นวิธีคิดต่อการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในช่วงปลาย
คุณก่อศักดิ์ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเป็นนักจัดการหรือผู้จัดการ ว่าต้องเต็มใจเรียนรู้และฝึกฝน การเต็มใจเรียนรู้ไม่ใช่คุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด นอกจากนี้ต้องมีบุคลิกภายในที่ดี คือ ไม่เห็นแก่ตัวและไม่ขี้อิจฉา คนขี้อิจฉาแท้จริงแล้วคือคนขาดความมั่นใจในคุณค่าตัวเอง และยังยึดติดกับเปลือกของตัวเอง คือ ชื่อเสียงทรัพย์สิน ค่านิยมของการให้คุณค่าจริงๆ ควรจะยกย่องที่พฤติกรรมที่เสียสละทุ่มเทเพื่อส่วนรวม
คุณก่อศักดิ์อธิบายเรื่องศิลปะการใช้ชีวิตผ่านคำสอนของปราชญ์โบราณอย่าง ขงจื้อ…
“อายุสิบห้า มุ่งในการศึกษาเล่าเรียน
อายุสามสิบ ยืนหยัดได้อย่างมั่นคง
อายุสี่สิบ หมดสิ้นความสงสัย
อายุห้าสิบ เข้าใจลิขิตสวรรค์
อายุหกสิบ รับฟังเรื่องสารพันอย่างรื่นหู
อายุเจ็ดสิบ ทำอะไีรก็ได้ดังใจปรารถนา หากไม่ผิดทำนองคลองธรรม”
อ่านถึงตรงนี้ ผมยังสงสัยว่าผมจะหมดสิ้นความสงสัยหรือยัง…
เล่มที่ 3 PRESENT ปัญญาจักรวาล
เขียนโดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
จำนวน 265 หน้า
PRESENT หนังสือเล่มสุดท้ายในซีรีย์ “ปัญญา” ของคุณภิญโญ เอาจริงๆ ผมเองก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือในซีรีย์นี้จนครบ แต่ถ้าท่านต้องการหนังสือที่ช่วยสะกัดความคิดให้แหลมคมลุ่มลึกขึ้นแล้วละก็ ซีรีย์ “ปัญญา” ก็เหมาะสมกับการพิจารณา ตามสไตล์ของคุณภิญโญที่ไม่ได้เน้นปริมาณตัวหนังสือ แต่เน้นการเล่าเรื่องผ่านความสละสลวยของภาษาและเนื้อหา ทำให้เนื้อความที่ไม่มากแต่กลับมีมิติที่ลึกลงไป ทำให้การเสพหนังสือแนวนี้ ต้องไม่รีบ อ่านแล้วคิดตามจะได้รสชาติที่กลมกล่อมขึ้น
สำหรับปัญญาจักรวาล คุณภิญโญเล่าเรื่องผ่านตัวตนความคิดภายในของมนุษย์ โดยเอาเรื่องความเชื่อตั้งแต่เรื่องเล่าเทพเจ้าปรัมปรา ปราชญ์โบราณ ปราชญ์ปัจจุบัน ไปจนถึงศาสนา ผ่านเนื้อหาที่แทรกปรัชญาชวนให้จิตผู้อ่านเข้าไปสำรวจความคิดด้านใน ถึงการเริ่มต้นของมนุษย์ที่ทุกความเชื่อทางจิตวิญญาณพยายามอธิบายเรื่องเดียวกันนี้ในทางที่เหมือนและต่างกัน สุดท้ายข้อคิดที่น่าสนใจอีกประการคือ ตกลงแล้วเทพเจ้าสร้างเรา หรือเป็นเราที่สร้างเทพเจ้า?
จากความเชื่อทางปราชญ์และศาสนาแต่โบราณ คุณภิญโญชวนเราเชื่อมโยงมาถึงการเกิดปัญญาประดิษฐ์ ที่ก้าวล้ำและท้าทายมนุษย์หรือแม้แต่พระเจ้า แต่มนุษย์เองก็ยังมีความสามารถทางจิตวิญญาณที่เหนือกว่า คุณสมบัติในการบรรลุธรรมจากแก่นภายใน นั่นแหละคือเป้าหมายดั่งเดิมของมนุษย์ที่ลืมไป แต่แท้จริงแล้วมันไม่เคยเปลี่ยนไป
ทั้งสามเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ผมคงเอามา review ไม่ได้ แต่ละคนที่ได้อ่านก็คงได้สารไม่เหมือนกัน ทำให้วันนี้ผมเลยเขียนยาวหน่อย ต้องขออภัยครับ ขอฝากเนื้อหาไว้ให้เพื่อนๆคิดตามพิจารณาเท่านี้ครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา