4 ก.ค. 2021 เวลา 15:03 • ไลฟ์สไตล์
แปะ "ความทรงจำ (ข้อมูล)" ไว้ที่ไหนดี
ถ้าเป็นเมื่อก่อน หลายๆ คนคงจะมีบันทีกส่วนตัว หรือไดอารี่ ที่เราเขียนบันทึกประจำวัน หรืออาจจะแปะสิ่งของประกอบไปในบันทึกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย ดอกไม้แห้ง ตั๋วรถเมล์ ฯลฯ หลายคนอาจจะมีบันทึกในรูปแบบที่เป็นทางการหน่อย เช่น หนังสือรุ่น ใบประกาศนียบัตรต่างๆ รวมถึงใบปริญญา
ข้อเสียของการบันทึกแบบเดิมคือ จะอยู่ในรูปแบบของกระดาษซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา บันทึกบางอย่างก็อาจจะสูญหายหรือทำลายจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม วิธีการกู้คืนแบบคลาสสิก ก็เช่นการไปขอทำสำเนาจากต้นฉบับถ้าหากพอหาได้ หรือใช้วิธีซ่อมตัวบันทึก หรือเอกสารเหล่านั้น
นอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว ตัวความทรงจำหรือข้อมูลเองนั้นก็อาจจะถูกลืมเลือนไป เพราะไม่ถูกเปิดอ่าน เช่น ถูกเก็บไว้อย่างดีในตู้หนังสือ และไม่เคยถูกหยิบออกมาอีกเลย จนกระทั้งเจ้าของบันทึกนั้นได้เสียชีวิตไป
มองกลับกันทุกวันนี้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยมีหน้าที่หลักใหญ่ๆ คือ แก้ปัญหาการจัดเก็บ "บันทึกความทรงจำ" หรือที่เราเรียกว่า "ข้อมูล" ในอดีต จากที่สามารถจะเลือนรางไปตามกาลเวลา กลายเป็นคมชัดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เหตุการณ์ในอดีดที่เราบันทึกวันเมื่อสิบปีก่อน ก็วนกลับมาโผล่ให้เรารำลึกถึงโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดตู้ค้นหา
ถ้าให้หลายๆ คนเลือกตอนนี้ว่า อยากจะแปะบันทึก "ความทรงจำ (ข้อมูล)" ไว้ที่ไหนดี ก็คงจะมีหลายคนตอบว่า ไว้บนคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตสิ จะได้ไม่หาย เรียกดูเมื่อไหร่ก็ได้ ในขณะทีคงจะมีหลายคนอยากเก็บบันทึกของต้นเองไว้บนกระดาษ เพราะชอบความรู้สึกของการส่งผ่านความทรงจำผ่านปลายดินสอ หรือปากกา
เวลาที่เราอยากทบทวน หรือรำลึกถึง "ความทรงจำ (ข้อมูล)" หากเป็นรูปแบบในคอมพิวเตอร์ เราก็คงจะหาได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เราจัดเก็บได้ไฟล์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หากไม่ใช่อย่างที่ว่า เราก็คงใช้ปุ่มค้นหา แต่เมื่อเราเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแล้ว เราก็อาจจะถูกอัลกอริทึมบางอย่าง ดึงความสนใจเราไปหาข้อมูลอื่นๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยเช่นกัน
สำหรับการหาบันทึกในรูปแบบดั้งเดิม เราอาจจะต้องถึงขึ้นไปค้นในตู้หนังสือเก่าๆ หรือห้องเก็บของ แถมยังต้องพยายามนึกและถามตัวเองอีกนะว่า เราเก็บบันทึกนั้นไว้ตรงไหน และนานเท่าไหร่แล้วที่เราเห็นบันทึกนั้น แต่สิ่งที่เราอาจจะได้จากการหาบันทึกในห้องเก็บของ บางทีเราอาจจะดึงข้อมูลจากความทรงจำของเราก่อนที่จะเจอตัวบันทึกที่เรากำลังหา
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราแล้วล่ะว่า เราอยากบันทึกความทรงจำแบบไหน อยากจะมีประสบการณ์ในการกู้คืนความทรงจำอย่างไร และสุดท้ายอยากให้ความทรงจำบางอย่างถูกลืมไปอย่างถาวรหรือไม่
#RTBF #PastPresentFuture #Expiration #DataNutrition #DataLabelling #DataObesity
ขอบคุณภาพจาก Photo by Kelly Sikkema on Unsplash
Photo by Kelly Sikkema on Unsplash
โฆษณา