5 ก.ค. 2021 เวลา 08:00 • ธุรกิจ
สำหรับใครที่คิดจะเป็นฟรีแลนซ์หรือแม้แต่คนที่เป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้วก็อาจจะกำลังปวดหัวกับการตั้งราคาค่าจ้างตัวเองในแต่ละงานว่าควรจะตั้งเท่าไหร่ถึงจะ“เหมาะสม” หากจะให้ตั้งราคาสูงๆ ลูกค้าก็คงหนีหาย แต่ถ้าคิดถูกไปก็จะเอาตัวเองไม่รอดซะเปล่าๆ ดังนั้นวันนี้จึงได้นำเอาวิธีคำนวณเงินค่าจ้างสำหรับชาวฟรีแลนซ์แบบที่จะทำให้คนจ้างยินดีที่จะจ่ายเงินจ้าง แต่ก็ไม่น้อยแบบเข้าเนื้อจนมาเจ็บตัวเองเสียเองมาฝากกัน การคำนวณนี้จะอ้างอิงจากงานเกี่ยวกับด้าน Design เป็นหลัก สำหรับสายงานอื่นสามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้ได้ต่อไปได้ตามความเหมาะสม โดยสิ่งที่ฟรีแลนซ์ทุกท่านควรนำมาคำนวนประกอบไปด้วยดังนี้
• ค่าแรง – สำหรับการคิดค่าแรงให้คิดจากเงินเดือนล่าสุดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยจำนวนวัน เช่น เงินเดือนก่อนออกจากงานทั้งหมด 30,000 บาท แล้วก็หารด้วย 30 (จำนวนวัน) จะได้เท่ากับ 1,000 บาท ซึ่งถือเป็นค่าแรงต่อวัน โดยค่าแรงส่วนนี้ก็คือค่ากิน ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ในแต่ละเดือนที่ปกติตอนทำงานประจำก็ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่แล้ว
สำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่เคยมีเงินเดือนก็อาจจะต้องทำการหาข้อมูลว่าตอนนี้สายอาชีพที่เราทำอยู่นั้นเงินเดือนประมาณเท่าไหร่แล้วจึงค่อยนำมาหารตามจำนวนวัน รวมไปถึงใครที่ออกมาเป็นฟรีแลนซ์แบบข้ามสายงานก็ควรคำนวณฐานเงินเดือนตามความสามารถและผลงานที่มีว่าควรอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
• ต้นทุนการทำงาน – การออกมาทำงานฟรีแลนซ์ทำให้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากตอนทำงานประจำเช่น ค่าอุปกรณ์, ค่าโปรแกรม, ค่าไฟ ซึ่งแต่เดิมจะมีบริษัทคอยดูแลจัดการให้ แต่เมื่อเป็นฟรีแลนซ์แล้วก็ต้องจัดการเองจึงต้องนำเอาส่วนนี้เข้ามาคำนวณด้วย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงค่าเดินทางหากต้องมีการเดินทางไปไหนมาไหนอีกด้วย
*ข้อแนะนำ สำหรับค่าโปรแกรม ควรใช้เป็นแบบลิขสิทธิ์แท้ เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่โปรเจ็คใหญ่ๆ แล้วหากเกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาจะพาลให้เสียฐานลูกค้า แถมเผลอๆ ยังต้องจ่ายค่าชดเชยอีกด้วย
• ค่าแก้ไขงาน – แน่นอนว่าการแก้งานกับลูกค้าเป็นของคู่กัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากได้สิ่งที่ดีที่สุดจึงต้องผ่านการคิดไตร่ตรองหลายรอบ ผ่านการพิจารณาหลายฝ่าย จึงอาจทำให้ต้องมีการปรับแก้ไขหลายครั้ง ดังนั้นครั้งแรกในการร่วมงานอาจจะซื้อใจลูกค้าด้วยการยอมแก้ไขให้ฟรีไปก่อน แต่หลังจากนั้นเมื่อดูท่าทีแล้วว่าลูกค้ามีลักษณะการทำงานอย่างไรอาจจะเพิ่มค่าแก้ไขในครั้งถัดไปเช่น แก้ไขได้ทั้งหมด 3 ครั้ง มากกว่านั้นคิดเพิ่ม 300 บาท หรือจะคิดรวมไปในค่าจ้างเลยว่า 1,500 แก้ได้ 4 ครั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ก็คิดอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละท่านได้เลย
• กำไร – ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรืองานอะไรก็ควรที่จะต้องมีกำไร โดยที่กำไรส่วนนี้จะสามารถนำเอาไปเป็นเงินสำรองในยามฉุกเฉิน อัปเกรดอุปกรณ์ หรือแม้แต่มอบโบนัสให้กับตัวเองในช่วงสิ้นปี โดยคำแนะนำในการบวกกำไรก็ควรอยู่ที่ประมาณ 10 – 30 เปอร์เซ็นเป็นช่วงที่กำลังดี
• ภาษี – สิ่งสุดท้ายที่ต้องนำมาคำนวณก็คือ ภาษี ซึ่งค่าธรรมเนียมในการหักภาษีของฟรีแลนซ์จะอยู่ที่ 3% ณ ที่จ่าย ยกตัวอย่างถ้าคุณคิดราคางานอยู่ที่ 1,000 บาท ก็จะโดนหักภาษีทั้งหมด 30 บาท ทำให้ได้ค่าจ้างจากงานนั้นอยู่ที่ 970 บาท
ต่อมาก็เป็นวิธีการคำนวณหาค่าจ้างทั้งหมด โดยสมมติว่า ลูกค้าจ้างงาน 1 ชิ้น คุณจำเป็นต้องรู้รายละเอียดงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำมาคำนวณว่าคุณต้องใช้ระยะเวลาในการทำงาน เช่น ออกแบบเว็บไซต์ก็ควรรู้ว่าต้องทำกี่หน้า มีข้อมูลอะไรให้บ้าง หรืองานถ่ายภาพก็ต้องรู้ว่าถ่ายกี่คน หรือถ่ายที่ไหน เพราะหากมีค่าเดินทางก็ควรคำนวณรวมเข้าไปด้วย
► โดยเมื่อได้รายละเอียดครบแล้วก็ควรมาคำนวนว่าจะใช้เวลาในการทำงานทั้งหมดกี่วัน สมมติว่าใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน ก็จะสามารถคำนวณได้ดังนี้
• ค่าแรง (1,000/วัน) ► 1,000 x 6 = 6,000
• ต้นทุนอื่นๆ (500/วัน) ► 500 x 6 = 3,000
• ค่าแก้ไขงาน ► คิดแบบเหมา 1,500 (แก้ได้ 3ครั้ง)
• ค่าต้นทุนทั้งหมด ► 10,500
► จากนั้นนำเอา ค่าต้นทุน มาบวกกำไรซึ่งในตัวอย่างจะบวกอยู่ที่ 30%
• ค่าต้นทุนทั้งหมด ► 10,500
• กำไร +30% ► 10,500 x 0.3 = 3,150
• ค่าต้นทุน + กำไร ► 10,500 x 3,150 = 13,650 สามารถปัดเศษให้เป็นตัวเลขสวยๆ ที่ 13,700 ได้
►พอได้ต้นทุน + กำไรมาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็ถึงการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งต้องถูกหักออกไปทั้งหมด 3% นั่นทำให้ยอด 13,650 ที่ควรจะได้นั้นจะถูกหักภาษีออกไปทั้งหมด 13,700 x 0.03 (หักภาษี) = 411 หรือปัดเศษเป็น 410
►ดังนั้นราคาสุดท้ายที่ควรจะยื่นเสนอต่อลูกค้าควรจะเป็น
13,700 + 410 = 14,110 บาท
ทั้งนี้หลังจากคุณได้เสนอราคาค่าจ้างต่อลูกค้าแล้วถ้าโชคดีที่สุดก็จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งแบบที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ที่“ลูกค้าตกลงราคา”ตามที่เราเสนอซึ่งเป็นสิ่งที่ใครก็อยากได้เป็นเช่นนี้
แต่ในบางกรณีคุณอาจจะเจอกับการที่“ลูกค้าต่อรองราคา” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้คุณหนักใจอย่างมาก แต่ขอให้คุณใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ อธิบายเหตุผลถึงต้นทุนว่าทำไมถึงตั้งราคาเช่นนี้ และอาจจะพิจารณาด้วยตัวเองว่าสามารถลดราคาสักนิดหน่อยได้หรือไม่ (คำนวณว่าควรได้กำไรจากการทำงานอยู่) ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการต่อรองโดยเมื่อลดราคาก็อาจจะมีการลดข้อเสนอบางส่วนลงเช่นจำนวนครั้งในการแก้ไขงานเป็นต้น แต่หากการต่อรองไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็ควรปฏิเสธงานนี้ไปด้วยการพูดดีๆ ไม่ควรตัดขาดความสัมพันธ์เพราะอาจจะสามารถร่วมงานกันได้ในอนาคต
และสุดท้าย“ลูกค้าหายไป”เป็นกรณีที่บั่นทอนความรู้สึกฟรีแลนซ์มากที่สุดเพราะไม่มีโอกาสได้รู้เหตุผลที่ลูกค้าหายไป แต่อย่าพึ่งหมดหวังหรือเสียกำลังใจให้มองว่าลูกค้าอาจมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถร่วมงานกับเราได้เพียงเท่านั้นเอง
.
ที่มา : https://bit.ly/2UW6uWL
.
#อายุน้อยร้อยล้าน #ryounoi100lan
#อายุน้อยร้อยล้านNEWS
#freelance #ฟรีแลนซ์ #ค่าจ้าง #ค่าแรง #เงินเดือน #คิดค่าจ้าง #ภาษี #Business #ธุรกิจ #ไอเดียธุรกิจ
โฆษณา