Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
15 ก.ค. 2021 เวลา 07:02 • การศึกษา
สละชีวิตเพื่อพ่อ
การสร้างบารมีเป็นงานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เราเกิดมาก็เพื่อสร้างบารมี ดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา มุ่งแสวงหาสาระที่แท้จริงของชีวิต เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง คือที่สุดแห่งธรรม แต่ในระหว่างการสร้างบารมีเป็นธรรมดาที่จะต้องพบอุปสรรค อุปสรรคเป็นเพียงเครื่องทดสอบกำลังใจของนักสร้างบารมี หากเราใช้สติและปัญญา ปัญหาทั้งหลาย ก็จะหมดไป เหมือนการเอาคบเพลิงจุ่มลงไปในน้ำ แหล่งของสติ และปัญญาอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ การเอาใจมาหยุดนิ่งที่ตรงนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ทุลลภสูตร ว่า…
บุคคล ๒ จำพวก ที่หาได้ยากในโลก คือ บุพการีบุคคล และกตัญญูกตเวทีบุคคล บุคคล ๒ จำพวกนี้แล หาได้ยากในโลก
ผู้ที่ทำคุณงามความดีมีอุปการคุณต่อผู้อื่นก่อน โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ล้วน ๆ ใครทำอย่างนี้ได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก ท่านเรียกว่า ...บุพการีบุคคล เช่น บิดามารดาของเรา เป็นต้น
พระพุทธองค์ ทรงอุปมาพระคุณของบิดามารดาไว้ว่าหากแม้นใครจะพึงนำบิดามาไว้บนบ่าข้างขวา นำมารดามาไว้บนบ่าข้างซ้าย แล้วปรนนิบัติเลี้ยงดูท่านทั้งสองอย่างดี ให้ท่านถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลงบนบ่าทั้งสองข้าง ถึงจะบำรุงท่านอยู่เช่นนี้ตลอดหนึ่งร้อยปี จนกระทั่งบิดามารดาละจากโลกไป ก็ยังไม่อาจจะทดแทนพระคุณของท่านได้หมดสิ้น
นักปราชญ์จึงกล่าวว่า ...แม้จะเอาภูเขาสิเนรุมาแทนปากกา เอาน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่แทนน้ำหมึก เอาแผ่นฟ้ามาแทนกระดาษ แล้วเขียนพรรณนาพระคุณของบิดามารดา พยายามเขียนไปจนกระทั่งภูเขาสิเนรุสึก น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งหายไป แผ่นฟ้าอันกว้างใหญ่ไม่มีที่ว่างเหลืออยู่เลย แม้กระนั้นก็ยังไม่อาจจะเขียนพรรณนาพระคุณของบิดามารดาได้หมดสิ้น
บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นพระคุณของท่านแล้ว จึงหาโอกาสตอบแทนพระคุณท่านอยู่เสมอ แม้จะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอม ผู้รู้กล่าวว่า ..บุคคลผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว และกระทำตอบแทน เรียกว่าเป็นบุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีที่หาได้ยากในโลก เหมือนดังเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีมาในชัยทิสชาดกว่า....
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าชัยทิสมหาราช พระราชาทรงโปรดการล่าเนื้อมาก วันหนึ่งก่อนที่จะเสด็จไปล่าเนื้อ นันทพราหมณ์ได้มาเข้าเฝ้า พระราชาทรงพอพระทัยพราหมณ์มาก จึงบอกว่าหลังจากเสร็จธุระแล้ว จะกลับมาฟังธรรม และจะพระราชทานทรัพย์ให้ เมื่อพระราชทานบ้านพักแก่พราหมณ์ แล้วจึงเสด็จไปล่าเนื้อ
จากนั้น พระองค์ก็เสด็จเข้าป่าไปพร้อมกับเหล่าเสนาอำมาตย์ ในขณะที่กำลังไล่ต้อนเนื้ออยู่นั้น พระองค์รับสั่งว่า ถ้าเนื้อหนีไปทางผู้ใด ผู้นั้นจะต้องมีโทษ แต่บังเอิญว่า เนื้อ ได้วิ่งหนีไปทางพระราชา พระองค์ทรงจับไม่ทัน จึงไล่ตามไปโดยลำพัง ในที่สุดก็สามารถจับเนื้อได้ แต่ในระหว่างทางที่จะกลับ ทรงพลัดหลงเข้าไปในเขตยักษ์กินคน จึงถูกยักษ์จับไว้
พระราชาตรัสบอกกับยักษ์ ถึงเรื่องที่พระองค์ได้ทรงให้สัญญากับพราหมณ์ไว้ว่า จะกลับไปฟังธรรม แล้วจะมอบทรัพย์ ให้แก่พราหมณ์ ขอให้ยักษ์ได้ปล่อยพระองค์ไปก่อน แล้วจะกลับมาให้กินในภายหลัง ยักษ์รู้ว่าธรรมดากษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ จึงอนุญาตให้พระองค์กลับไป แต่ให้กลับมาภายในวันรุ่งขึ้น พระราชาก็ให้คำมั่นสัญญา
วันรุ่งขึ้น ก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปหายักษ์ ได้ตรัสเรียกพระโอรสมาให้โอวาทว่า ...ขอให้ลูกจงประพฤติธรรมในรัฐสีมา จงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์แทนพ่อ วันนี้พ่อจะต้องไปให้ยักษ์กินตามสัญญา ลูกจงเสวยราชสมบัติเถิด
ธรรมดาของพระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที จึงได้ทูลว่า ..ขอเสด็จพ่ออย่าได้เสด็จไปเลย ลูกจะขอเอาชีวิตแลกกับพระชนม์ชีพของเสด็จพ่อเอง เสด็จพ่อได้โปรดวางพระทัยเถิด แม้พระราชาจะทรงทัดทานอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะพระโพธิสัตว์มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นที่จะทดแทนพระคุณ พระราชาจึงต้องทรงอนุญาตในที่สุด
พระโพธิสัตว์ได้เสด็จออกจากพระนคร ด้วยความองอาจกล้าหาญ ทรงปีติโสมนัสว่า เราจะได้ทดแทนพระคุณของบิดามารดา ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก แม้จะต้องตาย เราก็ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย แล้วได้เสด็จไปยังที่อยู่ของยักษ์
ฝ่ายยักษ์รอคอยการมาของพระราชาอยู่ใต้ต้นไม้ เมื่อเห็นพระโอรสเสด็จมาแทน จึงถามว่า ท่านไม่รู้หรือว่าเราเป็นยักษ์ ทำไมจึงเดินมาหาเรา พระโพธิสัตว์ตรัสว่า เรารู้ว่าท่านเป็นยักษ์กินคน เราคือโอรสของพระราชา วันนี้ท่านจงกินเราแทนพระชนกเถิด
ยักษ์กล่าวว่า ...ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมกลัวตาย ท่านมาแทนบิดา ท่านไม่กลัวตายหรือ
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ...เราไม่กลัว เรานี่แหละ กล้าตายแทนบิดามารดาได้ แม้เราจะต้องตายไปในวันนี้ ย่อมจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะเราเห็นคุณข้อนี้ เราจึงไม่กลัวตาย เชิญท่านกินเนื้อเราเถิด
เมื่อยักษ์ได้ฟังถ้อยคำ และเห็นท่าทีอันเด็ดเดี่ยวของพระโพธิสัตว์ จึงเกิดความครั่นคร้าม และรู้สึกหวั่นไหวเป็นอย่างมาก ตกใจกลัว แล้วคิดในใจว่า มนุษย์ผู้กล้าหาญเช่นนี้ เราไม่เคยเจอมาก่อนเลย เรากลัวใจบุรุษผู้นี้ที่ทำให้เราหวั่นไหว เราไม่อาจที่จะกินเขาได้ จะต้องหาอุบายขับไล่ให้หนีไปเสีย แล้วจึงแกล้งบอก เพื่อเปิดโอกาสให้หนีไปว่า ..ท่านจงเข้าไปในป่าหาฟืนมาก่อไฟ เราจะย่างเนื้อของท่านในกองไฟนั้น
พระองค์ได้ทำตามยักษ์บอก ด้วยความกระตือรือร้น มิได้มีท่าทีแห่งความสะทกสะท้านเลย นำฟืนมากองแล้วจุดไฟ เดินกลับไปหายักษ์ ยักษ์ได้เห็นพระโพธิสัตว์ทำเช่นนั้น จึงเกิดอาการขนพองสยองเกล้าขึ้น ดำริว่า บุรุษนี้เป็นประดุจราชสีห์ ผู้ไม่กลัวความตาย เราไม่เคยพบเห็นบุคคลผู้มีความกตัญญู กตเวที ต่อบิดามารดาถึงเพียงนี้ ถ้าเรากินเขาเป็นอาหาร ศีรษะเราจะต้องแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงแน่นอน
ยักษ์จึงบอกว่า ท่านสัตบุรุษผู้ตั้งอยู่ในธรรม ท่านมีความกตัญญูที่ใคร ๆ ในโลกทำได้ยาก บัดนี้ ท่านเหมือนดวงจันทร์ ที่พ้นจากปากแห่งราหูแล้ว ย่อมไพโรจน์กว่าหมู่ดาวบนท้องฟ้าฉันใด ท่านผู้มีอานุภาพก็เป็นฉันนั้น ท่านได้หลุดพ้นจากเราแล้ว เพราะเรายอมแพ้ใจของท่าน ท่านจงกลับไปเถิด ท่านให้ชีวิตแก่พระบิดา ส่วนเราบูชาความกตัญญู และความสัตย์ของท่าน เราจึงได้ให้ชีวิตแก่ท่าน ขอท่านจงบำรุงบิดามารดาของท่านเถิด
พระโพธิสัตว์เมื่อได้ชีวิตแล้ว จึงกล่าวสั่งสอนยักษ์ ให้สมาทานในศีล และประพฤติธรรม อย่าได้มีเวรกับใคร จะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นยักษ์อีก จากนั้นจึงเสด็จกลับพระนครโดยปลอดภัย
จะเห็นได้ว่า ...บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน แม้รู้ว่าจะต้องไปตายแทนบิดา ก็ไม่ละทิ้งธรรม คือ ความกตัญญูกตเวที มิได้หวั่นเกรงต่อความตายที่จะเกิดขึ้น กลับมีความปลื้มปีติโสมนัส ที่จะได้ทดแทนพระคุณบิดามารดา เสมือนทหารกล้าที่ไม่ครั่นคร้าม ยามเข้าสู่สมรภูมิรบ แม้รู้ตัวว่าเมื่อออกไปรบแล้ว จะต้องเสี่ยงต่อความตายทุกขณะจิต กลับมีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นผู้ปกป้องประเทศชาติ ให้หลุดพ้นจากอริราชศัตรู
เพราะฉะนั้น เราควรจะเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณของผู้อื่น แม้เพียงเล็กน้อย แล้วหาโอกาสตอบแทนอยู่เสมอ เมื่อถึงวาระสำคัญในการทดแทนพระคุณบิดามารดา เราก็ควรจะแสดงออกซึ่งความเป็นลูกกตัญญู เพราะโอกาสอย่างนี้หาได้ยากอย่างยิ่ง บัณฑิตจึงกล่าวว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๓๙-๔๖
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ชัยทิสชาดก เล่ม ๖๑ หน้า ๓๔๐
บันทึก
68
13
69
68
13
69
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย