5 ก.ค. 2021 เวลา 15:38 • ประวัติศาสตร์
เหตุเพลิงไหม้ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในนครชิคาโกเมื่อ 150 ปีที่แล้ว กลับกลายเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ช่วยสร้างความปลอดภัยในการดับเพลิงและการป้องกันเพลิงไหม้ อีกทั้งยังทำให้คนตระหนักถึงเรื่องอัคคีภัยมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
 
นครชิคาโก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในรัฐอิลลินอยส์ ทางตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนครชิคาโกนั้นมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 3 ในประเทศ รองจากนครนิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส
5
แต่รู้หรือไม่ว่าเมืองที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่แทบทำลายเมืองทั้งเมือง ประชาชนต้องพากันหนีตายตลอดระยะเวลา 3 วันที่เพลิงลุกลามยากเกินกว่าจะควบคุม
3
“เพลิงไหม้ครั้งยิ่งใหญ่ในชิคาโก” หรือ “Great Chicago Fire” เป็นชื่อของเหตุการณ์เพลิงไหม้ในนครชิคาโก เมื่อปีค.ศ.1871 เพลิงที่เผาวอดไปทั่วเมืองตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ถึง 10 ตุลาคม มันได้ทำลายอาคารไปนับหมื่นหลัง คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 300 คน และก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1871 สภาพอากาศที่นครชิคาโกในช่วงนั้นมีภูมิอากาศแห้ง และมีลมแปรปรวนที่พัดแรงไปทั่วทั้งเมือง บ้านเมืองในตอนนั้นล้วนทำขึ้นมาจากแผ่นไม้ที่ติดไฟได้ง่าย ไม่เพียงอาคารเท่านั้นที่ทำจากไม้ แต่ถนนและทางเท้าในนครชิคาโกก็ล้วนทำมาจากไม้ทั้งสิ้น
7
มันเป็นเหมือนแหล่งเชื้อไฟขนาดใหญ่ที่รอการปะทุ การปะทุที่แม้จะเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ แต่ก็สามารถลุกลามสร้างความวอดวายไปได้เกินกว่าที่ผู้คนจะคาดคิดในตอนนั้น
 
แม้จะไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงของ Great Chicago Fire นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากความเป็นไปได้มากที่สุด คือเหตุการณ์ในคืนวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.1871 เมื่อวัวตัวหนึ่งของครอบครัว แพทริค และ แคทเธอรีน โอเรียลี่ เกิดไปเตะโคมไฟที่จุดไฟเอาไว้เข้า ในบริเวณโรงนาของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ที่ 137 ถนนเดโคเวน (DeKoven Street) ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชิคาโก ถึงแม้ แคทเธอรีน โอเรียลี่ จะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด แต่สิ่งที่เป็นหลักฐานได้อย่างแน่ชัด คือบริเวณแรกที่เกิดเพลิงไหม้ ก็คือตรงย่านที่ครอบครัวนี้อาศัยอยู่นั้นเอง
 
ไฟที่เกิดขึ้นได้ลุกลามอย่างรวดเร็วจากไม้และฟางที่เป็นตัวเชื้อไฟชั้นดี มันลุกลามจนเกินกว่านักดับเพลิงในยุคสมัยนั้นจะควบคุมได้ ไฟได้เคลื่อนตัวตามลมที่พัดอย่างรุนแรงไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นคือทิศที่มุ่งหน้าไปยังใจกลางเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 300,000 คน
 
เช้าวันถัดมา ไฟได้ลุกลามเข้าสู่ใจกลางเมืองอย่างรุนแรง ในยุคสมัยนั้นนักดับเพลิงมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ไม่เด็ดขาดและรุนแรงพอที่จะต่อกรกับไฟขนาดใหญ่นี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถม้าที่ลากถังน้ำและสายฉีดดับเพลิง และแรงอัดฉีดน้ำที่มาจากปั๊มน้ำพลังงานไอน้ำโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงซึ่งลากมาโดยล้อเกวียน พวกเขาได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วเท่าที่กำลังคนและเทคโนโลยีดับไฟในตอนนั้นจะทำได้
 
ผู้คนต่างอพยพหนีตาย ส่วนใหญ่พยายามหนีลงเรือไปในทะเลสาบมิชิแกน ทะเลสาบที่ติดกับใจกลางเมืองนี้มีขนาดใหญ่และติดกับรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 4 รัฐ ผู้คนต่างลงเรือเล็กเรือใหญ่ทุกขนาดที่จอดอยู่ในตอนนั้น
15
รถดับเพลิงในยุค 1870
ภาพจำลองเหตุการณ์วัวเตะโคมไฟ ที่ว่ากันว่าเป็นต้นเหตุในครั้งนี้
แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือเรือนั้นมีจำนวนไม่มากพอที่บรรจุประชากรหลายแสนคนไว้ได้ บางคนกระโดดลงทะเลสาบเพื่อเอาตัวรอดจนจมน้ำเสียชีวิต บางคนยอมพรากจากลูกด้วยการโยนลูกเล็กหรือฝากเด็กๆ ของตนเองไปในเรือคนอื่นโดยที่ตนเองยอมอยู่บนฝั่งเผชิญกับไฟที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาจนเสียชีวิต
 
ในที่สุดวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1871 ไฟก็ได้หยุดลุกลามลง และค่อยๆ ซาลงอย่างช้าๆ จากฝนที่ตกลงมาช่วยดับไฟอันร้อนระอุนี้ สุดท้ายแล้ว Great Chicago Fire ได้วอดวายไปในพื้นที่กว่า 9 ตารางกิโลเมตร คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 300 คน และอีก 100,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย อาคารมากกว่า 17,000 แห่งถูกทำลาย และประมาณการความเสียหายไว้อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลงเป็นค่าเงินปัจจุบันได้ที่ประมาณ 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 131,000 ล้านบาทไทย
 
ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้มีการขโมยทรัพย์สิน และปล้นสะดมในพื้นที่ที่ลุกไหม้กว่า 9 ตารางกิโลเมตร เกิดเหตุจลาจล ผู้คนต่างแย่งสิ่งของกันเพื่อเอาชีวิตรอด
8
ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ Great Chicago Fire
จนในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1871 ในเมืองชิคาโกจึงได้ประกาศกฎอัยการศึก ทหารหลายกองพันถูกเรียกตัวไปควบคุมสถานการณ์ที่เมืองชิคาโก ก่อนที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ และยกเลิกกฎอัยการศึกในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา
 
1 เดือนหลังจากเกิดเพลิงไหม้ โจเซฟ เมดิลล์ ได้ถูกรับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีนครชิคาโก เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเริ่มก่อสร้างและปรับปรุงอาคารในเมืองทั้งหมด โดยให้มีความเข้มงวดเรื่องการป้องกันอัคคีภัยมากขึ้น และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการสร้างอาคารและผังเมืองที่ช่วยปกป้องประชาชนจากอัคคีภัยอย่างเห็นได้ชัดจนถึงปัจจุบัน
 
สถาปนิกในนครชิคาโกได้เริ่มวางรากฐานการสร้างอาคารในเมืองใหม่ทั้งหมด ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างเมืองสมัยใหม่ อาคารที่ล้อมรอบไปด้วยวัสดุป้องกันไฟ ทุกชั้นจะต้องมีทางออกหนีไฟไปยังชั้นล่างได้อย่างง่ายดาย ยังไม่รวมถึงผังเมืองที่ทุกอาคารจะต้องติดกับถนนขนาดใหญ่ซึ่งสามารถให้รถดับเพลิงเข้าไปได้ และสามารถอพยพผู้คนได้อย่างสะดวก
 
และนั่นทำให้เกิด “The Home Insurance Building” มันเป็นตึกระฟ้าแห่งแรกในโลก ที่ถูกสร้างขึ้นในนครชิคาโกในปีค.ศ. 1885 เพียง 14 ปีหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ แม้ว่าจะมีความสูงเพียง 10 ชั้น แต่อาคารนี้เป็นอาคารแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้นวัตกรรมการสร้างอาคารจากเหล็ก รวมถึงการคิดค้นกระบวนการผลิตเหล็กจำนวนมากเพื่อใช้ในการสร้างอาคาร จนกลายเป็นต้นแบบของอาคารระฟ้าหลายแห่งทั่วโลกในปัจจุบัน
 
ถึงแม้จะเกิดไฟไหม้รุนแรงขึ้น แต่โครงสร้างพื้นฐานของนครชิคาโกส่วนใหญ่ รวมถึงระบบขนส่งต่างๆ ยังคงไม่บุบสลาย ผู้คนในนครชิคาโกต่างช่วยกันฟื้นฟูเมืองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเติบโตของประชากรอย่างยิ่งยวดได้ทำให้นครชิคาโกนั้นกลับมายิ่งใหญ่อย่างรวดเร็ว
 
ในช่วงเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ ประชากรของนครชิคาโกมีประมาณ 324,000 คน ในอีก 9 ปีต่อมา มีชาวชิคาโกประมาณ 500,000 คน และในปีค.ศ.1890 เมืองนี้ได้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และปัจจุบันนั้นมีประชากรประมาณกว่า 2.71 ล้านคน
 
“สัปดาห์การป้องกันไฟ” หรือ “Fire Prevention Week” เป็นสัปดาห์แห่งการระลึกซึ่งมีขึ้นทุกสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมในทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึง“เพลิงไหม้ครั้งยิ่งใหญ่ในชิคาโก” หรือ “Great Chicago Fire” ที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนตุลาคมเช่นกัน
15
Home Insurance Building อาคารทำจากเหล็กที่ป้องกันไฟ ต้นแบบของอาคารในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ Great Chicago Fire
ความเสียหายหลังจากเกิด Great Chicago Fire
มันเป็นสัปดาห์ที่ทุกคนโดยเฉพาะนักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องมาระลึกและมาพูดคุยกันเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงสิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้ทุกคนสามารถจดจำและนึกถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจริงๆ
 
แคทเธอรีน โอเรียลี่ เสียชีวิตในปีค.ศ.1895 และในปี ค.ศ.1997 หรืออีก 102 ปีต่อมา สภาเมืองชิคาโกได้มีมติยกโทษให้กับ แคทเธอรีน โอเรียลี่ ผู้อพยพชาวไอริช และวัวของเธอ ที่ว่ากันว่าเป็นต้นเหตุของ Great Chicago Fire
7
บทความโดย : I’m from Andromed
2
หนังสือ I survived The Great Chicago Fire, 1871 โดย Lauren Tarshis
หนังสือ I survived The Great Chicago Fire, 1871 โดย Lauren Tarshis
โฆษณา