8 ก.ค. 2021 เวลา 10:49 • ประวัติศาสตร์
ภาพนี้มีเรื่องเล่า ตอน North Sentinel Island มนุษย์โลกลืมแห่งอันดามัน
1
ถ้าทุกคนลองสังเกตภาพด้านบนจะเห็นอะไรกันบ้างครับ คำตอบของหลายคนก็น่าจะเป็นคน 5 คน ลักษณะเหมือนชนเผ่าหรือคนป่า โดยในมือของพวกเขาถืออาวุธจำพวกธนู และไม้บางอย่างอยู่ และถ้าดูจากท่าทางแล้ว เหมือนพวกเขากำลังขู่ หรือทำท่าทางบางอย่างเพื่อขับไล่ผู้มาเยือน คนขวาสุดถึงกับเงื้อธนูขึ้นมาเตรียมที่จะยิงด้วยซ้ำ
1
ภาพด้านบนไม่ได้มาจากฉากของภาพยนตร์นะครับ พวกเขาคือคนจริง ๆ ที่อยู่บนเกาะ North Sentinel เกาะที่ตั้งอยู่ใจกลางทะเลอันดามัน พวกเขาอยู่บนเกาะแห่งนี้มานานมาก โดยที่ไม่ได้มีการติดต่อกับโลกภายนอกเลยแม้แต่น้อย พวกเขายังอยู่แบบมนุษย์ยุคหินที่ยังล่าสัตว์ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือโบราณ พวกเขาไม่รู้จักการเกษตร ไม่รู้จักวิทยาการสมัยใหม่ใดใดทั้งสิ้น จนถึงปัจจุบันนี้
2
คนกลุ่มนี้ตกสำรวจไปได้ยังไง เรื่องราวของพวกเขามีที่มาที่ไปยังไง เคยมีการพยายามติดต่อกับพวกเขาหรือไม่ แล้วปัจจุบันพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ยังไง ไปหาคำตอบเหล่านี้กันครับกับ Kang’s Journal ในวันนี้ North Sentinel : มนุษย์โลกลืมแห่งอันดามัน
1
เกาะนี้อยู่หนใด
ตั้งแต่สมัยเด็กในวิชาภูมิศาสตร์ เรามักจะท่องว่าทางด้านตะวันตกของไทย คือทะเลอันดามัน แต่ที่หลายคนอาจจะลืมนึกไปก็คือ ทะเลอันดามันจริง ๆ แล้วกว้างใหญ่มาก โดยกินพื้นที่ไปไกลถึงประเทศอินเดียเลยทีเดียว
และในทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวเบงกอล เลยออกไปทางตะวันตกของประเทศพม่า ประมาณ 1400 กิโลเมตรทางตะวันออกของประเทศอินเดีย มีหมู่เกาะใหญ่ 2 แห่งด้วยกันคือหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะทั้งสองอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินเดีย โดยหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพอินเดียและมีเมืองหลวงของเกาะชื่อ Port Blair
2
สถานที่ตั้งของหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ใจกลางทะเลอันดามัน (Source: Pinterest)
เกาะ North Sentinel เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งมีระยะห่างจากเมือง Port Blair เพียง 64 กิโลเมตรเท่านั้น ตัวเกาะมีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบไปด้วยชายหาด ส่วนในบริเวณเกาะจะเป็นป่าพรุและป่าดงดิบ ส่วนรอบนอกของตัวเกาะนั้นจะเป็นแนวปะการัง ซึ่งเป็นเสมือนกับปราการธรรมชาติ ที่คอยป้องกันคลื่นลมให้กับเกาะได้เป็นอย่างดี
2
ภาพถ่ายทางอากาศของเกาะ North Sentinel (Source: Altavista)
การพบเจอครั้งแรก
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ชนเผ่า North Sentinel อาศัยอยู่บนเกาะมานานเท่าไรแล้ว แต่จากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาคาดว่า ชนเผ่านี้คือมนุษย์ยุคแรกที่เริ่มเดินทางออกจากทวีปแอฟริกา เพื่อหาดินแดนใหม่ในการอยู่อาศัย และคาดการณ์กันว่าพวกเขาอยู่บนเกาะนี้มากว่า 60,000 ปีแล้ว เรียกได้ว่าพวกเขาคือบรรพบุรุษของพวกเรานี้เอง
1
มีการบันทึกถึงเกาะ North Sentinel เป็นครั้งแรกในปี 1771 ในตอนนั้นเรือของบริษัท East India Company ชื่อว่า Diligent ได้เดินทางมาแถบหมู่เกาะอันดามัน และกัปตันบนเรือได้บันทึกเอาไว้ว่าเห็นแสงไฟบางอย่างบนเกาะ North Sentinel แต่ว่าไม่ได้ลงไปสำรวจแต่อย่างใด
2
เรือ The Diligent ที่กัปตันเรือบันทึกถึงเกาะ North Sentinel เป็นครั้งแรก (Source: blogspot.com)
เวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี ในปี 1867 การพบเจอกับชนเผ่า North Sentinel เกิดขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นการเจอกันแบบตัวต่อตัว ในเดือนตุลาคมปีนั้น เรือขนสินค้าสัญชาติอินเดียที่มีชื่อว่า Nineveh โดนลมพายุพัดไปเกยติดอยู่กับแนวปะการังรอบเกาะ ผู้โดยสาร 86 คน และลูกเรืออีก 20 คนตัดสินใจลงจากเรือ เพื่อขึ้นไปรอความช่วยเหลือบนเกาะ พวกเขาพยายามหาน้ำและอาหาร พร้อมสร้างที่พักง่าย ๆ เพื่อประทังชีวิต ส่วนกัปตันเรือตัดสินใจขึ้นเรือชูชีพเพื่อไปตามความช่วยเหลือ
1
แต่เมื่อเข้าสู่เช้าวันที่ 3 จู่ ๆ ก็มีชนเผ่ากลุ่มหนึ่งโผล่ออกมาจากป่าดงดิบ พวกเขาไม่สวมใส่เสื้อผ้า มีผมหยิกสั้น ทาตัวสีแดง และทุกคนถือหอกที่ปลายทำด้วยโลหะ พร้อมที่จะโจมตีคนแปลกหน้าที่บังอาจบุกขึ้นมายังเกาะของพวกเขา
2
เรือ Nineveh ที่เกิดมาเกยตื้นที่แนวปะการังรอบเกาะ North Sentinel ทำให้เกิดการพบกันระหว่างชนเผ่าและ "คนนอก" เป็นครั้งแรก (Source: wrecksite.eu)
คนบนเรือต่างพากันใช้ไม้และหิน มาเป็นอาวุธชั่วคราวเพื่อป้องกันตัวเอง หลังจากการต่อสู้กัน ชนเผ่าก็ถอยร่นกลับเข้าไปในป่า และไม่เคยโผล่ออกมาให้เห็นอีกเลย และหลังจากนั้นไม่นานก็มีเรือมาช่วยเหลือผู้รอดชึวิต และนี่เองเป็นครั้งแรกที่ "คนนอก" ได้มีโอกาสพบเจอกับชนเผ่าโลกลืมชนเผ่านี้
2
มีการบันทึกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเป็นทางการในปี 1867 โดยนายทหารเรือชื่อ Jeremiah Homfray ที่เดินทางเข้าไปยังบริเวณรอบเกาะ เขาบันทึกไว้ว่าเขาพบคนป่ากลุ่มหนึ่งกำลังจับปลาบริเวณชายหาดด้วยหอกและธนูโบราณ ชาวเกาะอันดามันพิ้นเมืองจากเผ่า Onge ที่อยู่บนเรือของเขาบอกว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเล่าว่าเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งแร่เหล็กที่สามารถนำมาใช้ทำอาวุธได้
6
Jeremiah Homfray กับเด็กชาวอันดามัน 7 คน (Source: bl.uk)
ลักพาตัว
และแล้วในปี 1880 ความพยายามที่จะติดต่อกับชนเผ่าบนเกาะอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้น โดยมีผู้รับผิดชอบภารกิจคือ Maurice Vidal Portman ตัวแทนของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่มีหน้าที่ปกครองดินแดนบริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เขานำทีมทหารและชนเผ่าพื้นเมืองจากเกาะอื่น ๆ เดินทางไปยังเกาะ North Sentinel เพื่อตามหาชนเผ่าโลกลืมที่มีแต่คนกล่าวถึง
4
Maurice Vidal Portman ผู้นำคณะสำรวจเพื่อติดต่อกับชาวเผ่า North Sentinel อย่างเป็นทางการคนแรก (Source: Wikipedia)
เมื่อเดินทางไปถึง เขาพบว่าคนบนเกาะต่างหนีและแฝงตัวขึ้นไปหลบบนต้นไม้ และถอยกลับเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว และหลังจากใช้ความพยายามตามหาอยู่หลายวัน พวกเขาค้นพบกระท่อมและทางเดินที่ถูกทิ้งร้าง และสามารถจับคนได้ 6 คน เป็นชายชรา 1 คน ผู้หญิง 1 คน และเด็กอีก 4 คน
1
แต่สิ่งที่ Portman ลืมนึกถึง (หรืออาจจะนึกถึงแต่ไม่ใส่ใจ) ก็คือ ชนเผ่า North Sentinel นั้นถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมานานมาก ภูมิคุ้มกันของพวกเขาไม่สามารถต้านทานโรคที่นำเข้ามาโดยชาวยุโรปได้เลย โรคหวัดธรรมดา ๆ ก็อาจจะทำให้พวกเขาเสียชีวิตได้ อย่างที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อชาวยุโรปนำไข้ฝีดาษเข้าไปสู่ทวีปอเมริกา และออสเตรเลีย ทำให้ชนพื้นเมืองต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
4
ภาพถ่ายของชนเผ่าในหมู่เกาะอันดามันโดย Portman (Source: https://maddyworks.com)
และแน่นอน เมื่อชนเผ่าทั้ง 6 ถูกนำตัวมายังเมือง Port Blair ที่มีคนมากมาย ชายชรา และหญิงคนนั้นก็ป่วยและเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เด็กทั้ง 4 คนก็เริ่มมีอาการป่วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น Portman จึงรีบนำตัวเด็กทั้ง 4 กลับไปปล่อยทิ้งไว้ที่เกาะ North Sentinel ตามเดิม พร้อมกับของขวัญมากมายเพื่อแสดงมิตรไมตรีอันดี
2
เขาได้มีโอกาสไปเยือนเกาะแห่งนี้อีก 3 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1887 แต่ก็ไม่ได้มีการบันทึกอะไรไว้ถึงการเยือนมากนัก นอกจากการบรรยายชนเผ่า North Sentinel ว่า “พวกเขาเหมือนกับเด็กนักเรียนที่มาจากชนชั้นล่างในชนบทของอังกฤษ และมักจะแสดงสีหน้าท่าทางที่ดูโง่เง่าเซ่อซ่า”
5
ว่ากันว่าการที่ Portman ไปลักพาตัวชนเผ่าทั้ง 6 คนไป และยังไปทำให้ 2 คนเสียชีวิต ในขณะที่เด็กอีก 4 คนป่วยกลับมา น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชนเผ่า North Sentinel ยิ่งวางตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อ "คนนอก" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
3
ภาพถ่ายของชนเผ่าอื่น ๆ ในหมู่เกาะอันดามันโดย Portman (Source: https://maddyworks.com)
ต่อมาในปี 1896 มีนักโทษ 3 คน หลบหนีจากคุกบนเกาะ Great Andaman โดยพวกเขาได้ต่อแพและตัดสินใจหนีจากเกาะ และคลื่นลมก็ได้พาพวกเขาลอยมาขึ้นฝั่งที่เกาะ North Sentinel แต่นักโทษ 2 ใน 3 คนเสียชีวิตจากการจมน้ำ
2
ทีมตำรวจได้รีบออกตามล่านักโทษเหล่านั้นทันที แต่ผลปรากฏว่าเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงเกาะ พวกเขาก็ได้พบกับร่างไร้วิญญาณของนักโทษคนนั้น ที่ทั่วบริเวณร่างกายมีร่องรอยโดนธนูยิง และโดนปาดคออย่างเหี้ยมโหด แต่บรรดาตำรวจไม่พบใครบนเกาะแห่งนั้นเลย
4
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็มีการมาเยือนเกาะแห่งนี้อีกหลายครั้ง ทั้งมาตามหานักโทษ หรือมาสำรวจชนเผ่าปริศนากลุ่มนี้ แต่ทุกครั้งที่เข้าใกล้ ชนเผ่าบนเกาะก็มักจะหลบหนีเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่อังกฤษคนหนึ่งบรรยายชนเผ่า North Sentinel ไว้ว่า “เป็นชนเผ่าที่จะฆ่าคนแปลกหน้าทุกคนที่ย่างกรายขึ้นไปบนเกาะ แต่พวกเขาไม่ใช่ชนเผ่าที่ดุร้าย พวกเขาอาจจะเป็นชนเผ่าของหมู่เกาะอันดามันชนเผ่าหนึ่ง หรืออาจจะเป็นชนเผ่าที่เป็นเอกเทศของตนเองเลยก็ได้”
8
ชนเผ่า Onge หนึ่งในชนเผ่าอันดามันที่มีลักษณะรูปร่าง และการใช้ชีวิตใกล้เคียงกับชนเผ่า North Sentinel มาก (Source: Wikiwand)
ในปี 1911 และ 1932 มีความพยายามที่จะนับจำนวนประชากรบนเกาะ North Sentinel เพื่อเก็บเป็นสถิติ จากบันทึกของเจ้าหน้าที่นั้น เขาสามารถนับชายได้ 8 คนบริเวณชายฝั่งตอนที่เรือเข้าไปใกล้ และอีก 5 คนบนเรือแคนู (ซึ่งหมายความว่าชนเผ่านี้ สามารถต่อเรือแคนูแบบง่าย ๆ ได้)
2
นอกจากนี้คณะสำรวจยังสามารถเดินเท้าเข้าไปในเกาะได้ประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยพวกเขาได้พบกับกระท่อมที่มีหลังคาลาดเอียงที่ถูกทิ้งร้างไว้ และไม่ได้พบกับชาวเกาะคนใดเลย
1
ใครคือชนเผ่า North Sentinel
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการพบปะกับชนเผ่าปริศนาเผ่านี้ก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราช และกลายมาเป็นผู้ปกครองเกาะแห่งนี้ ก่อนที่จะพูดถึงการพบปะครั้งอื่น ๆ ลองมาทำความรู้จักกับพวกเขากันอีกซักนิด
จากข้อมูลเบื้องต้น ชนเผ่า North Sentinel มีความสูงประมาณ 160-165 เซนติเมตร ผิวดำเป็นเงามัน รูปร่างสันทัด พวกเขาถือเป็นตัวอย่างที่ดีของภาวะแคระจาก Island Effect คืออาหารและการใช้ชีวิตของชาวเกาะนั้น ทำให้ความสูงของชาวเกาะที่อาศัยอยู่มานานมีความสูงที่น้อยกว่าคนทั่วไปที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง
5
ภาพภ่ายของชนเผ่า North Sentinel (Source: postjung)
ชนเผ่า North Sentinel ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเป็นนักล่าและนักเก็บของป่า (Hunter-Gatherer) ลักษณะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับมนุษย์ยุค Pre-Neolithic หรือยุคก่อนยุคหินใหม่ มีการใช้ธนูและหอกในการล่าสัตว์เป็นหลัก รวมถึงการจับสัตว์น้ำจำพวกหอยและปูมาเป็นอาหาร เนื่องจากมีการค้นพบซากหอยมากมายตามบริเวณกระท่อมที่พักอาศัย และไม่พบหลักฐานการทำการเกษตรแต่อย่างใด
4
จริง ๆ แล้วในบริเวณหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์มีชนเผ่าหลายชนเผ่าด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่ามีเพียงชนเผ่า North Sentinel เท่านั้นที่ “ตกสำรวจ” และไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกเหมือนกับชนเผ่าอื่น ๆ ชนเผ่าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชนเผ่า North Sentinel มากที่สุด เห็นจะเป็นชนเผ่า Onge โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสร้างเรือแคนู เพราะมีเพียงสองชนเผ่านี้เท่านั้นที่สามารถสร้างเรือแคนูได้ แต่อย่างไรก็ตามชนเผ่า North Sentinel กลับมีการวาดลวดลายบนธนู และนอนบนพื้นเหมือนกับชนเผ่า Jarawa (เพราะชนเผ่า Onge จะนอนบนพื้นยกสูง)
2
ชนเผ่า North Sentinel รู้จักการสร้่างเรือแคนูแล้ว แต่เป็นเรือที่ใช้ไม้ค้ำถ่อแทยใบพาย (Source: Alarmy Stock Photo)
บ้านเรือนของชนเผ่า North Sentinel จะมีสี่เสา มุงด้วยใบไม้จำพวกปาล์ม พวกเขามีความรู้เรื่องโลหะ และมีการนำโลหะมาทำอาวุธ และตามเรื่องเล่าของชนเผ่า Onge ชนเผ่าบนเกาะ North Sentinel เป็นมนุษย์กินคน นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากเข้ามาติดต่อกับชนเผ่านี้ จนในที่สุดพวกเขาก็กลายเป็นชนเผ่าที่ถูกลืม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าปรำปราของชนพื้นเมืองแถบนั้น
4
ส่วนเครื่องแต่งกายนั้น ชนเผ่าส่วนใหญ่จะไม่สวมใส่อะไรเลย นอกจากเครื่องประดับประเภทสร้อยคอ หรือเครื่องประดับหัวเท่านั้น และมีการบันทึกไว้ว่าหญิงชาว North Sentinel บางคนมีการเต้นโดยการนำฝ่ามือตบที่ต้นขาและกระโดดไปมา
1
ส่วนภาษาของชนเผ่า North Sentinel นั้นไม่สามารถถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ใดใดได้เลย เนื่องจากว่าตัวชาวเกาะถูกแยกออกจากโลกภายนอกมาเป็นเวลานาน มีความพยายามที่จะให้ชาว Onge หรือชาว Jarawa จากเกาะอื่น ๆ มาสื่อสารกับชาว North Sentinel แต่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้
5
ชนเผ่า North Sentinel มีความสามารถในการสร้างอาวุธประเภทธนูที่มีหัวทำจากโลหะ (Source: nationalgeographic)
ภายใต้อินเดีย
หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย รวมถึงเกาะ North Sentinel ด้วย แต่อินเดียก็กำลังก่อร่างสร้างตัว และเผชิญปัญหาภายในประเทศมากมาย ทำให้ชนเผ่า North Sentinel ถูกลืมไปจนกระทั่งปี 1967
ในปีนั้นนักมานุษยวิทยาชาวอินเดียนามว่า T.N. Pandit นำทีมสำรวจ 20 ชีวิตเดินทางมายังเกาะ North Sentinel โดยมีจุดประสงค์คือเพื่อมาสำรวจ และสานสัมพันธ์กับชนเผ่าบนเกาะ โดยการเดินทางครั้งนี้ถือเป็นการเยือนเกาะโดยนักมานุษยวิทยาที่มีความรู้เรื่องชนเผ่าต่าง ๆ และวิวัฒนาการมนุษย์เป็นอย่างดีเป็นครั้งแรก
Triloknath Pandit นักมานุษยวิทยาชาวอินเดียคนแรกที่มีโอกาสเดินทางไปเยือนชนเผ่า North Sentinel (Source: https://indianexpress.com)
เมื่อเรือเข้าไปใกล้เกาะ Pandit ยกกล้องส่องทางไกลของเขาขึ้น และเห็นชนเผ่า North Sentinel กลุ่มหนึ่งอยู่บริเวณชายหาด ซึ่งค่อย ๆ ล่าถอยเข้าไปในป่า เมื่อเรือของคณะสำรวจเดินทางเข้าไปใกล้เกาะ
1
เมื่อถึงฝั่งทีมสำรวจสะกดรอยตามรอยเท้าที่ชาวเกาะทิ้งเอาไว้ และไปพบเข้ากับกลุ่มกระท่อมกลุ่มหนึ่ง ลึกเข้าไปในป่าประมาณ 1 กิโลเมตร
1
กลุ่มกระท่อมนี้ประกอบไปด้วยกระท่อม 18 หลัง และเมื่อสำรวจดู Pandit และคณะพบว่า เพิ่งมีคนมาอาศัยอยู่เมื่อไม่นานมานี้ เพราะยังมีกองไฟที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ใกล้ ๆ กับกระท่อมหลังหนึ่ง นอกจากนี้พวกเขายังพบน้ำผึ้งป่า กระดูกของหมู ผลไม้ รวมไปถึงอาวุธประเภทหอก ธนู ตลอดจนตะกร้าสานจากหวาย แหจับปลา กระติกน้ำไม้ไผ่ และหลักฐานที่ว่าพวกเขารู้จักการใช้โลหะแล้วอีกด้วย
4
หอกและธนูของชนเผ่า North Sentinel (Source: https://sentinelese.weebly.com)
สุดท้ายแล้ว Pandit และคณะ ก็ไม่มีโอกาสได้พบกับชนเผ่าตัวเป็น ๆ พวกเขาทิ้งของขวัญเจริญสัมพันธไมตรีทิ้งไว้ แล้วเดินทางออกจากเกาะไป
2
คณะของ Pandit เดินทางกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น และปรากฏว่าเรือเล็กของพวกเขาเกิดไปเกยตื้นตรงบริเวณแนวปะการังใกล้ชายฝั่ง สมาชิกของคณะคนหนึ่งเล่าว่าอยู่ ๆ บรรดาชนเผ่าก็ค่อย ๆ ออกมาจากป่า หลายคนเริ่มส่งเสียงและเล็งธนูมาที่พวกเขา
1
ทางคณะพยายามมอบปลา และของขวัญอื่น ๆ ให้กับพวกเขา แต่ก็ไม่เป็นผล บรรดาชาวเกาะค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาใกล้กับคณะมากขึ้นเรื่อย ๆ ดูเหมือนว่าชะตาของพวกเขาอาจจะขาดลงในวันนี้ซะแล้ว
ชนเผ่า North Sentinel ที่มักจะมีท่าทางไม่เป็นมิตรต่อ "คนนอก" (Source: https://ruarrijoseph.com)
ทันใดนั่นเองจู่ ๆ มีเหล่าบรรดาชนเผ่าผู้หญิงเดินออกมาจากป่า พวกเขาจับคู่กัน และค่อย ๆ กระทำบางอย่างที่มีลักษณะเหมือนกับการเต้นรำ จากนั้นทุกคนดูจะสงบลง และพวกเขาก็ค่อย ๆ ล่าถอยกลับเข้าไปในป่าตามเดิม จนถึงปัจจุบันนักมานุษยวิทยาก็ยังไม่สามารถหาคำอธิบายถึงการกระทำในครั้งนี้ได้
2
อย่างไรก็ตามรัฐบาลของอินเดียทราบดีกว่า ถ้าหากปล่อยชนเผ่า North Sentinel เอาไว้ให้อยู่โดดเดี่ยว และไม่มีใครคุ้มครอง เกาะแห่งนี้อาจจะกลายมาเป็นที่พักของเหล่าบรรดาโจรสลัด หรือเรือสินค้าที่ขนส่งของผิดกฎหมายอย่างแน่นอน นอกจากนี้อาจจะมีผู้ไม่หวังดีที่จะเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า ทำลายแนวปะการัง หรืออาจจะมีคณะที่พยายามจะเข้าไปศึกษาชนเผ่าโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็จะทำให้ชนเผ่าอาจจะต้องสูญพันธุ์ในที่สุด
2
ดังนั้นในปี 1970 ทางรัฐบาลจึงส่งทีมสำรวจเดินทางไปยังเกาะอีกครั้ง พร้อมกับนำแผ่นหินที่บอกว่า เกาะ North Sentinel เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียไปตั้งเอาไว้
ชนเผ่า North Sentinel บางคนจะมีเครื่องประดับบนหัวด้วย (Source: https://www.survivalinternational.org/tribes/sentinelese)
ในช่วงต้นปี 1974 Pandit ได้นำคณะถ่ายทำสารคดีของ National Geographic พร้อมตำรวจคุ้มกัน กลับไปยังเกาะ North Sentinel อีกครั้ง เป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้ก็เพื่อถ่ายทำสารคดีเรื่อง “Man in search of a man : มนุษย์ที่ตามหาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง” และเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวเกาะอีกครั้ง โดยมีแผนการคือ ทางคณะเดินทางจะใช้เวลา 3 วันในการพยายามติดต่อกับสมาชิกของชนเผ่าให้ได้
2
ตอนที่เรือเล็กของคณะเริ่มที่จะเดินทางเข้าใกล้ฝั่ง ปกติแล้วชนเผ่า North Sentinel น่าจะล่าถอยกลับเข้าไปในป่า แต่ปรากฏว่าครั้งนี้ พวกเขากลับเดินออกมาจากป่า และต้อนรับผู้มาเยือนใหม่ด้วยธนูห่าใหญ่ที่ยิงออกมาจากชายฝั่ง ทำเอาคณะเดินทางต้องรีบกันหัวเรือหลบไปอีกทาง เพื่อไปขึ้นฝั่งในบริเวณที่ปลอดภัย
2
ชนเผ่า North Sentinel มีความสามารถในการปีนป่ายต้นไม้ ภาพนี้คือหนี่งในภาพที่ได้มาจากการสำรวจของ National Geographic ในปี 1974 (Source: nationalgeographic)
พวกเขาตัดสินใจทิ้งของขวัญเอาไว้ให้ ซึ่งประกอบด้วยรถของเล่นพลาสติก (ซึ่งชาวเกาะต้องงงแน่ๆ ว่าคืออะไรกัน) ตุ๊กตา (ซึ่งชาวเกาะก็ต้องงงอีกแน่ ๆ ) รวมไปถึงหมูเป็น ๆ มะพร้าว และอุปกรณ์ทำอาหารที่ทำมาจากอลูมิเนี่ยม
7
แต่เมื่อชนเผ่าตามมาถึงที่ที่คณะสำรวจจอดเรือ พวกเขาก็ยิงธนูใส่คณะสำรวจอีกครั้ง และครั้งนี้ธนูดอกหนึ่งได้ปักลงไปที่ต้นขาของผู้กำกับสารคดีพอดี ว่ากันว่าชายที่ยิงธนูผู้นั้นหัวเราะเสียงดังลั่น ก่อนที่จะรีบหนีกลับเข้าไปในป่า และเมื่อเรือของคณะสำรวจล่าถอยออกไป พวกเขาฝังตุ๊กตา และรถของเล่นไว้ใต้ทราย ในขณะที่เลือกที่จะนำอุปกรณ์ทำอาหาร หมู และมะพร้าวติดตัวกลับไป และจากการสำรวจในครั้งนี้นี่เอง ทำให้ชาวโลกได้มีโอกาสเห็นชนเผ่า North Sentinel ชนเผ่าโลกลืมแห่งอันดามัน ผ่านทางภาพถ่ายเป็นครั้งแรกของโลก
6
หนี่งในภาพที่โด่งดังของชนเผ่า North Sentinel ที่ได้มาจากการสำรวจของคณะ National Geographic ในปี 1974 (Source: nationalgeographic)
ในช่วงปี 1970-1989 มีการพยายามเดินทางไปยังเกาะ North Sentinel อีกหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่ก็เพื่อสำรวจชนเผ่า และเพื่อจะเจริญสัมพันธไมตรี และทุกครั้ง Pandit ผู้หลงใหลในชนเผ่า ๆ นี้ก็จะเดินทางไปด้วยทุกครั้ง
3
จากการเยือนเกาะหลายครั้งในช่วง 20 ปีนี้พบว่าบางครั้งชนเผ่าก็เป็นมิตรกับผู้มาเยือน บางทีพวกเขาก็โบกมือให้กับเรือของคณะสำรวจ แต่บางทีก็กลับโจมตีด้วยหอกและลูกธนูอย่างโหดร้าย บางทีพวกเขาก็รีบออกมาจากป่า เพื่อเอาของขวัญที่คณะสำรวจทิ้งไว้ให้ แล้วโจมตีพวกเขาด้วยลูกธนูแทน มีการบันทึกว่าผู้ชายบางคนแกว่งอวัยวะเพศไปมาด้วยซ้ำ ซึ่งน่าจะเป็นการพยายามแสดงความเป็นเจ้าของของสถานที่อย่างหนึ่ง
4
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ Pandit พยายามนำคนของเผ่า Onge ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณจากเกาะอันดามันเช่นกัน เพื่อไปสื่อสารกับชนเผ่าบนเกาะ แต่ปรากฏว่าทั้งสองไม่สามารถสื่อสารกันได้เลย และชนเผ่า North Sentinel ยังแสดงอาการโกรธและไม่พอดีชาว Onge คนนั้นอีกต่างหาก
3
ชนเผ่า North Sentinel (Source: http://cyberspaceandtime.com)
ครั้งแรกกับการสัมผัสโลกภายนอก
ในปี 1981 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อเรือขนสินค้าที่มีชื่อว่า MV Primrose ที่กำลังเดินทางจากบังคลาเทศไปยังออสเตรเลีย เกิดโดนพายุพัดมาติดแนวปะการัง ระยะทางเพียง 90 เมตรห่างจากชายฝั่งของเกาะ North Sentinel
เรือ MV Primrose ที่ไปเกยตื้นติดแนวปะการัง นอกเกาะ North Sentinel (Source: thesun.co.uk)
อย่างไรก็ตามสองสามวันผ่านไป กัปตันเรือได้ส่งสัญญาณของความช่วยเหลือเร่งด่วนไปยังตำรวจน้ำของอินเดีย เนื่องจากพวกเขาพบว่าชนเผ่า North Sentinel บนเกาะกว่า 50 คน พร้อมอาวุธครบมือ กำลังจะลงเรือแคนู เพื่อเดินทางมายังเรือของพวกเขาแล้ว แต่เคราะห์ดีที่คลื่นลมที่รุนแรง ทำให้ธนูที่พวกเขายิงใส่เรือนั่นมาไม่ถึงตัวเรือ และเรือแคนูก็ไม่สามารถฝ่าคลื่นที่แสนรุนแรงออกมายังแนวปะการังได้
3
ในที่สุดกว่า 1 สัปดาห์ผ่านไป ลูกเรือของ MV Primrose ก็ได้รับการช่วยเหลือออกไปโดยเฮลิคอปเตอร์ ส่วนซากของเรือนั้นก็ถูกชนเผ่า North Sentinel บุกขึ้นมาทันที เพื่อที่จะพยายามนำโลหะต่าง ๆ กลับไปทำเป็นอาวุธ ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าตอนนั้นสมาชิกของชนเผ่าคงจะตื่นตาตื่นใจน่าดูที่อยู่ ๆ ก็มีกองโลหะขนาดมหึมามาอยู่ตรงหน้าของพวกเขา
2
ลูกเรือของเรือ MV Primrose (Source: thesun.co.uk)
ต่อมาทางรัฐบาลอินเดียได้จ้างบริษัท M.A.Mohammad เพื่อให้มาทำลายซากเรือนี้ซะ โดยเจ้าหน้าที่ที่มาทำลายซากเรือนั้นกล่าวว่าชนเผ่าดูเป็นมิตรดี โดยที่พวกเขาพยายามนำผลไม้และเศษเหล็กต่าง ๆ ให้กับชนเผ่า North Sentinel ที่มักจะพายเรือแคนูมาหาพวกเขาบ่อย ๆ ตอนที่น้ำลงและคลื่นลมสงบ
2
ตลอด 18 เดือนที่เจ้าหน้าที่ทำลายซากเรือ พวกเขากล่าวว่าชนเผ่า North Sentinel จะมาเยี่ยมเยือนพวกเขาประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือนเลยทีเดียว แต่แม้จะมีความสัมพันธ์กัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็รักษาระยะห่างกันและไม่มีการสัมผัสตัวกันแต่อย่างใด
เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให่ชนเผ่า North Sentinel เริ่มที่จะมีความคิดที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับ “คนนอก” เพราะตลอด 18 เดือนที่ “คนนอก” ทำงานอยู่ที่เรือมหึมาลำนั้น ก็ไม่ได้มีการบันทึกว่าเกิดการทะเลาะวิวาทหรือโจมตีแต่อย่างใด บางที “คนนอก” ก็อาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดก็เป็นได้
3
ซากของเรือ MV Primrose ที่ยังคงอยู่ที่เกาะ North Sentinel จนถึงปัจจุบันนี้ (Source: sinkingworlds.com)
มิตรภาพ
ในปี 1991 เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกถึงการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นมิตรอย่างเป็นทางการระหว่างชนเผ่า และ "คนนอก" โดยการสำรวจในครั้งนี้ประกอบไปด้วยคณะสำรวจจากหลากหลายองค์กรของรัฐบาลและนักมานุษยวิทยาหลายคน
1
ในวันที่ 4 มกราคม 1991 อีกวันที่ประวัติศาสตร์โลกมานุษยวิทยาต้องจารึกไว้ เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชนเผ่า North Sentinel เข้ามาหาคณะสำรวจโดยปราศจากอาวุธ พวกเขาค่อย ๆ เดินเข้ามาหาคณะสำรวจเพื่อรับมะพร้าวที่ถูกโยนลงไปลอยในน้ำทะเล แต่หลังจากได้ของไปแล้ว พวกเขาก็รีบถอยกลับขึ้นฝั่งไปทันที แม้จะมีความพยายามให้การเชิญชวนให้พวกเขาเดินทางเข้ามาใกล้มากขึ้นก็ตาม
2
ถ้าใครอยากดูวีดีโอที่มีการบันทึกภาพของพวกเขาเอาไว้ สามารถดูได้ที่นี่นะครับ
ภาพของชนเผ่า North Sentinel ที่มาเก็บมะพร้าวที่คณะสำรวจโยนลงไปในทะเล (Source: dailymail.co.uk)
บ่ายวันเดียวกัน เรือของคณะสำรวจกลับไปยังเกาะอีกครั้ง ครั้งนี้ที่บริเวณชายฝั่งมีกลุ่มชนเผ่าประมาณ 12 คนออกมายืนรอคณะสำรวจอยู่ ทันใดนั้นชายหนึ่งคนในนั้นยกธนูขึ้น และเล็งมาที่คณะ ในท่าทางพร้อมโจมตี ท่าทางการต้อนรับอย่างเป็นมิตรเมื่อตอนเช้าที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นซะแล้ว
2
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงคนหนึ่งของชนเผ่าค่อย ๆ ยื่นมือออกมา แล้วค่อย ๆ กดคันธนูที่กำลังเงื้อมาที่คณะสำรวจลง สุดท้ายชายคนนั้นก็ยอมลดธนูลง และชนเผ่า North Sentinel ก็ค่อย ๆ เดินเข้ามาหาเรือของคณะเดินทาง นี่คือครั้งแรกที่ชนเผ่ายอมที่เข้ามาใกล้ชิดกับ “คนนอก” มากขนาดนี้ มากจนกระทั่งหัวหน้าของคณะสำรวจสามารถมอบถุงใส่มะพร้าวให้กับชนเผ่าได้แบบมือต่อมือเลยทีเดียว
ภาพอันโด่งดัง ที่ในที่สุด "คนนอก" ก็สามารถติดต่อกับชนเผ่า North Sentinel อย่างใกล้ชิดได้แล้ว (Source: indiaexpress.com)
มาถึงตอนนี้มีการบันทึกโดยสมาชิกของคณะสำรวจว่าทุกคนอยากจะเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับชนเผ่า North Sentinel นี้ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างในหน้าของประวัติของมวลมุษยชาติ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีการบันทึกอย่างจริงจังว่าใครคือคนแรกที่ได้มีโอกาสสัมผัสพวกเขา แต่ที่แน่ ๆ คือหลายคนได้มีโอกาสสัมผัสตัวของพวกเขาแล้ว
1
Pandit ผู้หลงใหลในชนเผ่า North Sentinel ได้มีโอกาสเดินทางกลับมายังเกาะอีกครั้ง กับการสำรวจครั้งที่สอง ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน คราวนี้ชนเผ่า North Sentinel กระโดดขึ้นมาบนเรือพร้อมกับเอาถุงใส่มะพร้าวลงไปจากเรือเลยทีเดียว แถมยังแสดงความสนใจกับปืนไรเฟิลที่อยู่บนเรืออีกด้วย ซึ่งทุกคนคิดว่าพวกเขาน่าจะอยากได้เพื่อไปเป็นโลหะ ที่ใช้ในการทำอาวุธนั่นเอง
3
"คนนอก" มอบมะพร้าวให้กับชนเผ่า North Sentinel (Source: https://india.mongabay.com)
จากการสำรวจทั้งสองครั้งของนักมานุษยวิทยา รวมถึงข้อมูลที่ได้มาจากเจ้าหน้าที่ที่ไปทำลายซากเรือ Primrose นักประวัติศาสตร์จึงสรุปว่าจริง ๆ แล้วชนเผ่า North Sentinel น่าจะเคยได้พบปะกับชนเผ่าจากเกาะอื่น ๆ ในอันดามันอยู่บ้างในอดีต จึงมีความเข้าใจในเรื่องของการแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน เพราะบนเกาะ North Sentinel ไม่มีต้นมะพร้าว ดังนั้นการที่พวกเขารู้จักมะพร้าวน่าจะแปลว่าพวกเขาเคยมีการแลกเปลี่ยนของกับชนเผ่าอื่นอยู่บ้าง
1
ชนเผ่า North Sentinel ที่เข้ามาบริเวณเรือเพื่อรับมะพร้าวจากคณะสำรวจ (Source: indiatimes.com)
การสำรวจต่อมา
มีคณะสำรวจไปเยือนเกาะแห่งนี้อีกครั้งจนถึงประมาณปี 1994 บางคณะพยายามที่จะปลูกต้นมะพร้าวบนเกาะ เพื่อที่จะให้บรรดาชาวเกาะมีแหล่งอาหารที่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
3
และจากการสำรวจในปี 1991 ที่มีการบันทึกไว้ว่า ชนเผ่า North Sentinel เริ่มที่จะเป็นมิตรกับคนนอกมากขึ้น รัฐบาลอินเดียจึงกลัวว่าข่าวเหล่านี้จะทำให้นักสำรวจจากทั่วโลก หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยว หรือผู้ไม่หวังดีตัดสินใจที่จะเดินทางไปยังเกาะ และไปสร้างความวุ่นวายให้กับชนเผ่า North Sentinel อีก ดังนั้นรูปและวีดีโอทั้งหมด จึงได้รับการลบออกไปจากสื่อสาธารณะ และรัฐบาลอินเดียยังคงมีนโยบายที่ชัดเจนคือ การให้ชนเผ่า North Sentinel นั้นมีชีวิตอยู่อย่างสันโดษอย่างที่เคยเป็นมา และให้มีการติดต่อกับโลกภายนอกน้อยที่สุดนั่นเอง
5
เกาะ North Sentinel ที่ในปี 1991 มีการประกาศตัวเกาะ และอาณาเขตโดยรอบให้เป็นเขตหวงห้าม (Source: https://www.khaosodenglish.com)
ดังนั้นในปี 1991 รัฐบาลอินเดียจึงได้ประกาศเขตหวงห้ามขึ้นรอบบริเวณเกาะ North Sentinel เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าบริเวณนั้นจะเป็นบริเวณที่เรือ เครื่องบิน หรือมนุษย์คนไหน ห้ามผ่านเข้าไปอย่างเด็ดขาดนอกจากจะได้รับอนุญาต
5
เป็นเรื่องแปลกที่หลังปี 1994 คณะสำรวจที่พยายามเข้าไปติดต่อกับชนเผ่านี้ กลับได้รับการต้อนรับที่ไม่สู้ดีนัก ส่วนมากต้องรออยู่นอกชายฝั่งจนกระทั่งบรรดาชาวเกาะเริ่มล่าถอยกลับเข้าไปในป่า หรือถ้าจะให้ของขวัญหรืออาหาร ก็ต้องนำโยนลงไปในทะเล และให้ของเหล่านั้นลอยไปขึ้นฝั่งเอง
1
สึนามิ
ในปี 2004 เกิดเหตุสึนามิขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 200,000 คน ซึ่งผลกระทบของสึนามิก็ลามไปถึงอินเดีย รวมถึงเกาะ North Sentinel ด้วยเช่นกัน
แผ่นดินไหวในครั้งนี้ส่งผลให้พื้นใต้ทะเลบริเวณหมู่เกาะอันดามัน ยกตัวขึ้นกว่า 1.5 เมตร ทำให้เกาะ North Sentinel มีอาณาเขตขยายใหญ่ขึ้น แต่ก็ทำลายแนวปะการังรอบเกาะบางส่วนไปด้วยเช่นกัน รัฐบาลได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปเหนือเกาะเพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของชาวเกาะ ซึ่งคณะสำรวจสามารถนับชนเผ่าได้ทั้งหมด 32 คน กระจายอยู่ทั่วบริเวณเกาะ มิหนำซ้ำพวกเขายังมีทีท่าไม่เป็นมิตรกับเฮลิคอปเตอร์ด้วย โดยหลายคนเล็งธนูมายังเฮลิคอปเตอร์
2
ในการสำรวจเกาะหลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวเกาะมีทีท่าไม่เป็นมิตรกับผู้มาเยือน (Source: atlasandboot.com)
ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่แสดงว่า พวกเขายังสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ได้ตามปกติ และยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี และหลังจากนั้นมีคณะสำรวจเอาเสบียงไปส่งที่เกาะอีกหลายครั้ง
2
อีกครั้งในปี 2014 เกิดไฟป่าขึ้นบนเกาะ North Sentinel ทีมกู้ภัยและนักมานุษยวิทยามีโอกาสเดินทางไปสำรวจประชากรบนเกาะอีกครั้ง และพวกเขาพบว่าจำนวนประชากรของชนเผ่า North Sentinel ยังมีจำนวนมากพอสมควร มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กในจำนวนที่พอเหมาะ ซึ่งนั่นหมายความว่าสังคมของพวกเขา ยังสามารถดำรงอยู่ได้อย่างไม่มีปัญหา และมีการค้นพบด้วยตอนนี้ว่าพวกเขาสามารถดัดแปลงเรือแคนู ให้มีความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถออกมาจับปลาได้ไกลขึ้นจากฝั่ง เนื่องจากแนวปะการังที่โดนทำลายไป
ชนเผ่า North Sentinel เล็งธนูมายังเฮลิคอปเตอร์ (Source: Pinterest)
ชาวประมงโดนฆ่า
แต่แล้วในเดือนมกราคม ปี 2006 มีชาวประมงสองคน เดินทางออกไปจับปูใกล้กับเกาะ North Sentinel ทั้งคู่เผลอเมาหลับ ทำให้เรือของพวกเขาพัดลอยเข้าไปในอาณาเขตหวงห้ามรอบเขตเกาะ North Sentinel ซึ่งความโชคร้ายคือเรือของพวกเขาเกิดไปเกยตื้น ที่บริเวณแนวปะการังรอบเกาะ
ในขณะที่ทั้งสองพยายามดันเรือตัวเองออกจากแนวปะการัง ทันใดนั้นชนเผ่า North Sentinel ก็ออกมาจากที่ซ่อน พร้อมเข้าทำร้ายชาวประมงทั้งสองทันที ทั้งสองถูกทำร้ายด้วยขวานอย่างโหดเหี้ยมและทารุณ และเสียชีวิตในที่สุด มีการบันทึกจากเรือที่ผ่านไปมาแถวนั้นว่าเห็นศพของทั้งสองโดนผูกกับแคร่ไม่ไผ่ ขึงไว้ที่ชายหาดเหมือนกับเป็นหุ่นไล่กา น่าจะเพื่อเป็นเครื่องมือขู่ไม่ให้คนนอกเข้ามาในเกาะของพวกเขาอีก
1
เรือของชาวประมงทั้งสองที่ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ที่เกาะ North Sentinel (Source: https://www.thehindu.com)
หลังจากได้รับการแจ้งข่าว หน่วยรักษาความปลอดภัยตามแนวชายฝั่งของอินเดียจึงรีบส่งเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือชาวประมงทั้งสอง ตามรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่พบศพของทั้งสองที่ถูกฝังอยู่บริเวณชายหาด แต่เมื่อมีความพยายามที่จะลงไปเอาศพนั้น เจ้าหน้าที่และเฮลิคอปเตอร์กลับโดนยิงด้วยธนูและหอกห่าใหญ่ จนกระทั่งทำให้ภารกิจการช่วยเหลือในครั้งนี้ต้องถูกยกเลิกไป
2
จากการวิเคราะห์ของนักมานุษยวิทยา สาเหตุที่ชนเผ่า North Sentinel มีทีท่าโหดร้ายต่อผู้มาเยือนในบางครั้งนั้น น่าจะเป็นเพราะว่า การเยือนเหล่านั้นไม่ได้เป็นภารกิจที่จะสานสัมพันธกับชาวเกาะ พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีของขวัญ หรือของที่ชาวเกาะคิดว่ามีค่าติดตัวไปด้วยนั่นเอง
มิชชันนารีผู้บ้าบิ่น
บันทึกสุดท้ายของชนเผ่า North Sentinel เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2008 เมื่อนักเผยแผ่ศาสนา หรือมิชชันนารีชาวอเมริกันนามว่า John Allen Chau อายุ 26 ปี เดินทางมายังเกาะ North Sentinel โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้กับชาวเกาะ เขาติดสินบนชาวประมงห้าคนให้ช่วยลักลอบนำเขาเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้ จากบันทึกของ Chau เขาเขียนเอาไว้ว่า “ถึงพระผู้เป็นเจ้า ที่นี่คงจะเป็นที่อยู่ของซาตานที่สุดท้ายบนโลกใบนี้ ที่ที่ยังไม่มีใครเคยได้ยินพระนามของพระองค์ ชีวิตอันเป็นอมตะของชนเผ่านี้อยู่ในมือของเรา ผมคิดว่าการแนะนำพระผู้เป็นเจ้าให้กับชนเผ่านี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า อย่าโกรธพวกเขาหรือพระผู้เป็นเจ้าถ้าผมถูกฆ่า และไม่ต้องมาตามหาร่างไร้วิญญาณของผม”
3
John Allen Chau มิชชันนารีที่เดินทางไปยังเกาะ North Sentinel (Source: CNN)
วันที่ 15 พฤศจิกายน Chau เดินทางด้วยเรือลำเล็ก เข้าไปยังชายฝั่งของเกาะ เขาค่อย ๆ พายเรือเข้าไปเรื่อย ๆ จนห่างจากฝั่งประมาณ 500-700 เมตร เริ่มมีชนเผ่า North Sentinel ออกมาจากป่า เพื่อมาดู “คนนอก” ที่มาเยือนพวกเขาอีกครั้ง ชาวประมงเริ่มตะโกนเตือน Chau ไม่ให้เข้าไปใกล้กว่านั้น แต่เขาก็ยังดึงดัน และพยายามติดต่อกับชนเผ่า โดยการมอบของขวัญ และพูดคุยบางอย่าง แต่สุดท้ายเขาต้องล่าถอยออกมา เมื่อชนเผ่ามีทีท่าว่าจะทำร้ายเขา
Chau พยายามอีกหลายต่อหลายครั้ง และจากบันทึกของเขา เขาบอกว่าชนเผ่าบางทีก็หัวเราะใส่เขา มองเขาด้วยสายตาอยากรู้อยากเห็น หรือบางทีก็พยายามจะทำร้ายเขา เขาพยายามร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าให้พวกเขาฟัง และหลายครั้งพวกเขาก็เงียบ ไม่โต้ตอบอะไร
2
John Allen Chau มิชชันนารีที่เดินทางไปยังเกาะ North Sentinel (Source: Pinterest)
บันทึกสุดท้ายของ Chau กล่าวไว้ว่า เขาพยายามที่จะมอบของขวัญและปลาให้กับชาวเกาะ ตอนที่มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งยิงธนูมาปักลงบนคัมภีร์ไบเบิ้ลที่เขาถือไว้อยู่ตรงบริเวณอกพอดี
1
ในวันสุดท้ายคือ 17 พฤศจิกายน Chau ได้บอกกับชาวประมงว่าให้หันเรือกลับไป โดยให้ทิ้งเขาไว้บนเกาะแห่งนี้ และกลับมารับในวันเวลาที่กำหนด ชาวประมงตัดสินใจทำตามนั้น และเมื่อพวกเขากลับมาตามเวลานัด พวกเขาก็เห็นภาพอันน่าสยดสยอง ทั้งสองกล่าวว่าพวกเขา เห็นชาวเกาะทั้งหลายกำลังลากร่างของ Chau อยู่ตามชายป่า และในวันต่อมา ร่างไร้วิญญาณของ Chau ก็ถูกฝังไว้ที่บริเวณชายหาด
1
บันทึกของ John Allen Chau ตอนที่เดินทางไปยังเกาะ North Sentinel (Source: https://vedaprakash.wordpress.com)
หลังจาก Chau หายตัวไป ก็เกิดการสืบสวนขึ้น จนสุดท้ายมีชาวประมง 7 คนยอมรับสารภาพว่ามีส่วนช่วยในการลักลอบพา Chau ไปยังเกาะ North Sentinel และได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ส่วนร่างของ Chau นั้น หลังจากที่มีการพยายามในการพาร่างของเขากลับมาหลายครั้ง ในที่สุดภารกิจก็ต้องยกเลิกไป เพราะนักมานุษยวิทยาที่อยู่ในคณะช่วยเหลือกล่าวว่าอาจจะเกิดการต่อสู้ระหว่างชนเผ่า กับคณะช่วยเหลือ และความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ประกอบกับรัฐบาลอเมริกันก็ไม่ได้แถลงการณ์ว่าต้องการเอาผิดชนเผ่านี้แต่อย่างใด ดังนั้นร่างของ Chau ก็ยังคงถูกฝังอยู่บนเกาะแห่งนี้มาจนถึงทุกวันนี้
3
ปัจจุบัน
1
ในปัจจุบัน ชนเผ่า North Sentinel ถูกจัดว่าเป็นชนเผ่าประเภท “Voluntary Isolation” หมายถึงพวกเขาเลือกที่จะอยู่โดยปราศจากการติดต่อและความช่วยเหลือจากโลกภายนอกเอง เพราะถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายกับชนเผ่าอื่นจากหมู่เกาะอันดามัน และนิโคบาร์ ชนเผ่านี้ก็ยังไม่เปิดรับโลกภายนอก และแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อคนนอกเสมอมา
ในปี 2018 รัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกเขตหวงห้ามรอบเกาะ North Sentinel เพื่อเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวบริเวณหมู่เกาะอันดามัน ซึ่งเรื่องนี้กลายมาเป็นสิ่งที่เป็นที่ถกเถียงของนักมานุษยวิทยาและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ต่างเห็นตรงกันว่า การประกาศยกเลิกเขตหวงห้ามนี้ อาจจะนำอันตรายมาสู่ชนเผ่า North Sentinel ได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับชนเผ่าอื่น ๆ ในอันดามันมาแล้ว
3
แผนที่ท่องเที่ยวของหมู่เกาะอันดามัน (Source: Wikitravel)
ถ้าจะให้พูดง่าย ๆ คือประชากรของชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ในหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ตอนที่อังกฤษเดินทางมาเยือนนั้น มีประมาณ 5,000 คน ในตอนนี้จำนวนชนพื้นเมืองลดเหลือเพียง 700 คนเท่านั้น ชนเผ่า Onge กลายมาเป็นชนเผ่าที่ 40% ของประชากรเป็นหมัน เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ส่วนชนเผ่า Jarawa ที่ในปัจจุบันเหลือประชากรเพียง 270 คน ถูกบังคับให้อาศัยอยู่รวมกันในอุทยานเล็ก ๆ ที่เปิดเป็นเหมือนสวนสัตว์ให้คนนอกสามารถเข้าไปถ่ายภาพ และ "ให้ของขวัญ" กับพวกเขาได้ หลายคนกลายเป็นคนติดเหล้า อ้วน และสุขภาพเสื่อมโทรม และวัฒนธรรมการล่าสัตว์ต่าง ๆ ของพวกเขาก็ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไป
3
มีการถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ถึงการเปิดให้คนภายนอกเข้าไปรบกวนการอยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมือง เหมือนกับพวกเขาเป็นสวนสัตว์ (Source: https://mananrangbulla.wordpress.com)
บทสรุป
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับเรื่องราวของชนเผ่า North Sentinel ชนเผ่าโลกลืมแห่งอันดามัน เอาจริง ๆ ไม่น่าเชื่อนะครับว่าที่ตั้งของเกาะ North Sentinel จะอยู่ห่างจากประเทศไทยแค่ 1,000 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะที่เราไปเที่ยวไกลกันถึงทวีปยุโรป และอเมริกา หารู้ไม่ว่าไม่ไกลจากประเทศไทย ยังคงมีชนเผ่าที่ตกสำรวจอยู่
ส่วนตัวแล้วชนเผ่า North Sentinel ยังคงกุมความลับหลายอย่างเอาไว้นะครับ ไม่มีข้อมูลถึงจำนวนประชากรที่แน่นอน และเนื่องจากพวกเขายังมีชีวิตอยู่แบบยุคหิน ถ้าเราสามารถศึกษาพวกเขาได้อย่างจริงจัง เราอาจจะสามารถได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ก็เป็นได้
1
ชนเผ่า North Sentinel (Source: Pinterest)
และที่น่าสนใจอีกอย่างคือตำนานที่พวกเขาเล่าขานกัน พวกเขาจะกล่าวถึง "คนนอก" ว่าเป็นใคร มาจากไหน ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ เรือ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ในความคิดของพวกเขาคืออะไร เพราะสำหรับพวกเขาแล้วมันคือส่ิ่งแปลกปลอมที่บุกเข้ามาในถิ่นที่อยู่ที่พวกเขาอยู่มานานแสนนาน
3
แต่คำถามคือ พวกเขาอยากให้ "คนนอก" อย่างพวกเราเข้าไปยุ่มย่ามกับชีวิตของพวกเขาหรือไม่ จากการกระทำของพวกเขาที่มักจะต้อนรับคนนอกด้วยห่าธนู หรือหอก คำตอบก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นบางทีก็น่าจะดีกว่าถ้าชนเผ่า North Sentinel ถูกปล่อยให้อยู่ด้วยตนเองต่อไป เพราะพวกเขาก็สามารถอยู่มาได้แบบนี้เป็นเวลานานถึง 60,000 ปีแล้ว สิ่งที่พวกเราควรทำก็น่าจะมีเพียงให้ความคุ้มครอง หรือให้ความช่วยเหลือตามสมควรเท่านั้น มิเช่นนั้นแล้วชะตากรรมของชนเผ่า North Sentinel อาจจะเหมือนชนเผ่าอื่น ๆ ของอันดามัน หรือแย่กว่านั้น พวกเขาอาจจะหายไปจากโลกเราเลยก็เป็นได้ ไม่ต้องเริ่มจากอะไร
2
ปล. จาก Comment ผมลืมนึกไปเลยว่าชนเผ่า North Sentinel อาจจะเป็นกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มบนโลก ที่ไม่รู้จัก Covid-19 และถ้ามีโรคระบาดที่ร้ายแรงกว่านั้น พวกเขาอาจจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่สามารถมีชีวิตรอดบนโลกก็ได้นะครับ :)
3
บางทีการปล่อยพวกเขาทิ้งไว้เฉย ๆ อาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษาชนเผ่า North Sentinel เอาไว้ (Source: businessinsider)
ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปทุกคนไปท่องโลกประวัติศาสตร์ผ่านทางชีวิต และเหตุการณ์ใดอีก ฝากติดตามกันด้วยนะครับ
Podcast:
- Unsolved: "The Mystery of North Sentinel Island"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา