6 ก.ค. 2021 เวลา 21:14 • ปรัชญา
“รักษาธรรม..ธรรมจะคุ้มครองใจเราไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำ”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๗ กรกฏาคม ๒๕๖๔
ถ้าอยากเป็นคนดี ไม่เป็นคนชั่ว เราจึงควรยอมรับผิด เมื่อทำผิดพลาดไป เพราะเรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังมีกิเลส ยังมีตัณหาอยู่ ในบางเวลาเราอาจจะแพ้อำนาจของกิเลสตัณหา ที่มาสร้างความเย้ายวนกวนใจกับเรา จนกระทั่งต้องทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมไป  แต่เมื่อทำไปแล้ว ถ้ามีจิตสำนึกขึ้นมา ก็ควรแก้ไขเสีย ถ้าไปขโมยของเขามา ก็เอาไปคืนเขาเสีย จะคืนต่อหน้าเขาก็ได้หรือจะคืนลับหลังเขาก็ได้ อย่างน้อยมันก็จะทำให้เรามีความสบายใจขึ้น ที่ได้แก้ไขความผิดนั้น แต่ถ้าไม่แก้ไข กลับไปปกปิด ก็จะติดเป็นนิสัยขึ้นมา ในโอกาสต่อไปเมื่อเกิดมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำใจอีก ก็จะไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้ แต่ถ้าเคยยอมรับผิดมาแล้ว การยอมรับผิดก็จะเป็นบทเรียนสอนเรา จะเป็นเหมือนกับเบรก ที่จะคอยบอกเราว่าอย่าทำเลย ทำไปแล้วจะมีความรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา แล้วก็ต้องกลับมาสารภาพผิดอีก อย่างนี้แหละเป็นวิธีที่ดี ที่ถูกต้อง
ต้องยอมรับความจริงว่าเรายังไม่ใช่เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เรามีโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาดได้ จึงต้องมีสติระมัดระวังอยู่เสมอ พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อน แล้วค่อยทำ เมื่อทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว ก็ยอมรับผิด แล้วเอาการกระทำที่ผิดพลาดนี้มาเป็นบทเรียนสอนตัวเรา เพื่อจะได้ไม่ทำผิดอีก ถ้าจะให้ดีทุกครั้งที่ทำผิด ควรมีการทำโทษตัวเราเองบ้าง ต้องดัดนิสัยบ้าง เช่นวันนี้จะไม่กินข้าวเย็นเป็นต้น เป็นการดัดนิสัย จะได้เข็ดหลาบ ถ้าทำความผิดแล้วไม่มีโทษตามมา ก็จะไม่เข็ดหลาบ แล้วจะทำผิดไปเรื่อยๆ จึงขอให้เราเป็นคนที่มีความจริงใจต่อความดีงามทั้งหลาย และให้เป็นคนที่มีความกลัว ความอายในการกระทำความชั่วทั้งหลาย ขอให้เห็นว่าการกระทำความชั่ว เปรียบเหมือนกับคนที่มีเสื้อผ้าที่สกปรกหรือไม่สวยงามใส่
ธรรมดาเวลาเราออกจากบ้าน เราจะต้องหาเสื้อผ้าที่สะอาดที่สวยงามใส่ เราจะไม่กล้าใส่เสื้อผ้าที่เก่า ที่ขาด ที่สกปรกใส่ไปข้างนอกฉันใด เราควรคำนึงเสมอว่าการกระทำความชั่วทั้งหลาย การกระทำบาปทั้งหลายนั้น เปรียบเหมือนกับใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สกปรก หรือไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์ใส่เลย  เป็นสิ่งที่น่าอับอายขายหน้าแก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก เราจะต้องพยายามหาเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามใส่ คือการประพฤติตนตามกรอบของศีลธรรมที่ดีงามนั่นเอง เวลาจะพูด จะคิด จะทำอะไร ขอให้ถามว่าเป็นศีลเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าเป็นศีลเป็นธรรมก็ทำไปได้เลย เช่นถามว่าเป็นความกตัญญูกตเวทีหรือเปล่า มีสัมมาคารวะหรือไม่ เป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือเปล่า เป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นหรือไม่ เป็นความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาหรือเปล่า ควรจะถามตัวเราเองอยู่เสมอ ทุกครั้งที่จะทำอะไร
เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่งาม เป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็ทำไปได้เลย ไม่ต้องกลัว เพราะว่าผลดีจะตามมา คือจะได้ธรรมที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้ ถึงแม้ทำไปแล้วจะต้องสูญเสียของที่รักที่ชอบไป ก็ไม่ต้องกังวล เพราะของทั้งหลายโดยธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นของๆเรา  ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้ แม้กระทั่งชีวิตของเรา มันก็ไม่ใช่เป็นของๆเรา ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นของๆเรา สักวันหนึ่งก็ต้องคืนธรรมชาติไป ท่านจึงทรงสอนให้เราสละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาธรรม เพราะถ้าเรารักษาธรรมแล้ว ธรรมจะคุ้มครองใจเราไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำ ธรรมนี่แหละเป็นตัวผลักดันให้เราไปสู่ที่สิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่บรมสุข สุขที่ประเสริฐ สุขที่แท้จริง
กำลังใจ ๖, กัณฑ์ที่ ๑๐๘      
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา