Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wasabi
•
ติดตาม
7 ก.ค. 2021 เวลา 01:20 • สุขภาพ
โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบี่ส์ไวรัส (Rabies Virus) มีรูปร่างคล้ายกระสุนปืน เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์แล้วจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมอง ที่สำคัญ เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
โรคพิษสุนัขบ้า
สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
เกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ติดต่อมาสู่คนโดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี เนื่องจากขณะนี้ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย ฉะนั้นการป้องกันโรคจึงสำคัญที่สุด
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคน
หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผลรวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้าแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
2. ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
วิธีปฏิบัติหลังถูกสัตว์กัด
1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ที่บริเวณนั้นหลุดออกจากแผลไปตามน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หรือเชื้อโรคอื่นๆ แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ แทน
2. ต้องจดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งติดตามสืบหาเจ้าของเพื่อซักถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้า ที่มาของสัตว์และสังเกตอาการสัตว์ที่กัด 10 วัน (สุนัขคอกเดียวกัน พันธุ์เดียวกัน สีเดียวกัน ลักษณะคล้ายคลึงกัน อาจจำผิดตัวได้)
3. ไปพบแพทย์เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้
วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
1. นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เจ้าของต้องนำสุนัขไปรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกอายุ 2-5 เดือน และควรฉีด กระตุ้นหลังจากเข็มแรก 1-3 เดือน
2. ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง”
3. ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน
4. ควรทิ้งขยะ เศษอาหาร ในที่ที่มีฝาปิดมิดชิดหรือกำจัดโดยการฝังหรือเผา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งอาหารสุนัขจรจัด
5. เมื่อพบเห็นสุนัข หรือสัตว์ทีมีอาการที่คิดว่าจะเป็นโรคนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ สาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลทราบโดยด่วนเพื่อดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ไปที่อื่น
6. ถ้าพบคนที่ถูกสุนัขกัดควรแนะนำให้รีบล้างแผล ใส่ยา และไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยเร็ว
#สาระจี๊ดจี๊ด
ถึงแม้ว่าจะชื่อโรคพิษสุนัขบ้า ก็ใช่ว่าจะติดมาจากสุนัขอย่างเดียว โรคนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แมว วัว ลิง ชะนี ค้างคาว กระรอก กระต่าย หนู เป็นต้น แต่จะพบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคมาสู่คนบ่อยที่สุด นอกจากโรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปากแล้ว การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้เช่นกัน
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/579
http://r36.ddc.moph.go.th/r36/content/index/1
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/385
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
5 บันทึก
11
3
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุขภาพ โรคภัย การแพทย์
5
11
3
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย