7 ก.ค. 2021 เวลา 01:50 • หนังสือ
ผมรู้จัก “กฤตานนท์” จาก “ธี่หยด แว่วเสียงครวญคลั่ง” นิยายสยองขวัญชื่อแปลกของเขาที่วางขายเมื่อหลายปีก่อน ยอมรับล่ะครับว่าซื้อนิยายเล่มนั้นมาอ่านด้วยสองปัจจัย คือหนึ่ง ผมเป็นคนชอบอ่านเรื่องผี เข้าทำนองกลัวแต่ก็อยากอ่าน และสอง ชื่อของนิยายที่ทำให้เกิดความงุนงงสงสัยว่ามีความหมายว่าอย่างไร อันนำไปสู่การซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อคลายความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง จาก “ธี่หยด แว่วเสียงครวญคลั่ง” กฤตานนท์มี “สมิงเขาขวาง” ที่เรื่องของเสือสมิง และเป็นเรื่องในจักรวาลเดียวกันกับเรื่องก่อนหน้านี้ ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่ถูกนำมาเขียนต่อยอดจากกระทู้เล่าเรื่องผีในเว็บไซต์ pantip ซึ่งกฤตานนท์เล่าว่าเป็นเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของคนในครอบครัว
“แพรสีเลือด” เป็นนิยายเรื่องที่สามของกฤตานนท์ที่ยังคงได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และพัฒนาต่อยอดมาจากกระทู้เรื่องเล่าในเว็บไซต์ pantip เช่นเคย ตัวเรื่องหลักๆ เล่าถึงครอบครัวของไผท อันประกอบไปด้วยตัวเขา เกนนิษฐา ภรรยาของเขา และวินน์ ลูกชาย ที่เดิมเคยมีชีวิตที่สุขสบาย ไผทเป็นคนขยัน และบ้าทำงาน แต่ด้วยวิกฤตทางการเงินทำให้บริษัทที่เขาสร้างมากับมือต้องประสบปัญหาขาดทุนย่อยยับ และเขาจำต้องหาเงินมาจ่ายหนี้สิน แรกทีเดียวไผทตั้งใจจะขายบ้านที่อยู่ ณ ปัจจุบันและขอหยิบยืมเงินจากเพื่อนสนิท ทว่า จู่ๆ โชต พลชีวัน ญาติผู้ใหญ่ของภรรยาก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาและครอบครัวต้องย้ายเข้าไปอยู่อาศัย ขณะบูรณะบ้านเก่าอายุร่วมร้อยปี ที่ชายชราเป็นเจ้าของ และต้องอยู่ที่นั่นจนกว่าจะบูรณะซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อย แม้เงื่อนไขจะไม่น่าวางใจแต่ด้วยสภาวะที่ประสบอยู่ ไผทจึงตกลงรับปาก และครอบครัวของเขาก็ได้พบกับเหตุการณ์ประหลาดตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปถึงบ้านพลชีวัน ไผทพบด้ายสีแดงฝังอยู่ในพื้นบ้าน และเมื่อเขาพยายามดึงมันออกมาจนขาด สิ่งที่เขาพบคือภาพหลอนของหญิงสาวที่มีดวงตาสีแดงวาวโรจน์และผ้าแพรคลุมไหล่สีแดงราวกับเลือด ตกกลางคืน เกนนิษฐาพบวิญญาณร้ายที่ดึงให้หล่อนจมสู่ห้วงแห่งภวังค์ และพบว่าตัวเองเป็นผู้หญิงชื่อลวาด หญิงคนรักของหลวงฉันทวณิช เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เรื่องในอดีตที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำนั้นนำไปสู่โศกนาฏกรรมของความรักที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความริษยา
ผมอ่านงานของกฤตานนท์มาทุกเรื่อง และรู้สึกชื่นชมที่เขาเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่เล่าเรื่องด้วยภาษาที่คมคาย บรรยายเห็นภาพและที่สำคัญคือข้อมูลต่างๆ ครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้เรื่องราวของเขาสมบูรณ์ น่าเชื่อถือ และน่าสนใจ แพรสีเลือดนั้นเป็นนิยายที่โยงใยอยู่สมัยการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีการนำเหตุการณ์ที่เป็นเหตุการณ์จริงในยุคนั้นแทรกสอดเข้ามาในเรื่องได้อย่างสมจริงสมจัง อีกทั้งยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของปมปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องได้อย่างแยบยลอีกด้วย นอกจากเรื่องที่อิงกับเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว การนำความคิดแบบไทยโบราณที่ยังปักอกปักใจเชื่อในเรื่องของคุณไสย น้ำมันพราย คาถามนต์ดำมาสานให้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนั้น กฤตานนท์ก็ทำได้ค่อนข้างดี
หากมองข้ามเรื่องผีที่ถูกหยิบมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเรื่องแล้ว โครงเรื่องหลักของ “แพรสีเลือด” ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผีเท่าไรนัก หากแต่มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากในอดีต และปลดปล่อยพันธนาการความรู้สึกที่เหนี่ยวรั้งตัวเองไว้ ควบคู่ไปกับการเล่าเรื่องมืดดำของความรักที่ระคนไปด้วยความริษยาในจิตใจของคนที่ดึงให้คนๆ นั้นตกต่ำจ่อมจงอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์เกินเยียวยา ซึ่งประเด็นแบบนี้ ไม่ใช่ประเด็นที่แปลกใหม่แต่อย่างใด
สิ่งที่เป็นปัญหาของนิยายเรื่องนี้ และจะว่าไปก็อาจจะต้องนับรวมนิยายสองเรื่องก่อนของกฤตานนท์เข้าไปด้วยก็คือความยักแย่ยักยันระหว่างเรื่องเล่ากับเรื่องแต่ง ซึ่งผมมองว่านี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นของการนำเรื่องเล่า มาขยายความให้กลายเป็นนิยาย เพราะพอมันมีความจริงของเรื่องราวที่ต้องนำมาเสริมมาเพิ่มรายละเอียดเข้าไป แม้มันจะผสมกลมกลืนกันได้ดี แต่สุดท้ายมันไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ มันเหมือนเรื่องเล่าเดิมๆ ที่สุดท้ายเราก็รู้ว่าจะจบอย่างไร ที่ฝรั่งเขาใช้คำว่า cliché นันแหละครับ
มีนักเขียนอีกคนที่ผันตัวเองมาจากนักเล่าเรื่องผีในเว็บไซต์เดียวกันกับกฤตานนท์ นักเขียนคนนั้นใช้นามปากกาว่า “ลอยชาย” ซึ่งนำเรื่องเล่าผีของเขามาแตกหน่อออกช่อและขยายความจนกลายเป็นนิยายขายดีหลายเรื่อง สำหรับผม ผมมองว่าลอยชายเล่าเรื่องผีโดยมี่จุดเน้นที่ความสยองของสิ่งที่เรามองไม่เห็นและขยี้ขายจุดนั้นได้ดีกว่า เมื่ออ่านงานของลอยชายแล้วจึงรู้สึกสยดสยองและกลัว ผิดกับงานของกฤตานนท์ที่จะอ่านแล้วลุ้นไปกับตัวละครหรือเรื่องราวมากกว่าตื่นกลัวแบบเวลาที่เราอ่านเรื่องผีทั่วๆ ไป
อีกประการหนึ่งที่เป็นปัญหาสืบเนื่องกันมาจากปัญหาก่อนหน้านี้คือ เมื่อต้องเสริมเรื่องแต่งเข้าไปอิงกับเรื่องเล่า สิ่งที่เพิ่มเติมก็คือข้อมูล ที่พอจัดเต็มมากเข้า มันทำให้เรื่องเนิบเนือย และจังหวะของเรื่อง โดยเฉพาะช่วงกลางเรื่องค่อนข้างอืดอย่างเห็นได้ชัด เรื่องมาสนุกขึ้นในตอนท้ายที่ขมวดปมและคลายเรื่องไปสู่ตอนจบ ซึ่งที่จริง หากแก้ปัญหาด้วยการเติมฉากผีหลอกให้เว่อวังเข้าไว้ในช่วงกลางเรื่องที่จังหวะเริ่มเนิบนาบแทนที่จะสาละวนให้รายละเอียดของการเมือง และเติมข้อมูลต่างๆ อาจจะทำให้ใจคนอ่านระทึกขึ้นมาได้อีกหน่อย อ่านได้สนุกฉับไวขึ้นอีกนิดก็ได้
และเพราะเหตุนี้นี่เองที่ “แพรสีเลือด” จึงไม่อาจขยับตัวเองให้เป็นเรื่องผีที่สะท้อนมุมมองใหม่ๆ ได้มากนัก เมื่ออ่านจนจบเรื่องแล้ว ก็ยังพบว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเสมอก็คือ “คนน่ากลัวกว่าผี” เหมือนที่นิยายผีหลายๆ เรื่องเลือกที่จะสะท้อนออกมา ความจริงการสะท้อนมุมมองใหม่อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญหรอกครับ แต่มันจะช่วยทำให้นิยายน่าจดจำมากขึ้นต่างหาก ในกรณีนี้ จึงเท่ากับว่า “แพรสีเลือด” ไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ๆ แต่เลือกที่จะตอกย้ำมุมมองเดิมๆ ของเรื่องเล่าผีๆ เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ดี ผมยังชื่นชม และรู้สึกทึ่งความสามารถในการเขียนของ กฤตานนท์ อยู่เช่นเคย ยิ่งเมื่อมองว่าในชีวิตจริงของเขานั้น เขาเป็นเพียงพนักงานกินเงินเดือนคนหนึ่งที่มีความฝัน ความชื่นชอบในเรื่องเล่า และอยากทดลองผันตัวเองมาเป็นนักเขียนบ้าง กฤตานนท์เป็นตัวแทนของนักเขียนรุ่นใหม่ที่ยืนยันให้เห็นว่าการทำตามความฝันไม่เคยทำร้ายใคร นอกจากมันจะทำให้ตัวเองมีความสุขแล้ว มันยังทำให้คนที่ได้อ่านมีความสุขไปด้วย
…จริงไหมครับ?
#แพรสีเลือด #กฤตานนท์ #ReadingRoom
โฆษณา