Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจาะลึกแท็กติกฟุตบอล
•
ติดตาม
7 ก.ค. 2021 เวลา 07:00 • กีฬา
🦁 เกมเพรสซิ่งที่ช่วยอังกฤษคว้าชัย และพวกเขาอาจยกระดับให้เข้มข้นขึ้นไปอีก
อังกฤษเจอกับงานที่สบายมาก ๆ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ยูโร 2020 ด้วยชัยชนะ 4-0 เหนือยูเครน พวกเขาเหนือกว่าเกือบทุกด้าน และปิดเกมไปเรียบร้อยตั้งแต่ยังเหลือเวลาแข่งขันอีกครึ่งชั่วโมง
ว่ากันว่าสิ่งที่สร้างความแตกต่างมากที่สุดระหว่างทั้ง 2 ทีมก็คือการบีบกดดันเกม
การบีบกดดันเกม (หรือเพรสซิ่ง) ไม่ได้เป็นแนวทางหลักในการเล่นของอังกฤษตลอด 4 เกมที่ผ่านมาในทัวร์นาเม้นต์ครั้งนี้ บางทีอาจเป็นเพราะต้องคำนึงเรื่องสภาพความฟิตของนักเตะด้วย หากว่าพวกเขาต้องมาวิ่งไล่บี้ตลอด 90 นาทีในทุก ๆ เกม ถึงตอนนี้ก็คงล้ากันไปหมด แต่เมื่อถึงคราวต้องทำจริง ๆ อังกฤษก็สดพอที่จะรักษาจังหวะเกม แย่งบอลได้ตั้งแต่แดนคู่แข่ง และคุมเกมได้หมดทั้งตอนได้บอลและไม่ได้บอล
แน่นอนว่ามันมีส่วนเหมือนกันที่ยูเครนเหนื่อยกันมาจากการกรำศึก 120 นาทีกับสวีเดนในรอบก่อนหน้าเมื่อย้อนหลังไป 4 วัน
ในทางกลับกัน อังกฤษก็ส่ง เมสัน เมาต์ ลงสนามอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เล่นมา 2 เกม ขณะที่ เจดอน ซานโช่ ก็ได้เริ่มต้นเกมด้วยการเป็นตัวจริงครั้งแรกในทัวร์นาเม้นต์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อังกฤษได้เปรียบในแง่ของพละกำลังในเกมที่กรุงโรม ส่วนทางยูเครนก็ดูไม่พร้อมกันสักเท่าไหร่ เห็นได้จากการที่ทีมสิงโตคำรามแย่งบอลในฝั่งคู่แข่งถึง 3 ครั้ง ภายในช่วงเวลาแค่ 20 วินาทีแรกของเกม จังหวะการเล่นที่เหมือนกับพินบอลนี้อาจไม่ได้มีผลอะไรต่อเกมมากนัก แต่มันก็เป็นสัญญาณบอกอะไรบางอย่างกับเรา
แกเร็ธ เซาธ์เกต ใช้ระบบการยืน 4-2-3-1 และในขณะที่ทีมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบนี้มักจะยืนเป็น 4-4-2 ในตอนไม่ได้บอล อังกฤษกลับยังคงยืนตำแหน่งกันแบบเดิม ซานโช่ กับ ราฮีม สเตอร์ลิง ยืนขนาบออกไปทั้ง 2 ฝั่งของ เมาต์ โดยเน้นไปที่การป้องกันพื้นที่ว่างแคบ ๆ แทนที่จะเป็นการถอยลงไปเล่นเกมรับทางริมเส้น
นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อังกฤษพอใจที่จะปล่อยให้วิงแบ็คของยูเครนยืนแบบไร้ตัวประกบ โดยที่ฟูลแบ็คอย่าง ลุค ชอว์ และ ไคล์ วอล์คเกอร์ จะคอยดันขึ้นมาหยุดพวกเขาเองในยามจำเป็น ซานโช่ กับ สเตอร์ลิง จะโฟกัสไปที่การป้องกันยูเครนไม่ให้ขึ้นเกมตรงกลางสนามมากกว่า
การตั้งแนวบล็อคตรงกลางแบบนี้ทำให้อังกฤษพร้อมตัดเกมสวนกลับเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ยูเครนพยายามเคลื่อนบอลขึ้นหน้าจากแนวรับมาสู่แผงมิดฟิลด์
จังหวะนี้เซ็นเตอร์แบ็คอย่าง เซอร์เฮ ครีฟต์ซอฟ ได้จ่ายบอลออกซ้ายไปให้กับ มีโคลา มัตวิเยนโก้ ซึ่งแค่เขาหันศีรษะข้ามไหล่ไปก็เห็น ซานโช่ วิ่งไล่บี้ขึ้นมาทันที มัตวิเยนโก้ จึงต้องเล่นจังหวะแรกอย่างเร่งรีบด้วยการจ่ายให้ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ ซึ่งก็ถูกกดดันโดย คัลวิน ฟิลลิปส์ เช่นกัน การส่งบอลต่อจังหวะแรกไปยังวิงแบ็ค วิตาลี มีโคเลนโก้ จึงพลาดถูกตัดไปโดย วอล์คเกอร์ ทำให้อังกฤษเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรุก
ความรู้สึกมันเหมือนกับการบีบกดดันเกมแบบคลาสสิค ผู้เล่นคนแรกเริ่มเข้ากดดัน จากนั้นคนที่ 2 ก็เข้าประกบผู้เล่นคนที่รอรับลูกจ่ายมาให้ แล้วคนที่ 3 ก็ชิงบอลไปครอง
แต่บางครั้งอะไร ๆ มันก็ง่ายขึ้นไปอีก จังหวะนี้เป็นการจ่ายบอลจาก ครีฟต์ซอฟ ให้ มัตวิเยนโก้ อีกครั้ง ซึ่งรายหลังก็เล่นช้าเกินไปจนทำให้ สเตอร์ลิง ซึ่งสลับฝั่งมาแล้วกับ ซานโช่ เข้าถึงตัวได้เร็ว สเตอร์ลิง มีโอกาสทองในการจ่ายบอลขึ้นหน้าไปเข้าทาง ซานโช่ ซึ่งยืนอยู่โล่ง ๆ ทางฝั่งซ้าย แต่ลูกจ่ายของเขาก็ไม่ได้ทิศทาง จึงโดนตัดบอลไปอย่างง่ายดาย
ยังมีอีกหลายจังหวะที่การบีบกดดันเกมของอังกฤษบังคับให้ยูเครนต้องเคลียร์บอลออกมาด้วยความตื่นตกใจ
จังหวะนี้การเพรสซิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เซอร์เฮ ซีดอร์ชุก ได้บอลตรงกลางสนาม ซึ่งมิดฟิลด์และตัวรุกอังกฤษทั้ง 6 คน ต่างก็ยืนอยู่ในรัศมี 15 หลาจากตัวเขา โดยบีบพื้นตรงกลางจนเหลือน้อย เขาจึงถูกบังคับให้ต้องจ่ายย้อนกลับไปให้กองหลัง และอังกฤษก็ดันขึ้นหน้าไปกดดัน ครีฟต์ซอฟ
ครีฟต์ซอฟ เตะโด่งแบบไร้เป้าหมายออกมา และก็ถูก แฮร์รี่ แม็กไกวร์ เก็บบอลกลางอากาศได้ จากตรงนั้น สเตอร์ลิง ก็ได้โอกาสเปิดเกมบุกอีกครั้งให้กับทีมสิงโตคำรามทางฝั่งซ้าย
สเตอร์ลิง ทำได้ดีมากในจังหวะที่ไม่ได้ครองบอล อย่างจังหวะนี้ที่บอลถูกโยนโด่งมาให้ มีโคลา ชาปาเรนโก้ ในพื้นที่กลางสนาม สเตอร์ลิง ยังยืนอยู่ห่างออกไปจากเขา 20 หลา ด้วยสัมผัสบอลแรกที่ไม่ดีนักจึงทำให้ตัวรุกสิงโตคำรามพยายามวิ่งสปรินต์ขึ้นหน้า ก่อนฉกบอลไปจากเท้า ชาปาเรนโก้ ช่วยให้อังกฤษเป็นฝ่ายครองบอล ขณะที่ ชาปาเรนโก้ ทำได้แค่เตะสกัดทำฟาวล์เท่านั้น
ความพยายามจากผู้เล่นริมเส้นของอังกฤษในตอนไม่ได้บอลถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในจังหวะได้ประตูที่ 3
จังหวะนี้ ซานโช่ ยังคงยืนอยู่ด้านในเหนือมิดฟิลด์ตัวกลาง 2 คน แต่แทนที่เขาจะถ่างออกข้างเพื่อไปเล่นเกมรับ เขากลับแย่งบอลได้ในจังหวะสำคัญที่เหลือผู้เล่นยูเครนเพียงแค่ 4 คนที่ยืนอยู่หน้าบอล จังหวะต่อมาเขาก็ถ่ายบอลออกข้างไปให้กับ เดแคลน ไรซ์ บอลถูกจ่ายต่อมาให้ สเตอร์ลิง ตามด้วย ชอว์ ที่สร้างโอกาสสุดงามที่ไม่สามารถโขกพลาดได้เลยสำหรับ แฮร์รี่ เคน
นั่นอาจพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกมเพรสซิ่งของอังกฤษใช้ได้ผลก็เป็นเพราะกลยุทธ์ในเกมรุก แต่แท็กติกในเกมรับก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะว่า ยูเครน แทบไม่สามารถขับเคลื่อนบอลจากแนวรับขึ้นมายังพวกตัวรุกได้เลย
สถิตินี้แสดงให้เห็นว่ายูเครนลำเลียงบอลไปได้ไกลแค่ไหน (หน่วยเป็นเมตร) ในการครองบอลแต่ละครั้ง ซึ่งมันก็บ่งบอกอะไรได้ชัดเจน
พวกเขาทำได้เพียงแค่ 11.4 เมตรต่อการครองบอลแต่ละครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าราว ๆ ครึ่งหนึ่งของคู่แข่ง 4 ชาติที่อังกฤษเจอมาในรอบก่อนหน้า ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าอังกฤษมีผลงานในระดับสูงแค่ไหน รวมถึงผลการแข่งขันด้วย จากตลอด 5 แมตช์ที่ผ่านมา
การเล่นเพรสซิ่งจะมีบทบาทสำคัญอีกครั้งในเกมรอบตัดเชือกคืนวันพุธนี้ ซึ่งก็เชื่อกันว่าเดนมาร์กน่าจะรับมือกับการบีบเกมกดดันได้ดีกว่ายูเครนเยอะ
ขณะที่ทางฝั่งอังกฤษเองก็พร้อมที่จะยกระดับด้วยเช่นกัน บางทีพวกเขาอาจเล่นเกมเพรสซิ่งเข้มข้นกว่าเดิมก็ได้
(เรียบเรียงจากบทความ Why England’s pressing won the game and suggested there’s more to come
เขียนโดย ไมเคิล ค็อกซ์ ลงในเว็บไซต์
theathletic.com
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2021
เรียบเรียงโดย ณัฐดนัย เลิศชัยฤทธิ์)
#EURO2020
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย