Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ตำราต้องห้าม
•
ติดตาม
7 ก.ค. 2021 เวลา 11:18 • ประวัติศาสตร์
“เจ้าภาษีนายอากร” เบื้องหลังระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดที่ราษฎรต้องหลั่งน้ำตา
2
ครั้งหนึ่ง กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงได้หารือกับเหล่าเสนาบดีเพื่อหยั่งความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจว่า “เนื่องด้วยการขยายตัวของการผลิตภายในประเทศและการค้า หากจะกำหนดภาษีสินค้าขึ้นใหม่ โดยยกเลิกการผูกขาดของพระคลังสินค้า และอนุญาตให้ซื้อขายสินค้าได้อย่างเสรีพวกท่านคิดเห็นเป็นเช่นไร”
คำถามที่แฝงไปด้วยเหตุผลบางอย่างทางการเมืองนี้ ได้สั่นสะเทือนไปถึงขั้วหัวใจของบรรดาขุนนางทั้งหลายในที่นั้น ซึ่งพวกเขาต่างพร้อมเพรียงกันสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างเต็มที่ ด้วยเห็นแก่ผลประโยชน์อันแสนเย้ายวนที่พวกตนจะได้รับในกาลข้างหน้า
2
"เจ้าภาษีนายอากรุ" เบื้องหลังระบบเศรษฐกิจแบบ ผูกขาดที่ราษฎรต้องหลั่งน้ำตา
สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ประสูติแต่เจ้าจอม และมิได้เป็นองค์รัชทายาท พระองค์จำต้องระดมพลังสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพื่อขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และเพื่อให้การสืบราชบัลลังก์เป็นที่ยอมรับ พระองค์จะต้องอาศัยอิทธิพลจากการกำกับดูแลการค้าและการผลิตครั้งตั้งแต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ให้เป็นประโยชน์
2
ซึ่งในการนี้ ทรงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากเหล่าบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายในราชสำนัก และทำให้พระองค์สามารสืบราชสันตติวงศ์โดยข้ามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผู้เป็นรัชทายาทไปได้ โดยเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุ 21 พรรษา ก็มิได้ทรงตอบโต้ประการใด พระองค์ได้เสด็จออกผนวชหลังจากปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่แล้ว และทรงต้องครองสมณเพศตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
2
สายน้ำแห่งชีวิตของกรุงรัตนโกสินทร์ อาบ กิน ใช้ คมนาคม และยุทธศาสตร์
วันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ทรงประกาศว่า “จะไม่เป็นกษัตริย์พ่อค้า และจะไม่ผูกขาดการค้าอีกต่อไป” แต่จะมีพระบรมราชานุญาตให้ค้าขายได้โดยเสรี ซึ่งมีความหมายว่า ให้มีการ “ยกเลิกการผูกขาดของพระคลังสินค้า” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ บรรดาชนชั้นปกครองทั้งหลาย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคนเหล่านี้ล่วนแต่ได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการขยายตัวทางการค้า และทางเศรษฐกิจเงินตรา จากการขายผลผลิตส่วนเกินให้แก่แรงงานชาวจีนอพยพและได้รับเงินจากการที่ไพร่จ่ายให้แทนการใช้แรงงานหรือให้ผลผลิต
ถึงแม้ว่าเหล่าขุนนางจะเสียผลประโยชน์จากการได้รับเบี้ยหวัดลดลงในด้านการค้าของหลวงที่ซบเซาลงก็ตาม
แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงรับสั่งแก่ขุนนางเหล่านั้นว่า พระองค์ตัดสินพระทัยจะใช้จ่ายพระราชทรัพย์ให้น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของพระราชบิดา" ซึ่งสื่อเป็นนัยว่าจะพระราชทานเบี้ยหวัดเต็มจำนวนดังเดิม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) [ภาพจาก https://artsandculture.google.com]
จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงลดค่าใช้จ่ายของราชสำนักเพื่อดึงเสียงสนับสนุนจากชนชั้นปกครอง และมักแสดงตนเป็นกษัตริย์ผู้มัธยัสถ์ไม่เห็นแก่ความเกษมสำราญส่วนพระองค์ เป็นแต่ใฝ่พระทัยในการสร้างวัดวาอาราม บำเพ็ญราชกุศล และบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้เท่านั้น
กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักปกครองและการเมืองการเมืองที่ปราดเปรื่องผู้หนึ่งเลยก็ว่าได้ ทรงซื้อเสียงจากเหล่าบรรดาขุนนางในราชสำนักเพื่อก้าวสู่ราชบัลลังก์และเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องจนได้รับการสนับสนุนจากเหล่าขุนนางทั้งหลายอย่างเต็มกำลัง
ในการนั้น พระองค์ยอมรับหลักการของลัทธิเสรีนิยม ซึ่งเพิ่งถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นานนักจากชาวตะวันตก ซึ่งราชสำนักของสยามเอง ก็ได้ยกเลิกการผูกขาดการค้าและการค้าสำเภาหลวง แล้วหันไปหารายได้จากการเก็บภาษีอากรแทน
คำประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของพระองค์ถือเป็นการปฏิวัติโครงสร้างทางการคลัง นับแต่นั้นมา แหล่งที่มาของรายได้ของแผ่นดินก็ได้เปลี่ยนจากการผูกขาดของพระคลังสินค้ามาสู่การเก็บภาษีภายในราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกของสยาม
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเมืองกาย อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดเสรีทางการค้าของกรุงสยามที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง
ในรัชสมัยของพระองค์เกิดภาษีเป็นจำนวนมากถึง 38 ชนิด แต่เดิมเงินที่รัฐเรียกเก็บจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสินค้า เรียกว่า "อากร" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้เรียกรายได้ที่เกิดใหม่ว่า"ภาษี" ดังนั้นรายได้ของรัฐนับแต่รัชสมัยนี้เป็นต้นมา จึงเรียกว่า "ภาษีอากร" รัฐจะเปิดให้เอกชนข้ามาประมูลสิทธิในการจัดเก็บภาษีทั้งหมด รวมไปถึงอากรบางประเภทด้วย
ภาษีทั้งหมดนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ประเภทแรกคือ ภาษีสินค้าเพื่อการส่งออกชนิดใหม่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ได้แก่ น้ำตาล พริกไทย ยาสูบ และฝ่าย) ซึ่งเดิมขึ้นกับพระคลังสินค้าแล้วเปลี่ยนให้เจ้าภาษีเรียกเก็บจากผู้ผลิต และเก็บภาษีขาออกด้วย
“ทัศนียภาพของเมืองบางกอก” (View of the city of Bangkok) จากหนังสือ “บันทึกของทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียประจำสยามและโคชิน-ไชนา” โดย จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษผู้รับหน้าที่มาเจรจากับสยามก่อน เบอร์นีย์
ประเภทที่สองคือ ภาษีสินค้า 6 ชนิดที่รัฐผูกขาดการส่งออกอยู่แต่เดิม (เช่น งาช้าง ฝาง ไม้แดง)
ประเภทที่สามคือ สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคของแรงงานจีน (เช่น กระทะ)
กลไกการเก็บภาษีผ่านระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าซึ่งด้อยประสิทธิภาพได้ถูกแทนที่ด้วยเจ้าภาษีชาวจีนผู้ซึ่งตระหนักว่าการเก็บภาษีอากรอย่างเเข็งขันนี้ “เป็นผลประโยชน์ของตนด้วย”
โดยภาคเอกชนเหล่านี้ถูกเรียกรวมกันว่า "เจ้าภาษีนายอากร"การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงจัดให้มีการเรียกเก็บภาษีจำนวนมาก รวมถึงนโยบายที่เอื้อให้ภาคเอกชน หรือ “เจ้าภาษีนายอากร” มีกรรมสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีเองได้นี้ จะนำมาซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งราษฎร และทั้งราชสำนักเองในภายภาคหน้า
“เจ้าภาษีนายอากร” มีหน้าที่ รวบรวมภาษีมาส่งมอบให้รัฐ แต่ไม่นับเป็นข้าราชการของรัฐโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ จะมีอํานาจทางการเมืองและอภิสิทธิ์เหนือราษฎรทั่วไป มีอํานาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับภาษีอากร ถ้ายิ่งเป็นเจ้าภาษีนายอากรในระดับหัวเมืองแล้ว อํานาจและอิทธิพลจะเสมือนเป็นเจ้าเมืองย่อยๆ เลยทีเดียว
2
ในทรรศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงมีพระราชดำรัสถึงการเก็บภาษีอากรดังกล่าวว่า “เป็นที่มาหนึ่งของการรีดนาทาเร้นและความทุกข์ยากของราษฎร” เมื่อครั้งยังเป็นวชิรญาณภิกขุได้เสด็จออกธุดงค์หลายต่อหลายแห่ง และเข้าพระทัยดีว่าราษฎรชิงชังเจ้าภาษีนายอากรมากเพียงใด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาริ่ง อัครราชทูตอังกฤษ เข้าเฝ้า (ภาพจิตรกรรมเทิดพระเกียรติกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ วาดโดย นคร หุราพันธ์ ปัจจุบันแขวนอยู่ภายในอาคารรัฐสภา)
เมื่อทรงครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพบหนทางที่จะช่วยลดการรีดนาทาเร้นจากระบบจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยสั่งให้มีการตีพิมพ์อัตราภาษีอากรในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ราษฎรทั้งหลายได้ทราบถึงจำนวนเงินภาษีอากรที่ตนต้องชำระ และหากเจ้าภาษีกดขี่ขูดรีด ราษฎรก็จะได้ทราบขั้นตอนในการร้องทุกข์ นอกจากนี้ ราษฎรยังสามารถถวายฎีการ้องทุกข์เองได้หากขุนนางเสนาบดีไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้
แต่ทั้งนี้ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับระบบเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงได้นำมาใช้ด้วย เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจของสยามในขณะนั้น เรียกได้ว่า อยู่ในสภาวะ “เศรษฐกิจตกต่ำ” ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังตั้งแต่ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ราชอาณาจักรสยาม ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย ผู้ที่เหลือรอดจากสงครามต้องเผชิญกับความอัดคัดขัดสน เนื่องจากการกสิกรรมและการค้าขนาดเล็กอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของราษฎรถูกทำลายไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราช ได้ปราบปรามก๊กต่าง ๆ และสามารถรวบรวมอำนาจเป็นปีกแผ่นได้แล้ว แต่รายได้จากการผูกขาดสินค้าก็ยังไม่เพียงพอ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงคิดหาทางแก้วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น แต่ก็ทรงดำเนินนโยบายแบบผิดๆ จึงนำไปสู่การก่อกบฏ ซึ่งนี้ก็เป็น พระบรมราชาธิบายของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ถึงสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินสูญเสียพระราชอำนาจไปในที่สุด
สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกโค่นราชบัลลังก์โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อดีดขุนนางอยุธยาและแม่ทัพของพระองค์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลายเป็นศูนย์กลางของขุนนางเก่าอยุธยาและได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ราชมีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
3
พระเจ้าตาก “ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการค้าสำเภาจีน” (จิตรกรรมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม)
เนื่องจากสาเหตุประการหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องสูญลิ้นราชบัลลังก็คือ “การขาดแคลนแหล่งรายได้” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงถูกผลักให้ต้องแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ ความพยายามของพระองค์ที่จะรีดรายได้จากระบบผูกขาดด้วยการส่งออกและนำเข้าสินค้าโดยราชสำนักส่งผลให้พ่อค้าชาวจีนผละหนีไป ดังนั้นพระองค์จึงหันมาดำเนินกิจการค้าสำเภาเองด้วยการต่อเรือและแสวงหาพ่อค้าชาวจีนเป็นพันธมิตรทางการค้า ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
1
“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ใช้คนให้หาไม้ในป่ามาต่อสำเภาขึ้น แลไห้หาฝางแลไม้แดงของป่า มาเปนสินค้าบันทุกสำเภา แลเข้าทุนกับจีน ลูกค้าที่ค้าด้วย
สำเภา หากำไรแต่ค้าลำเรือมาเพิ่มเติม จึงภอจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินไนปี ๆ ภอ แล้วแล้วไป” ซึ่งกิจการค้าสำเภาของหลวงมีกำไรงอกเงยเป็นอันมากเนื่องมาจากพระคลังสินค้าได้ผูกขาดสินค้าที่มีมูลค่าสูง (เช่น งาช้าง)
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) การค้ากับจีนไม่ได้มีกำไรให้แก่พระคลังสมบัติอีกแล้ว เนื่องจากการเข้าร่วมในการค้าของพระมหากษัตริย์ลดลง สินค้าเข้าก็เปลี่ยนจากสินค้าที่
เป็นความจำเป็นเร่งด่วน มาเป็นสินค้าบริโภคของชนชั้นสูง และสินค้าเพื่อขายต่อในตลาด
1
สิ่งเหล่านี้ ทำให้การค้าสำเภาหลวง ไม่อาจแข่งขันกับการขยายตัวของกิจการเดินเรือเอกชนได้และการลงทุนของเอกชนที่เพิ่มขึ้นก็ไปเบียดเบียนความสามารถในการหารายได้ของรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ขาดแคลนรายได้ที่มาจากการค้า
1
ภาพกองเรือสำเภาจีนที่เข้ามาค้าขายยังสยาม [ภาพจาก สารานุกรมพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช]
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ต้องสูญเสียความได้เปรียบและขาดทุนเเนื่องจากปัญหาการถ้อราษฎร์บังหลวง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระบรมราชาธิบายไว้ว่า
“ถ้าเปนคราวเรือเสียหายก็ขาดพระราชทรัพย์ไปมาก แลผู้แต่งสำเภาหลวงทั้งปวงก็รู้จักอุบายที่จะยักยอกบอกขาดทุนมากไป จนกำไรที่จะไช้ราชการก็ไม่มี”
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ต้องทรงลดเบี้ยหวัดเหลือสองในสาม หรือเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จนกระทั่ง
ช่วงปลายรัชกาลได้มีการพระราชทานผ้าขาวทดแทนเบี้ยหวัดในส่วนที่มิได้ทรงจ่าย ซึ่งความล้มเหลวของรัฐในการหารายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการขยายตัวทางการค้านี้เป็นโจทย์ใหญ่ก่อนหน้าที่กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์จะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป
การคมนาคมและการขนส่งสินค้าทางน้ำ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้กำกับราชการกรมท่าซึ่งดูแลการค้าสำเภาหลวง และการผูกขาดการค้าของพระคลังสินค้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ บทบาทดังกล่าวทำให้พระองค์มีอำนาจทางการเมืองเป็นอย่างมาก จึงเกิดระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากการผูกขาดโดยราชสำนัก หรือ พระคลังสินค้ามาเป็นการเก็บภาษีอากรแทน โดยใช้กลุ่มคนที่เรียกว่า “เจ้าภาษีนายอากร” เป็นผู้จัดเก็บให้ [1]
ภาพรวมของระบบการผูกขาดภาษีสามารถดูได้จากเอกสารแต่งตั้งเจ้าภาษีนายอากรคนใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลคล้าย ๆ กัน แตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย สิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีจะถูกแจกจ่ายให้แก่ผู้ประมูลแต่ละคนที่เป็นผู้เสนอ ในกรณีที่มีผู้สนใจมากกว่า 1 กลุ่ม ผู้ประมูลสูงสุดมีสิทธิได้รับการผูกขาดภาษี
“เงินพดด้วง” เป็นเงินตราที่เริ่มต้นผลิตมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยใช้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การประมูลกระทำผ่านหน่วยงานราชการ ซึ่งได้แก่ มหาดไทย กลาโหม กรมท่า และพระคลังสินค้า หลังจากหน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบความมั่นคงทางการเงิน และผู้ค้ำประกันของผู้ประมูลเเล้ว สารการประมูลจะถูกยื่นให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณา เมื่อพระองค์ทรงอนุญาต เอกชนผู้นั้นก็จะได้รับตราสารแต่งตั้งให้เป็นเจ้าภาษีนายอากร
ตราสารดังกล่าวจะบอกถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ของการแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีนายอากร ระบุจำนวนเงินที่ต้องจ่ายและช่วงเวลาที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐ การส่งเงินต้องทำผ่านกรมที่รับผิดชอบ เจ้าภาษีจะต้องจ่ายเงินให้แก่ใครบ้าง
อัตราการในการเก็บภาษีเท่าไร ท้องที่ที่ภาษีครอบคลุมถึงมีอาณาเขตขนาดไหน รวมถึงคำแนะนำต่อเจ้าเมืองเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดเก็บภาษี นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำต่อเจ้าภาษีนายอากรให้ปฏิบัติตามกฎหมาย
หลังจากได้รับแต่งตั้งแล้วเจ้าภาษีต้องนำใบรับรองไปขึ้นชื่อเจ้าเมืองที่รับผิดชอบ เมื่อเจ้าภาษีนายอากรออกไปเก็บภาษี กำนันจะเป็นผู้นำเจ้าภาษีนายอากรไปยังครัวเรือนที่มีพันธะต้องจ่ายภาษี และตรวจสอบว่าเจ้าภาษีนาย
อากร เก็บภาษีตามอัตราและชนิดสิ่งของที่กำหนดในตราสารแต่งตั้งหรือไม่
“เจ้าภาษีนายอากร” มีทีมสำรวจเขตแดนที่ได้รับแต่งตั้งให้เก็บภาษีให้ได้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เจ้าภาษีนายอากรได้รับแต่งตั้งให้มีศักดินา 400 ไร่ ซึ่งทำให้เจ้าภาษีนายอากรมีสิทธิพิเศษทำให้เขาสามารถใกล้ชิดกับหน้างานของตนเองได้มากขึ้น
เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ช่วยปลัดกรมท่า ปลัดกรมพระตำรวจ และเป็นผู้สำเร็จราชการในกิจการต่างประเทศ
การร่วมมือกันระหว่างเจ้าเมืองกับเจ้าภาษีนายอากร มักเกิดขึ้นได้โดยการชักจูงของเจ้าภาษีนายอากรเอง เมื่อเจ้าภายีนายอากรสามารถแสดงให้ผู้นำท้องถิ่นเห็นได้ว่า ผู้นำท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากการให้ความร่วมมือในงานของพวกเขาก็ได้รับความสะดวก และส่วนใหญ่มักลงเองด้วยการที่ประชาชนถูกรีดภาษี
เอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเจ้าเมืองกับเจ้าภาษีมีอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากความร่วมมือนี้ไม่ได้จัดเตรียมอย่างเป็นทางการ จะมาถึงหูรัฐบาลกลางก็ต่อเมื่อประชาชนร้องเรียนเข้ามา ทว่าความไม่พอใจของประชาชน็มีมาถึงหรัฐบาลกลางเช่นกัน
ในปีพุทธศักราช 2402 เจ้าพระยาระวีวงค์ (ขำ บุนนาค) เจ้ากรมท่า ได้เดินทางไปยังระนองเพื่อสืบสวนกรณีที่เจ้าเมืองถูกฟ้องร้อง ในขณะที่ท่านอยู่ที่นั่น ท่านก็ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับเจ้าภายีนายอากรเช่นกัน
การขนส่งสินค้าทางบก
เจ้ากรมท่าจึงตัดสินใจเดินทางไปสำรวจเมืองอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของตน เพื่อค้นหาความแค้น
เคืองของประชาชนต่อเจ้าภาษีนายอากรในจำนวนที่มากขึ้น ดังนั้นการกระทำที่ไม่ถูกต้องบางอย่างของเจ้าภาษีนายยากร ซึ่งมีเจ้าเมืองรู้เห็นเป็นใจจึงได้ถูกเผยออกมา ประชาชนร้องเรียนต่อเจ้าพระยาระวีวงค์ว่า
เมื่อพวกเขาฆ่าสุกร เจ้าภาษีนายอากรไม่อนุญาตให้พวกเขาขายเนื้อหมูให้คนอื่นนอกจากเจ้าภาษีเอง เจ้าภาษีซื้อจากพวกเขาในราคาถูกแต่นำไปขายต่อในราคาที่สูงกว่า นอกจากนี้ เจ้าภาษียังเรียกเก็บภาษีจากครัวเรือนที่เลี้ยงเป็ดไก่เดือนละ 1 บาท แม้ว่าจะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในครอบครัวก็ตาม
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ตระกูล ณ สงขลา เป็นตระกูลที่มีอำนาจในการปกครองเมืองสงขลา เป็นชาวจีนที่เคยทำการค้าทางเรือสำเภามาก่อน มีฐานะเป็นเจ้าเมืองสงขลาอยู่ในระบบ "เหมาเมือง"คือเป็นทั้งผู้ปกครองและเป็นเจ้าภาษีนายอากรของเมืองด้วย
เจ้าพระยาระวีวงศ์ได้ตรวจสอบตราสารเเต่งตั้งพบว่าเจ้าภาษีได้รับสิทธิเรียกภาษีจากการขายเนื้อหมูและเป็ด
ไก่ในอัตรา 1/12 ของราคาขาย เจ้าภาษีไม่มีสิทธิบังคับให้ประชาชนขายให้แก่ตน และไม่ได้รับสิทธิในการเรียกเก็บภาษีจากทุกครอบครัวที่เลี้ยงเป็ดไก่เพื่อบริโภค
นอกจากนี้เจ้าพระยาระวีวงค์ยังพบการเก็บภาษีอากรซ้ำซ้อนอื่น ๆ อีก (เช่น ยาสูบ มันฝรั่ง แฟง เป็นต้น) ยิ่งกว่านั้น บ่อยครั้งที่เจ้าภาษีนายอากรได้ฉกฉวยผลประโชชน์จากความไม่รู้หนังสือวิชาของประชาชน พระยาอนุมานราชธน ได้ชี้ให้เห็นการใช้กลโกงของเจ้าภาษีนายอากรไว้ 2 กรณี
1
กรณีแรก เกี่ยวกับค่าน้ำ ซึ่งผู้ผูกขาดอากรค่าน้ำจะได้รับสิทธิเรียกเก็บภาษีจากเครื่องมือจับปลา แต่สิ่งที่พบคือ ได้มีการส่งคนของตนไปเก็บภาษีจากทุกครัวเรือน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเครื่องมือจับปลา เมื่อถูกโต้แย้ง คนของเจ้าภาษีก็ถาม กลับว่าดื่มน้ำหรือเปล่า เนื่องจากแม่น้ำลำคลองเป็นของหลวง เมื่อดื่มน้ำก็ต้องเสียค่าน้ำ ซึ่งบอกอยู่ในตัวแล้วว่าเป็น "ค่าน้ำ"
รองหัวหมื่นพระอนุวัตน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) นายอากรผู้มากความสามารถสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนระดับ 1 ชั้นโท จากราชวงศ์ชิงด้วย
อีกกรณีคือภาษีกล้วย เจ้าภาษีรับผูกขาดจัดเก็บอากรกล้วยเป็น “กอ” แต่คนของเจ้าภาษีไปเรียกเก็บแก่
ชาวไร่กล้วยเป็นรายต้น เจ้าของไรคัดค้าน คนของเจ้าภาษีก็อ่านข้อความในสารตราตั้ง โดยอ่านคำว่า “กอ” เป็นคำว่า “ต้น” ไป ดังนั้น ประชาชนไม่เพียงแต่แบกรับการจ่ายภาษีจำนวนมากแล้ว ยังต้องเผชิญกับเล่ห์เหลี่ยมและเพทุบายของเจ้าภาษีนายอากรผู้ซึ่งพยายามรีดกำไรจากภาษีอากรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็มีโล่กำบังจากการรีดภาษีเกินขนาดของเจ้าภาษีนายอากรอยู่ประการหนึ่ง ถ้ำเจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีโดยปราศจากเหตุผล ประชาชนสามารถเลิกผลิตและเลิกรวบรวมสินค้าส่วนเกินเพื่อค้าขายในตลาดแล้วหันมาผลิตเฉพาะเพื่อยังชีพ กรณีเช่นนี้หากเกิดขึ้นในวงกว้าง ผลเสียก็จะตกแก่เจ้าภาษีนายอากรเองเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สภาพการประมูลโดยเสรีลดลงอย่างมาก ในช่วงนี้สมาคมลับของชาวจีนได้เข้ามาควบคุมภาษีที่สร้างรายได้สำคัญให้แก่รัฐ ได้แก่ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย และอากรฝิ่น ทำให้เอกชน
ไม่กล้าประมูลแข่งกับสมาคม
รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบเงินพดด้วง หน่วยเงิน เฟื้อง ซีก เสี้ยว อัฐ โสลฬ ตำลึง ชั่ง โดยสร้างหน่วยเงินขึ้นใหม่ ให้ใช้ เหรียญบาท เหรียญสลึง และตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121 จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นแทน
ซึ่งกรณีเช่นนี้ได้สร้างผลเสียให้แก่รัฐ Constance Wilson ได้คำนวณภาวะชะงักงันทางรายได้ของรัฐไว้ว่า ในปีพุทธศักราช 2399 เมื่อสมาคมลับเข้ามามีบทบาท รายได้จากอากรบ่อนเบี้ยลดลงจาก 16,000 บาท เหลือ 13,000 บาท และคงอยู่ในอัตรานี้จนสิ้นรัชกาลที่ 4 และนี่เป็นแค่ตัวอย่างอากรรายการเดียวที่ถูกยักยอกโดยกลุ่มเจ้าภาษีนายอากรเพียงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า การยัยยอกทั้งหมดคงจะมีปริมาณที่มากกว่านี้อีกหลายเท่านัก
ในระยะเริ่มแรก ระบบเจ้าภาษีนายอากรได้สร้างรายใด้ให้แก่รัฐ ขณะเดียวกันรัฐก็สนับสนุนให้มันเติบโต และยังคงเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของรัฐในสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายรัชกาลที่นั่นเอง รัฐก็ประสบปัญหาในการควบคุมระบบภาษีอากร
ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าระบบเจ้าภาษีอากรขยายตัวมาถึงระดับที่ไม่อาจขยายตัวต่อไปได้ มีเพียงสิ่งของไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเก็บภาษี ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โอกาสที่จะตั้งภาษีใหม่ ๆ ไม่ได้เปิดให้อีกต่อไปพระองก์ได้พยายามอย่างมากที่จะควบคุมระบบเข้าภาษีนายอากร และการปฏิรูปด้านการคลังครั้งสำคัญ และนั่นคือจุดสุดท้ายที่พระองค์มุ่งควบคุมระบบดังกล่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จ
กล่าวโดยสรุปคือ ข้อดีของการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้มีข้อดี คือ สามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้เป็นจำนวนมาก แต่ข้อเสีย คือ ราษฎรอาจถูกขูดรีดจากเจ้าภาษีนายอากร หรือ รัฐอาจถูกยักยอกเงินภาษีได้ หากไม่มีมาตราการควบคุมที่รัดกุม และไม่มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบนี้สามารถตอบโจทย์ในยุคสมัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตัองเผชิญได้เป็นอย่างดี
ราษฎรสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ซึ่งระบบภาษีอากรแบบนี้ เป็นหลักประกันแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่าจะมีรายได้แผ่นดินเข้าสู่ท้องพระคลังอย่างสม่ำเสมอในรัชกาลของพระองค์ เบี้ยหวัดทั้งหมดพระราชทานจากเงินในพระคลังมหาสมบัติมิใช่พระคลังข้างที่ พระองค์ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการผูกขาดการค้าอีกต่อไป [2]
เมื่อสิ้นสุดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เงินในพระคลังข้างที่มีถึง 4,000 ชั่ง ซึ่งเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปจ่ายเป็นค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝรั่งเศส ภายหลังจากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 หรือ ที่พวกเรารู้จักในนามของ “เงินถุงแดง”
แต่ในรัชกาลที่ 4-5 ระบบเจ้าภาษีนายอากรเริ่มไม่ตอบโจทย์ และกลับสร้างปัญหาให้ราชสำนักสยาม ซึ่งทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต้องทรงคิดหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ด้วยพระองค์เอง
1
ระบบเจ้าภาษีนายอากรยังอาศัยโครงสร้างในระบบศักดินาเดิมในการแสวงหาผลประโยชน์ ระบบนี้สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนําของไทย ด้วยปรากฏว่า เบื้องหลังของเจ้าภาษีนายอากรก็คือ ขุนนางราชสำนัก หรือเจ้านายบางพระองค์ ที่จะให้การคุ้มครองเพื่อให้พ้นจากการลงโทษทางกฎหมาย หากเจ้าภาษีนายอากรที่อยู่ในการคุ้มครองของตนกระทําผิดหรือเก็บภาษีเกินขอบเขต
“เงินถุงแดง” เงินออมส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
เมื่อเจ้าภาษีนายอากรมีชนชั้นนำเป็นผู้อุปถัมภ์ ก็เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต้องประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก พระราชทรัพย์ในท้องพระคลังตามที่บัญชีระบุมีจํานวนเงิน 40,000 ชั่ง แต่ตัวเงินจริงกลับมีอยู่เพียง 20,000 ชั่ง หรือใน พ.ศ. 2414 เมื่อต้องพระราชทานเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ เป็นจํานวนเงิน 11,000 ชั่ง เจ้าหน้าที่พระคลังมหาสมบัติผู้รับผิดชอบด้านการเงินต้องวิ่งหาเงินจํานวนนี้ถวาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เองได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “เงินไม่พอจ่ายราชการ ต้องเป็นหนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพตลอดมาจนถึงปีมะแม เป็นเงิน 100,000 ชั่ง” [3]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษร (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงแก้ปัญหาด้วยการเข้าควบคุมภาษีอากรอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ใน พ.ศ. 2413 ภาษีอากรที่อยู่ในความรับผิดชอบของพระคลังสินค้าถูกโอนย้ายมาอยู่กับพระองค์โดยตรง และทรงได้ริเริ่มนำวิธีการแบบตะวันตกมาใช้ในการปฏิรูปการคลัง ใน พ.ศ. 2418 ทรงตั้งออดิดออฟฟิต (Audit Office) คือสำนักงานตรวจบัญชีสำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีเพื่อตรวจตราดูแลเฉพาะรายได้แผ่นดินและกาษีอากรที่อยู่ในความควบคุมของพระองค์
จากข้อมูลทางราชการใน พ.ศ. 2415 รายได้จากพระคลังหลวงและพระคลังสินค้ารวมกันมีจำนวนมากกว่าครึ่งถูกจัดเก็บในรูปภาษีอากรทั้งหมด เนื่องจากภาษีส่วนใหญ่ยังมิได้อยู่กายใต้การกำกับดูแลของพระองค์ ตัวเลขนี้แสดงว่ารายได้จำนวนมากยังอยู่ภายใต้การควบคุมของขุนนาง
1
ขั้นตอนสำคัญต่อมาในการปฏิรูประบบการคลังตามแบบตะวันตกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2416 เมื่อมีการสถาปนา “หอรัษฎากรพิพัฒน์” อันมีกระทรวงการคลังของตะวันตกเป็นแม่แบบ มีข้าราชการประจำทำงานกินเงินเดือนและมีเวลาเข้างานที่แน่นอน
4
"หอรัษฎากรพิพัฒน์" มีหน้าที่ในการเก็บภาษีอากร ก่อ ตั้งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 ในสมัยรัชกาลที่ 5
หอรัษฎากรพิพัฒน์เป็นศูนย์กลางรวมอำนาจการบริหารจัดการภาษีอากรซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าจำนวน ผู้ดูแลภาษีและอากรแต่ละประเภท นั่นคือเป็นผู้ใช้อำนาจแทนขุนนางผู้ใหญ่ที่ควบคุมดูแลภาษีอากรด้วยการอนุมัติการประมูลภาษี
พระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์กำหนดให้การประมูลภาษีอากรต้องดำเนินการในหน่วยงานใหม่นี้ และเจ้าภาษีนายอากรต้องจ่ายเงินภาษีอากรเข้าหลวงเป็นรายเดือนจึงเท่ากับเป็นการจำกัดโอกาสที่เจ้าภาษีนายอากรและเจ้าจำนวนผู้ควบคุมดูแลภาษีอากรจะร่วมมือกันแสวงหาผลประโยชน์ ในท้ายที่สุด ระบบเศรษฐกิจแบบในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ค่อยๆ เสื่อมสลายลงไปตามกาลเวลา เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่คนรุ่นก่อนเชื่อมั่นว่า “ถูกต้อง ดีงาม ได้ผล” ในวันนั้น วันนี้มันอาจไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบันแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากบริบทของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงไป และจะเปลี่ยนไปทุกวันๆ วาทกรรมอนุรักษ์นิยม เช่น (เมื่อก่อนก็ยังใช้ได้เลยทำไมตอนนี้จะใช้ไม่ได้, คนรุ่นก่อนเค้าก็ทำตามๆ กันมาก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร หรือ เค้าก็ทำกันแบบนี้มาตั้งนานแล้วทำๆ ไปเถอะ) ข้าพเจ้าคิดว่า ผู้อ่านหลายท่านคงจะเคยได้ยินวาทกรรมเหล่านี้มาบ้าง อาจจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย หรือ ที่ทำงานก็ตาม
Still or Change ? [ภาพจาก www.kaifineart.com]
ข้าพเจ้าอยากชวนท่านทั้งหลายให้ฉุกคิดว่า ความเชื่อเดิมๆ ความคิดแบบเดิมๆ วัฒนธรรมเดิมๆ วิธีปฏิบัติแบบเดิมๆ จะยังคงตอบโจทย์ และยังคงเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่พวกท่านต้องเผชิญหน้าอยู่อีกหรือไม่? หรือ มันถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องหาวิธีการแบบใหม่ที่ดีกว่า ตอบโจทย์ชีวิตของพวกท่านมากกว่า โดยการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันยุคสมัย เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงใช้วิธีการใหม่ มุมมองใหม่ ความคิดใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจัดเก็บภาษีของประเทศให้ทันสมัยขึ้นกว่าเดิม
“มีแต่คนวิกลจริตเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง”-อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
นื่คือ แง่มุมที่ชวนให้ผู้อ่านทุกท่านฉุกคิดด้วยเหตุผลทาง
วิชาการในอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ส่วนผู้อ่านคือผู้ที่จะได้รับ
ผลประโยชน์ ได้รับความรู้ที่กว้างขวางขึ้น รอบด้านยิ่งขึ้น
และมีมุมมองที่หลากหลายด้านมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสติวิ
จารณาณและมุมมองของทุกท่านเอง สุดท้ายขอ
ให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้รับความสุข ความสนุกสนานและความเพลิดเพลินจากการอ่านนะครับ
และนี่คือเรื่องราวของ “เจ้าภาษีนายอากร” เบื้องหลังระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดที่ราษฎรต้องหลั่งน้ำตา
เชิงอรรถ
[1] กุลลดา เกษบุญชู มื้ด,สมบูรณาญาสิทธิราชย์, (นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่ 1, 2562) หน้า 37-71
[2] ฐิรวุฒิ เสนาคำ. ระบบเจ้าภาษีนายอากรสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. จดหมายข่าว มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ปีที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พิมพ์ครั้งที่ 1, 2 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ) หน้า 11-15
[3] ศิลปวัฒนธรรม. เจ้าภาษีนายอากร ระบบผูกขาด ทำท้องพระคลัง ร.5 ป่วน. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2564 จาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_64770
20 บันทึก
18
11
20
18
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย