7 ก.ค. 2021 เวลา 13:02 • กีฬา
#ยูโรรำลึก
โดย มิสมาต้า
ในวงการฟุตบอล​คงจะหาคนที่มีประสบการณ์​อย่าง ไมเคิล เลาดรูป ได้ยากยิ่ง เพราะเขาเคยได้มีโอกาสอยู่ร่วมสโมสรฟุตบอล​อาชีพเดียวกับบิดาของตนเอง และยังได้เล่นร่วมทีมชาติกับน้องชายของเขาอีกด้วย
ฟิน เลาดรูป คนพ่อในวัย 36 ปี กับ ไมเคิล เลาดรูป ลูกชายคนโตในวัย 17 ปี ได้ลงซ้อมร่วมกันเมื่อทั้งสองคนอยู่ทีม KB สโมสร​ฟุตบอล​ในลีกเดนมาร์ก เมื่อปี 1980  ในขณะที่ ไบรอัน เลาดรูป วัย 11 ปี ยังเตะฟุตบอล​อยู่กับเพื่อนๆ ที่สวนสาธารณะ​อยู่เลย
1
จนกระทั่งปี 1983 เดนมาร์ก​ ที่อยู่ร่วมกลุ่มในการแข่งฟุตบอล​ยูโร​ 1984 รอบคัดเลือก​กับอังกฤษ​ พวกเขาไล่ตามตีเสมออังกฤษ​ในบ้านตัวเองได้ 2-2 ในนาทีที่90 พอดี จากการยิงของ เจสเปอร์​ โอลเซน ปีกดาวรุ่งจาก อาแจ๊กซ์​ อัมสเตอร์ดัม​
อังกฤษ​จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บชัยชนะให้ได้ในบ้านตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าโชคจะไม่ค่อยเข้าข้าง บ๊อบบี ร็อบสัน​ ที่เพิ่​งเข้ามารับงานต่อจาก รอน กรีนวูด ที่ยุติการคุมทีมหลังจบฟุตบอลโลกที่สเปน
1
บ๊อบบี ร็อบสัน ต้องขาด ไบรอัน ร็อบสัน ที่เริ่มมีอาการบาดเจ็บบ่อยแล้วจากการเล่นแบบบู๊ล้างผลาญ​ตามสไตล์​ รวมทั้งยอดผู้จัดการทีมท่านนี้ยังทำพลาดด้วยการไม่ใส่ชื่อ เกล็น ฮอดเดิล กองกลางอัจฉริยะ​ระดับเท้าชั่งทองเข้ามาในทีมชุดนั้น
เขาเลือกใช้งานกองกลางสามคนอย่าง เรย วิลกินส์ -​ แซมมี ลี -​ จอห์น​ เกรกอรี ลงบัญชาเกมกลางสนาม แล้วให้ จอห์น บาร์นส กับ เทรเวอร์​ ฟรานซิส คอยสนับสนุน พอล มาริเนอร์​ ในเกมรุก
แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นดังหวัง เมื่อ ฟิล นีล แบ็คขวาจากทีมแชมป์​ยุโรปเข้าบอลพรวดพราด​จนทำให้ทีมเสียลูกจุดโทษ จนถูก อัลลัน ซิมอนเซน สังหารผ่านมือ ปีเตอร์​ ชิลตัน เข้าไป และ กลายเป็นประตูชัย​ที่ส่งให้อังกฤษ​ตกรอบคัดเลือกครั้งนั้นทันที
ซึ่งขุนพลเดนิชไดนาไมต์​ยุคนั้นคือชุดที่กำลังจะกลายเป็นชุดในตำนานในอีก 3 ปีข้างหน้าที่ฟุตบอล​โลกที่เม็กซิโก เมื่อพวกเขามีจอมทัพอย่าง พรีเบน เอลเกียร์ ลาเซน -​ โซเรน เลอร์​บี -​ อัลลัน ซิมอนเซน เป็นไดนาโม​ของทีม
ซึ่งในเกมวันนั้น ไมเคิล เลาดรูป ในวัย 20 ปี ได้ลงสนามเป็นตัวจริง อันเป็นบิ๊ก​แมตช์​ครั้งแรกของเขา ซึ่งด้วยความใหม่ต่อเกมระดับนี้ และ อังกฤษ​ชุดนั้นไม่ใช่ธรรมดา เขาจึงเล่นไม่ค่อยออกจนถูกเปลี่ยนตัวออกไป
แต่นั่นก็พอแล้วสำหรับการเปิดตัวในเกมระดับ​สูงจนกลายเป็นขาประจำของทีมชาติ
เขาพัฒนาไปจนกลายเป็นจอมทัพของทีมชุดสร้างเซอร์ไพรส์​ในฟุตบอล​โลก​ 1986 ที่ทำให้ทั้งโลกต้องจำทีมชาติขาวแดงที่เปล่งประกาย​ด้วยการเล่นเกมรุกอันสวยงาม
แล้วหลังจากนั้น ไมเคิล เลาดรูป ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นเพลย์เมกเกอร์​ระดับทวีป จากการได้ไปเล่นในเวทีกัลโช่​ที่เป็นลีกอันดับ​หนึ่ง​ของโลกในยุคนั้น แต่ด้วยการจำกัดโควตานักเตะต่างชาติ ยูเวนตุสยุค มิเชล​ พลาตินี จึงไม่ค่อยมีที่ให้เขาลงสนามในช่วงแรก
จนย้ายทีมข้ามลีกมาเล่นให้ บาร์เซโลน่า​ ของ โยฮัน ครัฟฟ์ เมื่อปี 1989 ที่คัมป์นู​จึงกลายเป็นเบ้าหลอมให้เขาเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นนักเตะระดับโลกตัวจริง
เขาประสบความสำเร็จ​อย่างมากมายในยุคที่กุนซือ​เทวดาวางรากฐานให้ศูนย์ฝึกลามาเซีย และทำให้บาร์เซโลน่า​กลายเป็นทีมระดับโลกเคียงข้าง​ศัตรู​อย่าง เรอัล มาดริด
ในขณะเดียวกันนั้น หลังจากที่ บ๊อบบี ร็อบสัน ล้มเหลวในการรับงานครั้งแรก เขาถึงกับเอ่ยปากยอมรับกับสื่อชาติ​ตัวเองว่า
งานผู้จัดการ​ทีม​ชาติอั​งกฤษมีความกดดันในการทำงานยิ่งกว่าตำแหน่ง​นายกรัฐมนตรี​ ซึ่งงานนี้จะไม่สามารถทำอะไรผิดพลาดได้เลย
หลังจากนั้นสองชาตินี้ได้มาเผชิญหน้า​กันอีกครั้ง แค่คราวนี้เป็นการแข่งขัน​รายการ​ระดับเมเจอร์​อย่างยูโร 1992
ซึ่งในช่วงปี 1990- 1991 ทีมชาติเดนมาร์ก​ที่พกดีกรีแชมป์​ชิงถ้วยพระราชทาน​ คิงส์คัพ ครั้งที่ 19 เมื่อปี 1988 ได้ตกรอบคัดเลือกฟุตบอล​เมเจอร์​เป็นรายการที่สองติดต่อกัน หลังไม่ผ่านการคัดเลือก​ทั้งฟุตบอล​โลก​ 1990 และ ฟุตบอล​ ยูโร 1992
แต่ด้วยปัญหาสงครามกลางเมืองของประเทศ​ยูโกสลาเวีย จึงทำให้ทีมชาติที่ได้เป็นแชมป์กลุ่มจากรอบคัดเลือกถูกตัดสิทธิ์​จากองค์กร​ลูกหนังโลก ซึ่งรวมถึงยูฟ่าด้วย
นั่นจึงทำให้ทีมชาติเดนมาร์ก​ที่เป็นรองแชมป์​กลุ่มได้สิทธิ์​เข้าไปแข่งยูโร​ 1992 ที่ประเทศ​สวีเดน​แทน
ซึ่งนักเตะส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงพักร้อน นอกจากแกนนำของทีมบางคนที่ใจจดใจจ่อ​กับข่าวสารของการพิจารณา​ทีมชาติยูโกสลาเวีย​จากทางยูฟ่า
หลังจากมีการประกาศข่าวแบนยูโกสลาเวีย​อย่างเป็นทางการ ขุนพลทีมชาติเดนมาร์ก​มีเวลาเตรียม​ทัพประมาณ​ 10 วันเพื่อไปแข่ง
ทุกคนพร้อม แต่ ไมเคิล เลาดรูป กลับมองว่าเสียเวลา เพราะการที่มีเวลาเตรียมทีมน้อยเกินไปไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นพ้องกับทีม รวมทั้งไม่ค่อยจะกินเส้นกับ ริชาร์ด​ โมลเลอร์​ นีลเซน ผู้จัดการ​ทีม​ เขาจึงปฏิเสธ​การเข้าร่วมทีมเฉพาะกิจชุดนั้น
แต่ ไบรอัน เลาดรูป น้องชายของเขาเลือกตัดสินใจต่างจากพี่ชาย และนี่คือก้าวที่เลาดรูปคนน้องเริ่มสร้างเส้นทางของตนเองแล้ว
โลกอาจจะพลาดการชมความแข็งแกร่งทีมชาติยูโกสลาเวีย​ชุดที่ว่ากันว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนถูกยกเป็นทีมเต็ง
เพราะนี่คือทีมที่มีนักเตะชุดที่เคยได้แชมป์เยาวชนโลกในปี 1987 ที่ตอนนั้นเข้าสู่วัยฉกรรจ์กันทุกคน​แล้ว ไม่ว่าจะเป็น  เปแดร็ก มิยาโตวิช , ซโวนิเมียร์ โบบัน , โรเบิร์ต โปรซิเนซกี้ , ดาวอร์ ซูเคอร์, เดยัน ซาวิเซวิช ,  ดาร์โก้ ปานเชฟ , โรเบิร์ต ยาร์นี่ และ วลาดิเมียร์ ยูโกวิช
รวมทั้งนักเตะระดับตำนานเย่าง ดราแกน สตอยโควิช ที่สร้างชื่อเสียง​เอาไว้เมื่อฟุตบอล​โลกเมื่อสองปีที่แล้วที่อิตาลี
แต่โลกไม่รู้ว่ามวยแทนอย่างเดนมาร์ก​ที่ยอมรับกันเองว่า ต่อให้พ่าย 3 เกมรวดตกรอบแบบยิงใครไม่ได้ พวกเขาจะไม่รู้สึกผิดหวังเลย กลับเดินหน้าสร้างนิยายตั้งแต่เกมนัดแรกในรอบแบ่งกลุ่ม
เจ้าภาพสวีเดน , ฝรั่งเศส​ และ อังกฤษ​ยุคเปลี่ยนผู้ตัดการทีมคนใหม่ นี่คือกรุ๊ป​ ออฟ เดธ สำหรับเดนมาร์ก​ชัดๆ
พวกเขาแบ่งคะแนนมาจากสิงโต​ป่วยจนเริ่มมีหวัง แต่กลับเข้าสู่ความเป็นจริงเมื่อแพ้เจ้าภาพ ในเกมตัดสินพวกเขาต้องชนะฝรั่งเศส​ แล้วแช่งให้อังกฤษ​ไม่มีคะแนน
สุดท้ายพวกเขาทำได้ เทพนิยาย​แห่งเดนส์กำลังเดินทาง
แชมป์​เก่าเมื่อปี 1988 คือเหยื่อรายต่อมา ทั้งโลกได้รู้จัก ปีเตอร์​ ชไมเคิล​ ที่เซฟลูกจุดโทษ​ของ มาร์โก ฟาน บาสเทน ได้อย่างง่ายๆ จนแชมป์​เก่าแพ้ในการดวลจุดโทษ​ตัดสิน
แชมป์โลกเยอรมันยุครวมชาติคือเหยื่อรายใหญ่​ที่ทำให้เทพนิยาย​เดนส์จบลงด้วยความสมบูรณ์​แบบ​
ทั้งโลกรู้จักเดนมาร์ก​ในฐานะแชมป์​ เสียงเพลง We are red, we are white, we are Danish Dynamite กระหึ่มไปทั่วยุโรป
เดนมาร์ก​ลบคำครหาของคำว่ามวยแทน พวกเขาอาจไม่ได้เล่นฟุตบอล​สวยงามเหมือนตอนเป็นหนึ่งในยอดทีมของยุค 80s
ปีเตอร์ ​ชไมเคิล​ กับแผงกองหลังถ่วงเวลาด้วยการรับส่งบอลกันไปมาอย่างน่าเกลียด จนกระทั่งถูกฟีฟ่านำมาเป็นต้นแบบการพิจารณา​กฎห้ามผู้รักษาประตู​ใช้มือรับบอลที่ฝ่ายเดียวกันส่งคืน
พวกเขาไม่มีนักเตะอันดับ​หนึ่งของทีม พวกเขาไม่ได้มาแข่ง​ด้วยสภาพความฟิตครบร้อย พวกเขาไม่ได้ถูกตั้งความหวังเหมือนทีมชุดก่อนๆ
แค่ในฐานะเต็งบ๊วยมวยแทน พวกเขาเป็นแชมป์​ด้วยการเล่นเอาสนุก เล่นด้วยแท็กติก​ทุกอย่างแบบไม่ต้องแบกความหวังของใคร
นี่จึงเป็นเทพนิยายที่เป็นที่สุดของวงการฟุตบอล​
และในคืนวันนี้ เดนมาร์ก​ที่ขาด คริสเตียน​ อีริค​เซน​ และ เข้ามาถึงรอบนี้ด้วยการแพ้ในสองเกมแรก กำลังจะสร้างรอยแค้นให้กับอังกฤษ​ในฟุตบอล​ยูโรอีกครั้ง
เทพนิยายเดนส์​ภาคสองกำลังเข้าสู่บทสุดท้ายด้วยการหยุดเส้นทาง Football's coming home
1
แต่พวกเขาต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาลงแข่งกับอังกฤษ​ในรายการเมเจอร์​ที่ฟุตบอล​โลกฉบับเอเชีย เมื่อปี2002
พวกเขาถูกถล่มยับจนกลับบ้านแทบไม่ไหวด้วยสกอร์ 3-0 ซึ่งในวันนั้น ทีมชาติ​อังกฤษ​มีผู้จัดการทีมชาติคนปัจจุบัน​นั่งเป็นสักขีพยาน​ในฐานะตัวสำรอง
ตีสองคืนนี้นิยายเรื่องใดจะได้ไปต่อ รอชมไปด้วยกัน
#PlayNowThailand #khelnow #football #footballgames #footballhighlights #footballplayers #Euro2020
โฆษณา