7 ก.ค. 2021 เวลา 13:57 • การเกษตร
"ข้าวต้นเดียว" S.R.I. เปิดทางเกษตรกร เปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่ "เกษตรอินทรีย์"
ภาพจาก "เดลินิวส์"
การปลูกข้าวต้นเดียว คือ การทำนาแบบประณีตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า (System of Rice Intensification – SRI) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ระบบการปลูกข้าวแบบเข้มข้นเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว” ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบ 1 ต้น ต่อ 1 หลุม ห่างกันประมาณ 40 ซม. มีการควบคุมน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อให้ต้นข้าวมีการแตกกอมากขึ้น
ทั้งนี้ระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวเริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504-2538 โดยนายอองรี เดอ โลลานี กับ เกษตรกรในมาดากัสการ์ เรียกว่า “การปลูกข้าวแบบมาลากาซี” ต่อมาขยายไปประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทยเป็นต้น
ในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2547 สถาบันแมคเคนเพื่อฟื้นฟูสภาพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยอาจารย์เคล้าซ์ ปรินซ์ ส่งเสริมให้เกษตรกรที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ปลูกข้าวแบบ SRI ปัจจุบันได้ขยายไปหลายจังหวัด เช่น น่าน สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร สุพรรณบุรี นครราชสีมากาฬสินธุ์ และพบว่าการปลูกข้าวแบบ SRI ทำให้ได้มีผลผลิตมากขึ้น
หัวใจ S.R.I. ต้องเข้าใจ"ศักยภาพ" ต้นข้าว
ดร. นอร์แมน อัพฮอฟฟ์
ดร. นอร์แมน อัพฮอฟฟ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และการพัฒนาชนบท ผู้อำนวย การสถาบันอาหาร เกษตรกรรมและการพัฒนานานาชาติของคอร์แนล ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่การปลูกข้าวแบบ S.R.I. ให้เป็นที่รู้จักและมีการทดลองทำกันทั่วโลก กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ S.R.I. อยู่ที่การเข้าใจถึง ศักยภาพโดยธรรมชาติของต้นข้าวแต่ละต้น ระบบนี้จึงปฎิรูปการจัดการต้นกล้าและสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาระบบรากของต้นข้าวให้แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
" เมื่อจัดการ สภาพแวดล้อมทุกอย่างได้ลงตัว ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดๆคือผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าและยังลดการ ใช้น้ำและปุ๋ยลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง และนี่อาจเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของโลก เป็นการปฎิวัติระบบการผลิตข้าวที่มีเครือข่ายของชาวนาชาวไร่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ" กร.นอร์แมน กล่าว
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ SRI กล่าวต่อว่า ข้อแตกต่างที่สำคัญการทำนาวิธีนี้กับแบบเดิมๆ ก็คือการย้ายต้นกล้าตั้งแต่ยังเล็กมากๆและใช้ต้นกล้าแค่หลุมละต้น โดยปลูกอย่างทะนุถนอมห่างๆกันแทนที่จะปักหลุมละหลายๆต้นตามวิธีการเดิมๆ ส่วนน้ำในนาก็ไม่ใช้การท่วมขังแต่แค่รักษาให้มีความชุ่มชื้นตลอด ปรากฎว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยของแปลงทดลองอยู่ที่ไร่ละ 1.28 ตัน เพิ่มขึ้นถึง4เท่า ประหยัดน้ำไปได้กว่าครึ่ง และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวแค่ประมาณ1ใน 10 จากที่เคยใช้
"จุดเด่นที่สำคัญของระบบการปลูกข้าวแบบ S.R.I. คือต้นข้าวจะมีระบบรากที่ แข็งแรงและใหญ่โตกว่าวิธีปกติแบบมาก การย้ายต้นกล้าตั้งแต่ยังเล็กและปลูกอย่างทะนุถนอมทำให้ รากต้นข้าวไม่ช้ำการปลูกเพียงหลุมละต้นและเว้นระยะห่างกันก็ทำให้ต้นกล้าสามารถรับแสงแดดและเติบโตได้เต็มที่โดยไม่ต้องแย่งกันเอง
เป็นหลักการเดียวกับเกษตรกรรมธรรมชาติที่นอกจากจะเน้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของพืชนั้นๆแล้ว ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ แร่ธาตุ หมุนเวียนให้สมดุล เมื่อรากสมบูรณ์ต้นข้าวก็มีขนาดใหญ่ขึ้น มีรวงมากขึ้นและให้ผลผลิตมากขึ้น นอกจากนี้คุณภาพของดินก็ดีขึ้นเพราะวิธีการดังกล่าวเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการไถกลบเพื่อกำจัด วัชพืชและช่วยให้ดินมีการระบายอากาศดีขึ้น" ดร.นอร์แมน กล่าว
ตัวอย่าง SRI  กลุ่มชาวนาวันหยุด ประเทศไทย
ตัวอย่าง SRI  กลุ่มชาวนาวันหยุด ประเทศไทย
ตัวอย่าง SRI จากประเทศฟิลิปปินส์
ตัวอย่าง SRI จากประเทศฟิลิปปินส์
“ผลิตให้มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง"
ปัจจุบ้นได้มีการเผยแพร่การทำเกษตรแบบ SRI ไปทั่วโลก โดยใช้สโลแกนว่า “ผลิตให้มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่น้อยลง : หนทางใหม่ในการเพาะปลูกข้าว Achieving More with Less : A new way of rice cultivation” เพราะ
1. การใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียว
2. ต้นกล้าที่มีอายุ 8-12 วัน หรือมีใบเล็กๆสองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก
3. การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น
4. การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว 5. การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์
ซึ่งแนวคิดดังกล่าว สามารถนำไปปรับใช้กับพืชได้ เช่น อ้อย ข้าวสาลี เรียกว่า System of Crop Intensification – SCI ซึ่งพบว่าการปล่อยให้พืชได้เติบโตเต็มที่ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น โดยประเทศที่ทำเสร็จแล้ว เช่น ที่ประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา อัฟกานิสถาน
ตัวอย่าง ต้นข้าว SRI ของประเทศอินเดีย
อุปสรรค S.R.I. อยู่ที่ "ทัศนคติ"?
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การปลูกด้วยระบบ S.R.I. ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกอย่างต้องทำอย่างประณีตทีละต้นๆ การลงมือทำต้องอาศัยใจที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความทุ่มเท ที่สำคัญต้องเข้าใจธรรมชาติพืชเป็นอย่างดีและสามารถยอมรับธรรมชาติการเติบโตของพืชได้
ในเรื่องนี้ ดร.นอร์แมน บอกเช่นกันว่า อุปสรรคสำคัญของวิธี S.R.I. คือ “มันฟังดูดีเกินไป” จนหลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ นักวิทยาศาสตร์การเกษตรหลายต่อ หลายคนก็คิดอย่างนั้นจึงไม่คิดที่จะนำไปทดลองอย่างจริงจัง อีกทั้งต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนเทคนิคการปลูกข้าวที่มีมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น การใช้น้ำท่วมวัชพืช การใช้เมล็ดพันธุ์ทำนาน้ำตมไร่ละ 25-30 กก.
ตัวอย่าง S R I ที่ประเทศพม่า
ปลูกข้าว S.R.I. ช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง
ดร.นอร์แมนเองยอมรับว่า ตอนแรกก็รู้สึกเคลือบแคลงไม่ต่างจากนักวิชาการคนอื่นๆ แต่พอได้ศึกษาก็พบว่า วิธีการปลูกข้าวแบบS.R.I. สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการเกษตรเชิงนิเวศ (Agro-ecological approach) นั่นคือเมื่อพืชได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวให้เต็มที่ก็ย่อมให้ผลผลิตที่สูงขึ้น และเห็นว่าวิธีการปลูกพืชแบบนี้ สามารถแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมได้ เพราะชาวนาที่มีไร่นาขนาดเล็กสามารถได้ผลผลิตสูงสุดจากพื้นที่ปลูกที่มีจำกัด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญ S.R.I. บอกว่า ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับ S.R.I. เพราะแม้พื้นที่ต่างๆจะใช้หลักการเดียวกัน แต่ชาวนายังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและระบบนิเวศธรรมชาติในแต่ละท้องที่มาปรับปรุงในรายละเอียดจึงจะประสบผลสำเร็จสูงสุด
ตัวอย่าง SRI ของประเทศจีน
"สิ่งที่ผมอยากเห็น จากหลักการ S.R.I. ก็คือการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าระบบการปลูกข้าวที่เน้นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้ทางด้านนิเวศวิทยาแบบนี้จะช่วยให้เกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณที่อาจต้องประสบกับภัยแล้งยาวนานและบ่อยครั้งขึ้น"
ทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่า การปลูกข้าวแบบ S.R.I. ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่สามารถทดลองทำในแปลงเล็กๆก่อน เช่น กลุ่มชาวนาวันหยุด ที่ได้นำแนวคิดนี้มาต่อยอดเป็นการปลูกข้าวแบบ "เปียกสลับแห้งแกล้งข้าว" และมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรไทยได้รับผลผลิตที่สูงขึ้น โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำลง
ตัวอย่าง SRI ของประเทศอินโดนีเซีย
กระบวนการทัศน์ใหม่ในการปลูกพืช
หากในบริบทประเทศไทยก็ควรนำแนวคิดนี้มาปรับปรุงกับพืชไร่ โดยใช้หลักการให้พืชแต่ละต้นแสดงศักยภาพเติบโตอย่างเต็มที่ มีการบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเป็นอย่างดี แนวคิดดังกล่าว อาจจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการปลูกพืชทั้งหมดได้ ว่าต่อไปนี้ พืชไร่ ไม่ใช่แค่การหว่านพืชและปล่อยให้พืชโตเองตามชะตากรรมอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องดูแลเป็นอย่างดี ทำน้อยแต่ได้มาก
ต้นไม้ทุกต้นต้องการพื้นที่และการเอาใจใส่ เพื่อที่เขาจะได้เติบโตได้อย่างเต็มที่ เต็มศักยภาพ นี่คือการกลับมาเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง หลังจากที่เรามองข้ามพืชไร่ต่างๆมาอย่างยาวนาน ว่าจะปลูกอย่างไรก็ได้ แค่ใส่ปุ๋ย ใส่น้ำ ใส่ยาฆ่าแมลงเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว พืชทุกชนิดมีความผูกพันกับธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
ด้านซ้ายปลูกด้วยวิธี SRI ด้านขวาปลูกแบบปกติ
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่เราอาจจะต้องเปลี่ยนการรับรู้ของเราเองเช่นกัน ว่าต้นไม้หรือต้นพืช แม้จะเพียงต้นเดียว ไม่ได้เป็นสิ่งไร้ค่า ไร้ชีวิตอีกต่อไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องมีความรักและเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง มีความเกื้อกูลต่อกันและกัน
โฆษณา