โพสต์ที่แล้วฐาได้แชร์วิธีที่ใช้เตรียมตัวสอบ TOEIC, โพสต์นี้จะพูดถึงข้อสอบจริงที่เจอ และเทคนิคการทำข้อสอบวันจริงค่ะ
ตั้งใจเขียนออกมามากๆ หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับเพื่อนๆที่กำลังเตรียมตัวหรือมีแพลนจะไปสอบ TOEIC นะคะ 🙂
ข้อสอบ TOEIC นี้มีทั้งหมด 200 ข้อ เวลาสอบทั้งหมด 120 นาที
ฐาเขียนแยกเป็น Listening Part และ Reading Part เรียงลำดับตาม Part 1-7 ค่า
หรือใครที่ชอบดูวิดิโอ ภาพและเสียง ตามไปดูที่นี่ได้เล้ย
📋𝙇𝙞𝙨𝙩𝙚𝙣𝙞𝙣𝙜 𝙋𝙖𝙧𝙩 100 ข้อ, 45 นาที
** Audio จะมีประมาณ 4 สำเนียงนะคะ คือ American, British, Canadian, Australian
💌 Part 1 Photograph จำนวน 6 ข้อ (ข้อ 1 – ข้อ 6)
- ในเล่มข้อสอบจะมีรูปขนาดใหญ่ เห็นชัดให้มาเลย 6 รูปแค่นั้น ที่เหลือคือเรารอฟังตัวเลือก a, b, c, d ว่าตัวเลือกไหนตรงกับภาพมากที่สุด 🎑🌁
- เทคนิคคือ ดูรูปแล้วเก็บรายละเอียดเร็วๆ ว่าในรูปนั้น มีใครบ้าง, กี่คน, กำลังทำอะไรกันอยู่ หรือสิ่งของ สภาพแวดล้อมในรูปเป็นยังไง – เสร็จแล้วตั้งสติรอฟังตัวเลือกที่จะได้ยิน ระหว่างที่เขากำลังอ่านตัวเลือก ถ้าข้อ a ไม่ใช่ ก็เลื่อนดินสอไปจ่อที่ตัวเลือกต่อไปเลย ถ้าข้อไหนใช่ จะได้ฝนเลย ไม่ต้องมานั่งนึกว่าไอข้อที่ใช่เมื่อกี้ มันคือ a, b, c หรือ d
- ข้อควรระวังคือ ให้ฟังให้จบประโยค ว่าตัวเลือกนั้นพูดถึงภาพนั้นได้ถูกต้อง ไม่ขาดและไม่เกิน อย่าเลือกฝนแค่เพราะว่าข้อนั้นมีคำของสิ่งที่ปรากฏในรูป เช่น รูปนั้นมีโทรศัพท์วางอยู่บนโต๊ะ ตัวเลือกนึงบอกว่าผู้หญิงกำลังโทรศัพท์ แต่ความจริงโทรศัพท์มันแค่วางอยู่เฉยๆ ไม่ได้มีใครทำอะไรกับมัน ก็อย่าด่วนฝนนะคะ, อาจมีศัพท์บางคำที่เราฟังไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ความหมาย ก็ให้เลือกข้อที่โดยรวมฟังแล้วใช่สุด บรรยายถึงรูปนั้นได้ดีสุด ✔️
.
💌 Part 2 Question & Response จำนวน 25 ข้อ (ข้อ 7 – ข้อ 31)
- ในเล่มข้อสอบจะไม่มีอะไรให้เลย นอกจากเลขข้อ 7 ถึงข้อ 31, จะมีคนพูดมา 1 ประโยคคำถาม (บางทีก็เป็นประโยคบอกเล่า) พูดจบแล้วจะตามด้วยตัวเลือก a, b, c เหมือนเป็นการสนทนาเพื่อโต้ตอบกลับ แม้จะมีแค่ 3 ตัวเลือก แต่ก็ทำให้อิหยังวะได้ 🧐
- เทคนิคคือ ฟังคำถามแล้วจับให้ได้ว่าเขาถามยังไง เช่น what, why, when, where, which, how หรือบางทีก็ถามแบบ question tag พอฟังตัวเลือกก็พยายามฟังว่าตัวเลือกไหนที่ดูโต้ตอบเป็นเรื่องเดียวกับคำถาม หรือบางทีคำตอบดูไม่ใช่เป๊ะๆ แต่เพราะพอฟังตัวเลือกอื่นๆแล้วมันไม่เกี่ยวกันเลย ทำให้เราตัดออกไปได้
- ข้อควรระวังคือ อย่าด่วนเลือกตัวเลือกที่เราได้ยินคำ คำเดียวกับที่อยู่ในคำถาม เพราะบางทีก็พูดกันคนละเรื่องเลย แต่แค่เป็นคำเดียวกัน, หรือเป็นคำที่เสียงคล้ายกัน แต่จริงๆแล้วคนละคำ, พูดมาเป็นคำถามแต่ไม่ได้ตอบตรงๆ เช่น ถามว่าต้องเตรียมน้ำผลไม้สำหรับการประชุมเท่าไหร่ คำตอบคือ ทุกคนในแผนกเข้าร่วมประชุมนี้ (ไม่ได้ตอบเป็นจำนวน แต่ตอบกลายๆแทน) หรือถามว่า จะกินอาหารเช้าได้ที่ไหนบ้าง คำตอบคือ มีอยู่ 2-3 ตัวเลือก (ไม่ได้ตอบเป็นสถานที่ตรงๆว่ากินที่ไหนได้), ยังไม่จบๆ คำถามบางข้อ ก็โต้ตอบกลับด้วยคำถาม เช่น พรุ่งนี้เราต้องเอาอะไรไปประชุมบ้าง? คำตอบคือ เธอยังไม่ได้อ่านอีเมล์หรอ? ,หรือบางทีมาเป็นประโยคบอกเล่า แล้วเราก็ต้องตอบโต้กลับ เช่น เราควรซื้อเครื่องทำกาแฟ คำตอบคือ นั่นเป็นไอเดียที่ดี
.
💌 Part 3 Short Conversation จำนวน 39 ข้อ (ข้อ 32 – ข้อ 70)
- ในเล่มข้อสอบจะมีคำถามมาคู่กับตัวเลือก เราจะได้ยินคนคุยไปมากัน 2 – 3 คน ทั้งหมด 11 บทสนทนา แต่ละบทสนทนาจะถามทั้งหมด 3 คำถาม มีตัวเลือก 4 ตัว a, b, c, d – เราจะได้ยินบทสนทนาและ เขาจะอ่านคำถามและตัวเลือกให้เราฟังค่ะ
- เทคนิคคือ ไปกวาดสายตาว่าคำถามของบทสนทนาที่กำลังจะได้ยิน ถามอะไร เพื่อให้เรามีในหัวคร่าวๆว่าต้องจับประเด็นอะไรจากบทสนทนา เช่น บทสนทนานี้น่าจะเกิดขึ้นที่ไหน? ผู้หญิงจะทำอะไรต่อ? ผู้ชายโทรมาทำไม? - พอเราฟังบทสนทนาจบ ใน audio เขาจะอ่านคำถามและตัวเลือกให้เราฟัง เราก็ใช้จังหวะนั้นเลือกตัวเลือกได้เลย ถ้าข้อไหนไม่มั่นใจ ให้อ่านประมวลผลอีกทีแต่อย่าเสียเวลานาน – เราจะได้ย้ายไปเตรียมตัวอ่านคำถามของบทสนทนาต่อไปเตรียมไว้เลย ถ้ามีเวลาเหลือก็กวาดตาอ่านตัวเลือกของแต่ละคำถาม – ทำแบบนี้เป็นวงจรไปจนครบ 11 บทสนทนา
- ข้อควรระวังคือ ในบทสนทนาจะมีผู้ชาย ผู้หญิงคุยกัน เช่น บางตัวเลือกถามว่าผู้ชายจะทำอะไร ก็ให้เลือกกิจกรรมที่ผู้ชายจะทำ ไม่ใช่เลือกกิจกรรมที่ได้ยินจากเทป แต่จริงๆแล้วเป็นกิจกรรมที่ผู้หญิงจะทำ ดังนั้นตั้งสติดีๆค่า
.
💌 Part 4 Short Talk จำนวน 30 ข้อ (ข้อ 71 – ข้อ 100)
- ในเล่มข้อสอบจะมีคำถามมาคู่กับตัวเลือก เราจะได้ยินคนเดียวพูด ระยะเวลายาวประมาณนึง อาจเป็นประกาศที่สนามบิน พอดแคสต์ ชี้แจงในที่ประชุม พยากรณ์อากาศ ทั้งหมด 10 บทสนทนา แต่ละบทสนทนาจะถามทั้งหมด 3 คำถาม มีตัวเลือก 4 ตัว a, b, c, d
- เทคนิคพาร์ท 4 เหมือนพาร์ท 3 เลยค่ะ คือ กวาดสายตาอ่านคำถาม เก็บประเด็นที่จะถาม แล้วตั้งใจฟัง แล้วก็ทำซ้ำแบบนี้ต่อจนครบ 10 บทสนทนา
- ข้อควรระวังคือ หลังจากที่เราฟังจบ เราจะพอจับใจความได้ว่าพูดถึงอะไร แต่บางที ตัวเลือกอาจคล้ายกัน, หรือบางคำถาม เราก็ต้องลองประมวลผล และตีความเอาจากสิ่งที่เราจะได้ยิน เช่น ผู้พูดเป็นใคร? ประกาศนี้เกิดขึ้นที่ไหน? – โดยสรุปคือถ้าเราฟังไม่หลุด เราจะตอบถูกอยู่นะคะ คำถามไม่ยากเกิน
- มีแนวคำถามแบบใหม่ที่พาร์ท 4 คือ ข้อท้ายๆของพาร์ทนี้ จะมีรูปภาพกราฟฟิคมาใช้ประกอบในการถามเรา เช่น พูดถึงเรื่องยอดขาย + มีกราฟแท่งโชว์ยอดขายรายเดือน แล้วพูดว่ามีเดือนที่เราขายของได้ถึง 30,000 ชิ้น -> คำถามจะถามว่าในบทสนทนาเมื่อสักครู่ เขาพูดถึงยอดขายเดือนไหน? ดังนั้นเราก็ต้องไปดูที่กราฟแท่ง ว่าเดือนไหนที่ยอดขายแตะ 30,000 ชิ้น = ได้คำตอบ จบปึ้ง 💘
.
💎 เทคนิคส่วนตัวตอนทำพาร์ทฟัง
คือ เพ่งสติ หาจุดรวมสายตาไว้ที่เดียว แล้วแช่ไว้ เหมือนคนเหม่ออะค่ะ เผลอไม่ได้ วอกแว่กไม่ได้ จะมาคันหู หรือเห็นจมูกเล็บฉีกแล้วอยากดึง ไม่ด้ายยยย ไม่งั้นเตรียมตัวหวิวกับคะแนนข้อนั้น, ถ้าข้อไหนหลุดแล้ว ปล่อยเลย อย่าอาลัยอาวรณ์ ย้ายไปเตรียมตัวทำข้อต่อไปเลยค่ะ, ถ้าฟัง แล้วไม่หลุด โอกาสที่จะตอบพาร์ทฟังถูกค่อนข้างสูงนะคะ
.
ใครอ่านถึงจุดๆนี้ ยินดีด้วยค่ะ ครึ่งทางแล้ว 5555 🥳🎉
(ขอเสียงคนที่ถึงจุดนี้หน่อยย คอมเมนท์ประกาศศักดากันมาเล๊ย)
📋 𝙍𝙚𝙖𝙙𝙞𝙣𝙜 𝙋𝙖𝙧𝙩 100 ข้อ, 75 นาที
💌 Part 5 Incomplete Sentence จำนวน 30 ข้อ (ข้อ 101 – ข้อ 130)
- ในเล่มข้อสอบ 1 ข้อ มี 4 ตัวเลือก a, b, c, d จะให้มา 1 ประโยคแล้วเว้นช่องว่าง ให้เราเลือกตอบ – พาร์ท 5 จะวัดแกรมม่า
: เรื่อง part of speech (ประเภทของคำ) ขยายความเพิ่ม คือเป็นคำเดียวกัน แต่หน้าที่ในประโยคต่างกันตามรูป Noun คำนาม, Verb คำกริยา, Adjective คำวิเศษณ์, Adverb กริยาวิเศษณ์ –> เราต้องเลือกคำไปเติมให้ถูกหน้าที่ (ยกตัวอย่างคำ: agree, agreement, agreeable, agreeing)
: เรื่อง subject verb agreement คือ การเลือกใช้ประธานและกริยาให้สอดคล้องตามหลักแกรมม่า (เติม s, es)
: เรื่อง Tense – เรื่องคำเชื่อม –เรื่องคำศัพท์ที่เข้ากับบริบท –เรื่องอื่นๆ (ต้องลองทำข้อสอบค่ะจะรู้ว่าเรื่องที่วัดจะเป็นเรื่องเดิมๆ)
: เทคนิคคือ ดูหน้าและหลังของช่องว่างว่าคืออะไร เราจะได้เลือกคำไปเติมให้เหมาะสม, เลือกคำตอบให้เหมาะสมกับประโยคโดยลองแปลเป็นไทยว่าถ้าเลือกข้อนี้แล้ว ฟังเข้าใจไหม ขัดหูไหม ให้เลือกข้อที่ความหมายเข้ากับบริบทที่สุด
: ข้อควรระวังคือ รู้ว่าเวลามีจำกัดต้องรีบทำ ค่อยๆคิดว่าตัวเลือกไหนถูก ดีกว่ารีบเร่งตัวเองแต่เสียคะแนนข้อนั้นไปเปล่าๆ
.
💌 Part 6 Text Completion จำนวน 16 ข้อ (ข้อ 131 – ข้อ 146)
- ในเล่มข้อสอบ คือเราจะเจอกล่องข้อความ อาจจะเป็น email, ประกาศ ที่พูดถึงเรื่องนึง ทั้งหมด 4 กล่องข้อความ ซึ่งแต่ละกล่องจะมี 4 ช่องว่างในกล่องข้อความนั้นเป็นระยะ ให้เราเลือกเติมมี 4 ตัวเลือก a, b, c, d (ต่างกับพาร์ท 5 ตรงที่จะให้มาแค่ 1 ประโยค) – พาร์ท 6 จะวัดแกรมม่าเช่นเดียวกับพาร์ท 5 ค่ะ
- เทคนิคการทำพาร์ท 6 ที่ฐาใช้เหมือนพาร์ท 5 เลยค่า
- ข้อควรระวังคือ จะมี 1 คำถามจากแต่ละกล่องข้อความ ที่ตัวเลือกมาเป็นประโยค (ไม่ใช่แค่คำ แบบพาร์ท 5) เช่น ช่องว่างนี้ ประโยคในตัวเลือกไหนที่เหมาะสมที่สุด จะวัดความเข้าใจเนื้อเรื่องที่เราอ่าน – ฐาก็จะดูว่าข้างหน้าและข้างหลังพูดถึงเรื่องอะไรกันอยู่ สุดท้ายแล้วเรื่องราวมันจะไปเชื่อมโยง และสะท้อนอยู่ในตัวเลือกเลยค่ะ
.
💌 Part 7 Reading Comprehension จำนวน 54 ข้อ (ข้อ 147 – ข้อ 200)
- ในเล่มข้อสอบ บอกเลยว่าเตรียมตัวสนุกสนาน พาร์ท 7 จะวัดความเข้าใจในการอ่านของเรา จะเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกัน โต้ตอบกัน เช่น ประกาศ, ใบโฆษณา, หน้าเว็บไซต์, email, จดหมาย, ข้อความแชท, ใบสั่งซื้อ ต่างต่างงงงงงงงง โดยมีทั้งหมด 15 ขยัก (ฐาเรียกไม่ถูกจริมๆ 5555) มีตั้งแต่ 1-3 กล่องข้อความ แบ่งดังนี้ค่ะ แบบ 1 ข้อความ 9 ขยัก, แบบ 2 ข้อความ 3 ขยัก, แบบ 3 ข้อความ 3 ขยัก
- เทคนิคคือ ดูว่านี่คือข้อความประเภทไหนตามที่ฐาได้บอกไปข้างบน - กวาดสายตา อ่านชื่อเรื่อง ชื่อคน ใครเขียนถึงใคร ตัวเลข วันที่ ทดไว้ในใจ คร่าวๆประมาณนี้ค่ะ – แล้วไปดูว่าคำถามถามอะไร ต้องการรู้อะไรบ้าง ตอนที่เรากลับมาอ่านแบบเต็มๆ แล้วจะได้เก็บคำตอบไว้ในใจไปเลย – อ่านคำถามเสร็จ กลับไปอ่านข้อความเลย ถ้ามีมากกว่า 1 กล่องข้อความ ให้เริ่มหาว่าความเชื่อมโยงระหว่างกล่องข้อความคือเรื่องอะไร – แล้วไปฝนคำตอบเลย
- ข้อควรระวังคือ บางคำถาม เราไม่สามารถหาคำตอบได้จากกล่องข้อความเดียว เราต้องอ่านทุกกล่องข้อความ แล้วมาประมวล หาความเชื่อมโยง ตีความเอาเอง อมก.มาก! (ต้องฝึกทำข้อสอบ ถึงจะรู้ว้าว 5555) คำถามเช่น สรุปแล้วโรงแรมแห่งนี้เปิดบริการวันไหน? – ในกล่องข้อความแรกคืออีเมล์กำหนดการต่างๆ ซึ่งก็ระบุวันเปิดบริการวันที่ 1 โต้งๆ กล่องข้อความที่ 2 เป็นอีเมล์ของคนสองคนคุยกันถึงปัญหาการก่อสร้างว่าติดขัดเรื่องพรม และอีกกล่องข้อความนึงเป็นประกาศข่าวเปิดตัวโรงแรมหนังสือพิมพ์ลงวันที่ 5 บรรยายบรรยากาศงานเปิดตัว -> ดังนั้นคำตอบต้องตอบ วันที่ 5 ถ้าเราเห็นแล้วรีบตอบวันที่ 1 ก็คือผิด บ๊ายบายคะแนนเลย ฮือ คือล้ำมากแนวคำถามแบบนี้ เราต้องใช้ทั้งทักษะการอ่าน และการเอ๊ะ
- จะมีคำถามแนวใหม่ที่พาร์ท 7 ในคำถามจะให้เป็นประโยคนึงมาแล้วถามว่า ประโยคที่ให้มานี้ ควรอยู่ในตำแหน่งใด ซึ่งก็คือวัดว่าที่เราอ่านข้อความมานี้ เราเข้าใจเรื่องราวไหม – เทคนิคที่ฐาทำนอกจากอ่านให้เข้าใจแล้ว คือไปดูคำว่าประโยคที่เขาให้มาพูดถึงประเด็นอะไร แล้วไปดูตำแหน่ง 1, 2, 3, 4 ที่วางไว้ในข้อความ ดูข้างหน้าและข้างหลังเหมือนเดิมว่ามีประเด็นนั้นๆจากคำถามมาเกี่ยวข้องไหมค่ะ
.
💎 เทคนิคส่วนตัวตอนทำพาร์ทอ่าน
คือ รีบกวาดสายตา แต่กวาดแบบโฟกัส ไม่ใช่รีบอ่านแต่ไม่ได้อะไร skim ให้เร็วประหนึ่งเหมือนจะหนีเจ้าหนี้ ชั้นต้องรอด ชั้นต้องทำทัน, ซึ่งการที่จะทำข้อสอบให้เร็วได้ ต้องฝึกทำเยอะๆ ทำจนเราชินไปเลย
- พาร์ท 5 และพาร์ท 6 ถ้าโปรมากๆแล้ว เราอาจไม่ต้องอ่านทำความเข้าใจทั้งประโยค หรือทั้งกล่องข้อความ เราแค่ดูตัวที่อยู่ข้างหน้าและข้างหลังของช่องว่างนั้น บางทีก็ได้คำตอบเลย ก็จะช่วยให้เรามีเวลาเหลือทำข้ออื่นมากขึ้น
- พาร์ท 7 เป็นพาร์ทที่ควรเก็บคะแนนมากๆ เพราะไม่ได้วัดแกรมม่าเราเลย คำตอบมีอยู่ในกล่องข้อความหมดแล้ว เราแค่ต้องทำให้ทัน และหาให้เจอ เพราะกล่องข้อความมันมีทั้งสั้น จนไปถึงยาวมาก + จำนวนข้อสอบพาร์ทนี้มันเยอะมาก (ถ้าฝึกทำเยอะๆ พาร์ทนี้จะตอบแทนคะแนนให้เราอย่างสวยงามเลย)
.
.
🎉🥰ครบถ้วนกระบวนความของ TOEIC Serie ที่ฐาตั้งใจแชร์มาจากใจเลย 💓 ทั้งพาร์ทฟังและพาร์ทอ่าน
แชร์เก็บกันไว้ให้เพื่อน แฟน ให้ลูกให้หลานกันได้เยย ฐายินดีมากๆค่า 🤓
เพื่อนๆสามารถติดตาม #subscribe ฐา ได้ที่ youtube : tha.nattha ❤️
หรือ Instagram l Facebook l Tiktok l Blockdit ทุกช่องทาง “tha.nattha” ค่า : )