Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เกษตรโตวันโตคืน - Kasetallday
•
ติดตาม
8 ก.ค. 2021 เวลา 06:43 • การเกษตร
"ธาตุอาหารหลักทั้งสาม"
การจำแนกกลุ่มแร่ธาตุอาหารหลักและและแร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการน้อยอาศัยหลักการต่างๆในปริมาณแร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการ ตัวไหนที่พืชมีความต้องการสูงในก็จะเป็นกลุ่มธาตุอาหารหลัก ตัวที่พืชใช้น้อยลงมาหน่อยคือกลุ่มธาตุอาหารรอง ส่วนแร่ธาตุที่ต้องการเพียงปริมาณน้อยที่สุดก็คือกลุ่มแร่ธาตุอาหารเสริม แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงกลุ่มแร่ธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ตัวได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ที่พืชต้องใช้เป็นจำนวนมากในการเจริญเติบโต
ทั้ง 3 ธาตุในปัจจุบันนี้เรามีการทำออกมาในรูปของปุ๋ยอยู่เต็มท้องตลาด ความเป็นจริงในดินที่อุดมสมบูรณ์เองมีทั้ง 3 อยู่ในปริมาณที่เพียงพอ นั่นแปลว่ากุญแจแรกในการทำให้พืชได้สารอาหารหลักเพียงพอ คือการดูแลดินที่นำมาปลูกให้สมบูรณ์อยู่เสมอ
ไนโตรเจน (N)
เป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของพืชประมาณ 18% โดยกว่า 80% ของไนโตรเจนที่พบในพืชมักจะอยู่ในรูปองค์ประกอบของโปรตีน ที่เหลือเป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลิอิคและอะมิโนที่ละลายได้ ซึ่งพืชนำไนโตรเจนมาใช้ในการดูดซึมจากรากในดินในรูปของเกลือไนเตรต (NO3-) และเกลือแอมโมเนียม (NH4+)
ไนโตรเจนในดินมักสูญเสียได้ง่ายจากการชะล้างในรูปของเกลือไนเตรท (NO3-) หรือการระเหยของเกลือแอมโมเนียม (NH4+) ดังนั้นหากต้องการให้ไนโตรเจนในดินมีเพียงพอ จะต้องให้ในรูปของปุ๋ย จากการสลายตัวของอินทรียวัตถุ และการแปรสภาพของสารอินทรีย์ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการธาตุไนโตรเจนของพืชต่างกันคือ ชนิดของพืช, อายุของพืช และฤดูกาล
หน้าที่หลักของไนโตรเจนคือทำให้พืชเจริญเติบโต โดยเฉพาะในระยะแรกของการเจริญเติบโต ทำให้ลำต้นและใบมีสีเขียวเข้ม ส่งเสริมการสร้างโปรตีนให้พืช อีกทั้งยังควบคุมการออกดอก ควบคุมการติดผล และการเพิ่มจำนวนผลผลิตให้สูงขึ้น
หากพืชขาดไนโตรเจนจะทำให้การเจริญเติบโตชะงัก สีของใบจะมีสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลตามปริมาณการขาดคลอโรฟิลด์ โดยไล่ตำแหน่งจากใบแก่ขึ้นไปเรื่อยๆ ในส่วนของใบอ่อนระยะแรกจะยังมีธาตุไนโตรเจนที่ได้รับการลำเลียงมาจากใบแก่ด้านล่าง แต่ถ้าขาดไนโตรเจนปริมาณมากใบอ่อนก็จะเหลือง การเจริญเติบโตส่วนยอดก็จะหยุดชะงักทันที ตัวลำต้นหากขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น กิ่งก้านลีบเล็ก จำนวนการแตกกิ่ง, แตกแขนง, แตกกอมีจำนวนน้อย
ตรงกันข้ามหากไนโตรเจนสูงเกินไป ผลไม้ก็จะใช้เวลาสุกนานขึ้น ผลไม้จะนิ่มและมีอายุการเก็บรักษาสั้น ไนโตรเจนมากเกินไปส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของรากและประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืช นอกจากนี้ยังจะทำให้ทนต่อความเย็นได้น้อยลง
ฟอสฟอรัส (P)
ฟอสฟอรัสถูกตรึงเป็นสารประกอบได้ง่าย ในพืชมักจะพบฟอสฟอรัสได้ในรูปของฟอสเฟตไอออน ซึ่งพบเจอได้ในท่อลำเลียงน้ำ ในเซลล์พืช ในเมล็ด โดยหน้าที่หลักคือการถ่ายทอดพลังงาน และควบคุมระดับความเป็นกรด-ด่างของกระบวนการลำเลียงน้ำในเซลล์
ฟอสฟอรัสในดินถูกนำมาใช้ในรูปอนุมูลไดไฮโดรเจนฟอสเฟตไอออน (H2PO4-) และไฮโดรเจน (HPO42-) ปริมาณมากน้อยแปรผันตามความเป็นกรด-ด่างตามลำดับ โดยทั่วไปดินที่เป็นกรด-ด่างจัดๆ พืชจะนำฟอสฟอรัสไปใช้ได้ในจำนวนที่น้อย เพราะฟอสเฟตเองจะไปจับตัวกับไอออนอื่นๆ ทำให้ดินที่เหมาะสมให้พืชนำฟอสฟอรัสไปใช้คือดินที่สภาพเป็นกลาง
หน้าที่หลักของฟอสฟอรัสคือเสริมการเจริญของรากทุกชนิดโดยเฉพาะระยะแรกของการเจริญเติบโต, ลำต้นแข็งแรง (จากรากที่ฐานมั่นคง), ช่วยเร่งวัยของพืชให้ออกดอก ติดผลและสร้างเมล็ด, อีกทั้งยังส่งเสริมการดูดซึมโพแทสเซียม และลดผลกระทบจากการที่ได้รับไนโตรเจนมากเกินไป
หากพืชขาดฟอสฟอรัสใบจะแห้งเป็นจุดๆ จำนวนใบน้อยลง หลุดร่วงง่ายขึ้น การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ลำต้นแคระแกร็น อัตราการออกดอก ออกผลและเมล็ดน้อยลง เพราะพืชต้องการรักษารากเอาไว้ คาร์โบไฮเดรตในพืชจึงถูกดึงลงมาที่รากให้มากที่สุด ตัวรากจึงขยายยาวขึ้นเช่นกัน
หากมีฟอสฟอรัสในดินมากเกินไปจะทำให้พืชตกตะกอนกับธาตุอาหารเสริมโดยเฉพาะเหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn) และแมงกานีส (Mn) ส่งผลให้ไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล่านี้ไปใช้ได้อีก
โพแทสเซียม (K)
โพแทสเซียมจะกระจายตัวตามชั้นดินในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งพืชจะดูดซึมไปใช้ในรูปโพแทสเซียมไอออน (K+) ที่มักจะหายากเนื่องจากตัวมันเองทำปฏิกริยากับน้ำได้ง่าย รวมถึงธาตุอื่นๆ เมื่อมีการสลายตัวของหินหรือดินจะทำให้โพแทสเซียมในดินเพิ่มขึ้นเอง
ในพืชจะพบมากบริเวณยอดลำต้น ปลายราก ใบอ่อน และในท่อลำเลียงอาหาร โดยทั่วไปความต้องการโพแทสเซียมอยู่ที่ 2-5% เพราะบทบาทสำคัญคือการนำไปใช้ในการสร้างแป้ง, การสังเคราะห์แสง, ออสโมซิส (Osmosis), การกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์, การลำเลียงอาหาร และสมดุลกรด-ด่าง
ประโยชน์เมื่อได้รับโพแทสเซียมเพียงพอคือเสริมการเจริญเติบโตทางราก ให้ดูดน้ำและอาหารดีขึ้น นำไปใช้ได้ดีขึ้น, ช่วยให้ผลผลิตมีรสชาติที่ดี เนื้อแน่น จากปริมาณแป้งที่เหมาะสม, ช่วยให้พืชต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของแสง อุณหภูมิและความชื้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการได้รับไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่มากเกินไปด้วย
หากขาดโพแทสเซียมไปพืชจะมีอาการผิดปกติเนื่องจากเนื้อเยื่อที่กำลังเจริญต้องการธาตุอาหารนี้จำนวนมาก ทำให้ดึงจากส่วนต่างๆของพืชมาที่เนื้อเยื่อมาก ส่งผลให้ใบเหลือเป็นแนว ปลายใบม้วนงอ ยอดใบเป็นจุด จนถึงแห้งตายในที่สุด, กระบวนการสังเคราะห์แสงก็ทำได้น้อยลง ผลิตอาหารได้น้อยลง, การควบคุมการเปิดปิดปากใบผิดปกติ ส่งผลต่อระบบหายใจระดับเซลล์ของพืช, การเคลื่อนย้ายสารอาหารประสิทธิภาพต่ำลง ทำให้ผลผลิตมีสี ขนาด น้ำหนัก รสชาติที่ต่ำลง
หากพืชได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้พืชดูดใช้ธาตุอาหารรองได้น้อยลงโดยเฉพาะแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) ทำให้ได้รับผลกระทบจากการขาดธาตุอาหารรองที่ตามมาภายหลังได้
1
แหล่งที่มา
Phoslab ฺBlog
Siamchemi Blog
หนังสือแร่ธาตุอาหารพืชสวน
11 บันทึก
16
4
11
16
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย