8 ก.ค. 2021 เวลา 06:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ปลาตะลุมพุก” ว่ายจากทะเล มาวางไข่ในน้ำจืด
ปลาตะลุมพุก ปลาชิคัก (ภาษาแต้จิ๋ว) ชื่อไทย ตะลุมพุก เป็นชื่อที่เราทับศัพท์ภาษามลายู Ikan Terubuk มาอีกที ทางใต้เรียก หลุมพุก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tenualosa toli อยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) เป็นปลาทะเลที่เข้ามาวางไข่ในน้ำจืด รูปร่างคล้ายปลาซาร์ดีน แต่ลำตัวกว้างกว่า และส่วนครีบหางยาวเว้าลึกกว่ามาก ปากกว้าง จะงอยปากสั้นทู่ ปากมีขนาดปานกลางและเฉียงขึ้นเล็กน้อย ลูกตามีเยื่อไขมันคลุม ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้นเล็ก เกล็ดใหญ่แต่บางคลุมทั้งลำตัว เกล็ดท้องเป็นสันคม เกล็ดเล็กบางและหลุดง่าย ลำตัวด้านหลังสีเขียวปนน้ำเงิน ท้องสีขาวเงิน ลำตัวด้านหลังมีสีคล้ำอมฟ้าอ่อนหรือเขียวอ่อนเช่นเดียวกับหัว ด้านข้างเป็นสีเงินอมฟ้าหรือเหลืองอ่อนไปจนถึงท้อง ในปลาที่ไม่สดนักมักมีสีแดงเรื่อๆ ที่ข้างลำตัว ครีบมีสีเหลืองอ่อน ครีบหางสีเหลืองอ่อนเหลือบฟ้า ขอบสีคล้ำ มีขนาดโตเต็มที่ได้ราว 35-45 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในชายฝั่งทะเลตั้งแต่อ่าวเบงกอลจนถึงทะเลจีนใต้
ปลาตะลุมพุกเป็นปลาซึ่งจับได้ยากมาก ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ปลาตะลุมพุกจะว่ายจากทะเลเข้าสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่ในน้ำจืดแล้วก็จะว่ายกลับไปยังทะเลอีก มีนิทานเล่ากันว่าทุกปีปลาตะลุมพุกจะว่ายไปยังแม่น้ำซินอันเจียง แหล่งตกปลาของหยันเจ่อหลิง ขุนนางผู้ซื่อสัตย์ในประวัติศาสตร์จีน เพื่อเป็นการบูชาแก่หยันเจ่อหลิง และเมื่อจับปลาได้หยันเจ่อหลิงจะวาดสัญลักษณ์สีแดงที่ปากปลา ผู้คนจึงเชื่อกันว่าปลาตะลุมพุกที่มีสัญลักษณ์สีแดงที่ปากนั้นเป็นปลาคุณภาพระดับยอดเยี่ยมและอร่อยที่สุด จึงเป็นปลาที่นิยมในหมู่ชาวจีนมาช้านาน แม้ว่าจะมีก้างเยอะ แต่มีเนื้อรสมันหวานและนุ่ม คุ้มกับก้างมัน ถ้าทำเป็นก็กินได้ง่าย
ตะลุมพุกพม่า Tenualosa illisha
ย้อนหลังไปในอดีตเมื่อ 70-80 ปีที่ผ่านมา ปลาตะลุมพุกเคยมีชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา มันจะว่ายเข้ามาวางไข่ถึงโรงเหล้าบางยี่ขัน เล่ากันว่ามันชอบมากินกากส่าเหล้าที่โรงงาน ในปี พ.ศ. 2478 ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก รายงานไว้ว่า ปลาตะลุมพุกเป็นปลาที่มีความนิยมมากในหมู่คนจีน และมีผู้มารอรับซื้อจากชาวประมงอวนลอยราคาตัวละ 1-3 บาท ซึ่งเท่ากับข้าวสาร 3-4 กระสอบเลย
เนื้อของปลาตะลุมพุกนั้นมีลักษณะพิเศษมาก คือเนื้อจะนิ่มมากเมื่อต้มหรือนึ่ง แต่ถ้าต้มเคี่ยวไปนานๆ เนื้อจะจับกันเป็นก้อนแข็งเหมือนพวกปลาโอและปลาทูน่า ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนปลาเนื้อนิ่มพวกกะพงหรือปลาเก๋า แม้จะมีก้างมากมายมหาศาล แต่ด้วยรสชาติที่มันอร่อยและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของปลาตะลุมพุก ประกอบกับมันหาได้ยาก จึงทำให้มีราคาแพงมาก
แต่น่าเสียดายที่มันสูญพันธุ์ไปจากเจ้าพระยามากว่า 60 ปีแล้ว และจากทะเลสาบสงขลาที่เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยได้ชื่อว่าพบชุกชุมอีกแห่ง
ปลาตะลุมพุกหรือชิคักที่เราเห็นขายในตลาดบางรัก เยาวราช และสามย่านนั้น มักนำเข้ามาจากน่านน้ำต่างประเทศ เช่น พม่า อินโดนีเซีย มี 2 ชนิดปนกันมา คือ ปลาชิคัก Tenualosa toli และปลาตะลุมพุกพม่า Tenualosa illisha
โฆษณา