9 ก.ค. 2021 เวลา 04:24 • ท่องเที่ยว
ชมปราสาทนครวัด ศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเสียมราฐ กัมพูชา
เมื่อมาชม นครวัด-นครธม 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ ของโลก ปราสาทนครวัด เป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเก่าแก่มีค่าอย่างยิ่งของกัมพูชา ซึ่งเราต้องมาชมให้ได้
เรามาชมปราสาทนครวัด ตั้งแต่เช้ามืดตามคำแนะนำของมัคคุเทศน์ท้องถิ่น เพื่อมาดูความงามของพระอาทิตย์ขึ้น ณ ปราสาทนครวัด สวยงามหรือไม่ ดูได้จาก นักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศ รอตั้งกล้องถ่ายภาพแน่นไปหมด แล้วเราก็ไม่พลาดความงามนั้นเช่นกันค่ะ นำภาพสวยๆมาฝากในวีดีโอนี้ด้วยค่ะ
เรามารู้จักประวัติและความสำคัญของปราสาทนครวัดกันก่อนค่ะ
ประวัติและความสำคัญของปราสาทนครวัด
นครวัด เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยพื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเท่ากับ 402 เอเคอร์)
แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็น เทวลัยในศาสนาฮินดู เพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12
นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัฐและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือในลัทธิไศวนิกาย ของกษัตริย์องค์ก่อนๆ
เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ และเนื่องจากเป็นปราสาทที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในบริเวณที่ตั้งโดยรอบ นครวัดจึงเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง
โดยนครวัดถือจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา มีการปรากฏอยู่บนธงชาติ และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยว
นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก
การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร
โดยตัวปราสาทประกอบด้วย ระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด
นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่นๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไป ในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้
 
นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม อาทิ ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก
นครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดเสียมเรียบขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในนาม "เมืองพระนคร (อังกอร์)" ใน ค.ศ. 1992
นครวัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐในปัจจุบัน ห่างออกไป 5.5 กิโลเมตรจากตัวเมือง
ตามตำนานแล้ว การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งต้องการสร้างปราสาทนี้ให้เป็นวังที่ประทับของพระโอรสของพระองค์
ตามบันทึกในช่วงคริสศตวรรษที่ 13 ของนักเดินทางนามว่า โจว ตากวน ได้ระบุว่ามีผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเทพแห่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลาเพียงหนึ่งคืน
การออกแบบในขั้นต้นและการก่อสร้างตัวปราสาทเริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1113-1150) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้แก่พระวิษณุ
และเนื่องจากไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นจารึกสมัยการก่อสร้าง หรือจารึกสมัยใหม่ที่ระบุว่าได้มีการสร้างปราสาทขึ้น จึงไม่สามารถทราบชื่อดั้งเดิมของปราสาทได้ แต่อาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปราสาทวิษณุโลก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท
คาดกันว่าการก่อสร้างน่าจะหยุดลงไม่นานหลังการสวรรคตของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ทำให้ภาพสลักนูนต่ำบางส่วนนั้นยังแกะสลักไม่เสร็จสิ้น
ในปี 1177 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุรยวรรมันที่ 2 ราว 27 ปี เมืองพระนครถูกยึดครองโดยชาวจามที่เป็นศัตรูเดิมของชาวเขมร
ภายหลังจึงมีการฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้สถาปนาเมืองหลวงและปราสาทประจำเมืองแห่งใหม่ขึ้น คือนครธม และปราสาทบายน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร
แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไป หลังคริสศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์เลย ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่นๆ ในเมืองพระนคร
ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่า เนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคูน้ำรอบปราสาทนั้นได้สามารถทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทได้
ความงดงาม อลังการ อารยธรรมที่แสดงให้เห็นจากปราสาทนครวัด
เมื่อผู้เขียนมาถึงปราสาทนครวัด เฝ้าดูพระอาทิตย์ขึ้น สวยงามประทับใจมากค่ะ ทำให้นึกถึงความย่งใหญ่ อลังการของอาณาจักรขอมที่มีมากว่าพันปี สามารถสร้างปราสาท ศาสนสถานได้ยิ่งใหญ่เพียงนี้ ความงามเมื่อเห็นเงายอดปราสาทสะท้อนลงในสระน้ำ สวยงามจับใจ
เมื่อคิดถึงความยิ่งใหญ่ของปราสาทนครวัดแล้ว ทำให้นึกถึงว่า หินที่ใช้สร้างนครวัดนั้นมาจากไหน
 
หินนั้นเป็นหินทรายที่ชักลากมาจากเขาพนมกุเลนซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร โดยใช้หินกว่า 6000,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้แรงงานช้างกว่า 40,000 เชือก แรงงานคนนับแสนขนหินและชักลาก
เมื่อมาถึงกำแพงชั้นนอกปราสาทนครวัด ซึ่งมีความยาวกว่า 800 เมตร มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณีย์กิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และวรรณคดีเรื่องรามายณะและรูปแกะสลักนางอัปสรอีก1,635 นางซึ่งทั้งหมดมีทรงผมแต่งกายที่ไม่ซ้ำกัน
นอกจากนี้ ยังมีงานแกะสลัก การกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเป็นการกวนน้ำอมฤทธิ์ ที่เกิดขึ้นเพราะการต่อสู้ระหว่างเทพกับอสูร เมื่อฝ่ายเทพต่อสู้แล้วพ้ายแพ้แก่อสูรอยู่ตลอด จึงต้องมีการเสริมฤทธิ์ด้วยการดื่มน้ำอัมฤทธิ์
 
แต่การจะได้น้ำอัมฤทธิ์ต้องร่วมกัน 2 ฝ่าย โดยฝ่ายเทพออกอุบายให้อสูรมาช่วย สัญญาว่าจะแบ่งกันคนละครึ่ง และการกวนใช้เวลานับพันปีจึงจะสำเร็จ
เมื่อสำเร็จฝ่ายเทพนำไปเป็นของตัวฝ่ายเดียว จึงเกิดการทะเลาะแก้แค้นกันไปมา และพระศิวะเลยเข้ามาสงบศึก สงครามระหว่างเทพกับอสูรจึงสงบลง
จากกำแพงชั้นนอก ผู้เขียนได้ขึ้นบันไดค่อนข้างชัน แต่มีราวให้จับ เพื่อเดินทางขึ้นสู่ปรางค์องค์กลางของปรางค์ทั้งห้า ซึ่งเป็นการขึ้นสวรรค์ตามความเชื่อของพราหมณ์ เมื่อขึ้นถึงด้านบนแล้วจะมองเห็นทิวทัศน์มุมสูงที่สวยงามของปราสาทอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ และปรางค์องค์กลางมีนางอัปสรสวยงามในหลากหลายหน้าตา ทรงผม การแต่งกาย อริยบท ให้ได้ชม
เมื่อเราเข้าไปชมข้างใน นอกจากเป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมอันสวยงาม ยังมีห้องพันพระ ที่เป็นส่วนระเบียงของปราสาทที่ชาวกัมพูชานิยมนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ รวมไปถึงองค์ปราสาทประธานที่สร้างขึ้นอย่างวิจิตร ตามคติของเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ซึ่งมีจุดที่สามารถยืนอธิษฐาน รับพลังจักรวาลได้ มีนักท่องเที่ยวมารับพลังจักรวาลมากมาย รวมทั้งผู้เขียน ซึ่งมาแล้วพลาดไม่ได้ค่ะ
เมื่อมีโอกาส และเวลาที่เหมาะสม ขอแนะนำให้ไปเยือน ปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นสิ่งเป็นมหัศจรรย์ของโลก ที่อยู่ใกล้ประเทศไทย สวยงามอลังการจริงๆค่ะ
อ้างอิง:
โฆษณา