8 ก.ค. 2021 เวลา 15:42 • ประวัติศาสตร์
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1972 จอห์นนี แคช นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน หนึ่งในนักดนตรีที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 นั่งอยู่ที่ห้องรับรองในทำเนียบขาวตรงข้ามกับประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน พร้อมกับสื่อและนักข่าวจำนวนมากที่อยู่ด้านหน้าทั้ง 2 คนห่างไปไม่กี่ฟุต
จอห์นนี แคช มาเพื่อหารือประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เกี่ยวกับการปฏิรูปเรือนจำ และประเด็นอื่นๆ ที่เขาไม่ได้แจ้งล่วงหน้าเอาไว้
 
"จอห์นนี คุณยินดีเล่นเพลงให้พวกเราได้ฟังสักสองสามเพลงไหม?”
ริชาร์ด นิกสัน บอกกับ จอห์นนี แคช ท่ามกลางสื่อที่กำลังฟังพวกเขาคุยกัน
“ฉันชอบเพลง 'Okie From Muskogee' ของ เมอเรล แฮกการ์ด และ 'Welfare Cadillac' ของ กาย เดรค"
ริชาร์ด กล่าว
"ฉันไม่รู้จักเพลงเหล่านั้นหรอกนะ แต่ฉันมีเพลงของตัวเองสองสามเพลงที่ฉันสามารถเล่นให้คุณฟังได้"
จอห์นนี แคช ตอบนิกสันทันที
จอห์นนี แคช และ ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน
จอห์นนีสวมชุดสูทสีดำอันเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา พร้อมกับหยิบกีตาร์มาร์ตินที่เขาใช้เป็นประจำมาพาดที่บ่าพร้อมที่จะบรรเลงเพลงที่ขัดใจผู้นำประเทศ
แน่นอนว่าในช่วงสงครามเวียดนามที่ระอุอยู่ในตอนนั้น จอห์นนี แคช ไม่ได้มาที่ทำเนียบขาวแค่เรื่องปฏิรูปเรือนจำอย่างแน่นอน
 
จอห์นนี แคช เริ่มร้องเพลงของเขาให้ริชาร์ด นิกสันที่กำลังยิ้มอย่างเยือกเย็นซ่อนความโมโหระอุอยู่ในใจได้ฟัง
จอห์นนีร้องเพลง "What Is Truth?" และเพลง "Man in Black" ที่เขาแต่งขึ้นมา แน่นอนว่าเพลงนี้เหมือนเป็นการตอกหน้าประธานาธิบดีและรัฐบาล เพราะมันคือบทเพลงแห่งการต่อต้านสงครามและการกดขี่ทางชนชั้นอย่างชัดเจน
 
“ฉันใส่ชุดดำเพื่อคนจนและคนถูกทารุณ คนที่อยู่ในเมืองอันสิ้นหวังและหิวโหย
ฉันใส่มันให้กับนักโทษที่ชดใช้ความผิดของเขามานาน ผู้ตกเป็นเหยื่อของกาลเวลา
ฉันสวมชุดดำไว้ทุกข์สำหรับทุกชีวิตที่อาจได้รับ ทุกสัปดาห์เราสูญเสียชายหนุ่มที่ดีร้อยคน
และฉันสวมมันเพื่อคนนับพันที่เสียชีวิต คนที่เชื่อว่าพระเจ้ายังอยู่เคียงข้างพวกเขา”
หนึ่งในข้อความของบทเพลง "Man in Black"
 
จอห์นนี แคช ปิดท้ายเพลงสุดท้าย ด้วยเพลงโฟล์กที่เกี่ยวกับชะตากรรมของชนพื้นเมืองชาวอเมริกัน
“The Ballad of Ira Hayes" หรือ “เพลงบัลลาดของ ไอร่า เฮยส์” ที่อิงจากเรื่องราวอันน่าสลดใจของวีรบุรุษสงครามนามว่า ไอร่า เฮยส์ ฮีโร่ชนพื้นเมืองชาวอเมริกันผู้ถูกลบเลือน
 
หากจะเข้าใจเรื่องราวของบทเพลงนี้ ต้องย้อนไปถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับไอร่า เฮยส์
1
ไอร่า เฮยส์ คือหนึ่งในนาวิกโยธินสหรัฐผู้ปักธงชาติสหรัฐอเมริกาในการสู้รบที่สมรภูมิอิโวจิมา จนกลายเป็นหนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน
 
ยุทธการที่เกาะอิโวจิมา ในมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 นับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 การรบบนเกาะเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะทหารญี่ปุ่นต่างขุดอุโมงค์เชื่อมถ้ำต่างๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นป้อมปราการที่ทำลายได้ยาก ประกอบกับการสู้แบบไม่กลัวตายดั่งถวายชีวิตให้จักรพรรดิ ทำให้สมรภูมินี้กลายเป็นสมรภูมิที่เสียเลือดเนื้อที่สุดในสงครามแปซิฟิก
1
การรบที่เกาะอิโวจิม่า
ในช่วงเวลาเพียงแค่ 5 สัปดาห์ในการรบ ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียกำลังพลไปราว 7,000 คน และฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องสูญเสียชีวิตทั้งหมดไปราว 20,000 คน
 
ทหารที่ยังคงมีชีวิตรอดต่างต้องเจ็บปวดจากความโหดร้ายและโศกเศร้ากับเพื่อนร่วมรบที่สูญเสียไปเป็นจำนวนมาก มันเป็นเหตุการณ์ที่มีแต่ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากจดจำ แต่ที่สมรภูมิแห่งนี้ มีการถ่ายภาพซึ่งกลายเป็นภาพที่ได้รับการกล่าวขวัญมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือภาพการปักธงที่อิโวจิมา (Raising the Flag on Iwo Jima)
 
ภาพการปักธงที่อิโวจิมาที่โด่งดังที่สุดและทุกคนต้องเคยเห็นที่ไหนสักแห่งในช่วงชีวิตที่ผ่านมา มันคือภาพการปักธงครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1945 ณ ยอดเขาสุริบาชิ ที่ถ่ายโดย โจ โรเซนธัล ช่างภาพจากสำนักข่าวเอพี ที่มาร่วมรบในสมรภูมิแห่งนี้
 
ภาพของทหารทั้ง 6 คนที่เข้ามาช่วยกันปักธงในภาพนี้คือ ฮาร์ลอน บล็อค(Harlon Block), แฮโรลด์ เคลเลอร์(Harold Keller) แฮโรลด์ ชูลทซ์(Harold Schultz) แฟรงคลิน เซาส์ลีย์(Franklin Sousley) ไมเคิล สแตงค์(Michael Strank) และไอร่า เฮยส์ (Ira Hayes)
 
ใครที่เห็นภาพนี้ต่างเข้าใจว่ามันคือภาพถ่ายหลังสิ้นสุดสมรภูมิในอิโวจิมา แต่ทว่าการปักธงนี้มันเป็นเพียงคำสั่งของนายพลคนหนึ่ง และเป็นแค่จุดเริ่มต้นของสงครามที่ยังคงยืดเยื้อต่อจากนั้นอีก 1 เดือนซึ่งจบลงในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1945
 
เรื่องที่น่าเศร้าคือ ฮาร์ลอน บล็อค, แฟรงคลิน เซาส์ลีย์ และ ไมเคิล สแตงค์ 3 คนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของภาพนี้ เสียชีวิตที่สมรภูมิอิโวจิมาไม่กี่วันต่อจากนั้นในแผ่นดินที่พวกเขาปักธงลงไปนั้นเอง
 
หลังการรบที่อิโวจิมาสิ้นสุดลง รัฐบาลได้เรียกหาตัวทหารผู้ปักธงที่ยังรอดชีวิตอยู่ 3 คนกลับมายังมาตุภูมิ เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ความเป็นวีรบุรุษในสงครามให้กับประชาชนได้เห็น และให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลด้วยการซื้อพันธบัตรสงครามนามว่า “Seventh War Loan” มันเป็นพันธบัตรรัฐบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ออกมาเป็นครั้งที่ 7
7th war loan
จากความกังวลว่าความพ่ายแพ้ของฝ่ายเยอรมนีอาจจะทำให้ยอดขายพันธบัตรลดลง พันธบัตรนี้จึงได้ใช้ภาพการปักธงที่อิโวจิมาอันโด่งดังที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ พร้อมทั้งให้ทหารที่ยังมีชีวิตอยู่ในภาพเป็นคนมาขายด้วยตนเอง ทหาร 3 คนที่ถูกเรียกตัวกลับประเทศ พวกเขาได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษ และต่างต้องเดินทางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยขายพันธบัตรสงครามนี้ให้กับรัฐบาล
 
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ 14 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน ค.ศ.1945 “ฮีโร่” ทั้ง 3 คนขายพันธบัตรไปได้มากกว่า 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายชื่อของผู้ปักธงทั้ง 6 คนก็กลายเป็นที่จดจำของประชาชนดั่งพวกเขาเป็นตัวแทนของทหารสหรัฐอเมริกาที่ไปร่วมรบทุกคน
แต่ทว่าในช่วงเวลานั้น ทั้งกองทัพสหรัฐอเมริกาและประชาชนกลับทำเรื่องผิดพลาดลงไป นั่นคือพวกเขาเข้าใจผิดเกี่ยวกับรายชื่อผู้ปักธง 3 คนในนั้น
 
แฮโรลด์ ชูลทซ์ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น จอห์น แบรดลีย์
แฮโรลด์ เคลเลอร์ ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น เรเน่ แก็กนอน
และ ฮาร์ลอน บล็อก ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น แฮงค์ แฮนสัน
 
ก่อนที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจะสามารถทำการระบุชัดเจนได้ว่า จอห์น แบรดลีย์ ไม่ได้อยู่ในภาพ และได้เปลี่ยนมาเป็น แฮโรลด์ ชูลทซ์ เมื่อปี ค.ศ.2016
ภาพการปักธง และรายชื่อของทั้ง 6 คน
รวมถึง เรเน่ แก็กนอน ที่ไม่ได้อยู่ในภาพ และได้เปลี่ยนมาเป็น แฮโรลด์ เคลเลอร์ ในปี ค.ศ.2019
 
ในช่วงเวลาปีค.ศ.1945 นั้น ทหาร 3 คนที่ถูกเรียกตัวกลับประเทศมาขายพันธบัตร ก็คือ จอห์น แบรดลีย์, เรเน่ แก็กนอน และ ไอร่า เฮยส์ ดังนั้นมีเพียง ไอร่า เฮยส์ เท่านั้นที่เป็นคนปักธงในรูปนั้นจริงๆ
ภาพนี้หลังจากการปักธงไม่กี่นาที และเป็นหลักฐานในการระบุคนปักที่ถูกต้อง
ในช่วงเวลานั้นไอร่าไม่รู้แน่ชัดว่าใครบ้างที่เป็นคนปักธง บุคคลเดียวที่ไอร่าจำได้ในวินาทีที่เสาธงถูกปักลงไปในแผ่นดินญี่ปุ่นก็คือ ฮาร์ลอน บล็อก เพื่อนสนิทของไอร่า ผู้ที่เสียชีวิตในเกาะอิโวจิม่า
 
ภาพของ ฮาร์ลอน บล็อก พร้อมกับทหารอีก 5 นายที่เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ กลับถูกประชาชนเข้าใจผิดว่าเขาคือ แฮงค์ แฮนสัน ทั้งที่กองทัพสหรัฐนั่นรู้มาโดยตลอด เพราะไอร่าพยายามบอกกองทัพมาโดยตลอดในช่วงที่เขาเดินทางกลับมายังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขายพันธบัตร ว่ากองทัพนั้นเข้าใจผิด คนในรูปนั่นคือ ฮาร์ลอน บล็อก หาใช่แฮงค์ แฮนสันไม่
 
แต่แล้ว ไอร่า เฮยส์ ก็ถูกทหารยศพันเอกคนหนึ่งห้ามปรามเอาไว้ เขาบอกให้ไอร่าปิดปากเงียบและหยุดพูดเรื่องนี้ลงซะ
“เพราะถึงอย่างไรทั้ง 2 คนนั้นก็ได้ตายไปแล้ว”
พันเอกคนนั้นกล่าว (หมายถึงทั้ง แฮงค์ แฮนสัน และ ฮาร์ลอน บล็อก ที่เสียชีวิตที่อิโวจิม่า)
 
ไอร่า เฮยส์ เป็นบุคคลชนชั้นที่ 2 ในประเทศ เขาเป็นชาวพีมา หนึ่งในชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐแอริโซนา ถึงแม้ว่าเขาจะถูกปฏิบัติเยี่ยงวีรบุรุษในช่วงขายพันธบัตรให้กองทัพ แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ความเป็นบุคคลชนชั้นที่ 2 ก็ยังคงกลับมาตามหลอกหลอนดังเช่นเดิมหลังจากเขาถูกปลดประจำการ
 
ไอร่า เฮยส์ พยายามที่จะดำเนินชีวิตตามปกติดั่งเช่นคนปกติหลังสงคราม ความมีชื่อเสียงของเขาทำให้เขายังคงได้รับจดหมายหลายร้อยฉบับ และผู้คนที่ขับรถผ่านเขตสงวน ก็ชอบที่จะเดินมาหาไอร่าแล้วถามว่า “คุณเป็นคนอินเดียแดงที่ยกธงที่อิโวจิมาใช่ไหม” ไอร่ามักตอบกลับไปว่า เขาภูมิใจที่ได้นาวิกโยธิน โดยเลี่ยงการพูดถึงรายชื่อคนปักธง
 
ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากจบสงคราม ไอร่า พยายามยื่นสมัครงานที่เขาอยากทำ แต่สิ่งอยู่ในเลือดเนื้อเชื้อไขเขาทำให้ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ไอร่ากลับไปอาศัยในเขตสงวนชนพื้นเมือง รับจ้างเป็นกรรมกรเก็บฝ้าย และอาศัยอยู่ในห้องพักเก่าๆ อันอ้างว้าง
ไอร่าทำงานในไร่ตอนกลางวัน และจมอยู่กับอดีตผ่านแก้วเหล้าและขวดเบียร์ในตัวเมืองฟินิกซ์ทุกคืน ไอร่ามักลงเอยด้วยการนอนข้างถนนด้วยสภาพที่เมา ความเจ็บปวดจากสงครามที่เขาบอกใครไม่ได้ค่อยๆ บ่อนทำลายจิตใจเขาเป็นระยะๆ ไอร่ารู้สึกมาโดยตลอดว่าตนเองนั้นไม่คู่ควรกับชื่อเสียง เขาคิดเสมอว่าฮีโร่ที่แท้จริงของอิโวจิมา คือทหารที่ไม่ได้กลับบ้าน
 
“ฮีโร่ที่แท้จริงของอิโวจิมา คือทหารที่ไม่ได้กลับบ้าน”
นี่คือประโยคที่ฝังใจทหารผ่านศึกอิโวจิมาทุกคนที่รอดชีวิตกลับมา มันคือตัวอย่างของความเจ็บปวดในอีกหลายๆ สมรภูมิที่ทำร้ายพวกเขาจนไม่อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
 
ไอร่า เฮยส์ ฝังใจมาโดยตลอดว่า ฮาร์ลอน บล็อก เพื่อนสนิทของเขาผู้ปักธงด้วยกันควรมีชื่อเป็นวีรบุรุษ เขาเสียชีวิตโดยที่ไม่มีใครจดจำ ไอร่าไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ที่เสียชีวิตกลับไม่ได้รับการจดจำ ทำไมเขาถึงถูกยกย่องมากกว่าคนที่เสียชีวิต และทำไมกองทัพถึงสนใจภาพลักษณ์ของตนเองมากกว่าการให้เกียรติผู้ที่เสียสละชีวิตของตนเองเพื่อชาติ
 
วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1946 ไอร่า เฮยส์จึงตัดสินใจทำอะไรบางอย่างขึ้นมา เขาเดินออกจากเขตสงวนชนพื้นเมือง มุ่งหน้าลงทิศใต้ไปยังเมืองทูซอน จากนั้นไปยังทิศตะวันออกผ่านรัฐนิวเม็กซิโก ไอร่าเดินผ่านเส้นทางที่ร้อนระอุที่แผดเผา เขาพยายามโบกรถแต่น้อยนักที่จะเจอคนที่รับอินเดียแดงอย่างเขา ไอร่าโบกรถสลับกับการเดิน นอนตามริมทาง สุดท้ายเขาก็พ้นรัฐนิวเม็กซิโก และมุ่งหน้าไปยังเมืองแซนแอนโทนีโอ รัฐเท็กซัส เพื่อหารถโบกลงไปยังทิศใต้สุดของประเทศที่ติดกับประเทศเม็กซิโก ที่นั่นมีเมืองเล็กๆ อยู่เมืองหนึ่งนามว่า เวสเลโก
 
เป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 วันที่ ไอร่า เฮยส์ โบกรถรอนแรม เขาเดินทางไปทั้งสิ้น 1,300 ไมล์ หรือกว่า 2,100 กิโลเมตร
 
หลังจากไอร่ามาถึงเมืองเวสเลโก เขาก็ตระเวนถามหาคนที่ชื่อว่า เอ็ด บล็อก คนแถวนั้นคิดว่าไอร่าเป็นเพียงชาวพื้นเมืองที่มาขอทำงานที่ฟาร์มของเอ็ด บล็อก จึงได้ให้ที่อยู่กับเขาไป
 
ไอร่าโบกรถอีกครั้ง คราวนี้เขามุ่งหน้าไปทางทิศเหนือของเมืองเวสโลโก และเดินเท้าต่ออีกราว 3 กิโลเมตรจนไปพบกระท่อมหลังหนึ่งท่ามกลางพื้นที่ทุ่งหญ้าอันอ้างว้าง เขาก็ได้พบชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ท่ามกลางแดดที่แผดเผา
 
“คุณคือคุณพ่อของฮาร์ลอน บล็อคใช่ไหมครับ?”
1
ไอร่ามาหาพ่อของเพื่อนที่สนิทที่สุดของเขาในช่วงสงคราม
1
ไอร่าเปิดเผยความลับทุกอย่างเกี่ยวกับรายชื่อคนที่ปักธง พ่อของฮาร์ลอน บล็อคได้ยินทุกอย่างจนกระจ่างแจ้งจึงได้ไปเรียกภรรยาของเขาที่เป็นแม่ของฮาร์ลอน บล็อก มาทันที
 
“ฉันรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นภาพนั้นในหนังสือพิมพ์ ว่านั่นคือลูกชายของฉัน!”
1
ฮาร์ลอน บล็อก เพื่อนของไอร่า เฮยส์ ที่ปักธงด้วยดัน
แม่ของฮาร์ลอนกล่าวหลังจากได้ยินเรื่องราวนี้ทั้งหมดออกจากปากของเพื่อนสนิทลูกชาย เธออยากจะสู้กับเรื่องนี้มาโดยตลอดแต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนในรูปนั้นเป็นลูกชายเธอจริงๆ แต่บัดนี้เธอมีหลักฐานประจักษ์อย่างแน่ชัดแล้ว นั่นคือจากคำพูดของ 1 ใน 6 นาวิกโยธินผู้อยู่เคียงข้างลูกชายของเธอผู้ล่วงลับไปเยี่ยงวีรบุรุษ
 
แม่ของฮาร์ลอน บล็อก ได้ขอให้ไอร่า เฮยส์ เขียนข้อความยืนยันความจริงทั้งหมดนี้ลงบนกระดาษ ไอร่าเขียนข้อความยาวหนึ่งหน้ากระดาษอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเล่าเหตุการณ์ที่โดนทหารยศพันเอกคนหนึ่งที่พยายามให้ปกปิดเรื่องราวเหล่านี้อีกด้วย
 
“มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่นาวิกโยธินผู้กล้าหาญอย่างเขาจะไม่ได้รับเกียรติอะไรจากประเทศนี้เลย”
1
หนึ่งในข้อความบนกระดาษที่ไอร่า เฮยส์เขียนเอาไว้
 
แม่ของฮาร์ลอน บล็อก ยื่นเรื่องต่อกองทัพสหรัฐเพื่อให้ทำการทบทวนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ เธอยังได้ใช้จดหมายของไอร่า เฮยส์นี้เป็นตัวยืนยันความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยอมรับว่าได้ทำเรื่องผิดพลาดนี้ลงไปจริงๆ พลเอก แวน เดอ กรีฟ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินได้ส่งจดหมายแสดงความเสียใจและขอโทษต่อพ่อและแม่ของฮาร์ลอน บล็อก และกล่าวชี้แจงแก่สาธารณชนในเวลาต่อมา
เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ประชาชนเข้าใจผิดมาโดยตลอด บัดนี้ชื่อของ ฮาร์ลอน บล็อก ได้ถูกบรรจุอยู่ 1 ใน 6 ของผู้ปักธงเรียบร้อย ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของไอร่า เฮยส์ ผู้ที่มีปมนี้ฝังอยู่ในจิตใจมาโดยตลอด
 
หลังจากจบเรื่องราวนี้ไป ถึงแม้ ไอร่า เฮยส์ จะคลายปมในใจเขาได้หนึ่งเส้น แต่เรื่องราวอื่นยังคงพัวพันอยู่ในความรู้สึกของเขาจนยากเกินกว่าจะแก้ไข ไอร่า เฮยส์ ได้รับความทุกข์ทรมานจาก post-traumatic stress disorder (PTSD) มันเป็นอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์ที่รุนแรง แต่ความเป็นพลเมืองชั้น 2 ทำให้เขาไม่สามารถระบายความรู้สึกนี้ได้กับใคร ไอร่ากลายเป็นคนติดแอลกอฮอล์ และก่อคดีทะเลาะวิวาทอยู่บ่อยครั้ง เขาถูกจับถึง 52 ครั้งในข้อหามึนเมาในที่สาธารณะ
 
เช้าวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1955 อีกไม่กี่วันก่อนที่จะครบรอบ 10 ปี ของการปักธงในอิโวจิมา มีผู้พบไอร่า เฮย์ส นอนเสียชีวิตอยู่ใกล้กับกระท่อมร้าง ในเมืองซากาตัน รัฐแอริโซนา
เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพสรุปว่าไอร่านั้นเสียชีวิตจากพิษของแอลกอฮอล์ ปิดฉากวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2 อันน่าเศร้า
เรเน่ แก็กนอน กล่าวถึงไอร่าในงานศพของเขาว่า
"ไอร่ามีความฝันเล็กๆ ในใจ ว่าสักวันหนึ่งชาวอินเดียแดงจะเป็นเหมือนคนผิวขาว เป็นมนุษย์ที่สามารถเดินได้ทั่วสหรัฐอเมริกา"
“The Ballad of Ira Hayes" หรือ “เพลงบัลลาดของ ไอร่า เฮยส์” มันไม่ได้เริ่มต้นมาจากวันที่จอห์นนี แคช ร้องบทเพลงนี้ให้กับประธานาธิบดีนิกสันได้ฟังในทำเนียบขาว แต่มันเริ่มต้น 10 ปีก่อนหน้านั้น ในคืนวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1962 ที่ร้านแสดงดนตรีสด Gaslight Café ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
จอห์นนี แคช เพิ่งกลับมาจากการแสดงคอนเสิร์ต เขาต้องการเยียวยาจิตใจตัวเองจากภาวะชีวิตที่หมองหม่นด้วยการมุ่งหน้ามาฟังเพลงที่ Gaslight Café ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพร้อมกับเพื่อนนักร้องเพลงโฟล์กคนหนึ่ง
บนเวทีมีการร้องเพลงโดย ปีเตอร์ ลา ฟาร์จ (Peter La Farge) ปีเตอร์เป็นนักเขียนบทละคร นักแสดง และนักเคลื่อนไหวตัวยง เขายังเป็นลูกชายของนักเคลื่อนไหวและนักประพันธ์ที่ต่อสู้เพื่อชาวพื้นเมืองมานานนามว่า โอลิเวอร์ ลา ฟาร์จ(Oliver La Farge)
 
ปีเตอร์ ลา ฟาร์จ ร้องเพลงที่เขาแต่งขึ้นมาเอง ชื่อว่า "The Ballad of Ira Hayes" และเมื่อจอห์นนีได้ฟังบทเพลงประท้วงต่อสู้เพื่อชนพื้นเมืองเพลงนี้ ไฟบางอย่างในตัวเขาก็ติดขึ้นมาทันที
ปีเตอร์ ลา ฟาร์จ (Peter La Farge) ผู้แต่งเพลง "The Ballad of Ira Hayes"
อันที่จริงจอห์นนีเคยเขียนเพลงบัลลาดเกี่ยวกับการประท้วงเพื่อชนพื้นเมืองมาแล้วในปีค.ศ.1957 แต่หลังจากนั้นเขาก็ลืมเลือนเรื่องเพลงนี้อยู่พักหนึ่ง ไม่มีใครที่ออกมาพูดแทนชาวพื้นเมืองด้วยน้ำเสียง ข้อความ หรือบทเพลงใด ๆ จนกระทั่งปีเตอร์ ลาฟาร์จ กลับมาจุดประกายให้กับจอห์นนีในตอนนี้
 
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 แทบไม่มีใครพูดถึงสิทธิพลเมืองของคนพื้นเมืองทั้งที่พวกเขาน่าจะเป็นคนที่ถูกทำร้ายมามากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งด้วยและข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้พวกเขาไม่สามารถทำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองได้
ปัญหาสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นมักเป็นข้อพิพาทระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว และไม่เคยมีใครมองว่าปัญหาสิทธิพลเมืองของชนพื้นเมืองก็มีอยู่เช่นกัน
 
หลังจากจอห์นนีได้ฟังบทเพลง "The Ballad of Ira Hayes" เขาก็เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และหาความรู้เกี่ยวกับปัญหาของชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างจริงจัง
จอห์นนีกล่าวว่าเขาดำดิ่งลงไปในข้อมูลทุกระดับและหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวอันน่าสลดใจของชาวเชอโรกีและอาปาเช่ จอห์นนีรู้สึกเหมือนเป็นญาติกับไอรา เฮยส์ เพราะทั้ง 2 เคยรับราชการทหารเพื่อหลีกหนีจากความยากจนในชนบทและปรารถนาที่จะสร้างโอกาสใหม่ นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเคยติดยาเสพติด
 
จอห์นนี ยังติดต่อกับแม่ของไอร่า เอยส์ รวมถึงไปเยี่ยมเธอและครอบครัวที่เขตสงวนชนเผ่าพีมา ในรัฐแอริโซนา ก่อนที่จอห์นนีจะกลับ แม่ของไอร่า เฮย์สได้มอบของขวัญให้กับเขา มันเป็นหินโปร่งแสงสีดำเรียบ พวกเขาเรียกมันว่า "น้ำตาอาปาเช่" (Apache tear) มีที่มาจากการโจมตีอันสุดโหดของทหารม้าสหรัฐต่อชนพื้นเมือง ซึ่งเกิดขึ้นที่ชนเผ่าอาปาเช่ ในรัฐแอริโซนา
"น้ำตาอาปาเช่" (Apache tear) ได้กลายมาเป็นชื่อหนึ่งในบทเพลงในอัลบั้มเพื่อชนพื้นเมืองของจอห์นนี แคช ที่ทำด้วยความเจ็บปวด ความโศกเศร้า และความโกรธแค้น ชื่อว่า “Bitter Tears: Ballads of the American Indian” หรือ “น้ำตาอันขมขื่น: บัลลาดของชาวอเมริกันอินเดียน” ในอัลบั้มมีเพลงของ ปีเตอร์ ลา ฟาร์จ 5 เพลง เพลงของเขาเอง 2 เพลง และอีก 1 เพลงที่เขาร่วมเขียนกับจอห์นนี ฮอร์ตัน
 
แต่ทว่าหลังจากทยอยปล่อยบทเพลงเหล่านี้ออกไป กลับแทบไม่มีสถานีวิทยุที่ไหนเปิดเพลงเหล่านี้ให้ประชาชนได้ฟังเลย ผู้จัดการสถานีบางคนกล่าวว่าเพลงนั้นต้องสร้างเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่สร้างเพื่อให้ความรู้ พวกเขาต้องการเพลงที่ประท้วงเรื่องราวที่คนขาวถูกกระทำ เช่นเรื่องราวในเรือนจำ พวกเขาไม่ต้องการเพลงเกี่ยวกับเรื่องราวที่ชนพื้นเมืองชาวอเมริกันนั้นถูกปฏิบัติอย่างทารุณ
ปกอัลบั้ม “Bitter Tears: Ballads of the American Indian”
สถานีปฏิเสธที่จะไม่เล่นเพลงและ Columbia Records ก็ปฏิเสธที่จะช่วยจอห์นนี แคช โปรโมตเพลง แม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงระดับสูงสุดในตอนนั้น และเพิ่งทำเพลงคันทรีขึ้นอันดับ 1 ด้วยเพลง "Understand Your Man" ก็ตามที
บรรณาธิการนิตยสารเพลงคันทรีคนหนึ่งยังเรียกร้องให้ จอห์นนี แคช ลาออกจากสมาคมเพลงคันทรีด้วยเหตุผลว่า "คุณและคนของคุณฉลาดเกินกว่าจะเชื่อมโยงบทเพลงกับคนธรรมดาทั่วไป”
 
เมื่อจอห์นนี แคช ถูกหลายฝ่ายโจมตีจากการที่เขาทำเพื่อไอร่า เฮย์ส และชนพื้นเมืองคนอื่นๆ เขายิ่งกลับเข้าใจไอร่ามากยิ่งขึ้น ขนาดเขายังโดนขนาดนี้ ไอร่าและชนพื้นเมืองจะถูกกระทำไว้หนักหนาสาหัสแค่ไหน
 
จอห์นนี แคช เขียนข้อความความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ ถึงคนในวงการและอุตสาหกรรมเพลงทั้งหมด ลงเต็มหน้าในนิตยสาร Billboard เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1964
 
"ดีเจ -- ผู้จัดการสถานี -- เจ้าของ ฯลฯ ความกล้าของคุณอยู่ที่ไหน???"
จอห์นนี แคช เขียนถามถึงพวกเขา
“ฉันไม่กลัวที่จะร้องเพลงอันหนักแน่นและขมขื่นที่ลูกชายของ โอลิเวอร์ ลา ฟาร์จ เขียน”
“จำแนกฉัน จัดหมวดหมู่ฉัน - กักขังฉัน แต่มันใช้ไม่ได้ผล”
 
"เนื้อเพลงเหล่านี้พาเรากลับไปสู่ความจริง ... คุณพูดถูก! เด็กสาววัยรุ่นและผู้ซื้อแผ่นเสียงของเดอะบีเทิลส์ไม่ต้องการที่จะได้ยินเรื่องราวที่น่าเศร้าของไอร่า เฮยส์ แต่ใครร้องไห้ง่ายกว่ากัน และใครที่ไปดูหนังเศร้าเพื่อให้ร้องไห้บ่อยๆ ??? ก็สาววัยรุ่นไง"
 
“ตอนนี้ฉันเป่าแตรของฉันแล้ว ครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น ต่อไปไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากฉันได้พูดสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว ฉันจะไม่ขอให้พวกคุณยัดเพลงลงคอของพวกเขา”
 
“แต่ในฐานะชาวอเมริกัน ฉันต้องโต้กลับเมื่อรู้ว่าหลายสถานีกลัว ไอรา เฮย์ส”
“คำถามเดียว ทำไม???”
 
หลังจากนั้นเป็นต้นมา สถานีวิทยุก็เกิดกระแสตอบโต้กลับจากชาวอเมริกัน จนบางสถานียอมเปิดเพลงเหล่านี้ให้พวกเขาได้ฟังกัน
ข้อความในนิตยสาร Billboard ที่จอห์นนีเขียนด่าคนในวงการทำเพลง
"The Ballad of Ira Hayes" ขึ้นเป็นอันดับ 3 ในชาร์ตอันดับเพลงซิงเกิลของประเทศสหรัฐอเมริกา และ "Bitter Tears" ขึ้นถึงอันดับ 2 ในชาร์ตอันดับของอัลบั้ม
 
นับตั้งแต่ที่จอห์นนี่ แคช ได้บันทึกบทเพลง "The Ballad of Ira Hayes" ในปีค.ศ.1964 ก็เริ่มมีนักดนตรีหลายคนก็ได้นำบทเพลงนี้มาบันทึกเป็นเวอร์ชั่นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น บ็อบ ดีแลน หรือ คริส คริสตอฟเฟอร์สัน
 
คริสกล่าวถึงจอห์นนี แคช ที่เสียชีวิตในปีค.ศ.2003 ว่าจอห์นนีคือ
"ความหวาดกลัวอันศักดิ์สิทธิ์ พลังแห่งความมืดและอันตรายของธรรมชาติที่ยืนหยัด เพื่อความเมตตาและความยุติธรรมเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
 
บางส่วนในบทเพลง “The Ballad of Ira Hayes”
“เรียกเขาว่าไอรา เฮยส์ขี้เมา
เขาจะไม่ตอบอีกต่อไป
ไม่ใช่อินเดียแดงที่ดื่มวิสกี้
หรือนาวิกโยธินที่ไปสงคราม
ที่นั่นพวกเขาต่อสู้กันบนเนินเขาอิโวจิมา
สองร้อยห้าสิบคน
แต่มีชีวิตอยู่เพียงยี่สิบเจ็ดเท่านั้น
ที่จะเดินกลับลงมาอีกครั้ง
และเมื่อการต่อสู้จบลง
เกียรติยศถูกยกสูงขึ้น
ในบรรดาบุรุษผู้ยกมันขึ้นมา
เป็นชาวอินเดียแดงนามว่า ไอร่า เฮยส์
ไอร่า เฮยส์ กลับมาเป็นฮีโร่
เฉลิมฉลองท่ามกลางแผ่นดิน
เขาเป็นผู้ชนะ ได้กล่าวปราศรัย ได้รับเกียรติ
ทุกคนจับมือเขา
แต่เขาเป็นเพียงชาวอินเดียนแดง
ไม่มีน้ำ ไม่มีบ้าน ไม่มีโอกาส
ที่บ้านไม่มีใครสนใจสิ่งที่ไอร่าทำ
จากนั้นไอราก็เริ่มดื่มหนัก
คุกมักจะเป็นบ้านของเขา
เขาเมาตายในเช้าวันหนึ่ง
อยู่ตามลำพังในดินแดนที่เขาต่อสู้เพื่อกอบกู้
น้ำสองนิ้วกับคูน้ำเปล่าเปลี่ยว
เป็นหลุมฝังศพของ ไอร่า เฮยส์
เรียกเขาว่าไอร่า เฮยส์ขี้เมา
เขาจะไม่ตอบอีกต่อไป
ไม่ใช่อินเดียแดงที่ดื่มวิสกี้
หรือนาวิกโยธินที่ทำสงคราม
ใช่ เรียกเขาว่าไอรา เฮยส์ ขี้เมา
แต่แผ่นดินของเขาก็แห้งแล้ง
และผีของเขากำลังนอนกระหายน้ำ
ในคูน้ำที่ไอราเสียชีวิต”
ถ้าผู้อ่านทุกคนอ่านถึงจุดนี้ เหมือนว่าได้อ่านหนังสือความยาวขนาด A4 ไปจำนวน 15 หน้าแล้ว
ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับ🙏🏻🙏🏻🙏🏻
บทความโดย I’m from Andromeda
ขอสงวนสิทธิ์การนำบทความไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต
ใครที่ไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องหาดูเลยนะครับ🙏🏻
โฆษณา