9 ก.ค. 2021 เวลา 01:49 • ธุรกิจ
AirAsia Group กับแผน Digital Transformation ที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส และอาจส่งบริษัท IPO ผ่าน SPAC ในปีนี้
หลายๆ คนคงจะได้เห็นข่าว AirAsia Digital (แอร์เอเชีย ดิจิทัล) เข้าซื้อ Gojek และ GoPay ในประเทศไทยกันแล้ว เรามาดูกันว่า AirAsia Group มีแผนธุรกิจอะไร
ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดเมื่อปี 2020 สายการบินหยุดชะงัก ทุกสายการบินเจอศึกหนัก รวมถึง AirAsia Group แต่ก็เป็นช่วงเดียวกันที่ AirAsia Group ประกาศแผน Digital Transformation แบบเต็มตัว เปลี่ยนจากสายการบินที่มุ่งเน้นช่องทางออนไลน์ ไปสู่การเป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์แพลทฟอร์ม หรือ SuperApp
AirAsia Digital คือหน่วยงาน Digital Venture ของ AirAsia Group ซึ่งรีแบรนด์มาจากตอนแรกที่ชื่อ RedBeat Ventures ก่อตั้งเมื่อปี 2018 โดยมีหน้าที่หลักคือการรวบรวมและพัฒนาสิ่งที่ AirAsia มีทั้งหมด มาพัฒนาให้เป็น Ecosystem ธุรกิจที่ตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม เพื่อปั้นให้ AirAsia กลายเป็นบริษัทดิจิทัลเต็มตัว
AirAsia Digital สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านการพัฒนา 3 เรื่องหลักคือ Big Data Insights, Technology Solution และ Talent Development Program ซึ่งเป็นที่มาที่ AirAsia Digital จึงประกอบด้วย 3 ขาคือ Venture Builder, Data Centre, และ Redbeat Academy โดยทั้ง 3 ขานี้มีเป้าหมายหลักร่วมกันว่าจะต้องปั้นให้เกิดธุรกิจดิจิทัลใหม่ที่
1. เพิ่มหรือสร้างแหล่งรายได้ใหม่
2. ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
3. พัฒนาประสบการณ์ลูกค้า
โดยขา Venture Builder นี่เองที่ดูแลเรื่องการสร้างธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะพัฒนามาจากหน่วยงานภายในหรือการลงทุนนอกบริษัท โดยโฟกัสที่ 3 ธุรกิจ คือ Lifestyle Platform, Fintech และ Logistic & E-Commerce
ปัจจุบัน AirAsia Digital มีบริษัทในพอร์ท 5 บริษัทด้วยกันคือ
AirAsia.Com > กำลังจะกลายเป็น AirAsia SuperApp
– Teleport > บริษัทขนส่ง (ซีอีโอมีพูดว่าเขามองคู่แข่งอนาคตเป็น DHL)
– BigPay > บริษัท Fintech ที่ให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทั้ง E-Wallet, การโอนเงิน ไปจนถึงประกันภัย (ตั้งแต่ปี 2017 มียอดใช้งานกว่า 1.4 ล้านคนในมาเลเซีย และปัจจุบันกำลังขอ Digital Banking License ในมาเลเซีย)
– BigLife > บริษัทที่ดูแลเรื่อง Loyalty Program ของในเครือ
–Santan > บริษัทที่ดูแลเรื่องอาหารบนเครื่องบิน ภายใต้แนวคิด Farm-to-Table ที่กำลังพัฒนาสาขาแฟรนไชส์ด้วย
และนี่คือที่มาของ AirAsia SuperApp ภายใต้แผน Digital Transformation...
AirAsia SuperApp โฟกัสที่ 3 โดเมนที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค คือ การท่องเที่ยว (Travel), ขายของออนไลน์ (E-Commerce) และ การเงิน (Fintech) ครบวงจร เที่ยว กิน ช้อป ในแอพเดียว! ซึ่งคาดการณ์ว่าธุรกิจนี้จะสร้างรายได้ถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2021 และตั้งเป้าให้รายได้ของบริษัท 50% มาจากช่องทางดิจิทัลภายใน 5 ปี
นอกจากการพัฒนาแพลทฟอร์มแล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คิดถึงความต้องการของผู้บริโภคหลังโควิดจบลง ทั่งเรื่องความต้องการที่อัดอั้นในอนาคต รวมถึงความยืดหยุ่นในการท่องเที่ยวมากขึ้น AirAsia Digital จึงมีการออก AirAsia Unlimited Pass, a buy-now-fly-later model (ซื้อก่อน บินทีหลัง) ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบการออกตั๋วของสายการบินอื่น
การเข้าซื้อ Gojek และ GoPay นอกจากจะช่วยเสริมบริการด้านไลฟ์สไตล์ให้ AirAsia SuperApp แล้ว GoPay ยังคงต่อยอดขา Fintech ของ AirAsia Group ซึ่งก็คือ BigPay ด้วย ซึ่งการรวมตัวครั้งนี้ก็จะทำให้ BigPay เข้าถึงฐานลูกค้าที่ GoPay ได้สร้างไว้ในไทยมาก่อนแล้ว
ล่าสุด AirAsia Group กำลังมองหาโอกาสในการนำบริษัทลูกซึ่งอาจเป็น AirAsia Digital หรือ AirAsia SuperApp เข้าลิสต์ในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งซีอีโอเผยว่าที่ผ่านมาได้รับการติดต่อและความสนใจอย่างมากจากบริษัทที่ทำ SPACs (Special Purpose Acquisition Company หรือที่เรียกว่าบริษัท เปลือก เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาทั้งที่ยังไม่มีกิจการใด ระดมทุนเข้าลิสต์ในตลาดโดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้าซื้อกิจการอื่นทีหลัง) ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีการศึกษาและปรับปรุงระบบบัญชีภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐอยู่
ถึงแม้ผลประกอบการในช่วงเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา AirAsia Group ยังคงขาดทุนหนักต่อเนื่องกว่า 6 ไตรมาส รายได้ลดลงกว่า 92% และยังคงต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อเยียวยา แต่การปรับตัวหาธุรกิจใหม่ที่เร็ว มาก่อนโควิดด้วยซ้ำ และชัดเจน ก็สร้างความหวังและโอกาสเติบโตใหม่ที่จับต้องได้จริงให้กับ AirAsia Group
กรณีของ AirAsia Group คล้ายๆ กับ กรณีของ Nike ที่เริ่มทำ Digital Transformation มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นผลที่ทำให้วันนี้ Nike ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ถึงแม้จะต่างกันที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดนกระทบแบบเต็มๆ ลองคิดดูว่าถ้า AirAsia ไม่ได้เจอผลกระทบขนาดนี้ คลื่นลูกใหม่ของ AirAsia ก็อาจจะไปได้สวยเลยทีเดียว แต่สิ่งที่น่าจะเป็นกำลังใจให้ใครหลายๆ คนได้ คือ Tony Fernandes ซีอีโอยังมองวิกฤตินี้เป็นโอกาส และดูเหมือนจะเร่งสร้างวิสัยทัศน์นี้ด้วยความ Bullish สุดๆ ด้วย
"We have not wasted the crisis, in fact we’ve been using the lockdown period to finetune our platform, ..." – Tony Fernandes, ซีอีโอของ AirAsia Group
โฆษณา