Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจาะลึกแท็กติกฟุตบอล
•
ติดตาม
9 ก.ค. 2021 เวลา 08:37 • กีฬา
⚽⚡️🤿 เจาะลึกดราม่าสิงโตดับโคนม: บอล 2 ลูก, เลเซอร์ส่องตา และการพุ่งเอาจุดโทษ
อังกฤษเป็นฝ่ายเอาชนะเดนมาร์กไป 2-1 หลังต่อเวลาพิเศษเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา ถือเป็นการยุติการรอคอยอันยาวนาน 55 ปี ในการผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศรายการใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประตูตัดสินเกมของพวกเขาก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน
แฮร์รี่ เคน ซัดประตูส่งทีมคว้าชัย หลังจากที่ลูกจุดโทษของเขาถูกเซฟโดย แคสเปอร์ ชไมเคิล ยังดีที่บอลกระดอนมาเข้าทางให้กัปตันทีมชาติอังกฤษสามารถตามซ้ำได้โดยง่าย
ซึ่งลูกจุดโทษนี้แหละที่กลายมาเป็นประเด็น
ราฮีม สเตอร์ลิง คือคนที่เรียกจุดโทษลูกนี้ หลังจากที่เขาถูกเตะล้มลงในกรอบเขตโทษโดย โยอาคิม เมห์เล่ แน่นอนว่าเดนมาร์กไม่แฮปปี้การการตัดสินในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีการตรวจสอบโดย VAR แล้วก็ตาม นอกจากนี้ก็ยังมีบอลอีกลูกที่อยู่ในสนาม ในพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวะการเล่นครั้งนี้อีกด้วย
จากนั้นก็มีการส่องเลเซอร์เข้ามาที่ใบหน้าของ ชไมเคิล ไม่กี่วินาทีก่อนการยิงประตูดังกล่าว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ส่งให้อังกฤษได้ทะลุเข้าไปเจอกับอิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 คืนวันอาทิตย์นี้
และนี่ก็คือบทวิเคราะห์จังหวะปัญหาทั้ง 3 เหตุการณ์ มาดูกันว่าจะมีคำอธิบายอย่างไรกันบ้างตามกฎกติกาของวงการฟุตบอล
จังหวะปัญหาที่หนึ่ง: ลูกบอล 2 ลูก
ก่อนที่ สเตอร์ลิง จะเลี้ยงบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษ เขาก็มีจังหวะหนึ่งที่ลากบอลผ่าน เมห์เล่ ที่ฝั่งขวาของสนาม
ตัวรุก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เอาชนะตัวประกบของเขาได้ แต่ก็เลี้ยงบอลเข้าไปใกล้กับลูกบอลอีกลูกที่อยู่ในสนาม ซึ่งมันใกล้พอที่นักเตะเดนมาร์กจะทักท้วงได้ว่ามันมีผลต่อสมาธิของพวกเขา
จังหวะที่มีลูกบอลลงมาในสนาม 2 ลูก ก่อนอังกฤษจะได้ลูกจุดโทษ
สเตอร์ลิง เลี้ยงตัดเข้าใน ก่อนที่จะไปปะทะเข้ากับ เมห์เล่ ทำให้ผู้ตัดสิน แดนนี่ แมคเคลี่ ชี้ให้เป็นจุดโทษ
จังหวะนี้ แมคเคลี่ และไลน์แมนเลือกที่จะไม่หยุดเกม แม้ว่าจะมีลูกบอลลูกที่ 2 ปรากฏในสนามอย่างชัดเจน ซึ่งทาง The Athletic ก็เข้าใจว่าบอลลูกนี้อยู่ในสายตาของทั้งผู้ตัดสินและ VAR อย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้มีผลให้การมอบจุดโทษครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
สำหรับกฎที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะต้องว่ากันด้วยกฎข้อ 5 ของกติกาฟุตบอลที่ออกโดย คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ
หมวด 5.3 ของกติกาฟุตบอล กล่าวไว้ว่า:
"(หาก) มีลูกบอลอีกลูก, สิ่งของอื่น ๆ หรือสัตว์ เข้ามาอยู่ในสนามระหว่างแมตช์แข่งขัน ผู้ตัดสินจำเป็นต้อง:
"หยุดการแข่งขัน (และเริ่มเล่นใหม่ด้วยการดร็อปบอล) หากจังหวะนั้นมีผลต่อการเล่น เว้นแต่ว่าการเล่นจังหวะนั้นกำลังมุ่งไปสู่ประตู และการรบกวนนั้นไม่ได้ส่งผลให้ผู้เล่นเกมรับไม่สามารถเล่นบอลได้ ประตูจะเกิดขึ้นหากว่าจังหวะนั้นบอลถูกส่งเข้าสู่ประตู (แม้จะมีการสัมผัสกับบอลลูกดังกล่าวก็ตาม) เว้นแต่การรบกวนนั้นเกิดขึ้นโดยทีมที่เป็นฝ่ายรุกเสียเอง
"สามารถปล่อยให้การเล่นดำเนินต่อไป หากการรบกวนนั้นไม่ได้มีผลต่อจังหวะการเล่น และจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกทันทีที่สามารถทำได้"
หากว่า แมคเคลี่ และ VAR มองแล้วว่าลูกบอลที่หลุดเข้ามานั้นไม่ได้มีผลรบกวนต่อการเล่นโดยตรง แมตช์ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดเพื่อเคลื่อนย้ายออก
จังหวะปัญหาที่สอง: การตัดสินใจให้จุดโทษ
นักเตะของแดนมาร์กไม่พอใจที่ สเตอร์ลิง ล้มลงไปอย่างง่ายดาย และ แมคเคลี่ ก็ตัดสินใจมอบจุดโทษให้ด้วย
สเตอร์ลิง สับเท้าผ่าน เมห์เล่ ในกรอบเขตโทษไปแล้ว ก่อนที่ฟูลแบ็คจาก อตาลันต้า จะวิ่งตามมาแล้วขาขวาของเขาก็ยื่นออกไป ดูเหมือนว่าขาของเขาจะไปปัดโดนหัวเข่าของ สเตอร์ลิง ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ตัวรุกชาวอังกฤษร่วงล้มลง
ไม่น่าแปลกใจที่ผู้เล่นเดนมาร์กรู้สึกผิดหวังกับตัดสินใจให้ลูกจุดโทษครั้งนี้
เมื่อถูกถามถึงจังหวะได้จุดโทษครั้งนี้ สเตอร์ลิง ก็ตอบเอาไว้หลังแมตช์ว่า "ผมวิ่งเข้าไปในกรอบเขตโทษ และเขา (เมห์เล่) ก็ยื่นขามาโดนขาของผม ดังนั้นมันจึงเป็นลูกจุดโทษชัดเจน"
ขณะที่นักวิเคราะห์เกมทางโทรทัศน์หลายคนทั่วยุโรปกลับมองว่า แมคเคลี่ ไม่ควรที่จะให้จุดโทษในจังหวะนี้เลย
"มันคือการพุ่งเห็น ๆ" ดิดี้ ฮามันน์ อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมันกล่าว "ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินที่น่ารังเกียจเหลือเกิน"
ปีเตอร์ ชไมเคิล ผู้เป็นพ่อแท้ ๆ ของ แคสเปอร์ ผู้รักษาประตูเดนมาร์ก และเป็นอดีตนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อธิบายถึงการตัดสินให้จุดโทษของ แมคเคลี่ เอาไว้ว่าเป็น "ความผิดพลาดครั้งใหญ่" ผ่านทาง BeIN Sports
"นี่จะเป็นสิ่งที่ถูกถกเถียงกันไปอีกนานแสนนาน" เขากล่าว "ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ยอมรับได้ยาก เพราะมันไม่ใช่ลูกจุดโทษเลย"
อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่ แมคเคลี่ ได้มอบจุดโทษไปแล้ว การตัดสินของเขาก็แทบจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดย VAR
นั่นเป็นเพราะว่า VAR จะถูกใช้เปลี่ยนคำตัดสินก็ต่อเมื่อ "เกิดความผิดพลาดอย่างชัดเจน" เท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ก้ำกึ่งเช่นนี้ก็เลยกลายเป็นว่าอังกฤษเป็นฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์ไป
จังหวะปัญหาที่สาม: การยิงเลเซอร์
ไม่กี่วินาทีก่อนที่ เคน จะก้าวเท้ายิงจุดโทษในช่วงต่อเวลาพิเศษ ผู้รักษาประตู ชไมเคิล ก็ถูกส่องด้วยปากกาเลเซอร์สีเขียว
แคสเปอร์ ชไมเคิล ถูกรบกวนโดยเลเซอร์สีเขียว
ไม่ชัดเจนนักว่ามันมีผลอะไรต่อ ชไมเคิล หรือไม่ และถึงแม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น กัปตัน เลสเตอร์ ซิตี้ ก็สามารถเซฟจุดโทษของ เคน ได้อยู่ดี ก่อนที่บอลจะเป็นใจกระดอนมาเข้าทางดาวยิงอังกฤษให้ตามซ้ำได้ง่าย ๆ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เลเซอร์ถูกใช้ระหว่างแมตช์ และ The Athletic ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ ยูฟ่า ได้รับทราบแล้วว่าผู้เล่นเดนมาร์กตกเป็นเป้าโจมตีตั้งแต่ก่อนเริ่มเตะช่วงต่อเวลาพิเศษ 30 นาที
ตอนนี้ ยูฟ่า กำลังรอรายงานหลังแมตช์จากทาง แมคเคลี่ อยู่ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป
ก่อนหน้านี้ ยูฟ่า เคยลงโทษสโมสรและแฟนบอลสำหรับการยิงเลเซอร์ใส่ผู้เล่นมาแล้ว ลียง เคยถูกปรับเงิน 2,520 ปอนด์ เมื่อปี 2008 หลังจากที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ตกเป็นเป้ายิงเลเซอร์ในเกม แชมเปี้ยนส์ลีก ที่พวกเขาพบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ขณะเดียวกัน ปี 2011 ฟาบิโอ คาเปลโล่ กุนซืออังกฤษในตอนนั้นได้ออกมาเรียกร้องให้มีบทลงโทษแฟน ๆ ในสนาม มิลเลนเนียม สเตเดี้ยม ที่คาร์ดิฟฟ์ หลังจากที่ผู้เล่นของเขาถูกเลเซอร์ส่องระหว่างเกมที่เอาชนะเวลส์ไป 2-0
โดยทั่วไปแล้ว ปากกาเลเซอร์ถือเป็นสิ่งของที่ถูกห้ามใน ยูโร 2020 และก็เชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะต้องมีการปรับเงินตามมาอย่างแน่นอน
(เรียบเรียงจากบทความ Two footballs, a laser pointer and Sterling’s penalty: The England vs Denmark controversies explained
เขียนโดย ลุค บราวน์ ลงในเว็บไซต์
theathletic.com
เมื่อ 8 กรกฎาคม 2021
เรียบเรียงโดย ณัฐดนัย เลิศชัยฤทธิ์)
#EURO2020
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย