9 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
แป้งโกกิ แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นชื่อเรียก แทนประเภทสินค้า
“แป้งโกกิ” คือชื่อแบรนด์ ที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนแป้งสาลีอเนกประสงค์ ที่เอาไว้ใช้ชุบอาหารสำหรับทอด ซึ่งเมื่อใครนึกถึงแป้งชุบแป้งทอด ก็มักจะเรียกหาแป้งแบรนด์นี้อยู่เสมอ จนกลายเป็น Generic Name
หากแปลกันในภาษาการตลาด คำว่า Generic Name จะหมายถึงชื่อแบรนด์ ที่กลายมาเป็นชื่อเรียกแทนประเภทกลุ่มสินค้า เหมือนอย่างเวลาที่เราเรียก “มาม่า” แทนคำว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นั่นเอง
และชื่อแบรนด์ไหนที่กลายเป็น Generic Name ได้ ย่อมหมายถึงการที่แบรนด์นั้น ได้รับความนิยมจนผู้บริโภคเรียกกันติดปากในวงกว้าง
โดยสาเหตุเกิดมาจากการสื่อสารการตลาดที่ดี ถูกที่ถูกเวลา และปราศจากคู่แข่งในช่วงเริ่มต้น
และที่สำคัญคือ แบรนด์ที่ทำให้ตัวเองกลายเป็น Generic Name ได้ จะทำให้คู่แข่งหน้าใหม่ ทำการตลาดยากขึ้นไปด้วย
ส่วนที่มาของ “แป้งโกกิ” ถือว่าเป็นแป้งชุบอาหารทอดเจ้าแรกในไทย ที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน
ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2521 การดัดแปลงส่วนผสมของแป้งสาลีธรรมดา ๆ ของคุณมาลินี จนออกมาเป็นแป้งที่เมื่อใช้ชุบและทอดแล้ว ทำให้อาหารมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
เมื่อลองทำกินเองในครัวเรือน แล้วพบว่ารสชาติอาหารอร่อยยิ่งขึ้น ต่อมาคุณมาลินี จึงเริ่มแบ่งปันแป้งนี้ให้กับเพื่อนบ้าน
หลังจากเพื่อนบ้านติดใจในรสชาติ ความต้องการก็มีมากขึ้น คุณมาลินีเลยตัดสินใจทำแป้งดังกล่าวออกขาย
ในช่วงที่เริ่มขายแรก ๆ นั้น เธอแบ่งขายแบบใส่ถุงพลาสติกใส พร้อมกับใช้เทียนลน เพื่อปิดปากถุง และแปะกระดาษไว้ที่หน้าถุงว่าแป้งสาลีเท่านั้นเอง
เมื่อขายดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจครัวเรือนจึงขยับขยายกลายมาเป็นโรงงาน จนเกิดเป็น บริษัท มาลินีฟูดโปรดักส์ จำกัด
หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากถุงใส เป็นถุงที่มีรูปลักษณ์สวยงามและมีมาตรฐานในการรักษาความสดใหม่ของสินค้า
พร้อมตั้งชื่อให้แบรนด์ว่า “โกกิ” ซึ่งคำว่าโกกินั้น คุณมาลินีชอบ จึงหยิบมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ
4
จุดเด่นที่ทำให้ แป้งโกกิ แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ คือรสชาติที่ต่างไปจากแป้งสาลีธรรมดา และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์, อาหารทะเล หรือผักต่าง ๆ
และนอกจากแป้งโกกิแล้ว บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีกมากมาย อาทิ แป้งประกอบอาหาร, แป้งปรุงรส, ผงปรุงอาหาร, แป้งสำเร็จรูปสำหรับทำแพนเค้ก, เกล็ดขนมปังชุบแป้งทอด และแป้งสำเร็จรูปสำหรับทำขนมไทย
ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดออกมาเพิ่มเติมนั้น ยังคงรักษาจุดยืนของตัวเอง ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแป้ง ที่สร้างความหลากหลายในพอร์ตโฟลิโอของบริษัท
ปัจจุบัน แป้งโกกิ ดำเนินงานภายใต้ บริษัท เอ็มแอนด์อาร์ แลบเบอราทอรี่ จำกัด
ปี 2561 ทำรายได้ 352 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท
ปี 2562 ทำรายได้ 353 ล้านบาท กำไร 48 ล้านบาท
ปี 2563 ทำรายได้ 355 ล้านบาท กำไร 44 ล้านบาท
ซึ่งกรณีศึกษาของแป้งโกกิ ได้ให้ข้อคิดกับเราว่า
1) ควรทดสอบตลาดกับคนใกล้ตัว ก่อนลงสนามจริง
การที่เราจะรู้ว่าสินค้าของเราดีจริง จนทำให้เกิดดีมานด์ในตลาดได้หรือไม่นั้น ควรทดลองกับคนรอบข้างที่ใกล้ตัวก่อน เพราะมีต้นทุนไม่มาก
และเป็นการทำแบบสอบถามชั้นดี ว่าสินค้าของเราควรจะเพิ่มเติมหรือปรับปรุงที่จุดไหนบ้าง เพื่อจะได้ทำให้ดียิ่งขึ้น
2) เราไม่จำเป็นต้องพัฒนาสิ่งใหม่เสมอไป
ในโลกธุรกิจ เรามักจะคิดว่า การสร้างเส้นทางทะเลสีครามของตัวเอง จะต้องเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ต้องเป็นนวัตกรรมล้ำยุค ซึ่งถ้าเราเจอธุรกิจเหล่านั้นได้ก่อนคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่การพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้ดียิ่งขึ้น ก็เป็นอีกทางเลือกของการทำธุรกิจเช่นกัน
อย่างในกรณีของแป้งโกกิ ก็เป็นการดัดแปลงแป้งสาลีธรรมดา ๆ เอามาเพิ่มเติมส่วนผสมในแบบฉบับของตัวเอง จนประสบความสำเร็จ เพื่อนบ้านติดใจในรสชาติ จนต้องขยับขยายมาเปิดเป็นโรงงานในที่สุด
3) ต่อยอดธุรกิจด้วยความเชี่ยวชาญเดิม
จุดเริ่มต้นของคุณมาลินี เกิดจากผลิตภัณฑ์แป้งสำหรับทำอาหาร ดังนั้น การต่อยอดสินค้าอื่น ๆ จึงตั้งต้นจากคำว่า “แป้ง” ต่อยอดออกไปเป็น แป้งสำหรับทำขนม, แป้งแพนเค้ก หรือเกล็ดขนมปังชุบแป้งทอด
เพื่อทำให้สินค้าของบริษัทมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ จากการแตกไลน์สินค้าใหม่อีกด้วย
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-www.gogi-foods.com
โฆษณา