12 ก.ค. 2021 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
ความจริงเบื้องหลังการแต่งหน้าขาวของควีนอลิซาเบธที่ 1
หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพวาดของควีนอลิซาเบธที่ 1 ในหลากหลายเวอร์ชั่น แต่ไม่ว่าจะรูปไหนก็จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงแต่งหน้าขาวตลอด เพราะอะไรกัน ทำไมต้องแต่งหน้าขาว วันนี้เรามีคำตอบ
2
ควีนอลิซาเบธที่ 1 (Queen Elizabeth I) ประสูติในปี ค.ศ. 1533 และขึ้นเป็นพระราชีนีปกครองอังกฤษและไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1558 ถึง 1603 เป็นเชื้อสายคนสุดท้ายของราชวงศ์ทิวดอร์ โดยพระองค์เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และพระนางแอนน์ โบลิน ผู้ซึ่งถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอในขณะที่อลิซาเบธอายุได้ 2 ขวบครึ่ง
2
อลิซาเบธตอนที่ยังเป็นเจ้าหญิง
ควีนอลิซาเบธที่ 1 เป็นผู้ที่มีภาพวาดบุคคลเยอะ แต่เรื่องราวเบื้องหลังภาพวาดนั้น ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว พระองค์มักจะโปรดให้จิตรกรเก่งๆไม่กี่คนวาดภาพพระองค์ แล้วค่อยให้จิตกรคนอื่นๆ ก็อปปี้วาดตามภาพวาดนั้นไป โดยพระองค์จะเลือกจากต้นฉบับที่วาดพระองค์ได้งดงามที่สุด
คำอธิบายว่าพระองค์มีหน้าตาเป็นเช่นไร มีปรากฏในบันทึกร่วมสมัยจากผู้ที่เข้าพบพระองค์ในราชสำนักสมัยนั้น เช่น
พระองค์วัน 22 ชันษา สวยและสง่างาม ไม่แปลกใจต่อผู้ที่พบเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชินี
2
พระองค์ในวัย 24 ชันษา นอกจากพระพักตร์ที่งดงามแล้ว รูปร่างยังสูงโปร่ง แต่งตัวงดงาม มีผิวพรรณผุดผ่อง แม้ว่าจะมีความคล้ำที่ดวงตาเล็กน้อย
พระองค์ในวัย 32 ชันษา ผมเป็นสีแดงเรื่อมากกว่าจะออกเหลือง ถูกม้วนอย่างเป็นธรรมชาติ เข้ากับพระพักตร์และรูปร่าง
พระองค์ในวัย 64 ชันษา พระพักตร์รูปไข่ยังคงงดงามอยู่ แม้จะมีริ้วรอย ดวงตาเล็ก จมูกงุ้มเข้าเล็กน้อย ฟันมีสีดำ ใส่วิกสีแดงเนื่องจากผมร่วงค่อนข้างเยอะแล้ว
1
ทั้งหมดนี้เป็นคำบรรยายรูปร่างลักษณะของควีนอลิซาเบธที่ 1 จากผู้ที่เคยได้เข้าเฝ้าในสมัยนั้น
ในสมัยนั้นความงามของผู้หญิงมาตรฐานในสังคม คือ ต้องมีผิวขาว เป็นการบ่งบอกสถาฐานะทางสังคมด้วย เพราะผิวขาวเนียน หมายถึงเธอผู้นั้นไม่ใช่ชนชั้นล่าง ไม่เคยต้องลงแรง ทำงานงกๆ โดนแสงอาทิตย์ที่ทำให้ผิวคล้ำเสีย
ทว่าควีนอลิซาเบธที่ 1 ในวัย 29 ชันษา ประชวรด้วยโรคไข้ทรพิษรุนแรง จนเกือบทำให้พระองค์สวรรคต โดยอาการของพระองค์คือมีตุ่มผื่นขึ้นเล็กๆบริเวณใบหน้าและลำตัว ก่อนที่จะลามเป็นตุ่มหนองแตกออก ซึ่งในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่ทันสมัยเพียงพอ และไม่มียารักษาโรคที่จะทำความสะอาดแผลได้
อังกฤษในเวลานั้น กว่า 30% ของผู้ที่เป็นโรคนี้ เสียชีวิต ถ้ารอดก็ต้องเผชิญกับแผลเป็นที่ผิวหนังที่น่ากลัว
ควีนอลิซาเบธที่ 1 เช่นเดียวกัน เมื่อทรงหายจากโรคแล้ว แผลแห้งได้ทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้ที่พระพักตร์และร่างกาย นั่นไม่ได้ทำให้พระองค์เสียโฉมสะทีเดียว แต่กับผู้ที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตนเองตลอดเวลาอย่างควีนอลิซาเบธที่ 1 การมีแผลเป็นบนพระพักตร์ ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
1
ในตอนนี้เองที่ความลับเบื้องหลังภาพลักษณ์ของพระองค์ได้เปิดเผยขึ้น
พระองค์เริ่มใช้ เวเนเชี่ยน เซรูส (Venetian Ceruse) ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำส้มสายชูและผงตะกั่วขาวผสมกัน ปาดหรือทาลงที่หน้าและบริเวณลำคอ เพื่อใช้ในการแต่งหน้า ให้หน้าขาวประหนึ่งผ้าใบวาดภาพ ซึ่งเนื้อผสมค่อนข้างหนา และมากพอที่จะปกปิดแผลเป็นบนใบหน้าได้
นอกจากนี้ในส่วนของแก้มและริมฝีปาก พระองค์ใช้ลิปสติกที่ผสมสีตามธรรมชาติ มีส่วนผสมของชาด หรือ ตะกั่วแดง และที่สำคัญคือ ปรอท
ทำให้พระองค์มีผิวสีขาวซีด แก้มแดง และริมฝีปากแดง เป็นภาพลักษณ์ประจำตัวพระองค์
1
เวเนเชี่ยน เซรูส (Venetian Ceruse)(Credit: https://www.thecut.com/2013/12/most-dangerous-beauty-through-the-ages.html)
ดังที่กล่าวไป สมัยนั้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า ไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าผงตะกั่ว และปรอทนี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังอย่างมาก การสัมผัสโดนตะกั่วโดยตรงและสูดดมเข้าไปแทบทุกวัน ทำให้พระองค์เริ่มมีอาการเจ็บป่วย เช่น ผมร่วงอย่างหนักและผิวเสียอย่างมาก
ยิ่งผิวเสียถูกกัดกร่อนจากสารเคมีมากเท่าไหร่ พระองค์ก็ยิ่งโบกเซรูสนี้เยอะขึ้นไปอีก เพื่อปกปิดร่องรอยความไม่สม่ำเสมอของผิว
ส่วนอาการข้างเคียงจากการโดนสารปรอทรุนแรง คือ มีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า และฉุนเฉียวง่าย ซึ่งควีนอลิซาเบธที่ 1 มีอาการเช่นนี้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์
ในสมัยนั้น ชนชั้นสูงแต่งหน้าไว้ตลอดวันและทั้งคืน ไม่ได้ล้างออกในตอนกลางคืนเท่าไหร่นัก เมื่อข้าราชบริพารแต่งหน้าให้กับพระองค์ พระองค์ก็จะปล่อยเอาไว้แบบนั้นเป็นสัปดาห์ จนเมื่อล้างออกจึงพบว่าสีผิวโดนตะกั่วกัดกร่อนทำให้เป็นสีเทา และก่อให้เกิดริ้วรอย
1
สำหรับ make up remover ในสมัยนั้นจะใช้ น้ำผึ้ง เปลือกไข่อ่อนๆ สารส้ม และปรอท ในการล้างออก ที่นิยมใช้ปรอทล้างหน้า เพราะว่าปรอททำให้ผิวหน้านุ่ม เพราะมันจะลอกเอาผิวหนังออกไปเป็นชั้นๆนั่นเอง
ยิ่งนานวันขึ้น ควีนอลิซาเบธที่ 1 ก็ยิ่งเป็นห่วงภาพลักษณ์ของพระองค์มากขึ้น การวาดภาพ การปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะ พระองค์จะระมัดระวังเป็นอย่างมาก ไม่ให้ผู้ใดเห็นรอยแผลเป็นใบหน้า หรือ จุดด่างพร้อยใดๆเลย
1
พระองค์ออกกฎเสียด้วยซ้ำ ว่ามิให้ผู้ใดวาดภาพพระองค์ที่มีริ้วรอยบนใบหน้า แม้ว่าพระองค์จะอายุกว่า 60 ชันษาแล้วก็ตาม ภาพลักษณ์และภาพวาดที่พระองค์ต้องการให้ทุกคนเห็นคือ พระองค์ทรงแต่งกายสวยงาม ผิวพรรณสุขภาพดี (แบบขาวซีด) และพระพักตร์ไม่มีริ้วรอยใดๆ
The ‘Darnley portrait’, c. 1575 (Credit: https://www.npg.org.uk/research/programmes/making-art-in-tudor-britain/case-studies/the-queens-likeness-portraits-of-elizabeth-i#darnleyportrait)
The Darnely Portrait ด้านบน เป็นภาพวาดควีนอลิซาเบธที่ 1 ที่พระองค์อนุญาตให้ใช้เป็นตัวอย่างให้จิตกรท่านอื่นๆวาดตาม ภาพนี้วาดในปีค.ศ. 1575 ซึ่งวาดโดยจิตกรที่เรามิอาจทราบชื่อได้ว่าเป็นใคร
ในช่วงบั้นปลายของพระองค์ ควีนอลิซาเบธที่ 1 ต่อสู้กับริ้วรอยแห่งวัยของตนเองเป็นอย่างมาก ด้วยการโบกเซรูสหนักขึ้นเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งท่านเอิร์ลแห่งเอสเซกส์ (Earl of Essex) ได้เข้าพบพระองค์ในตอนกลางคืนที่พระราชวัง พระองค์อยู่ในชุดนอน เป็นตอนที่พระองค์เปลือยหน้า ไม่ได้ลงเมคอัพ และเผยพระเกศาเกือบล้าน เมื่อไม่ได้สวมใส่วิก ในบันทึกกล่าวว่าท่านเอิร์ลแห่งเอสเซกส์แสดงอาการตกใจเป็นอย่างมาก
ในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่กี่เดือนก่อนการสวรรคต ควีนอลิซาเบธที่ 1 ปฏิเสธที่จะไม่ให้หมอหลวงหรือผู้ใดเข้ามารักษาพระองค์ ควีนอลิซาเบธที่ 1 อยู่ในภาวะที่เศร้าโศก โทรมนัสอย่างที่สุดแล้ว พระองค์ปฏิเสธที่จะพักผ่อน และนอนลงบนเตียง เพราะเกรงว่าถ้านอนแล้ว จะไม่สามารถลุกขึ้นมาได้อีก พระองค์จึงยืนพิงหมอนไว้เป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมง ก่อนที่จะทรงไม่ไหว และสวรรคตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1603
ขณะที่พระองค์สวรรคตที่ Richmond Palace พระองค์ก็ยังคงมีเมคอัพเต็มอยู่ที่พระพักตร์ โดยที่ไม่ได้ล้างออก
ไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าตะกั่วและปรอทที่อยู่ในส่วนผสมของเมคอัพที่พระองค์ใช้ทุกวันมีผลโดยตรงทำให้พระองค์สวรรคตหรือไม่ แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่านี่มีส่วนสะสม ทำให้พระองค์เจ็บป่วยและสวรรคตต่อมา ซึ่งพระองค์อาจจะประชวรด้วยอาการของมะเร็ง หรือ ปอดอักเสบ จากสารเคมีเหล่านี้ที่สะสมในร่างกายของพระองค์
เพิ่มเติม
เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยนักประวัติศาสตร์ และผู้คนทั่วไปได้เห็นใบหน้าที่อาจจะเป็นไปได้จริงๆของ ควีนอลิซาเบธที่ 1 โดยจำลองและเทียบจากภาพวาดควีนอลิซาเบธที่ 1 ในรูป Armada Portrait ที่แสดงฉากหลังคือกองเรืออังกฤษสามารถเอาชนะกองเรืออาร์มาด้าของสเปนได้
เขียนและเรียบเรียงโดยทีมงานคิดก่อน ไม่อนุญาตให้ดัดแปลง แก้ไข และคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต
References:
โฆษณา