10 ก.ค. 2021 เวลา 02:42 • ดนตรี เพลง
[รีวิวอัลบั้ม] CALL ME IF YOU GET LOST - Tyler, The Creator
เมื่อความสนุกเพรียกหา
[รีวิวอัลบั้ม] CALL ME IF YOU GET LOST - Tyler, The Creator
-ถ้าจะอุปโลกน์ว่า Tyler, The Creator คือแร็ปเปอร์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และทำเพลงได้เจ๋งขนาด คงไม่ใช่เรื่องที่ overrated จนเกินไป นี่เป็นอีกครั้งที่ Wolf Haley ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความ enjoy ต้องเป็นที่ตั้ง แล้วตามมาด้วยเนื้อหา มันถึงจูงใจให้คนมาคล้อยตามได้ มันก็คงไม่ต่างกับการเลือกคบคนประเภทระหว่าง เด็กคงแก่เรียนอยู่แต่ในกรอบ ซีเรียสในเนื้อหา ออกนอกตำรานิดหน่อยไม่ได้ กับ เด็กหลังห้องที่ไม่คงแก่เรียนเลย แต่ดันมีสายตาที่กว้างไกลกว่า ไทเลอร์ถูกจัดเป็นคนประเภทอย่างหลังที่เพื่อนๆพร้อมจะเข้าหาด้วยความคูลของมัน
-ต่อให้อัลบั้มก่อนๆอย่าง Flower Boy และ IGOR ไต่ระดับความท็อปฟอร์มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัลบั้มชุดล่าสุด CALL ME IF YOU GET LOST แทบจะไม่ลดหลั่นความอหังการนั้นเลย แถมมาในคาแรคเตอร์ที่ไม่ซ้ำเดิมด้วย เป็นความพยายาม balance ตัวตนจอมป่วนเก่าๆ เห่อมอยคะนองปาก กับตัวตนยุคปัจจุบันที่เริ่มอ่อนโยนขึ้น ไม่เน้นล้อไม่บุลลี่ ด้วยความที่แซะคนอื่นไว้เยอะ มันก็จะมีโมเมนต์สารภาพบาปแว้บมาเป็นระยะ ในขณะที่เดินบีทด้วยความเมามันส์สนุกสนาน สิ่งที่ทำให้ความน่าติดตามของไทเลอร์ไม่ใช่แค่จะเสิร์ฟอะไรสนุกๆมาให้เรา แต่ได้เห็นสเต็ปการพัฒนา character ที่ควรจะ mature ได้มากกว่านี้ ซึ่งเราก็ได้เห็นความคิดที่เข้าท่าในหลายๆอย่างของไอ้หนุ่มจอมซ่าส์ที่อยากทำตัวให้น่าเคารพไปมากกว่าความคูลของเขา มันเป็นความสนุกที่ไม่ประเดี๋ยวประด๋าว และแอบแฝงด้วยมุมมองส่วนตัวที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจนกลายเป็นจุดฉงนสนเท่ห์
-สังเกตได้ว่าสองผลงานที่ผ่านมาทั้ง Flower Boy ที่ได้ใส่ความเป็นชายหนุ่มผู้มีความรู้สึกรอบด้านทั้งรัก โลภ โกรธ หลง เบื่อ เหงา เริ่มจะเป็นผู้เป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิด ไปจนถึง IGOR ที่ทำลายเส้นแบ่งกั้นระหว่างป็อปและฮิปฮอป จนกลายเป็นแนวเพลงอีกฟอร์มนึงที่ไม่ตายตัว สามารถจินตนาการร้อยแปดพันเก้าได้ว่า หน้าค่าตาของไอ้มนุษย์พรรค์นี้มันเป็นอย่างไรกันแน่ คราวนี้ CMIYGL ใส่ความเป็นฮิปฮอปชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ เพราะที่ผ่านมาไอ้หนุ่มแสบกลับเล่นกับความเป็นฮิปฮอปทางเลือกเยอะมากจนแทบไม่แปลกใจเลยว่า DJ Khaled สบประมาทว่าเป็นเพลงลึกลับห่าไรไม่รู้ ทั้งๆที่สมัยนี้ชาวบ้านเค้าแทบจะเข้าหาความอะไรไม่รู้มาท้าทายโสตประสาทกันหมดแล้ว มากกว่าที่จะเข้าหาฮิปฮอปรูปแบบเดิมๆ
-ไม่รู้เหมือนกันว่าจุดประสงค์ในการเดิน Rap Music แบบเต็มสูบขนาดนี้ เป็นการหลอกด่าดีเจชื่อดังทางอ้อมหรือไม่ ? เพราะรูปแบบของอัลบั้มชุดนี้เรียนรู้ที่จะคาราวะขนบธรรมเนียมฮิปฮอปดั้งเดิมในหลายๆทาง ไม่ว่าจะเป็นการเชื้อเชิญ DJ Drama มาเป็น MC คอย hype ปลุกเร้าคนฟังกันตลอดทั้งอัลบั้ม หนึ่งใน element สำคัญของวัฒนธรรมฮิปฮอป การมี MC มาคอยแทรกในงานเพลงมักจะมีให้เห็นในผลงานรูปแบบมิกซ์เทปใต้ดินซะมากกว่า โดย DJ Drama เฮียแกเป็นสัญลักษณ์ประจำซี่รี่ย์มิกซ์เทป Dedication ของ Lil Wayne แรงบันดาลใจหลักๆมาจากซีรี่ย์มิกซ์เทปของไอดอลคนโปรดด้วย นานๆทีเราจะได้เห็นแร็ปเปอร์เชื้อเชิญดีเจมาคอย shoutout ในผลงานรูปแบบสตูดิโออัลบั้ม โดยปกติแล้วศิลปินจะยึดตัวเองเป็น center ในการขับเคลื่อนอัลบั้มเสียเอง การที่เชื้อเชิญดีเจมีจุดประสงค์ในการผลักดันวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เห็นในรูปแบบทางการให้คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นฐานแฟนเพลงหลักของไทเลอร์ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของคัลเจอร์นี้ในวงกว้างด้วย
หน้าปกอัลบั้ม Return to the 36 Chambers-Ol’ Dirty Bastard แห่งวง Wu-Tang Clan
-ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ หน้าปกอัลบั้มที่สาวกฮิปฮอปเห็นครั้งแรกแล้วอ๋อเลย เป็นรูปใบขับขี่ที่ไม่ใช่แค่สแกนแล้วจบไป แต่เป็นการคารวะหน้าปกอัลบั้มสุดคลาสสิคในลักษณะคล้ายๆกันอย่าง Return to the 36 Chambers ของไอดอลผู้ล่วงลับ Ol’ Dirty Bastard แห่งวง Wu-Tang Clan แขกรับเชิญมากหน้าหลายตาทั้งคนคุ้นเคยรวมไปถึงแร็ปเปอร์จำพวกสายอันเดอร์กราวนด์ที่ดูไม่น่าจะโคจรในจักรวาลของไทเลอร์ผู้รังสรรค์นี้ได้ นอกเหนือจากศิลปินสายอินดี้ที่โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ ธรรมเนียมฟีทเจอร์เยอะๆเป็นสีสันสำคัญของการคงวิถีฮิปฮอปคัลเจอร์ แต่ฟีทเจอร์ที่ไทเลอร์คัดสรรเป็นในลักษณะปนเปที่ยืนอยู่บนโลกของเมนสตรีม อันเดอร์กราวน์ด และโลกของอินดี้ กลายเป็นสีสันที่หลากมิติ มาทั้ง Soul, Jazz, Pop, Disco แตกต่างไปจากแร็ปเปอร์ทั่วไปที่วนเวียนในมิติฮิปฮอปอาร์แอนด์บี ซึ่งไม่ผิด แต่ถ้าอยากได้อะไรที่ something more ไทเลอร์จัดให้คุณอย่างหนำใจ
-วัฒนธรรมการ flex อวดร่ำอวดรวยตามธรรมเนียมฮิปฮอปอันปกติถูกให้น้ำหนักเป็นพิเศษ แต่แนวคิดของไทเลอร์ดันไม่เหมือนใคร มีการวาดภาพไว้เสร็จสรรพ เขาได้สร้าง alter-ego นามว่า Tyler Baudelaire เป็นตัวตนชั่วคราว represent ตัวตนอันแสนแพง รู้ดีเรื่องแฟชั่น จักรยานจอดทิ้งไว้ Roll Royce ต้องมา ปรับลุค personal appeal ใส่หมวกใส่แจ๊คเก็ตขนเฟอร์จัดเต็ม อย่างที่บรรยายในแทร็คอินโทรเปิดอัลบั้ม SIR BAUDELAIRE แน่นอนว่าไทเลอร์มี mindset แบบซุปเปอร์สตาร์ที่ให้ความสำคัญกับลุคภายนอกในแต่ละ era เพื่อเป็นหน้าค่าตาสำหรับอัลบั้มนั้นๆ เป็นการชี้ชัดถึงคาแรคเตอร์ว่าจะมาแนวไหน
Charles Baudelaire
-อย่างไรก็ดีนามสกุล Baudelaire ไม่ได้อุปโลกษณ์เป็นชื่อขึ้นมาลอยๆ นามสกุลนี้อ้างอิงมาจากนักกวีชาวฝรั่งเศส Charles Baudelaire จากที่ไปค้นอ่านประวัติของบุคคลต้นแบบก็ค้นพบได้คร่าวๆว่า ไลฟสไตล์ของชาลส์ค่อนข้างโลดโผน โหดกว่า และโจ๋งครึ่มกว่าในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและศาสนาได้อย่างจัดจ้าน จนโดนศาลปารีสสั่งฟ้องในข้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมขณะที่เขามีชีวิตอยู่ ด้วยความที่ยุคนั้นแนวคิดคนส่วนใหญ่ก็อนุรักษนิยมเป็นเรื่องปกติ กว่าจะถูกยกย่องจนทุกคนเริ่มหันมาสนใจก็ล่อไปตั้ง 50 ปีหลังจากที่ตายจนคนจะลืมแล้วด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าไลฟสไตล์ของไทเลอร์ไม่โจ๋งครึ่มและโหดเท่า แต่มีจุดร่วมในแง่ของความหวือหวาที่หลากสีสันเนี่ยแหละ แต่เป็นสีสันที่หม่นหมองเท่าท่านชาลส์เป็นแน่นแท้ เป็นสีสันแห่งการวางตัวที่ซ่าส์ได้โล่ห์ มากวีรกรรม ผลแห่งความบ้าของมันเนี่ยแหละจะกลายมาเป็นโมเมนต์แห่งความชิบหายที่ต้องมารับผิดชอบกับการกระทำและคำพูดในภายหลัง ซึ่งเดี๋ยวผมจะ mentioned ถึงในข่วงต่อไป
-จากอัลบั้มก่อน IGOR เต็มไปด้วยอารมณ์การหมกมุ่นที่คุกกรุ่นในแบบที่รักมากก็เกลียดมาก จากตอนนี้ CMIYGL เป็นความพยายามสลัดความคิดเหล่านั้นด้วยการหอบกระเป๋าออกไปเผชิญกับโลกภายนอก พยายามเข้าหาผู้คนหลากหลายต่างออกไปเหมือนกับฟีทเจอร์ศิลปินที่ได้กล่าวข้างต้นไป ถึงแม้อัลบั้มนี้จะไม่ได้มีอารมณ์ cinematic วางโครงเรื่องโลดโผนผจญภัยเป็นเรื่องเป็นราวแบบเดียวกับ After Hours ที่ The Weeknd เคยทำ แต่ห้วงอารมณ์ความรู้สึกเต็มไปด้วยพลังงานอิสระ อยากทำไรก็ทำ โดยมีแรงขับของความมั่นใจและการพยายามมองหาคุณค่าในตัวเองในแบบที่ช่างแม่งเหอะความเหงา กูจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขโดยไม่ต้องง้อใคร
-ถ้าไม่นับแทร็คเปิดตัวที่เริ่มต้นก็ใส่ความหวือหวากรุ้มกริ่มแล้ว CORSO คือแทร็คปลุกพลังของจริงด้วยบีทสุดกระหึ่ม การสาด synthesizer สุดวูบวาบที่สาวกต่างคุ้นหู เดินเครื่องเตรียมความพร้อมพุ่งทะยานไปกับสหายคนใหม่ DJ Drama ที่คอยเร่ง volume พร้อมเปย์เพื่อตัวเองและยังบ้าเปรียบเปรยกับเรือที่อยากพายเวียนมหาสมุทรทิ้งความโศกลงแม่น้ำ Remember I was rich so I bought me some new emotions / And a new boat 'cause I rather cry in the ocean เป็นท่อนทิ้งท้ายก่อนที่จะเจอความสนุกตรงหน้า
-ไล่ตั้งแต่ LEMONHEAD เชื้อเชิญแร็ปเปอร์เมืองดีทรอยต์ 42 Dugg มาจัดเต็มความ swag ด้วยแทร็ปบีทชวนโยก เพิ่มความ alert ด้วยทรัมเป็ต ในท่อน Outro มีบุรุษลึกลับ Frank Ocean โผล่มาทักทายเล็กๆน้อยๆเป็น cameo ปิ๊งสาวระหว่างทางใน WUSYANAME เป็นอาร์แอนด์บีแร็พที่เฟี้ยวมาก Ty Dolla $ign ขาฟีทประจำมาเคล้าคลอเป็น back up ให้ ที่เหนือความคาดหมายก็คือ NBA YoungBoy ที่แร็พโหยหวนกระดกลิ้นได้เหาะสัด เพิ่มความ hype แบบรวบรัดใน LUMBERJACK ซิงเกิ้ลแรกที่ให้ฟีลยุคอัลบั้ม WOLF มากที่สุด แต่เล่นกับความรวบรัดพอดีคำ HOT WIND BLOWS ที่ยกระดับเพลงสาย swag ด้วยการแซมเปิ้ลเพลงโซล Slow Hot Wind ของ Penny Goodwin แล้วแซมด้วยเสียง Flute สุดเคลิ้บเคลิ้ม ชวนรุ่นพี่คนสนิท Lil Wayne มาใส่แร็พกันอย่างสนุกสนาน
-ส่วน RUNITUP เอาจริงไม่คลิ๊กตั้งแต่เริ่มเพลงล่ะที่ใส่ autotune แบบยานๆ เป็น repeat rap ที่ค่อนข้างจำเจหน่อย เมื่อเทียบกับเพลงวิถีอวดรวยพอกันอย่าง RISE! ที่มีท่วงทำนอง catchy ครื้นเครง สำเริงสำราญกว่า ต่อด้วย interlude ที่ให้อารมณ์ขอบคุณสปอนเซอร์ผู้ใจดีอย่าง BLESSED เป็นตัวอย่างแห่งการไล่เรียงความสำเร็จตั้งแต่การมีเฟสติวัลเป็นของตัวเองอย่าง Camp Flog Gnaw รวมไปถึงการได้เป็นพรีเซนเตอร์ ออกคอลเลคชั่นให้กับหลายแบรนด์ MOMMA TALK แทรกมาเพื่อเป็นการ flashback ตัวฉันและแม่ในอดีตด้วย JUGGERNAUT โทนบีทเพลงสุดดีดชวนนึกถึง เพลง Lemon ของ N.E.R.D แต่เพลงนี้ปรับจูนให้ร้อนแรงกว่า ซึ่ง Pharrell Williams ได้มาแจมเพลงนี้พอดี และแร็ปเปอร์เบบี้พลูโต Lil Uzi Vert มาจัด verse อย่างดิบๆ
-ทั้งนี้มีเซอร์ไพรส์แทร็คกลางอัลบั้มที่ไม่พูดถึงไม่ได้อย่าง SWEET / I THOUGHT YOU WANTED TO DANCE เพลงยาวที่สุดในอัลบั้ม และเพลงเดียวที่จัดเพลงร้องชนิดที่จะไม่เห็นกูร้องในเพลงไหนๆนอกจากเพลงนี้ เพราะเพลงอื่นกูจะแร็พ หลายๆคนอาจจะเคยสบประมาทสกิลการร้องเพลงที่ดูไม่เหมือนร้องตามภาพจำของนักร้องสายอาร์แอนด์บี แต่เพลงนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ใจเต็มร้อยก็ใส่เลย โดยไม่ต้องเกรงกลัวด้วย แล้วเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย ทั้งแง่ของการร้องที่ใช้เทคนิคหลบเสียงแหบพร่า และการสลับใช้โทนเสียงลั๊ลลาปกติ สอดรับกับอารมณ์ของแต่ละพาร์ทได้อย่างเหมาะเจาะ โดยพาร์ทแรก SWEET มาแนวดิสโก้สุดโจ๊ะ ฟังแล้วยิ้มเลย นี่มันซาวน์ดจิ้งเกิ้ลประกอบโปรแกรมคาราโอเกะในยุคก่อนนี่หว่า พาร์ทสอง I THOUGHT YOU WANTED TO DANCE มาในสไตล์เรกเก้ท่วงทำนองสุดพิสมัย มีความ sense of humour ความงดงามของพาร์ทนี้คงหนีไม่พ้น การประสานเสียงของ Fana Hues ที่ไพเราะและฮาร์โมนี่สุดๆ ท่อนสุดท้าย So don't forget about me (No), ba-ba-ba-da / I'll save a dance just for you โคตรน่ารักและตราตรึงมากๆ เป็นบทเพลงจีบสาวที่ยังคงความแห้วในตอนท้าย ไม่ได้หวานชื่นตามเพลง เป็นอีกครั้งที่เขาได้พิสูจน์ความเป็นแร็ปเปอร์ที่สามารถทำเพลงรักตลกร้ายได้อย่างชาญฉลาด
-ภายใต้ความอวดรวยและการมองย้อนความสำเร็จที่ผ่านมาทั้งหลาย มันไม่ใช่แค่การพยายามมองหาคุณค่าในตัวเองเพียงอย่างเดียว ไทเลอร์ใส่จุดที่เรียกว่า “การพิสูจน์ตน” ด้วยเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีทั้งการเป็นคนดำในอเมริกาในเพลง MASSA ย่อมาจาก Master นายทาส เป็นศัพท์แสลงที่พวกข้าทาสบริวารเรียกกัน นับว่าเป็นครั้งแรกๆที่ไทเลอร์หยิบประเด็นการเป็นคนดำในอเมริกาขึ้นมาถกอย่างจริงจัง ภายใต้โทนเพลงที่ขับเคลื่อน drumpad และไลน์เบสที่โดดเด่นที่สุดในอัลบั้ม เป็นการระบายความอัดอั้นของการเป็นคนดำที่ต้องพยายามถีบตัวเองมากเป็นพิเศษ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดโดยอัตโนมัติทันทีที่อยู่ในอเมริกาอย่างที่เรารู้กัน
-ซึ่งนั่นก็ทำให้พลางนึกถึงความไม่สมบูรณ์แบบในหลายๆอย่างที่ไทมีทั้งการเติบโตในครอบครัวที่ยากจน แถมเป็น Single mother มีอยู่ช่วงนึงทันทีที่ซิงเกิ้ล Yonkers ดันแจ้งเกิดให้กับไทเลอร์ผู้รังสรรค์ เขารีบซื้อบ้านแล้วพาแม่ออกจากสถานพักพิงชั่วคราวัทนที การออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองที่เปิดรับทั้งชายหญิงที่ดูง่าย แต่กลับยากในแง่ของการใช้ชีวิตภายใต้การมองแรงของคนบางกลุ่มที่ยังคงต่อต้าน LGTBQ โดยไทเลอร์เลือกที่จะปิดบังความสัมพันธ์กับคนที่ตัวเองคบไว้เป็นความลับ เลยไม่เต็มใจเปิดเผยต่อสาธารณะชนด้วยเหตุผลที่กลัวจะดูไม่ดีที่มีใครคบกับคนดำอย่างเขา หนทางที่พอจะหลุดพ้นจากไอ้พวกนายทาสที่จ้องเล่นงานคือต้องรวยพอที่จะหลีกหนีจากความต่ำตมที่มีเป็นทุนเดิมให้จงได้ พาสปอร์ตกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในการท่องโลก หนีไปให้ไกลจากที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทเลอร์ตอกย้ำอยู่เรื่อยๆในอัลบั้ม
-การเป็นคนดำในอเมริกาก็ยากลำบากพอแล้ว การที่ต้องมาดีลกับ Cancel Culture ที่มาในรูปแบบชาวทวิตภพก็เป็นเรื่องน่าปวดหัวพอกัน เสี่ยงต่อการโดนกระทืบทันทีที่พลั้งพลาด อย่างที่เห็นในเพลง MANIFESTO หนึ่งในเพลงโทนจริงจังที่สุดในอัลบั้ม โชว์ความชิบหายของวีรกรรมในอดีตที่ดันมาย้อนทำร้ายตัวเอง ต่อให้ขอโทษแล้วจบ แต่เรื่องไม่จบ Digital Footprint จะถูกแคปโดยคนใดคนนึงแล้วเอาเรื่องพวกนี้มาขุดกันจนได้ กลายเป็นเรื่องน่าปวดหัวสุดคลาสสิคที่ศิลปินทุกคนต่างประสบพบเจอ แต่สำหรับไทเลอร์ก็จะเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่อยเพราะอดีตเคยแรง ยกตัวอย่างวีรกรรมที่เคยทวีตเชิง harrassment กับ Selena Gomez ว่าอยากเลีย egg มั้ยจนโดน Twitter แบนอยู่ช่วงนึง เคยโดนให้คอวอยอต่อหน้าต่อตาหลังเล่นคอนเสิร์ตก่อนที่ Twitter จะบูมด้วยซ้ำ
-ในขณะเดียวกันในความที่คนมันเคยซ่าส์ แล้วมาถึงจุดที่คิดได้ว่า บุคคลสาธารณะควรตอบแทนอะไรแก่สังคม ทำแค่ไหนถึงเรียกว่าจะดีพอ บริจาคเข้ากองทุนคนดำก็แล้ว ไปม๊อบ Black Lives Matters ก็แล้ว มึงจะเอาอะไรกับกูอีกดั่งท่อน Hit some protest up, retweeted positive messages / Donated some funds then I went and copped me a necklace / I'm probably a coon, and your standard's based on this evidence ถือเป็นปัญหาโลกแตกมาตรฐานแต่ละคนไม่เท่ากัน การตัดสินความดีพอมากพอกลายเป็นเรื่องจุกจิกที่ไทเลอร์ต้องรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการพยายามโตด้วยตัวเอง คัดกรอง real fan ที่ไม่พยายามตั้งประเด็นจุกจิกมากจนเกินไป เกือบลืมบอกไปว่า Domo Genesis อดีตเพื่อนร่วมแก๊งค์ Odd Future มาร่วมแจม พร้อมทิ้งประเด็นอย่างแสบสันต์ที่ว่า การนับถือพระเจ้าไม่ได้ช่วยคุ้มครองเราได้จริง เพราะกระบวนการกฏหมายอยากเอาเราเข้าคุกอยู่แล้ว Lord, cover me I'm goin' in, walls closin' in (Uh) / How I'm supposed to be protected (Huh?) when the laws want us in?
-อีกทั้งยังมีเพลงแร็พร่ายยาว 9 นาที โชว์สกิลการแร็พที่จบได้ในเทคเดียวจนเราทึ่งอย่าง WILSHIRE ที่เล่าถึงประสบการณ์ตรงของตัวเองที่ดันมีความรักแบบผิดที่ผิดเวลา ถลำลึกไปแอบชอบแฟนของเพื่อนสนิทจนจบไม่สวย ลงเอยด้วยการที่เพื่อนสนิทมองหน้าไทเลอร์ไม่เหมือนเดิม แล้วสุดท้ายทั้งไทเลอร์และสาวเจ้าปัญหาต้องมาจมกับความรู้สึกผิด ชนิดที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ น้ำตาไหลพรากราวกับน้ำตก Niagara ถึงจะเป็นเรื่องราวความรักที่ดูไม่ดี แต่ใจโคตรสลาย ผมมองว่าเพลงนี้คือจุดเริ่มต้นของความคิดริเริ่มที่จะออกเดินทางเสียมากกว่า เป็นบทสรุปของไอ้หนุ่มที่พยายามอยากได้ทุกอย่างในชีวิต ยกเว้นผู้หญิง พร้อมที่จะทิ้งความเศร้าโศกเพื่อวางแผนออกเดินทาง ส่งต่อให้เพลงปิดอัลบั้มอย่าง SAFARI ที่เรียกได้ว่าตอนที่กูกักตัวกูกางแผนที่วางแผนแล้วว่ามี bucket list อะไรบ้าง โทนเพลงกระหน่ำออเครสตร้าชวนระลึกถึงเพลง We Major ของ Kanye West อยู่เหมือนกัน อารมณ์ครื้นเครงเชิงบวก พร้อมรับสิ่งใหม่ๆเข้าชีวิต
-ไม่แน่ใจว่าการออกเดินทางในภายภาคหน้า เราจะได้เจองานเพลงแปลกใหม่ของไอ้หนุ่มผู้รังสรรค์จากการหยิบนิดหยิบหน่อยจากทริป world tour ที่ไปประสบพบเจอหรือไม่ ที่แน่ๆผมยังคงคาดหวัง energy สนุกๆจากไทเลอร์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอะไรก็ตาม อีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ตอกย้ำถึงศักยภาพอันล้นเหลือที่ไม่มีทางลดหลั่นง่ายๆ ต่อให้ IGOR จะทะลุกรอบไปแล้วก็ตาม แต่ผมมีความเชื่อว่าการเน้นความสนุกเป็นหลัก ยังคงขายได้เสมอ เพิ่มเติมคือการเติบโตทางความคิดและสายตาที่กว้างไกลกว่าเดิม กลายเป็นไอเดียชั้นดีในการหยิบจับมาผสมปนเปได้อย่างลงล็อค ไทเลอร์ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้เป็นอย่างมาก ไม่แปลกใจจากแร็ปเปอร์สายอินดี้มาได้ไกลเทียบเคียงเมนสตรีม นำพาตัวเองไปสู่ระดับไอคอนได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและจูงใจให้ติดตามต่อๆไปยิ่งนัก
เบื่อเมื่อไหร่ก็เรียกหา
Top Tracks: SIR BAUDELAIRE, CORSO, LEMONHEAD, WUSYANAME, LUMBERJACK, HOT WIND BLOWS, MASSA, MANIFESTO, SWEET / I THOUGHT YOU WANTED TO DANCE, RISE!, JUGGERNAUT
Give 8.5/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา