11 ก.ค. 2021 เวลา 05:30 • ไอที & แก็ดเจ็ต
รวมเทคนิค "เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์" ก่อนจะเป็นคนแพร่ข่าวปลอมไม่รู้ตัว ดูยังไงว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนเฟค งงไปหมดดูที่นี่เลย!!
ทุกวันนี้ในโลก Social Media นั้น เต็มไปด้วยข่าวสารมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีโรคระบาดหนักเช่นนี้ ยิ่งมีกระแสข่าวต่างๆ ออกมามากมาย ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้อ่านและผู้พบเห็นอยู่ไม่น้อย
ซึ่งในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ ก็ยังคงมีกลุ่มคนที่ไม่ประสงค์ดี สร้างข่าวปลอม หรือ Fake News ขึ้นมาด้วยเหตุผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความอยากดัง การหาผลประโยชน์ต่างๆ หรือการใช้ข่าวปลอมเพื่อเป็นการโจมตีกันทางการเมืองกันมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เราแยกข่าวสารเหล่านี้กันยากกันเข้าไปใหญ่ว่าตกลงแล้วเป็นข่าวจริงหรือปลอมกันแน่
1
แม้ว่าการศึกษาล่าสุดจากวารสาร Science Advances เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านนั้นพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป และมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสูงนั้น มีแนวโน้มแชร์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนไปมากกว่ากลุ่มคนปกติหรือกลุ่มวัยรุ่น
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เราก็มักจะเห็น Fake News ที่หลุดออกมาได้จากคนทุกวัยไม่ต่างกัน ในโลกที่ข่าวสารต่างๆ มาถึงตัวเร็ว ก็แน่นอนว่าบางครั้งก็ยากที่จะผ่านการกลั่นกรองมาก่อน เพราะการเน้น ‘ความเร็ว’ ในการเผยแพร่ข่าวสารดันกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับสื่อ และคนที่มีสื่ออยู่ในมือ
ซึ่งด้วยความซับซ้อนในยุคนี้ ก็ยิ่งทำให้ Fake News ไม่ได้มาในรูปแบบที่เชื่อถือไม่ได้เลย เพราะบางทีก็อาจจะมีมูลความจริงอยู่ในนั้น เพียงแต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด จนบางครั้งมันก็น่าเชื่อซะเหลือเกิน
1
ท่ามกลางกระแสข่าวและปัญหา Fake News ที่เต็มไปหมดเหล่านี้นั้น มันก็มีหลายเรื่องที่ทำให้เกิดโทษอย่างเห็นได้ชัดสำหรับคนเชื่อ แชร์ และที่นำไปใช้แบบผิดๆ อาทิ วิธีการรักษาโควิดด้วยสิ่งต่างๆ นานา ที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ หรือเป็นการปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความขัดแย้งกับอีกฝ่ายทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยที่เนื้อหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง
1
ซึ่งหากเกิดในที่สาธารณะก็ยังพอมีคนตักเตือนช่วยกันได้ แต่พอไปเกิดในกลุ่มที่ดันมีความคิดและทัศนคติที่ไปในทางเดียวกันตั้งแต่ต้น ก็ทำให้เกิดอคติที่จะเชื่อตามมาโดยที่ไม่ค้นหาก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ทาง Uppercuz จึงอยากแนะนำเทคนิคเอาไว้ในตรวจสอบกันไวๆ ว่าข่าวที่เรากำลังจะกด Share ออกไปนั้นเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ที่ดีขึ้น และป้องกันการโดนแหกเอาไว้ด้วย
1️⃣ หาแหล่งที่มา ดูความน่าเชื่อถือ
สิ่งที่ง่ายที่สุดในการพิจารณาว่าข่าวที่เราเห็นนั้นเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ก็คือแหล่งข่าวนั้นๆ ในทุกวันนี้มีแหล่งข่าวเป็นจำนวนมาก ที่เราอาจจะต้องแบ่งหมวดหมู่ความน่าเชื่อถือกันดูก่อน ถึงจะเป็นสำนักข่าวใหญ่อย่างแบรนด์ข่าวแต่ละช่อง หรือหนังสือพิมพ์ที่ขยับตัวมาในโลกออนไลน์ ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าข่าวจากสำนักข่าวเหล่านี้ เป็นการพาดหัวเพื่อล่อเป้า แต่เนื้อหาข้างในอาจไม่ได้มีรายละเอียดแบบนั้นหรือเปล่า รวมไปถึงวันที่ของข่าวนั้นๆ ด้วย เพราะบางทีผู้คนที่แชร์ข่าวเหล่านี้มา อาจจะสะใจจากการด่าแค่เพียงพาดหัวเท่านั้น แต่ไม่ได้สนใจเนื้อหาข้างในเลย นอกจากนี้ต่อเห็นเป็นจากสำนักข่าวหลักแล้ว ยังต้องสังเกตเว็บไซต์ที่ลิงก์กลับไปให้ดี เพราะบางทีอาจจะกลายเป็นเว็บ Phishing หรือเว็บปลอมที่ทำออกมาหลอกก็ได้
ขนาดว่ามาจากสำนักข่าวยังต้องตรวจสอบเพิ่ม ในส่วนของเพจหรือเว็บแปลกๆ ยิ่งทำให้เราต้องสงสัยเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโพสท์ที่เป็นพาดหัวในรูปแบบแรงๆ แต่ในเนื้อหาข่าวกลับดูไม่มีรายละเอียดที่ดูน่าเชื่อถือ หรือไม่มี Link ต้นทางของเนื้อหาข่าวแนบมาด้วยแล้ว ให้พิจารณาเอาไว้ก่อนได้เลยว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ส่งผลให้ไม่ว่าเราจะเห็นข่าวนั้นมาจากไหน ทั้งคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดกันได้ ทางที่ดีก็ควรที่จะตรวจสอบแหล่งที่มาด้วยตัวเองให้ดีก่อน
2️⃣ ลองส่องคอมเมนต์ดูว่า มีอะไรมาคัดค้านเนื้อหาหรือไม่
แม้ว่าจะเห็นทิศทางของกระแสที่ไปในทางเดียวกันก็ตาม แต่เราก็ต้องพิจารณาอยู่ดีว่าเป็นการด่าหรือแสดงความเห็นกันไปตามกระแสหรือเปล่า อาจจะต้องลองสังเกตดูว่ามีคัดค้านโพสท์ที่มีอยู่หรือเปล่า ว่ามันไม่เป็นความจริง หรือมีข้อหักล้างแตกต่างจากสิ่งที่โพสท์ออกมา เพราะหากมีคอมเมนท์ในเชิงนี้สัก 1 คอมเมนท์ ก็ควรค่าแก่การสละเวลาเพื่อพิสูจน์แล้วว่าเนื้อจากโพสท์นั้นมีความถูกต้องมากน้อยขนาดไหน
รวมถึงข่าวที่ออกมานี้ มีคนอื่นร่วมแชร์ออกไปเยอะหรือยัง สำนักข่าวใหญ่มีเล่นข่าวนี้บ้างหรือไม่ เพราะหากเป็นเรื่องใหญ่และเป็นข่าวจริง แน่นอนว่าต้องเกิดกระแสไปในวงกว้างอย่างแน่นอน และคงเป็นเรื่องยากที่สำนักข่าวที่น่าเชื่อถือจะไม่นำข่าวเหล่านี้มาเล่นให้ทันกระแส ดังนั้น ถ้าหากข่าวมาแบบโดดๆ และไม่มีใครพูดถึงมากนัก ให้สันนิษฐานว่าเป็นข่าวปลอมก่อนได้เลย
3️⃣ วันที่และเวลาของข้อมูล
นอกจากการดูเรื่องที่มาที่ไปและความถูกต้องของเนื้อหาแล้ว อีกสิ่งที่ต้องดูก็คือช่วงเวลาของข่าวสารนั้นๆ ด้วย เพราะหลายครั้งที่ข่าวเก่าๆ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาแชร์กันมากมายจนกลายเป็นกระแสอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่ผ่านมาหลายปีแล้ว อย่างช่วงที่ผ่านมา ข่าวของโควิดก็มีการหยิบเอาของปีก่อนมาแชร์ จนทำให้เกิดความวุ่นวาย จากที่เป็นข่าวจริง แต่ถ้าเป็นคนละช่วงเวลาก็อาจกลายเป็น Fake News ของปัจจุบันไปได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่ง Checklist ที่ต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนที่จะแชร์ข่าวเลย
4️⃣ ฝึกใช้วิจารณาญาณ
สำหรับข้อนี้อยู่ที่การฝึกฝนและพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่มีต่อ Fake News ให้มากขึ้น เราสามารถเริ่มต้นได้จากการลองตั้งคำถามกับตัวเองเยอะๆ ว่าข่าวที่เราเห็นนั้นมีความเป็นไปมากน้อยขนาดไหน โดยพิจารณาแบบเอา Bias หรือความลำเอียงที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไปก่อน (แม้ว่าเราจะแอบคิดว่ามันเป็นไปได้ในมุมเราก็ตาม) แต่ก็ต้องใช้ปัจจัยอื่นๆ เพื่อมาเป็นข้อพิสูจน์ในข่าวเหล่านั้นว่ามีความจริงเท็จมากน้อยขนาดไหน
ซึ่งในส่วนนี้เรามองจากการพาดหัวข่าวก่อนก็ได้ว่ามีการสื่อไปในทางใด เพื่อหาเจตนาของข่าวสารนี้ ว่ามีใครมีส่วนได้ หรือส่วนเสียหากข่าวนี้ออกมา ก็น่าจะพอทำให้เราเดาได้ว่าข่าวนี้มีจุดประสงค์เพื่อออกมาโจมตีใครเป็นพิเศษโดยที่ไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงหรือเปล่า แต่ถ้าสุดท้ายตัดสินใจไม่ได้ แล้วยังอยากหาความจริงก็สามารถหาหลักฐานอื่นๆ เพื่อมาเป็นสิ่งยืนยันเนื้อหาเหล่านั้น เช่นในช่วงก่อนหน้าที่มีข่าวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย ก็สามารถตรวจสอบจากเที่ยวบินเอาได้ว่ามีการเข้ามาจริงหรือไม่เป็นต้น
5️⃣ ไม่ชัวร์ก็อย่าเพิ่งแชร์
นี่คือข้อที่สำคัญที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วความไวอาจไม่ใช่ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนที่ได้รับผลกระทบจากข่าวนั้นๆ แล้ว ยิ่งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะเชื่อและแชร์ข่าวนั้นออกมา การใช้เวลาไปกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว เป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อไม่ให้มีคนเดือดร้อนไปกับข่าวผิดๆ และที่สำคัญก็ป้องกันการฟ้องร้องที่อาจตามมาในภายหลังด้วย ดังนั้นทางที่ดีถ้าข่าวไหนที่รู้สึกไม่ชัวร์ หรือยังมีความเอะใจว่าอาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด จะเลือกปล่อยผ่านไปเลยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
อ่านบทความเต็มได้ที่
โฆษณา