11 ก.ค. 2021 เวลา 06:33 • การศึกษา
จ้างแรงงาน กับ จ้างบริการ(จ้างทำของ) ต่างกันยังไงนะ👨🏻‍🚒❓
หลายๆ คน อาจสับสนระหว่างสัญญาสองประเภทนี้ ไม่มั่นใจว่าจะเรียกสัญญาที่ตนเองเกี่ยวข้องว่าอะไร แล้วจะส่งผลต่อชีวิตเรายังไง
1
วันนี้ จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมารู้จักสัญญาทั้งสองประเภทแบบง่ายๆ กัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 575 ได้ให้นิยาม สัญญาแรงงาน คือ สัญญาที่ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้นายจ้าง และนายจ้างตกลให้ค่าจ้าง (สินจ้าง) ตลอดเวลาที่ทำงานให้
ซึ่งก็คือการจ้างทำงานต่างๆ ไม่ว่าลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเป็นรูปแบบเงินรายเดือน เงินรายสัปดาห์หรือรายวัน แล้วแต่ตกลง โดยที่นายจ้างประสงค์เพียงให้ลูกจ้างคนนั้นๆ ทำงานให้ตามที่หน้าที่ที่ตกลงกัน
🔅🔅สำคัญที่ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาต่อลูกจ้าง
เช่น กำหนดเวลาเข้าออกงาน กำหนดระเบียบในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ตักเตือนหากฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยไม่ใช่หวังเพียงผลสุดท้ายของงานแต่ละครั้ง หรือแต่ละชิ้นงานเท่านั้น
3
ในความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ และความเกี่ยวข้องตามกฎหมายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างๆ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันสังคม
ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของกระทรวงแรงงาน
เช่น การลาหยุดงานกรณีลาป่วย ลาคลอดบุตร การห้ามทำงานที่เป็นอันตรายเกินจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด ต้องนำส่งเบี้ยประกันสังคมในแต่ละเดือน การชดเชยหากบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำงาน เป็นต้น
โดยสัญญาจ้างแรงงานไม่จำต้องทำเป็นเอกสารหนังสือสัญญา หากตกลงกันโดยวาจาก็สามารถฟ้องร้องบังคับต่อกันได้ แต่เพื่อความสะดวกในการตกลงทำความเข้าใจต่อกัน คู่สัญญามักตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร
สำหรับสัญญาจ้างบริการ หรือในภาษากฎหมาย เรียกว่า จ้างทำของ ในมาตรา 587 ได้ให้นิยามไว้ หมายถึง สัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และ ผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
ซึ่งสัญญาจ้างบริการนี้คู่สัญญาในฝ่ายผู้ว่าจ้างหวังเพียงผลของงานที่ตกลงจ้างอันเป็นผลสำเร็จ 👩🏻‍🎨
1
เช่น การจ้างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การจ้างวาดภาพ การสร้างอาคาร เป็นต้น โดยในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ตกลงจ้าง ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาต่อผู้รับจ้างดังเช่นกรณีการเป็นนายจ้างลูกจ้างกัน
ในความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ และความเกี่ยวข้องตามกฎหมายระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยคู่สัญญาอาจตกลงกันให้เป็นไปตามสัญญาก็ได้ เช่น การตกลงส่งมอบงานและการชำระค่าสินจ้าง
สัญญาจ้างบริการ มีความคล้ายกับสัญญาจ้างแรงงาน ในเรื่องการเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้จะตกลงกันด้วยวาจา ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจระหว่างกัน คู่สัญญามักนิยมทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งในการความเข้าใจที่แตกต่างกัน
กรณีที่ผู้อ่านควรศึกษาประการหนึ่ง คือ ความรับผิดเพื่อการละเมิดในระหว่างที่มีความสัมพันธ์แบบนายจ้างลูกจ้าง หรือแบบผู้ว่าจ้างผู้รับจ้าง
ผู้ทำละเมิด คือ ผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ผู้ทำละเมิดก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นๆ (มาตรา 420)
หากผู้ทำละเมิดคือเป็นลูกจ้าง แต่ได้ไปทำละเมิดต่อบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายจ้างนั้น โดยเป็นการทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง กล่าวคือ การละเมิดนั้นเกิดขึ้นและมีความเกี่ยวข้องกับการงานที่ทำให้นายจ้าง ดังนั้น นายจ้างต้องมาร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลของการละเมิดนั้นด้วย (มาตรา 425)
เช่น ในระหว่างทางที่ลูกจ้างขับรถส่งของไปส่งสินค้าให้ลูกค้า ลูกจ้างขับรถชนผู้เสียหาย เป็นการละเมิดในทางการที่จ้าง และนายจ้างต้องมาร่วมรับผิดลูกจ้างในผลของการละเมิดนั้นด้วย
ทั้งนี้ เมื่อนายจ้างได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว นายจ้างสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยคืนเอาจากลูกจ้างนั้นได้อีก (มาตรา 426)
สำหรับกรณีสัญญาจ้างบริการนั้น หากผู้รับจ้างไปทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แม้จะทำไปในระหว่างเวลาที่ทำงานที่จ้างนั้น โดยหลักแล้ว ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้นด้วย
เว้นเสียแต่ว่า เป็นกรณีที่ 1) ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือ 2) ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในคำสั่งที่ผู้ว่าจ้างให้ไว้ หรือ 3) ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้าง (มาตรา 428)
ทั้งนี้ เฉพาะแต่ข้อยกเว้น 3 ประการข้างต้นเท่านั้นที่ทำให้ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดด้วย
เช่น ผู้ว่าจ้างตกลงว่าผู้รับเหมาก่อสร้างให้สร้างอาคาร ทั้งที่รู้ดีว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างรายนี้ไม่เคยมีประสบการณ์รับงานประเภทรับเหมาก่อสร้างมาก่อน ไม่ใช่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือได้รับการศึกษาที่เกี่ยวกับวิศวกรก่อสร้าง ทั้งยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ต่อมาในระหว่างงานก่อสร้าง เกิดเหตุโครงสร้างอาคารถล่ม มีคนเสียชีวิต เพราะการออกแบบโครงสร้างและการควบคุมงานก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่นนี้ ผู้ว่าจ้างก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นความผิดของตนจากการเลือกหาผู้รับจ้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากกรณีการทำละเมิดแล้ว เรื่องสำคัญที่ควรรู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของนายจ้างลูกจ้างหรือผู้ว่าจ้างผู้รับจ้าง คือ ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ทำขึ้นนั้นว่าใครจะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น ซึ่งต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ) ดังนี้
ในความสัมพันธ์แบบนายจ้างลูกจ้างนั้น งานที่สร้างสรรค์หรือทำขึ้นโดยพนักงานหรือลูกจ้าง ในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้าไม่ได้ทำหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ตามพ.ร.บ ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9 ได้กำหนดให้ ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ หรือผู้ที่ทำงานนั้นขึ้นมา แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างงานนั้นได้
ต่างกับกรณีจ้างบริการ กล่าวคือ ถ้าเป็นงานที่ผู้รับจ้างได้สร้างสรรค์หรือทำขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ระหว่างผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงเป็นอย่างอื่น เช่น ตกลงให้เป็นลิขสิทธิ์ของผู้รับจ้าง เป็นต้น (พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 10)
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อย่างการเป็นนายจ้างลูกจ้าง หรือผู้ว่าจ้างผู้รับจ้าง ซึ่งสำคัญคือการตกลงเข้าทำสัญญาระหว่างกันนั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรต้องตกลงสิทธิหน้าที่และความรับผิดระหว่างกัน และต่อบุคคลภายนอกให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันและหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งในข้อสัญญาที่ไม่ชัดเจนซึ่งอาจเกิดขึ้นในภายหลัง
โฆษณา