11 ก.ค. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
QE นโยบายการเงินนอกรีต ที่ออกมาช่วยไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ Great Depression
1
ผมเชื่อว่านักลงทุนในตลาดหุ้นแทบจะทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า QE วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่า QE คือ นโยบายอะไร ประวัติ จุดเริ่มต้น มาจากไหน และ QE ได้ส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ และเกร็ดอื่นๆ ที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับมาตรการ QE
QE นโยบายการเงินนอกรีต ที่ออกมาช่วยไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ Great Depression
📌 นโยบาย QE (Quantitative Easing) คืออะไร
นโยบาย QE ถือว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินแบบหนึ่ง ซึ่งมีธนาคารกลางเป็นผู้รับผิดชอบต่างกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านทางกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องมีการขออนุมัติงบประมาณผ่านรัฐสภา แต่นโยบายการเงิน สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการของบประมาณ แต่ QE นี่ถือว่าเป็นนโยบายนอกรีต (Unorthodox) หรือ นอกกรอบ (unconventional) แตกต่างจากนโยบายการเงินที่ใช้อย่างแพร่หลาย คือ ผ่านทางการปรับดอกเบี้ยนโยบาย
2
ในสภาวะปกติ ในเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารกลางจะปรับลดดอกเบี้ยลง
เพื่อช่วยลดภาระหนี้สินและเร่งความต้องการสินเชื่อ อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน หรือทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทางธนาคารกลางอาจจะต้องลดดอกเบี้ยจนถึง 0 % แต่ยังไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ จึงทำให้ต้องมีการหันไปพึ่งนโยบายการเงินนอกรีต อย่าง QE เป็นต้น
📌 QE ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร
การที่ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 0 ทำให้จากปกติที่นโยบายการเงินโฟกัสที่ดอกเบี้ย หรือ ราคาของเงิน (price of money) ต้องเปลี่ยนไปโฟกัสที่ปริมาณของเงิน (quantity of money) แทน
1
QE คือ การที่ธนาคารกลางมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบ โดยการพิมพ์เงิน (money printing) ขึ้นมาแล้วนำเงินนี้ไปซื้อสินทรัพย์ อาทิเช่น พันธบัตรรัฐบาล จากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ราคาของพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนลดลง (ราคาพันธบัตรสวนทางกับอัตราผลตอบแทน หรือ yield) และจากการที่ดอกเบี้ยในระบบการเงินปรับตัวลดลง
1
ทำให้มีการลงทุนและการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อในระบบก็ขยายตัวเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางมาซื้อสินทรัพย์ อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ทำให้สถาบันการเงินที่ขายพันธบัตรไป มีเงินหรือสภาพคล่องมากขึ้น และนำสภาพคล่องเหล่านี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น หุ้นกู้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การทำ QE จึงส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์อื่นๆ ในตลาดเพิ่มขึ้นไปด้วย
2
จะเห็นได้ว่า QE ได้ทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินเพิ่มขึ้นด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่านักลงทุนเห็นชอบกับการทำ QE ของธนาคารกลางทั่วโลกมากๆ
📌 ใครเป็นคนให้กำเนิด QE
นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่ชื่อ Richard Werner ให้กำเนิดคำว่า Quantitative Easing หรือ QE ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1994-1995 ซึ่งนาย Werner ได้แนะนำนโยบายการเงินในหนังสือพิมพ์ Nikkei ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางเศรษฐกิจชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่นแตกครั้งใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษ 1990s
1
Richard Werner นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมนี ผู้ให้กำเนิดคำว่า Quantitative Easing (QE)
อย่างที่ เราทราบกันดีว่า ชาวเยอรมันเข็ดขยาดและเกลียดกลัวเงินเฟ้ออย่างฝังรากลึก จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่ามาตรการ QE ได้เกิดขึ้นจากนักเศรษฐศาสตร์ ชาวเยอรมัน ที่จบเอกจากมหาวิทยาลัย Oxford ที่ประเทศอังกฤษ แต่ไปทำงานที่ญี่ปุ่น แม้แต่จุดกำเนิดก็ไม่ธรรมดามาก!
นโยบาย QE นอกจากจะเป็นนโยบายนอกรีตที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักในวงการเศรษฐศาสตร์ คำว่า QE ที่ชื่อเต็มว่า Quantitative Easing เป็นนโยบายการที่ทุกคนยกให้ว่าเป็นนโยบายที่อ่านได้ลำบากที่สุด (most unpronounceable)
เพราะว่าเป็นการแปลจากภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในหนังสือพิมพ์กลับมาเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัว
1
และสำหรับธนาคารกลางหลายแห่ง QE คือ ชื่อนโยบายอย่างไม่เป็นทางการ
ชื่อทางการที่นำมาใช้ คือ Asset Purchase (การซื้อสินทรัพย์) เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้าไปอ่านการแถลงนโยบายของธนาคารกลางอย่าง Federal Reserve (FED) เราจะไม่เจอคำว่า QE เลย
QE  คืออะไร
📌 ถ้า QE พิมพ์เงินออกมาเยอะมาก ทำไมถึงไม่เกิด Hyperinflation
1
เป็นเพราะว่า การสร้างปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มาจากธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่ธนาคารกลาง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหราชอาณาจักร ร้อยละ 95 ของปริมาณเงินในระบบ มาจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
ถ้าเราไปดูการเพิ่มขึ้นของ Balance Sheet ของ FED ตั้งแต่ก่อนทำ QE ที่อยู่ที่ 0.87 ล้านล้านในปี 2007 แต่ตอนนี้ขึ้นมาหลายเท่ามาก ใกล้ 8 ล้านล้าน สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารกลางพิมพ์เงินมาเกือบ 10 เท่า แต่ทำไมเงินถึงไม่ไร้ค่า หรือ เกิด Hyperinflation เหมือนในประเทศเยอรมนีในปี 1923
FED Balance Sheet
ประการแรก คือ ธนาคารกลางพิมพ์เงินขึ้นมา แต่นำไปซื้อสินทรัพย์อย่างพันธบัตรรัฐบาล ไม่ใช่ พิมพ์ขึ้นมาแล้วนำไปโปรยให้ประชาชนจากเครื่องเฮลิคอปเตอร์ ซึ่ง อดีตประธาน Fed นาย Ben Bernanke เคยบรรยายว่าการแก้เงินฝืด ง่ายมาก แค่พิมพ์เงินขึ้นมาแล้วเอาไปโปรยจากเครื่อง ฮ. ทำให้หนังสือพิมพ์ให้ฉายาเค้าว่า Helicopter Ben
การทำ QE เป็นการพิมพ์เงินแล้วเอาไปซื้อพันธบัตร จึงเป็นการเปลี่ยนเจ้าของพันธบัตร จาก "สถาบันการเงิน" มาเป็น "ธนาคารกลาง" เงินจึงไม่ได้ถูกพิมพ์มาใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย จึงไม่ทำให้เงินไร้ค่า เหมือนตอนที่ เยอรมันพิมพ์เงินเพื่อเอาไปจ่ายคนงานโดยตรง
ประการที่สอง คือ ปริมาณเงินในระบบไม่ได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า อย่างที่ทุกคนกังวล เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะความกังวลทางเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อ และภาคธุรกิจก็ลดความต้องการสินเชื่อด้วย หลังการทำมาตรการ QE ส่วนใหญ่ สินเชื่อในระบบหดตัวด้วยซ้ำ จึงทำให้ปริมาณเงินในระบบไม่เพิ่ม เลยไม่ก่อให้เกิด Hyperinflation.
1
ในทางทฤษฎี การทำ QE น่าจะทำให้ปริมาณสินเชื่อเพิ่มขึ้นแต่กลับหดตัวลงในความเป็นจริง ผิดคาด แต่อย่างไรก็ดี QE ได้ช่วยพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก
โดยเฉพาะหลังวิกฤต Subprime ช่วงปี 2007-2008 และวิกฤต Covid-19 ในปี 2020
จนทำให้ Ben Bernanke เคยพูดติดตลกว่าปัญหาหลักของ QE คือ มันเวิร์คในทางปฏิบัติ แต่กลับไม่เวิร์คในทางทฤษฎี หรือง่ายง่าย คือนักเศรษศาสตร์ไม่มีคำอธิบายทางวิชาการ (“the problem with quantitative easing is that it works in practice, but it doesn't work in theory”.) อาจจะคล้ายคลึงการฝังเข็มที่ทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้น รักษาโรคหลายชนิด แต่ทางแพทย์แผนปัจจุบันยังหาคำอธิบายทางวิชาการไม่ได้!
2
Ben Bernanke นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชื่อดัง อดีตประธาน FED (2006 - 2014)
📌 อนาคตของทิศทางนโยบาย QE
เราคงต้องยอมรับว่า QE ได้สนับสนุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และพยุงราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ อสังหาริมทรัพย์ หรือ แม้แต่เงินสกุลคริปโต
เพราะฉะนั้นตลาดการเงินเกรงว่าถ้า Fed แค่ลดปริมาณการอัดฉีดหรือที่เราเรียกว่า Taper หรือหนักว่า คือ Fed หยุด QE และดูดสภาพคล่องออกไปจากตลาดการเงิน
จะทำให้เกิดความผันผวนอย่างหนัก และราคาสินทรัพย์ต่างๆ จะปรับลดอย่างรุนแรง
จนทำให้ตลาด Crash และฟองสบู่แตก
เราถึงได้เห็นปรากฏการณ์ประหลาดน่าชวนพิศวงในช่วงที่ผ่านมา ที่ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ตลาดหุ้นขึ้น แต่ตัวเลขถ้าออกมาดีกว่าคาด ตลาดหุ้นจะตก
เป็นเพราะนักลงทุนยังคงหวังให้ Fed จะยังดำเนินนโยบาย QE ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีนั่นเอง
1
ในที่สุดมาตรการ QE คงต้องมีการสิ้นสุด ถ้าเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ แต่ธนาคารจะถอนสภาพคล่องอย่างไรที่จะทำให้ ตลาดไม่ panic หรือ อาจจะเป็นไปได้ที่นโยบายการเงิน QE ที่นอกรีตนอกกรอบ จะกลายมาเป็นนโยบายการเงินหลัก
และอยู่กับเราไปตลอดกาล ขอให้จับตาดูกันต่อไปครับ
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา