11 ก.ค. 2021 เวลา 15:37 • ปรัชญา
เพราะผู้คนเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีสางเทวดามาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตอนที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ คนที่เลื่อมใสท่านก็เห็นว่าท่านเป็นเทวดามาจุติ พอท่านปรินิพพาน เนื่องจากท่านห้ามไม่ให้ทำรูปเคารพของท่าน ผู้คนก็เอาอัฐิของท่านบ้างล่ะ รอยพระบาทของท่านบ้างล่ะ มาเคารพบูชา ซึ่งผู้คนที่ว่านี้รวมไปถึงศิษย์ของท่านซึ่งต่อมาสังคายนาพระไตรปิฎกและสืบทอดพิธีกรรมกันมาด้วย พูดได้ว่าเรื่องความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์แม้ตัวพุทธธรรมจะไม่ได้สอนแต่ธรรมเนียมประเพณีของพุทธศาสนานั้นมีมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่แรก จึงไม่แปลกที่มันจะอยู่คู่พุทธศาสนาต่อไป
อนึ่ง ลักษณะสำคัญของศาสนา (ในความหมายว่า "religion" ไม่ใช่ในความหมายว่า "คำสอน" ซึ่งเป็นความหมายดั้งเดิมของคำนี้) นั้นคือมันต้องมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมันต้องครอบงำความคิด ถ้ามันใจกว้างเปิดให้คนตั้งคำถามได้ มันย่อมฉลาดและเปิดกว้างเกินกว่าที่จะเรียกว่าศาสนาได้ พุทธธรรมนั้นเปิดกว้างทางความคิดและใช้เหตุผล ไม่มีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในตัวมันเองจึงไม่ใช่ศาสนา แต่เพราะสำนักของพระพุทธเจ้าได้สร้างลัทธิขึ้นมา มันจึงกลายเป็นพุทธศาสนาอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน หาไม่แล้ว พุทธธรรมก็จะเป็นเหมือนปรัชญาอีกหลายต่อหลายชิ้นซึ่งจะไม่ส่งอิทธิพลต่อสังคมมากเท่านี้ โดยเฉพาะในสังคมโบราณซึ่งถูกนำโดยศาสนาเป็นหลัก เพราะหากเปรียบสังคมโบราณเป็นเครื่องคอม ศาสนาก็เปรียบเหมือนระบบปฏิบัติการนั่นเอง
1
โฆษณา