12 ก.ค. 2021 เวลา 08:06 • ประวัติศาสตร์
• สหภาพโซเวียตล่มสลายลงได้อย่างไร?
นับตั้งแต่ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด และเข้าสู่สภาวะของสงครามเย็น โลกได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ อันได้แก่ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต
ในช่วงสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างก็แก่งแย่งชิงดีเพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจของโลก
แต่สุดท้ายในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 สหภาพโซเวียตมหาอำนาจที่ต่อสู้กับสหรัฐอเมริกายาวนานกว่าหลายทศวรรษ ก็ได้ถึงกาลล่มสลายลงในท้ายที่สุด
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตคือสัญลักษณ์ของจุดสิ้นสุดยุคสงครามเย็น และทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นชาติมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวของโลก (ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีมหาอำนาจแห่งใหม่ที่จะมาต่อกรกับอเมริกา อย่างเช่นรัสเซียและจีน)
สำหรับในบทความนี้ เราก็จะมาดูกันว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นจากปัจจัยใดบ้าง?
• การขึ้นสู่อำนาจของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ
ในปี 1985 มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตคนใหม่ ท่ามกลางช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพโซเวียตอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่อย่างมาก
มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสูงสุดคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต
กอร์บาชอฟเป็นนักการเมืองสายปฏิรูป เมื่อเขาขึ้นสู่อำนาจ เขาก็ได้มีแนวคิดและได้ตั้งเป้าหมายสำคัญ คือการปฏิรูปเศรษฐกิจและปรับปรุงสถานการณ์ทางการเมืองของสหภาพโซเวียตให้มีความทันสมัย
2
แต่สิ่งหนึ่งที่กอร์บาชอฟไม่รู้ก็คือ นโยบายปฏิรูปประเทศของเขา จะกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้สหภาพโซเวียตพบกับจุดจบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
• นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสทรอยกา
นโยบายปฏิรูปประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของกอร์บาชอฟมีชื่อว่า นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสทรอยกา (Glasnost and Perestroika)
นโยบายดังกล่าวประกอบไปด้วย 2 นโยบายสำคัญคือ กลาสนอสต์ (Glasnost | ภาษารัสเซียแปลว่าการเผยแพร่) ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางการของสหภาพโซเวียตอนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการพูดและวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐบาล
ในขณะที่เปเรสทรอยกา (Perestroika | ภาษารัสเซียแปลว่าปรับปรุงโครงสร้าง) เป็นนโยบายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และยกเลิกกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดของรัฐบาลที่มีต่อเศรษฐกิจ
แม้ว่ามองผิวเผินจะดูเหมือนว่า กลาสนอสต์-เปเรสทรอยกา จะเป็นนโยบายที่ช่วยให้เศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพโซเวียตมีการพัฒนาที่ดีมากยิ่งขึ้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองนโยบายก็กลับเป็นตัวเร่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลายมากยิ่งขึ้น
นั่นก็เพราะการที่ประชาชนโซเวียตมีสิทธิเสรีภาพทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ก็ได้ทำให้ความฉ้อฉลรวมไปถึงความลับอันดำมืดที่สหภาพโซเวียตพยายามปกปิดไว้เป็นเวลายาวนาน ได้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชน
นอกจากนี้ผลพวงของการปฏิรูป ยังทำให้ประชาชนโซเวียตรู้จักและเข้าถึงความมีเสรีภาพ
ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการให้ประเทศของพวกเขามีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่การปกครองภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์
2
• การล่มสลายของชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
นับตั้งแต่ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกล้วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ต่างก็ปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ตามแบบสหภาพโซเวียต
2
แต่เมื่อถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 อำนาจของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคแห่งนี้ก็ได้หมดสิ้นลง เปิดโอกาสให้ชาติต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบคอมมิวนิสต์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่มสลายของเยอรมนีตะวันออก และการทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 อันเป็นเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า คอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกได้ถึงกาลอวสานแล้ว
หญิงชรากับเศษซากของค้อนเคียว อันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบคอมมิวนิสต์
• การแยกตัวของชาติสมาชิกในสหภาพโซเวียต
ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกล่มสลาย ชาติสมาชิกของสหภาพโซเวียตไม่ว่าจะเป็น เอสโตเนีย, ลิทัวเนีย, ลัตเวีย, ยูเครน, อาร์เมเนีย, มอลโดวา รวมไปถึงจอร์เจีย ก็ได้ประกาศแยกตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียต เนื่องจากชาติเหล่านี้ต่างก็รู้ดีว่า สหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลายเต็มทีแล้ว
3
• ความแตกแยกภายในพรรคคอมมิวนิสต์
นับตั้งแต่ที่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต ก็ได้ทำให้มีกลุ่มคนบางกลุ่มภายในพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอนุรักษนิยมและพวกที่ต่อต้านการปฏิรูปประเทศ มีความไม่พอใจในตัวของกอร์บาชอฟเป็นอย่างมาก
1
ส่งผลให้ช่วงเดือนสิงหาคม 1991 พรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้พยายามทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มอำนาจของกอร์บาชอฟ
1
แต่การรัฐประหารในครั้งนี้ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เนื่องจากเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนโซเวียต ที่ไม่ต้องการให้ประเทศกลับเข้าสู่ความเป็นเผด็จการอีกครั้ง
2
หลังการรัฐประหารที่ล้มเหลว กอร์บาชอฟก็ได้ทำการลดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จนแทบจะไม่เหลืออีกต่อไป
ประชาชนรัสเซียออกมาต่อต้านการรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 1991
ก่อนที่ในวันที่ 24 ธันวาคม 1991 กอร์บาชอฟจะลาออกจากการเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้สหภาพโซเวียตอดีตมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ถึงกาลอวสานในท้ายที่สุด
** เกร็ดน่ารู้
• ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัสเซียถือเป็นผู้สืบทอดที่ถูกต้องของสหภาพโซเวียต ที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเดิมเป็นของสหภาพโซเวียตก็ได้ถูกถ่ายทอดมาให้กับรัสเซียแทน
• บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ผู้มีส่วนสำคัญในการต่อต้านการรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 1991 ในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
• หนึ่งในนโยบายปฏิรูปประเทศของกอร์บาชอฟ ก็คือการรณรงค์ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหภาพโซเวียต
1
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา