14 ก.ค. 2021 เวลา 03:00
“พูดระดับโลก คุณเองก็ทำได้” เคล็ดลับการพูดอย่าง TED จากหนังสือ TED talks (part 2/2)
cr. https://commons.wikimedia.org/
💡 Public speaking อาจดูน่ากลัวซึ่งก็ไม่แปลกเพราะมนุษย์เรากลัวการไม่ถูกยอมรับในตัวตนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว แต่มันอาจเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จที่คุณตามหามานาน นอกจากนี้การแบ่งปันไอเดียและความรู้สึกของคุณสู่โลกอาจเป็นประโยชน์มหาศาลต่อคนอื่นอย่างที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อน
💡 แล้วคุณจะสร้างการพูดที่ดีได้อย่างไร หนังสือเล่ม TED talks by Chris Anderson มีคำตอบครับ
ในตอนที่แล้วผมได้เล่าถึงกำแพงระหว่างผู้พูดและผู้ฟังและ 5 ขั้นตอนของการพูดที่ช่วยทลายกำแพง และเปิดใจคนฟังมาแล้ว สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่าน ตามไปอ่านกันได้ในโพสต์ก่อนหน้านี้เลยครับ ในโพสต์นี้ผมจะเล่าถึงประเด็นอื่นๆที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการพูด ถ้าพร้อมแล้ว เลื่อนลงไปอ่านได้เลยครับ
cr. amazon.com
💡 Slide or not ควรใช้สไลด์ประกอบการพูดดีไหม?
คำตอบ : ขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะพูดครับ ถ้าเป็นเรื่องที่อธิบายด้วยคำพูดแล้วนึกภาพตามได้ยากหรือไม่อิน ก็ควรใช้ภาพประกอบ เช่น การเล่าถึงผลงานวิจัยที่อาจต้องแสดงผลเป็น กราฟ หรือแผนภูมิให้เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ หรือเกี่ยวกับความรู้สึก การพูดโดยไม่มีสไลด์ประกอบอาจเป็นทางเลือกดีกว่า อย่างไรก็ตามการใช้สไลด์ในการพูดทุกครั้งต้องมั่นใจว่า รูปที่นำมาเสนอนั้นอยู่ในประเด็นที่เราต้องการสื่อ และต้องเป็นรูปที่เห็นแล้วเข้าใจ idea เลยและควรเป็นแบบ 1 รูปต่อ 1 idea
💡 Script or not พูดแบบมีสคริปต์กับไม่มีอันไหนดีกว่ากัน?
คำตอบ : แต่ก่อน TED เชื่อว่าการพูดแบบไม่มีสคริปต์นั้นดีที่สุด แต่เมื่อปี 2010 Daniel Kahnemann เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง thinking fast and slow ได้มาขึ้นเวที TED แต่ต้องพูดอย่างไม่มีสคริปต์ ผลปรากฏว่าเขาพูดตะกุกตะกักและลืมบ่อยมากๆตอนซ้อม ทั้งๆที่เขาเป็นนักพูดที่เจนสนามมาก สุดท้าย TED จึงอนุญาติให้เขาดูสคริปต์ได้ แล้วเขาก็พูดได้ดีอย่างมหัศจรรย์
จากกรณีนี้ TED พบว่าการพูดทั้งสองแบบมีข้อดีที่แตกต่างกัน
การพูดแบบมีสคริปต์จะทำให้ผู้พูดจัดเรียงลำดับความคิดได้ดี และสามารถใส่สิ่งที่อยากจะพูดได้ครบในเวลาที่กำหนด สำหรับผู้พูดบางคนสคริปต์ยังเป็นเหมือนสิ่งที่ยึดเหนี่ยวในการพูดอีกด้วย ในขณะที่การพูดแบบไม่มีสคริปต์จะได้ความลื่นไหลและความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า ดังนั้นเลือกในแบบที่ตัวเองถนัดดีที่สุด
Daniel Kahnemann on TED stage cr. ted.com
💡 การแต่งกายในวันที่ต้องขึ้นเวที
ใส่อะไรที่ใส่สบายและเรามั่นใจ แต่ก็อย่าลืมดู theme ของงานด้วย การแต่งตัวตาม theme จะทำให้เราดูเป็นพวกเดียวกันกับผู้ฟัง และผู้พูดคนอื่นมากขึ้น ถ้าเราแต่งตัวแหวกแนวเกินไปจะยิ่งเป็นการสร้างกำแพงที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น
นอกจากนี้ เราต้องคำนึงด้วยว่าจะมีการถ่ายวีดิโอหรือไม่ ถ้ามีก็อย่าใส่ชุดที่แวววาวหรือมีลายอะไรที่เล็กๆ ไม่งั้นถ่ายวีดิโอออกมาแล้วเสื้อจะเด่นเกินไปจนคนไม่อยากดู
ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ พยายามอย่าแต่ง all black หรือ all white เพราะมันจะดูกลืนๆเกินนไป และไม่เด่น
💡 ความกังวลและความกลัว
ถ้าคุณรู้สึกกลัวหรือกังวล การทำสิ่งเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาคุณได้บ้าง
- หายใจเข้าลึกๆ 3-4 ครั้ง
- ดื่มน้ำสักนิด
- ใช้ความกลัวเป็นแรงผลักดันในการซ้อม
- ขณะพูดลองมองไปที่ผู้ฟังที่ดู friendly สักสองสามคน มองตาเขาทำเหมือนว่ากำลังพูดให้เขาฟัง ทักทาย และยิ้มให้เขา การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอาการประหม่าได้
💡 จำไว้ว่าการใช้ โทนเสียง, น้ำเสียง และระดับเสียงที่ดีและเหมาะสมกับเรื่องที่เล่าจะช่วยให้การนำเสนอของเราดูมีสีสันมากขึ้น น่าฟังมากขึ้น ไม่ monotone เหมือนการบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่ น้ำเสียงเหมาะกับการฟังก่อนนอนมากกว่าการเลคเชอร์
💡 สูตรลับคือไร้สูตร
ไม่มีพิมพ์เขียวเพียงอันเดียวที่จะทำให้ทุกการพูด และการบรรยายของคุณประสบความสำเร็จ สิ่งที่เขียนในหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นหรือเครื่องมือบางอย่างที่อาจช่วยคุณได้ในการจับใจคน สุดท้ายแล้วมันเป็นหน้าที่ของคุณเองที่จะต้องฝึกฝนและนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับ style ของตัวเอง
💡 จำไว้ว่า “your goal is not to be Winston Churchill or Nelson Mandela. It’s to be you.”
เป้าหมายของคุณไม่ใช่การเป็นวินสตัน เชอร์ชิลหรือเนลสัน แมนเดลา แต่คือการ
เป็นตัวคุณเอง
💡 หวังว่าโพสท์นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนและช่วยให้การพูดของทุกคนดีขึ้นแม้เพียงสักนิดผมก็ดีใจแล้วครับ
ขอให้ประสบความสำเร็จกับการพูดบนเวทีนะครับ ผมจะรอฟังคุณพูดอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
จุ้ย-ศรีแก้ว
ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามเนื้อหาสาระดี ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกัน
ฝากกด Like และกดติดตามเพจ 10 AM story ด้วยนะครับ
แล้วเจอกันวันพรุ่งนี้10 โมงครับ
โฆษณา