Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องของปราชญ์
•
ติดตาม
13 ก.ค. 2021 เวลา 09:30 • ข่าว
นักข่าวชาวอิรักถูกหุ้มหาย 1 วันก่อนถูกพบในสภาพสะบักสะบอม
ชายชาวอิรักคนหนึ่งซึ่งเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวและนักข่าวที่หายตัวไปเมื่อเย็นวันศุกร์ (9 ก.ค. 64) ในกรุงแบกแดดถูกพบในเย็นวันเสาร์โดยมีร่องรอยการล่วงละเมิดบนร่างกายของเขาอย่างเห็นได้ชัดก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
อะลี อัล-มิกดาม ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาล หายตัวไปหลังจากถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเขตกัรรอดะฮ์ของกรุงแบกแดด ตามรายงานของนักเคลื่อนไหวในท้องถิ่น
สำนักงานนายกรัฐมนตรีอิรักได้โพสต์ภาพถ่ายบน Twitter ของนายกรัฐมนตรีมุสเฏาะฟา อัล-กาซิมี ขณะเดินทางไปเยี่ยมมิกดามในโรงพยาบาลเมื่อวันอาทิตย์
นายกฯ อิรักเดินทางไปเยี่ยมมิกดามที่โรงพยาบาล
รายงานระบุว่ากองกำลังความมั่นคงอิรักได้ "ปลดปล่อยเขาจากการถูกลักพาตัว" แม้ว่านักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ จะกล่าวว่าพวกเขาพบมิกดามอยู่บนถนนในเขตดูเราะฮ์ของแบกแดด
เพื่อนร่วมงานของมิกดามจากขบวนการปฏิรูปอัลบัยตุลอิรอกี (Al-Bayt al-Iraqi) บอก Middle East Eye เมื่อวันอาทิตย์ว่าพวกเขาได้ติดตามเขาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันเสาร์และติดตามอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
มูฮี อัล-อันศอรี เพื่อนร่วมงานของมิกดามกล่าวว่า “เขายังอยู่ในโรงพยาบาลและยังต้องรับการรักษาพยาบาลอยู่”
หลังจากการหายตัวไปของเขา นักเคลื่อนไหวและนักข่าวได้เผยแพร่แฮชแท็ก "อะลี อัล-มิกดาม คุณอยู่ที่ไหน?" บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันเสาร์ โดยเรียกร้องให้ทางการอิรักสอบสวนเพื่อค้นหาที่อยู่ของเขา
นักเคลื่อนไหวและนักข่าวที่เกี่ยวข้องกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มในเดือนตุลาคม 2562 ต้องเผชิญกับการลอบสังหาร การลักพาตัว และการคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธเป็นประจำ
กองกำลังรักษาความมั่นคงและกองกำลังติดอาวุธมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 600 คนตั้งแต่เริ่มการประท้วง ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ปัญหาการว่างงาน การขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน และชนชั้นทางการเมืองที่ถูกมองว่าทุจริตโดยมิอาจไถ่ถอนได้ และตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจต่างชาติ
อะลี อัลบะยาตี คณะกรรมาธิการระดับสูงของอิรักเพื่อสิทธิมนุษยชนบอกกับ Middle East Eye ว่าการหายตัวไปของ มิกดาม น่าจะเป็นหลักฐานว่ากลุ่มติดอาวุธในอิรักที่สนับสนุนรัฐบาลสามารถดำเนินการเช่นนี้ต่อฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่ต้องรับผิด
“เป็นเรื่องเลวร้ายที่จะเห็นนักเคลื่อนไหวล้มลงต่อหน้าต่อตาเราทีละคนๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะเอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างมากขึ้น ดูเหมือนว่าอิรักจะไม่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป" เขากล่าวและเพิ่มเติมว่า “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบในการประกาศระบุตัวตนผู้กระทำความผิดในไม่ช้า แม้ว่าเราจะทราบผลเป็นอย่างดี”
กองกำลังติดอาวุธในอิรักที่อิหร่านหนุนหลังถูกกล่าวหาว่าเป็นเหตุให้เกิดการสังหารในอิรัก โดยมีนักเคลื่อนไหวมากกว่า 70 คนตกเป็นเป้าหมายในการลอบสังหารหรือพยายามลอบสังหารตั้งแต่ปี 2562
จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสหรัฐฯ ลอบสังหารกอซิม สุลัยมานี ผู้บัญชาการกองกำลังอัลกุดส์ของอิหร่านในอิรัก และอบูมะฮ์ดี อัลมุฮันดิส ผู้นำกองกำลังติดอาวุธกลุ่มหนึ่งของอิรักในเดือนมกราคม 2563
ในบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ก่อนที่เขาจะหายตัวไป มิกดามเตือนว่ากลุ่มติดอาวุธใช้การปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันอำนาจของตนในประเทศและเพื่อแก้แค้นโดยปริยายต่อสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นผู้สนับสนุนการประท้วง
“การต่อต้านที่เพิ่มขึ้นในหมู่ชาวอิรักต่ออิทธิพลของอิหร่าน ทำให้กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเพิ่มระดับการปราบปรามเป็นสองเท่าเพื่อรักษาระเบียบทางการเมืองที่รับประกันความสมบูรณ์และอำนาจของพวกเขาเอาไว้” เขาเขียนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน
“ในขณะที่ผู้สนับสนุนอิหร่านในอิรักมองว่าผู้ประท้วงเป็นผู้ก่อวินาศกรรมที่มีต่างชาติหนุนหลัง ทั้งที่สถานทูตตะวันตกในแบกแดดไม่ได้ให้อะไรกับนักเคลื่อนไหวเลยเว้นแต่ข้อความแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเท่านั้น”
นายกรัฐมนตรีกาซิมีได้ให้สัญญาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2563 ว่าจะปราบปรามกองกำลังติดอาวุธและสอบสวนการสังหารนักเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้เขาถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพที่จะทำตามคำสัญญา
ในวันพฤหัสบดีที่สภาตุลาการสูงสุดของอิรักได้ประกาศการออกหมายจับฆาตกรที่สังหารฮาชิม อัลฮาชิมี นักวิเคราะห์การเมืองชาวอิรักซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม 2563
ฟาอิก ซัยดาน หัวหน้าสภาตุลาการสูงสุดได้เตือนว่าพวกเขาจะพิจารณาโทษประหารชีวิตสำหรับฆาตกรในคดีนี้ เช่นเดียวกับผู้ที่รับผิดชอบในการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงในคดีอื่น ๆ
เขากล่าวกับสำนักข่าวทางการของอิรักว่า “ปัญหาของการสังหารผู้ประท้วงมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย และยังมีพรรคการเมืองที่เข้าแทรกแซงเพื่อจุดประสงค์ในการเลือกตั้งและโค่นล้มพรรคอื่น ๆ อีกด้วย ”
อ้างอิง :
https://www.middleeasteye.net/news/iraq-journalist-found-after-disappearing-baghdad-Ali-Mikdam
ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกใจการเมืองไทยในปัจจุบันเท่าไหร่ หลายกรณีค่อยข้างชัดเจนว่ารัฐใช้อำนาจเล่นงานขั้วตรงข้ามทางการเมือง มีการบังคับใช้กฎหมายเฉพาะกลุ่มให้เห็นกันอยู่ อาจมีบ้างที่เป็นกรณีบังคับสูญหาย (อุ้ม) โดยฝีมือของเจ้าหน้าที่หรืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังทำงานรับใช้นายอยู่ แต่จำนวนไม่มากมายนัก
พออ่านข่าวนี้แล้วผมต้องมาคิดต่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ว่าดีแค่ไหนแล้วที่บ้านเมืองเราไม่มีการปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลไล่เก็บคนเห็นต่างอย่างที่เกิดขึ้นในอิรักและอีกหลายประเทศที่การเมืองป่าเถื่อนกว่าเราหลายเท่า
บันทึก
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เขียนจากข่าว
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย