14 ก.ค. 2021 เวลา 14:00 • ประวัติศาสตร์
6 ภาพเขียนสะท้อนชนชั้น การเมือง การต่อสู้ และ การปฏิวัติ
ศิลปะในฝรั่งเศส ไม่ได้มีเพียงความวิจิตรหรูหรา หรือเคยถูกมองว่าดูฟุ้งเฟ้อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศิลปะก็เป็นกระจกสะท้อนสังคมและเป็นหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นเยี่ยม รวมถึงเป็นวัตถุดิบทางความคิดที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนสังคม รวมทั้ง การปฏิวัติ
ดังเช่นศิลปะที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจจากสถาบันกษัตริย์ การประณามความฟุ้งเฟ้อ และการสร้างสิ่งวิจิตรโดยไม่สนใจปากท้องประชาชนศิลปะของฝรั่งเศสในยุคนั้นได้ทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งบทบันทึกประวัติศาสตร์ สะท้อนสังคม สิ่งที่เคยเกิดขึ้น ศิลปะหลายชิ้นกลายสมบัติล้ำค่าของชาติ หลายชิ้นจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่าง ๆ สร้างรายได้เข้าประเทศฝรั่งเศส
Sarakadee Lite ขอนำงานศิลปะชิ้นสำคัญในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสมาเล่าให้ฟังกันอีกครั้ง บางภาพมีบริบทเชื่อมโยงกับ การปฏิวัติ เล่าถึงระบอบการปกครอง สังคม รวมไปถึงจุดเปลี่ยนของยุคสมัยศิลปะในฝรั่งเศส ที่เกิดแนวใหม่ขึ้นหลังวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789
The Bathers
3
• สร้างสรรค์ : ค.ศ.1765
• ศิลปิน : ฌ็อง-ออนอเร ฟรากอนาร์ (Jean-Honoré Fragonard ค.ศ.1732-1806) ศิลปินที่สร้างงานมากที่สุดและโดดเด่นที่สุดในช่วงสุดท้ายที่ศิลปะแบบโรโกโก (Rococo) ครองเมือง
1
• เกี่ยวกับศิลปะ : ภาพเขียนด้วยศิลปะแนวโรโกโก เทคนิค ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพสีสวยหวานฝีแปรงมีความละมุนดูอ่อนโยน เน้นธีมความรัก ตำนานเทพต่าง ๆ ความอ่อนเยาว์และวิถีชีวิตที่ร่าเริงสนุกสนาน ศิลปะแนวนี้รุ่งเรืองในยุคที่ฝรั่งเศสถูกปกครองด้วยระบอบกษัตริย์
• เกี่ยวกับสังคม : ภาพเล่าถึงความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อและสราญเริงรมย์จนลืมทุกข์ยากของประชาชน เป็นสาเหตุของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของกษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของราชวงศ์บูร์บงตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ผู้เลื่องชื่อกับความวิจิตรบรรเจิดเลิศในสุนทรียะการใช้ชีวิตอย่างสุขนิยม และนิยมวัฒนธรรมประเพณีที่่เต็มไปด้วยความหรูหรา
ในด้านหนึ่งภาพนี้บอกเล่าความงามอย่างวิจิตรแต่ในด้านกลับกัน ภาพนี้ก็สะท้อนบรรยากาศของสังคมที่เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อ และการใช้ชีวิตของชนชั้นสูงฝรั่งเศส ในขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองต่างกำลังเผชิญความอดอยากยากแค้นสภาวะสังคมที่กลายเป็นแรงขับให้เกิดการปฏิวัติแบบรื้อโครงสร้างสังคมฝรั่งเศสอย่างเบ็ดเสร็จนำไปสู่การเกิดใหม่ของระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ยุคสมัยของศิลปะโรโกโกในประวัติศาสตร์ศิลปะสิ้นสุดลง เมื่อ นโปเลียน ครองอำนาจ สถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ซึ่งเกิดหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส
• แกลเลอรี : พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีส
The Oath of the Horatii
• สร้างสรรค์ : ค.ศ.1784
• ศิลปิน : ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David ค.ศ. 1748-1825)
• เกี่ยวกับศิลปะ : รูปแบบงานเป็นศิลปะนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) ที่รื้อฟื้นเอาโครงสร้างและตัวเรื่องมาจากสมัยกรีก-โรมัน และรุ่งเรืองในแวดวงศิลปะของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติหมาด ๆ โดยต้นเรื่องของภาพมาจากเรื่องเล่ายุคโรมันโบราณที่เล่าถึง ทหารหนุ่มสามคนซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ เขาเป็นสามพี่น้องตระกูลโฮราทีที่กำลังเอื้อมตัวไปหาพ่อ เพื่อร่วมต่อสู้ทวงสิทธิดินแดนจากคู่ปรปักษ์คือ สามพี่น้องตระกูลกูราติ
ขณะที่ฝ่ายชายแสดงความกล้าหาญและความแข็งแรง มุ่งมั่นสะท้อนคติของความเป็นชายชาติทหารรักษ์ดินแดน ความรักชาติโดยที่มีประมุขของบ้านเป็นผู้นำในมุมขวาของภาพผู้หญิงและเด็กต่างทรุดร่างพิงกันแสดงความหวาดกลัว ศิลปินวาดกลุ่มผู้หญิงอยู่ในอารมณ์สะเทือนใจเพราะผู้ชายทั้งสองฝ่ายที่กำลังประหัตประหารแย่งชิงอำนาจเหนือดินแดนนั้น ล้วนเป็นคนรักของพวกเธอ หนึ่งในนั้นเป็นลูกสาวบ้านกูราติที่แต่งงานกับลูกชายบ้านโฮราที และอีกคนเป็นลูกสาวบ้านโฮราทีหมั้นหมายกับชายในตระกูลกูราติ
• เกี่ยวกับสังคม : ภาพนี้เป็นผลงานชิ้นแรกของ ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด ที่ได้รับมอบหมายจากนโปเลียนดาวิด ถือเป็นศิลปินเอกและผู้นำกลุ่มศิลปินแนวนีโอคลาสสิกที่เกิดขึ้นหลังจากฝรั่งเศสโค่นล้มระบอบการปกครองเก่าและสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นมา ซึ่งทำให้แนวศิลปะแบบโรโกโกที่ดูหรูหราหมดยุคไปพร้อมกับการสิ้นสุดอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งราชวงศ์บูร์บงและศิลปะที่เฟื่องฟูในยุคต่อมาคือศิลปะนีโอคลาสสิก ที่เป็นการย้อนกลับไปเอารูปแบบสไตล์และสุนทรียะแบบยุคอาณาจักรโรมันกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการวาดคน ฉากสถานที่ล้วนเป็นแบบยุคโรมันทั้งสิ้น แต่ภาพของ ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด นั้นแตกต่างตรงเน้นความเรียบง่าย (ไม่มีรายละเอียดฉากหลัง) และเน้นเรื่องราวของบุคคลกับการกระทำในภาพ เรียกว่าดึงดูดผู้ชมเข้าหาประเด็นมากกว่าบรรยากาศรอบข้าง
ภาพนี้ยังสะท้อนถึงการเปรียบโปเลียน (Napoleon) ผู้ปกครองสาธารณรัฐฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติคล้ายจูเลียส ซีซาร์ จอมพลที่มีอำนาจสูงกว่าใครในอาณาจักรโรมัน แม้ตอนนั้นการปกครองและบริหารอาณาจักรโรมันจะมีระบบรัฐสภาอยู่ก็ตาม
ยุคของศิลปะนีโอคลาสสิกเริ่มต้นและได้รับการอุ้มชูในสมัยนโปเลียนขึ้นครองอำนาจสูงสุดเมื่อปี ค.ศ.1804 และนโปเลียนได้แต่งตั้งให้ ดาวิด เป็นผู้บัญชาการทางศิลปะแห่งอาณาจักรใหม่ของฝรั่งเศสหรือเรียกง่ายๆว่าเป็น ศิลปินเอกคู่บารมีจักรพรรดิภารกิจของดาวิดคือ บันทึกประวัติศาสตร์และเส้นทางแห่งสู่อำนาจของนโปเลียนผ่านภาพเขียนตลอดยุคของนโปเลียน ดาวิดและบรรดาลูกศิษย์ก็ได้สร้างงานที่ถือได้ว่าเป็น “ศิลปะชวนเชื่อสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำ” หรือก็คือ Propaganda นั่นเอง
1
• แกลเลอรี : พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีส
1
The Coronation of Napoleon
• สร้างสรรค์ : ค.ศ.1805-1807
• ศิลปิน : ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis Davidค.ศ.1748-1825)
• เกี่ยวกับศิลปะ : ภาพเขียนถึงเหตุการณ์การสวมมงกุฎของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 ในวันราชาภิเษกที่โบสถ์น็อทร์-ดามกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 ในยุคหลังการโค่นล้มราชวงศ์บูร์บงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ภาพเขียนนี้เขียนขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1805-1807 โดย ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด ผู้ได้รับการสถาปนาให้เป็น “ผู้บัญชาการทางศิลปะ” อาณาจักรใหม่ของฝรั่งเศส
ดาวิดได้รื้อฟื้นเรื่องราวและรูปแบบคลาสสิกของโรมันมาใช้ ภาพการสวมมงกุฎของนโปเลียน เป็นภาพขนาดมหึมา ตั้งโชว์ปิดผนังแกลเลอรีในลูฟวร์ไปเต็ม ๆ หนึ่งผนังเลยทีเดียว ดาวิดยังเป็นจิตรกรเอก เป็นผู้นำในกลุ่มศิลปินแนวนีโอคลาสสิก และมีศิษย์เอกอย่าง กิราด กิโรเดท์ โกรส์ และแองแกรส์ ที่ต่อมาโด่งดังแบบแตกแนวไปจากต้นฉบับนีโอคลาสสิกแบบดาวิดไปเป็นแนวของตัวเอง เรียกได้ว่าปฏิวัติแนวทางล้างครูไม่สิ้นเชื้อนักปฏิวัติด้วยอีกต่างหาก
ยุคของศิลปะนีโอคลาสสิกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เป็นการเลียนแบบคลาสสิกยุคโรมัน (อาณาจักรล่มสลายไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 5) ที่ตายไปแล้ว เป็นศิลปะที่ไม่มีชีวิตและเลือดเนื้อที่เป็นปัจจุบัน แต่เป็นการฟุ้งฝันไปกับเรื่องราวอดีตและต่างแดน
• เกี่ยวกับสังคม : ภาพการสวมมงกุฎภายในโบสถ์น็อทร์-ดาม ซึ่งมีพระสันตปปาแห่งโรมันคาทอลิกเป็นผู้ชมอยู่ในภาพ ไม่ใช่ผู้สวมมงกุฎให้นโปเลียน ยังมีนัยแสดงถึงอำนาจของฝรั่งเศสที่ไม่ได้อยู่ใต้เงาของศาสนาจักร แต่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอาณาจักรที่มีฐานะเทียบเทียมกัน
• แกลเลอรี : พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีส
The Raft of Medusa
• สร้างสรรค์ : ค.ศ.1816
• ศิลปิน : เทโอดอร์ เชริโกต์ (Théodore Géricault)
1
• เกี่ยวกับศิลปะ : ภาพแพของเมดูซา เป็นงานในแนวศิลปะโรแมนติก (Romantic Art) ซึ่งเกิดขึ้นต่อจากยุคที่ศิลปะนีโอคลาสสิกเสื่อมไป พร้อมกับการสิ้นอำนาจของจักรพรรดินโปเลียน ภาพเขียนศิลปะโรแมนติก ไม่ได้แปลว่าจะต้องนำเสนอความฟุ้งฝันแบบอารมณ์โรแมนติก แต่เป็นภาพเขียนสองมิติที่ดูแล้วมีเลือดเนื้อและส่งต่ออารมณ์กระเพื่อมไหวรุนแรง
จุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่ขนาดที่ใหญ่จนสามารถวาดภาพคนที่มีขนาดใหญ่เท่าตัวคนจริงใส่ลงไปได้ทั้งยังไม่ละเลยความละเอียดของงานและฝีแปรง ภาพผู้คนที่กำลังอดตายอยู่บนแพ คนโบกผ้าเรียกหาความช่วยเหลือ มีภาพเรือลอยลิบ ๆ อยู่ริมเส้นขอบฟ้าในมุมขวาบนของภาพสะท้อนอารมณ์ของคนที่ดิ้นรนและมีความหวังอันริบหรี่ ดูแล้วน่าสยดสยอง สะเทือนใจราวกับเหตุการณ์ในภาพเขียนนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าคนดูอยู่จริงๆ
ในยุคศิลปะโรแมนติก ภาพเขียนสะท้อนสิ่งที่สังคมกำลังเผชิญอย่างเข้าถึงอารมณ์เกิดขึ้นร่วมยุคกับวรรณกรรมสะท้อนสังคมของ วิคตอร์ อูโก เรื่อง เหยื่ออธรรม (Les Miserables)นิยายสะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคมฝรั่งเศสยุคไม่กี่สิบปีหลังการปฏิวัติที่สะเทือนอารมณ์เป็นอย่างมาก
• เกี่ยวกับสังคม : ศิลปินได้แรงบันดาลใจจาก เหตุการณ์เรือโดยสาร ชื่อ “เมดูซา” ล่มกลางทะเลเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1816 ระหว่างการเดินทางออกจากฝรั่งเศส ปลายทางที่เมืองแซงต์หลุยส์ ประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกา ทำให้มีคนเสียชีวิตนับร้อย และหลังจากภาพนี้ออกแสดงก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงต่อรัฐบาลและเขย่าสังคมฝรั่งเศสยุคนั้นเลยทีเดียว
Marie-Antoinette with the Rose
• ศิลปิน : Louise Élisabeth Vigée-Le Brun
• เกี่ยวกับศิลปะ : ภาพเขียนสีน้ำมันบนผืนผ้าใบโดยศิลปินหญิงในราชสำนักฝรั่งเศส ในรูปภาพศิลปะแนวโรโกโก เป็นภาพเหมือนภาพที่สองของพระนางมารีอ็องตัวแน็ต ที่วาดโดย VigéeLe Brun ศิลปินในราชินูปถัมภ์ภาพนี้เป็นภาพในอิริยาบถอ่อนหวานของพระราชินีในชุดผ้าไหมสีน้ำเงินอมเทาที่เป็นผ้าไหมทอจากเมืองลียง ในมือถือกุหลาบที่เด็ดมาจากสวนสะพรั่งในพระราชวังแวร์ซาย ฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีสวยและบรรยากาศร่มรื่นสะท้อนชีวิตรื่นรมย์ในสวนของแวร์ซาย ภาพนี้เป็นภาพวาดที่นำออกมาแสดงในช่วงท้ายของงานนิทรรศการศิลปะแห่งปารีส(ปารีส ซาลอน) ในปี ค.ศ. 1783 และได้รับคำชื่นชมมีคนชื่นชอบอย่างมาก และได้รับการลอกเลียนทำซ้ำอีกหลายภาพ ปัจจุบันภาพทำซ้ำยังตั้งแสดงอยู่ในแกลเลอรีพิพิธภัณฑ์แวร์ซาย (the Palace of Versailles)
• เกี่ยวกับสังคม : Let them eat cake ซึ่งมาจากประโยคเต็มว่า If they have no bread, then let them eat cake.“ถ้าพวกมันไม่มีข้าวกินก็ให้กินขนมหวานแทนสิ” เป็นวาทะเขย่าขวัญประชาชนฝรั่งเศสของพระนางมารีอ็องตัวแน็ต ที่กลายเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟแห่งการปฏิวัติลุกโชน หลังจากที่บรรดาพ่อค้าประชาชนและปัญญาชนชาวฝรั่งเศส สั่งสมความคับข้องใจและเสื่อมศรัทธาต่อชนชั้นปกครองในยุคสมัยของราชวงศ์บูร์บงแม้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะสร้างพระราชวังแวร์ซายวิจิตรมโหฬาร และส่งเสริมสุนทรียะของศิลปวัฒนธรรม แต่เป็นเพียงความเฟื่องฟูในหมู่ชนชั้นสูง และการใช้จ่ายทรัพย์สินในท้องพระคลังจนประเทศแทบจะล้มละลาย การต่อสู้แบบคลื่นใต้น้ำจึงเกิดขึ้น แต่การขัดขืนของประชาชนจบลงที่คุกนักโทษการเมือง
เหตุการณ์สุกงอมจนประชาชนก่อการปฏิวัติ ปักหมุดที่เหตุการณ์บุกทลายคุกบัสตีย์ที่คุมขังนักโทษการเมืองในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ต่อเนื่องมาจนถึง การขับไล่บรรดาสมาชิกราชวงศ์ออกจากพระราชวังแวร์ซาย และเปิดการไต่สวนในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1793 และนำไปสู่การพิพากษาโทษฐานกบฏต่อแผ่นดิน และต้องโทษประหารชีวิตด้วยกิโยตินในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 ที่ Place de la Révolutionแต่ในอีกด้าน พระนางมารีอ็องตัวแน็ตกลายเป็นไอคอนของแฟชั่นและวิถีชีวิตที่หรูหราแบบไม่ขอโทษใคร
มารีอ็องตัวแน็ตเป็นเจ้าหญิงจากอาณาจักรออสเตรีย พระราชธิดาองค์สุดท้ายของจักรพรรดิฟรานซิสที่ 1 และจักรพรรดินีมารีเทอแรส ผู้มีอำนาจและเป็นผู้ปกครองตัวจริงของอาณาจักรออสเตรีย มารีอ็องตัวแน็ตถูกเลี้ยงดูมาเพื่อเป็นราชินีของอาณาจักรที่ออสเตรียต้องการเชื่อมสัมพันธ์เพื่อรักษาอำนาจในยุโรป หลังจากออสเตรียไปช่วยฝรั่งเศสรบกับอังกฤษในช่วงสงครามเจ็ดปี จักรพรรดินีมารีเทอแรสก็ได้เจรจาหมายหมั้นทายาทกับทายาทของฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ตอนนั้นมารีอ็องตัวแน็ต อายุเพียง 7 ขวบ และต่อมามารีอ็องตัวแน็ตก็ได้อภิเษกสมรสกับรัชทายาทฝรั่งเศส ในขณะที่พระองค์มีอายุเพียง 14 ปี และกลายเป็นราชินีฝรั่งเศสขณะอายุเพียง 19 ปี เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สืบทอดราชบัลลังก์จากพระราชบิดาพระนางมารีอ็องตัวแน็ตมีความสวยอ่อนหวาน และชีวิตต้องอยู่กับกิจกรรมที่เกี่ยวกับความสวยความงามตามภารกิจเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการเมืองยุคนี้มีความรุ่งเรืองของงานศิลปวัฒนธรรมในแบบหรูหรา และเป็นผู้นำแฟชั่น และโด่งดังในประวัติศาสตร์ เมื่อพระองค์และราชวงศ์บูร์บงถูกล้มล้างในการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรก
• เกี่ยวกับพระราชวังแวร์ซาย : เดิมถูกสร้างเป็นพระตำหนักฤดูล่าสัตว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งราชวงศ์บูร์บงก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะเริ่มพัฒนาให้เป็นพระราชวังและราชสำนักบริหารงานราชการแผ่นดินในปี ค.ศ. 1682งานสถาปัตยกรรมวิจิตรอลังการ ความความมั่งคั่งและรุ่มรวยสุดขีดของฝรั่งเศส ที่เรียกว่าเป็นยุคเรเนสซองส์ของฝรั่งเศส ได้สะท้อนอยู่ในสถาปัตยกรรมพระราชวังแวร์ซาย ความใหญ่โตมีห้องกว่า 2,300 ห้อง และพื้นที่ทั้งหมดรวมทั้งสวนสไตล์ฝรั่งเศสอันเลื่องชื่อกว่า 63,154 ตารางเมตร ก่อนที่จะถึงยุคเสื่อมอำนาจ เมื่อปี ค.ศ. 1789ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารีอ็องตัวแน็ตประชาชนฝรั่งเศสที่เป็นคลื่นใต้น้ำมานานก็ลุกฮือทำการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 วันที่ประชาชนบุกทลายคุกบัสตีย์ที่คุมขังนักโทษทางการเมือง และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปกครองในฝรั่งเศส จึงถือเอาวันนี้เป็น “วันปฏิวัติฝรั่งเศส”(French Revolution)
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารีอ็องตัวแน็ตถูกไต่สวนในข้อหาหลักคือการนำพาประเทศสู่ความเสื่อม และถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยกิโยตินพระราชวังแวร์ซายก็ถูกทิ้งร้างไว้ จนกระทั่งหลัง “การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม” ในวันที่ 27-29 กรกฎาคม ค.ศ. 1830 (July Revolution) ซึ่งมีการลุกฮือของประชาชนบนท้องถนนที่ปารีสอีกครั้งเพื่อโค่นพระเจ้าหลุยส์ที่ 10 ผู้ปกครองฝรั่งเศสยุคนั้น ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายสายตรงจากราชวงศ์บูร์บง(เป็นพระราชโอรสของหลุยส์ที่ 16) เพราะประชาชนไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ตอนนั้น และคนที่ขึ้นมาครองอำนาจต่อมาคือ พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ ที่เป็นญาติห่างๆของหลุยส์ที่ 10 แต่มาจากตระกูลออร์เลอ็อง บรรดาศักดิ์เดิมคือ ดยุคแห่งออร์เลอ็อง
ในปีค.ศ. 1837 สมัยของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปส์ เป็นกษัตริย์ปกครองฝรั่งเศส เล็งเห็นว่าประวัติศาสตร์และศิลปะจะช่วยให้ฝรั่งเศสมีสถานะที่แกร่งขึ้นในทางการเมืองยุคนั้น จึงได้ปรับ “พระราชวังแวร์ซาย” จากวังเจ้านายที่ไม่ให้อะไรแก่ประเทศชาตินอกจากความฟุ้งเฟ้อ ให้กลายเป็น มรดกของชาติ ที่เชิดหน้าชูตาความรุ่งเรืองของฝรั่งเศสในรูปแบบของ“พิพิธภัณฑ์งานศิลปะประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส” (Museum of the History of France)ภายในเขตพระราชฐานของชาโตว์ เดอ แวร์ซายChâteau de Versailles (Palace of Versailles) เก็บรักษา จัดแสดง ภาพเขียนตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-19กว่า 60,000 ชิ้น ทั้งงานต้นฉบับหรือทำซ้ำเลียนแบบ งานประติมากรรมอีก 3,000 ชิ้น เป็นทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมรดกด้านศิลปวัฒนธรรม“สดุดีความรุ่งเรืองของฝรั่งเศส”แม้การปกครองจะเปลี่ยนไปแต่แวร์ซายและงานศิลปะของคนยุคก่อนยังอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน
2
Liberty Leading People
• สร้างสรรค์ : ค.ศ. 1830
• ศิลปิน : เออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ศิษย์เอกของเชริโกต์ ภาพแนวศิลปะโรแมนติกที่ยังให้ความรู้สึกตื่นเต้นและปลุกเร้ารุนแรง
• เกี่ยวกับศิลปะ : ภาพนี้เป็นภาพตัวแทนจิตวิญญาณของการปฏิวัติฝรั่งเศสชื่อภาพแปลตรงตัวว่า เสรีภาพนำประชาชน
เนื้อหาของภาพ มาจากเหตุการณ์ปฏิวัติที่เรียกว่า “ปฏิวัติเดือนกรกฎาคม”(July Revolution) ค.ศ.1830 การปฏิวัติ โดยประชาชนครั้งที่ 2 หลังจากการปฏิวัติครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1789 ยุคนี้อำนาจสูงสุดกลับมาอยู่ในมือของเชื้อพระวงศ์อย่างพระเจ้าชาร์ลที่ 10 พยายามกลับไปรื้อฟื้นระบบเก่าสมัยราชวงศ์บูร์บงปกครองขึ้นมาและไม่สนความแร้นแค้นของประชาชนอยู่ดี
ประชาชนฝรั่งเศสออกมาเดินขบวนตามท้องถนนกรุงปารีส เพื่อโค่นอำนาจพระเจ้าชาร์ลที่ 10
เดอลาครัวซึ่งได้อยู่ในเหตุการณ์ประท้วงช่วงสามวันระหว่างวันที่27-29 เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1830 นั้น ลงมือวาดภาพนี้ในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เพื่อจารึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ไว้ โดยใช้ชื่อ Liberty Leading the People
ในภาพ จุดเด่นอยู่ที่หญิงสาวชื่อ Liberty หรือ เสรีภาพ ชูธงชาติปลิวไสว นำประชาชนมีชัยเหนือศัตรูในภาพนี้นักวิจารณ์ศิลปะหลายคนกล่าวถึงภาพนางสาวเสรีภาพว่าน่าจะได้ต้นแบบแรงบันดาลใจ ทั้งโครงสร้างร่างกายและท่วงท่าจาก รูปปั้นวีนัส ( Venus de Milo) รูปสลักหินอ่อนตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ (c.130-100 BCE) ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์สมัยนั้น
ภาพ Liberty ยังเป็นต้นแบบของ ภาพมารีอานน์ (Marianne) ซึ่งถือเป็น “สัญลักษณ์แห่งชาติ” ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส(National Symbol)หญิงสาวในภาพทั้งสองภาพสวมหมวกที่เป็นสัญลักษณ์การเลิกทาสเหมือนกัน
ภาพเขียนเสรีภาพนำประชาชนนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจของรูปปั้น “เทพีเสรีภาพ”(Statue of Liberty ปั้นระหว่างปี ค.ศ. 1870-1886) ซึ่งฝรั่งเศสสร้างเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับสหรัฐอเมริกาในวาระครบรอบ 100 ปีวันชาติของสหรัฐอเมริกาด้วยและยังตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์แห่งเจตจำนงเสรีของมวลชน อยู่เหนืออ่าวฮัดสัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
• เกี่ยวกับสังคม : ในด้านเนื้อหา ภาพหญิงสาวเปิดเปลือยท่อนบนและมองไปข้างหน้า มือข้างหนึ่งชูธงอย่างมุ่งมั่น มีนัยสำคัญถึงความมีเลือดมีเนื้อ การต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยว และพลังของคนหนุ่มสาวที่จะขับเคลื่อนเพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคในสังคม
แต่ในสถานการณ์จริงเมื่อปี ค.ศ. 1831 ภาพนี้ถูกนำออกแสดงครั้งแรกที่นิทรรศการศิลปะแห่งปารีส งานแสดงศิลปะประจำปีหรือรอบสองปีที่สำคัญที่สุดของโลก จัดโดยสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศส และกลายเป็นตัวจุดประเด็นการเมืองร้อนขึ้นมา จนพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปส์ที่ 1 สั่งการให้รมต.กระทรวงมหาดไทย ไปซื้อภาพนี้มาด้วยราคา 3,000 ฟรังก์ มาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของพระราชวังลุกซ็องบูร์ ไม่ให้สาธารณชนได้เห็น
แต่เมื่อเกิดการก่อกบฏในปีต่อมา เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1832 ภาพนี้ก็ถูกส่งคืนให้เดอลาครัว ศิลปินผู้วาดภาพ จนกระทั่งเดอลาครัวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1863 ภาพก็ตกเป็นพิพิธภัณฑ์ลุกซ็องบูร์ ซึ่งส่งต่อให้ลูฟวร์ในปี ค.ศ. 1874 และอยู่ที่ลูฟวร์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้
แม้ การปฏิวัติ ที่เกิดในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1830 จะยังมีเชื้อสายกษัตริย์กลับมาปกครอง แต่ หลุยส์-ฟิลิปส์ที่ 1 ก็มีแนวคิดที่จะทำให้ฝรั่งเศสปกครองระบอบสาธารณรัฐ และได้เปลี่ยน “สีธงชาติฝรั่งเศส” จาก “สีขาว” สีประจำราชวงศ์บูร์บงมาเป็น “ธงสามสี” แบบที่นางสาวเสรีภาพในภาพเขียนของเดอลาครัวถืออยู่
• แกลเลอรี : พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีส
อ้างอิง
• นิตยสารสารคดี กุมภาพันธ์ 2528
• นิตยสารสารคดี กรกฎาคม 2554
Author : ทศพร กลิ่นหอม
โฆษณา