14 ก.ค. 2021 เวลา 13:07 • การตลาด
ย้อนดูกรณีศึกษา พิซซ่าฮัท เป๊ปซี่ โออิชิ ทำอย่างไร ?
เมื่อมิตรรักมาหักเหลี่ยมโหด
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อวันดีคืนดี แฟนที่เคยนอนร่วมเตียงเคียงข้างคุณมาตลอด ลุกขึ้นมาประกาศตัวเป็นศัตรู หรือคู่แข่งขันของคุณอย่างเปิดเผย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
1
เพราะคนที่เคยอยู่ข้างตัวคุณ ย่อมรู้อะไรดีๆ เกี่ยวกับคุณมากมาย แน่นอนว่า พร้อมจะเอาเรื่องที่เขารู้มาเป็นจุดที่ใช้โจมตีคุณ เพราะต้องการผลชนะ ยามที่ต้องแข่งขันกับคุณแบบเอาเป็นเอาตาย
1
ในโลกการตลาดก็เช่นเดียวกัน มีเคสคล้ายๆกับที่เกริ่นมาเกิดขึ้นมากมาย และแต่ละเคสก็เป็นที่โจษขานกันอย่างมากในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ลองมาดูกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลมาถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง.....
1
พิซซ่าฮัท - พิซซ่า คอมปะนี
ศึกพิซซ่าถาดร้อน
ย้อนไปในปี 2544 เกิดอุบัติเหตุการตลาดในอุตสาหกรรม QSR (Quick Service Restaurant) ของเมืองไทยที่หลายคนจดจำได้ดี เมื่อเกิดการแตกหักระหว่างเจ้าของแบรนด์คือพิซซ่า ฮัท กับผู้ที่มีส่วนในการทำให้พิซซ่าแบรนด์นี้แจ้งเกิดในเมืองไทยคือบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ภายใต้การนำของบิ๊กบอส มร.วิลเลียม อี.ไฮเนคกี้
1
เรื่องเกิดขึ้นเพราะว่า จู่ๆ พิซซ่า ฮัท ต้องการดึงแบรนด์กลับมาทำเอง หลังจากให้สิทธิ์ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ปทำตลาดในฐานะแฟรนไชส์ มีหรือคนที่ปั้นให้ติดตลาดจะยอม จึงต้องฟ้องร้องกัน และพิซซ่า ฮัท เป็นฝ่ายชนะ
2
ขณะที่ผู้อกหัก ต้องหันไปปั้นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาคือ เดอะพิซซ่า คอมปะนี แต่กลายเป็นว่า แม้จะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ก็มีสาขาที่เคยทำพิซซ่า ฮัท อยู่ก่อนหน้าถึง 80 สาขาที่เป็นทรัพย์สินของตัวเอง และพร้อมจะเปลี่ยนป้ายมาเป็นพิซซ่าแบรนด์ใหม่ได้ทันที
2
ความเร้าใจของเกมการแข่งขันในครั้งนั้น ไม่ได้อยู่แค่ความได้เปรียบในเรื่องของจำนวนสาขาเท่านั้น แต่เดอะ พิซซ่า คอมปะนีเอง ยังใช้การทำพีอาร์เชิงรุก เพื่อช่วงชิงกระแสให้ไหลมาที่แบรนด์ตัวเอง ดีว่าในช่วงนั้นไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ ถ้าหากมีคงเกิดกระแสดราม่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง
3
การทำพีอาร์เชิงรุกนี้ ยังรวมถึงการออกข่าวแบบต่อเนื่องชนิดที่เป็นการนับวันถอยหลัง เพื่อรอวันปลดป้ายพิซซ่า ฮัท ลงจากร้านพร้อมกับติดป้ายเดอะพิซซ่า คอมปะนีเข้าไปแทนที่ เรียกได้ว่า สามารถสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับคนที่ติดตามสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาของการหมดสัญญาที่จะมีการปลดป้ายเดิมออกอย่างเป็นทางการ
5
เหตุการณ์ไม่ได้จบลงตรงที่แค่การปลดป้าย แต่ยังลามไปถึงช่วงของการแข่งขันจริงในสนาม ซึ่งข้อได้เปรียบหนึ่งของน้องใหม่ก็คือการทำพิซซ่า ฮัท มานานจึงรู้ไส้รู้พุงเป็นอย่างดี หลายครั้งจึงมีการชิงตัดหน้าเพื่อทำแคมเปญ หรือการออกพิซซ่าหน้าใหม่ๆ ก่อนที่พิซซ่า ฮัทจะขยับตัว
8
กลยุทธ์การตลาดอันหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ และประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีก็คือ การทำโปรโมชั่นซื้อ 1 ถาด แถม 1 ถาด ซึ่งสามารถเรียกแขกได้เต็มร้าน จนทำให้โปรโมชั่นนี้กลายเป็นโปรโมชั่นที่จัดประจำทุกปีในเดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือน แม้ปัจจุบันโปรโมชั่นนี้จะลดมนต์ขลังลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นโปรโมชั่นประจำที่ถูกจัดอย่างต่อเนื่อง
5
กว่าที่พิซซ่า ฮัท จะตั้งหลักได้ โดยเฉพาะในเรื่องของสาขา เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ก็แซงหน้าไปได้ในช่วงห่างระดับหนึ่ง ผลที่ตามมาก็คือ แม้จะเป็นแบรนด์ใหม่ที่ถูกมองว่าเสียเปรียบในเรื่องของความแกร่งของแบรนด์ แต่เดอะพิซซ่า คอมปะนี ก็สามารถหน้ารักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ของตลาดได้ตั้งแต่ออกตัวจนถึงปัจจุบัน.....
6
เป๊ปซี่ – เอส
จากคู่ซี้ กลายมาเป็นคู่แข่ง
เป๊ปซี่ – เสริมสุข (ผู้ทำคลอดน้ำอัดลมแบรนด์เอส) จะออกมาคล้ายๆ กับการสะบั้นรักของพิซซ่า ฮัท กับไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เมื่อคู่รักที่เคยร่วมกันทำตลาดมากกว่า 58 ปี ต้องแยกทางกัน โดยเป๊ปซี่ยกเลิกสัญญาการให้เสริมสุขเป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่าย พร้อมกับดึงทั้งหมดมาทำเอง
4
เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ มีหรือที่เสริมสุขจะปล่อยให้สายพานการผลิต และรถขายสินค้าจะว่างโดยไม่มีสินค้าเข้าไปขายแทนเป๊ปซี่ ว่าแล้วก็หันมาปั้นแบรนด์น้ำอัดลมของตัวเองคือ เอส ขึ้นมา เพื่อแก้เกมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการมีระบบจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งด้วยหน่วยรถขายสินค้ากว่า 1,000 คัน เข้ามาช่วยทำให้การทำตลาดน้ำอัดลมแบรนด์ใหม่ไม่ยากจนเกินไปนัก
4
ยิ่งได้เรียนรู้จากการทำตลาดให้กับเป๊ปซี่มาครึ่งศตวรรษ ก็ยิ่งทำให้เข้าใจว่าจะปั้นแบรนด์นี้ให้ติดตลาดได้อย่างไร ซึ่งหลังจากการจัดผังบริษัทที่ลงตัว เมื่อเสริมสุขเข้าไปเป็นบริษัทในเครือของไทยเบฟ เอส ถูกขายให้บริษัทในเครืออีกบริษัทคือไทยดริงค์ ที่เข้ามาทำหน้าที่ทำการตลาด ขณะที่เสริมสุขทำหน้าที่ผลิต และขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้เกิดความลงตัวมากขึ้น
4
ขณะที่เอสก็เริ่มได้จุดยืนที่แข็งแกร่งของตัวเองในตลาด ในการเป็นทางเลือกแบบซ่าสุดขั้วในตลาดน้ำอัดลม จนสามารถทำส่วนแบ่งตลาดอยู่ระหว่าง 10 – 12% เป็นเบอร์ 3 ในตลาดน้ำอัดลมต่อจากโค้ก และเป๊ปซี่ โดยเอสยังถูกวางไว้ให้เป็นรีจินัลแบรนด์ เพื่อลุยในภูมิภาคอาเซียนโดยอาศัยเครือข่ายของไทยเบฟ และเอฟ แอนด์ เอ็น ในการทำตลาดอีกด้วย
3
การสะบั้นรักกับเป๊ปซี่ ทำให้ได้เรียนรู้ และพบว่า การเป็นแค่คนผลิตกับคนขายให้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ แม้จะมียอดขายจำนวนมาก แต่กำไรที่ได้ค่อนข้างน้อย ผิดกับทำแบรนด์ขึ้นมาขายเอง ที่แม้จะขายน้อย แต่ก็มีกำไรเป็นกอบเป็นกำมากกว่า......
3
โออิชิ – อิชิตัน
รู้ทาง - รู้ทัน
1
พลันที่ลาออกจากบริษัท โออิชิ เสี่ยตันก็ประกาศในขั้นต้นว่าจะไม่ทำธุรกิจที่แข่งขันกับโออิชิโดยตรง แต่ก็เปลี่ยนใจหลังจากนั้นไม่นานด้วยการเปิดตัวชาเขียวอิชิตันเข้ามาทำตลาดแข่งกับโออิชิแบบเต็มๆ
3
ความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่ เสี่ยตันคือคนที่ปั้นแบรนด์โออิชิมาจนติดตลาด รู้จักแบรนด์นี้อย่างหมดเปลือก การเข้าตลาดของอิชิตัน จึงใช้สูตรสำเร็จที่แทบจะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก ทั้งเรื่องของตัวสินค้า การทำตลาด หรือแม้แต่การทำโปรโมชั่นที่ออกมาในแนวทางเดียวกันแบบแกะกันไม่ออก
2
ด้วยความที่อิชิตัน มีตันเป็นศูนย์กลาง การตัดสินใจที่จะเดินหน้าในเรื่องต่างๆ จึงทำได้ดีกว่าโออิชิที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เราจึงได้เห็นการตัดหน้าโออิชิในการทำโปรโมชั่นแคมเปญออกมาในบางช่วงเวลา
3
อิชิตัน ทำออกมาได้ค่อนข้างดี จนมีส่วนแบ่งตลาดไล่จี้โออิชิ ซึ่งกว่าที่โออิชิจะตั้งลำได้ ก็กินเวลาไประยะหนึ่ง แต่เมื่อตั้งหลักได้ เกมไล่บี้เพื่อเอาคืนจึงเกิดขึ้น ทีนี้ก็มันล่ะสิครับท่านผู้ชม
โออิชิ หันมาใช้จุดแข็งของตัวเองเข้ามาสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ผ่านการซินเนอร์จี้กับบริษัทในเครือไทยเบฟเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการทำตลาด โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดจำหน่าย ที่มีการใช้เครือข่ายของไทยเบฟ และเสริมสุขเข้ามาช่วยผลักดันสินค้าเข้าร้านค้าย่อย
2
ขณะเดียวกันก็มีการปรับพอร์ตสินค้าให้มีความลงตัว โดยลดเอสเคยูที่ขายไม่ดี และหันมาเน้นตัวเอสเคยูหรือไซส์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดในแต่ละช่องทาง
2
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกลยุทธ์การตลาดที่สดใหม่ และการนำเสนอนวัตกรรมของสินค้าที่ไม่เคยมีคู่แข่งทำมาก่อน อย่างการเปิดตัวชาฟรุ๊ตที องุ่น เคียวโฮ ที่มีการใส่วุ้นมะพร้าวเข้าไปเป็นเจ้าแรก หรือการนำเสนอนวัตกรรมในเรื่องของตัวขวดเพื่อสร้างกิมมิคให้กับแบรนด์ซึ่งทำออกมาได้ค่อนข้างดี
ถือเป็นการเอาคืนของโออิชิ หลังจากที่โดนเบียดพื้นที่ในช่วงแรกๆ ที่อิชิตันเข้าตลาด......
#BrandAge_Online
โฆษณา