15 ก.ค. 2021 เวลา 01:15 • สิ่งแวดล้อม
เอะอะก็รีไซเคิล มันคือเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือไม่? (ตอนที่ 2)
1
Cr. iStock by Getty Images, Photo by NicoElNino
Reduce Reuse และ Recycle คือ 3R ที่เราต่างคุ้นเคยกันในแวดวงของการลดการใช้ทรัพยากร และลดการสร้างขยะหรือของเสีย แต่ที่จริงแล้วกลไกของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ไม่ได้มีอยู่แค่ 3R เท่านั้น ตามที่ Future Perfect ได้แชร์ไว้ในบทความก่อนหน้านี้ - เอะอะก็รีไซเคิล มันคือเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือไม่? (ตอนที่ 1) วันนี้เราจะได้มาทำความรู้จักกับกลไกอื่น ๆ เพิ่มเติม ว่ามันจะต่อจิ๊กซอว์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในภาพรวมให้สมบูรณ์ได้อย่างไร มาเริ่มกันเลยครับ
ก่อนอื่น เราต้องทราบก่อนว่าวงจรของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy สามารถแบ่งวัฏจักรการหมุนเวียนทรัพยากรได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ วัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) และวัฏจักรทางเทคนิค (Technical Cycle) ขอเกริ่นสั้น ๆ เกี่ยวกับวัฏจักรทางชีวภาพ ก็คือ การใช้กระบวนการทางชีวภาพ เพื่อทำให้เราใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ใช้วัสดุที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือใช้แล้วไม่หมดไป ยกตัวอย่างเช่น การสกัดสารที่มาจากวัสดุชีวภาพ ดังกรณีศึกษาที่ Future Perfect ได้แชร์เกี่ยวกับกระเป๋าหนังที่ทำจากวัสดุไมซีเลียมของรากเห็ด จากบทความที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีกรรมวิธีอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้อีกในทางชีวภาพ เช่น การนำอินทรียวัตถุหรือพวกเศษอาหารไปหมักทำปุ๋ย หรือหมักในสภาวะไร้อากาศเพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น วัฏจักรทางชีวภาพมีรายละเอียดพอสมควรซึ่งขอเก็บไว้คุยกับผู้อ่านทุกท่านในโอกาสหน้าต่อไป
วันนี้สิ่งที่จะ Focus ก็คือวัฏจักรทางเทคนิค (Technical Cycle) ที่กล่าวได้ว่าเป็นวัฏจักรของเศรษฐกิจหมุนเวียนเพราะมีการวนรอบ (Loop) การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหลือทิ้งน้อยที่สุด ผ่านกระบวนการทางกายภาพในรูปแบบที่แตกต่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสารพัด "Re" ทั้งหลายที่ผู้อ่านพอจะรู้จักบางตัวกันบ้างแล้ว แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คือ การวนรอบ (Loop) ของแต่ละวัฏจักรนั้น จะทำให้เรา เปลืองแรง เปลืองเงิน และเบียดเบียนธรรมชาติ ไม่เท่ากัน บางท่านอาจสงสัยว่าแล้วมันจะต่างกันอย่างไร Future Perfect จะไขข้อข้องใจให้ดังนี้
โมเดลภูเขาแห่งคุณค่า (Value Hill Model) Cr. metabolic.nl
โมเดลหนึ่งที่เลือกมานำเสนอในวันนี้ จะช่วยอธิบายให้เข้าใจวัฏจักรทางเทคนิคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โมเดลนี้มีชื่อว่า "ภูเขาแห่งคุณค่า" หรือ "Value Hill" จากประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวถึงวัฏจักรทางเทคนิคของเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ถ้าผู้อ่านสังเกตจากรูปโมเดล จะเห็นว่า พวกเราในฐานะผู้บริโภคทรัพยากร ยืนอยู่บนยอดภูเขา (รอใช้สินค้าสำเร็จรูปที่ส่งมอบถึงมือเรา) เชิงเขาด้านซ้าย คือต้นทางของทรัพยากรหรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำออกมาจากระบบธรรมชาติ เพื่อเตรียมผลิตเป็นสินค้า จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการแปรรูป ผลิต ประกอบ ขนส่งมาจนถึงมือเรา เปรียบเสมือนการแบกสัมภาระขึ้นภูเขา ผ่านจุดพักต่าง ๆ บนภูเขา ถ้าผู้อ่านท่านใดเคยขึ้นภูกระดึง ท่านอาจลองจินตนาการดูว่า กว่าจะปีนไปถึงหลังแป (ยอดภูกระดึง) หลายท่านต้องนั่งหอบและพักตามจุดพักระหว่างทางขึ้นเขา (ซำแฮก ซำบอน และอีกสารพัด "ซำ") เมื่อเปรียบเทียบในแต่ละช่วงของการขึ้นเขา จะพบว่าวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ จะมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับความสูงของภูเขา และจะมีคุณค่าสูงสุดเมื่อกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราอยากได้ ส่งถึงมือเราในฐานะผู้บริโภค แต่หากมองในมุมกลับกัน กว่ามันจะมาถึงจุดสูงสุดนี้ ต้องแลกมาด้วยภาระต่อระบบธรรมชาติมากขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรในการผลิต ปล่อยของเสีย ปล่อยมลพิษออกสู่ธรรมชาติ เพื่อแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์และส่งมอบมาจนถึงมือของผู้บริโภค ประเด็นก็คือว่า เมื่อมันมาถึงจุดสูงสุดของคุณค่าแล้ว เราจะทำอย่างไร เพื่อรักษาคุณค่าตรงนั้นไว้ให้คงอยู่ได้นานที่สุด นั่นล่ะครับโจทย์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
ก่อนจะกล่าวถึงว่าทำอย่างไรได้บ้าง ให้กลับไปดูภูเขาทางด้านขวามือ ซึ่งจะใช้เดินทางขาลง เปรียบเสมือนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ค่อย ๆ เสื่อมสภาพ และลดคุณค่าลงตามเวลาและการใช้งาน แต่สิ่งที่เราคาดหวังก็คือ เราไม่ได้อยากที่จะลงจากภูเขา เพราะเราอยากเชยชมคุณค่าที่คู่ควรกับเราอยู่บนยอดเขานั่นแหละ แต่อย่างไรเสีย ของทุกอย่างมีวันเสื่อม ไม่ช้าก็เร็ว ต้องลงจากภูเขาอยู่ดี และถ้าระดับคุณค่ายิ่งลดระดับลงมาจากยอดเขามากเท่าไหร่ การย้อนคืนคุณค่ากลับไปสู่จุดเดิมบนยอดเขานั้น ยิ่งต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ใช้ทรัพยากร ใช้พลังงาน ก่อเกิดภาระต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น นี่คือคำอธิบายว่าวัฎจักรและกระบวนการทางเทคนิคที่ใช้ในการวนรอบ หรือสารพัด "Re" ที่จะกล่าวต่อไปนั้น จึงมีลำดับความสำคัญไม่เท่ากัน
ดังนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญ (Ultimate Goal) ของเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ก็คือ พยายามอย่างดีที่สุดไม่ให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงสุด (บนยอดเขา) ลดคุณค่าจนถึงระดับต่ำสุดที่เชิงเขาทางด้านขวามือของโมเดล ซึ่ง ณ จุดนั้น คือของเสีย (Waste) หรือขยะที่ไม่มีใครต้องการแล้ว หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้มีของเสียเหลืออยู่น้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นแล้ว วัฏจักรทางเทคนิคของเศรษฐกิจหมุนเวียน มีอะไรบ้าง ลองมาไล่เรียงกันครับ
1. Reuse หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ หากต้องการใช้ซ้ำได้ยาวนานนั้นจำเป็นต้องมีขั้นตอน Repair / Maintain (ซ่อมแซม /บำรุงรักษา) ด้วย ลองยกตัวอย่างรถยนต์ใหม่ป้ายแดง สักคันหนึ่ง เมื่อเราซื้อมาเป็นเจ้าของแล้ว เราคงไม่ได้เอาแต่ขับอย่างเดียว ต้องคอยเช็คสภาพ เช็คลมยาง เอาเข้าศูนย์เช็คระยะ ฯลฯ การใช้ซ้ำของเราก็อาจจะใช้ซ้ำได้อีกหลายปี จนกระทั่งเราคิดว่าสมรรถนะมันเริ่มถดถอยลง หรือว่าเราเริ่มเบื่อมัน ผ่านไปประมาณ 5-10 ปี นำไปขายเป็นรถยนต์มือสองที่ยังมีสภาพดีมาก ผู้ที่ซื้อรถยนต์มือสองก็ถือว่าได้เอาไป Reuse ต่อได้อีก โดยที่ไม่ต้องซ่อมใด ๆ
2. Refurbish หรือปรับปรุงใหม่ เป็นการปรับปรุงความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบหรือวัสดุบางอย่าง หรือเป็นการซ่อมแค่บางส่วน (ซ่อมเบา) ซึ่งทำให้สามารถกลับมามีสภาพเหมือนผลิตภัณฑ์ใหม่ ดังกรณีของรถยนต์มือสองที่นำไปขายผ่านเต็นท์รถยนต์มือสองนั้น อาจจะมีรอยเฉี่ยวชน สีถลอก ต้องไปทำสีใหม่ทั้งคัน หรือต้องเปลี่ยนอะไหล่บางชิ้นที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว เป็นต้น แล้วนำกลับมาขายให้ลูกค้ารายใหม่
3. Remanufacture หรือผลิตใหม่ เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพจนเริ่มใช้การไม่ได้แล้วโดยเฉพาะสมรรถนะหลักของผลิตภัณฑ์ กลับไปหาแนวทางที่เหมาะสมในการผลิตชิ้นส่วนทดแทน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทั้งชิ้น หรือเฉพาะบางองค์ประกอบสำคัญให้กลับมาใช้งานได้ใหม่และมีสมรรถนะเทียบเท่าของเดิม หรืออาจดีกว่าเดิมก็ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คัดเลือกเอาชิ้นส่วนย่อยของเก่าที่ยังใช้ได้ดีมาประกอบ (Assembly) ร่วมกับชิ้นส่วนย่อยอื่นที่ผลิตขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อกลับมาดูที่รถยนต์ที่สภาพย่ำแย่มาก ๆ การผลิตใหม่ อาจจะเป็นการยกเครื่องใหม่ หรือทำช่วงล่างใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตในกระบวนการ Remanufacture นั้น ในอดีตที่ผ่านมามักจะเป็นการดำเนินการด้วยตัวเอง หรือเป็นร้านซ่อมที่มีความชำนาญในการ "โมดิฟาย" ของที่เสียแล้ว ให้กลับมาใช้ใหม่ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งที่มักพบเห็นก็คือ โทรทัศน์ที่ใช้การไม่ได้แล้ว หากบ้านไหนไม่อยากซื้อโทรทัศน์ใหม่ ก็จะส่งไปซ่อมที่ร้านซ่อมอิเล็กทรอนิกส์แถวบ้าน เพื่อซ่อมใหญ่ให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม โดยมักมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการซื้อของใหม่ อย่างไรก็ดี จากเทรนด์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่เริ่มแพร่ขยายไปสู่ธุรกิจนั้น ทำให้ผู้ผลิตในแบรนด์ใหญ่ ๆ บางรายเริ่มมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ และมีการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ใช้การไม่ได้แล้ว เลือกชิ้นส่วนที่ยังใช้ได้ดี กลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมด้วยการรับประกันคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ โดยมีความท้าทายคือการควบคุมต้นทุน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านวัฏจักร Remanufacture เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ใหม่
4. Recycle หรือรีไซเคิล เป็นการแปรสภาพผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุประกอบต่าง ๆ ที่ใช้การไม่ได้แล้ว และกลายเป็นวัสดุเหลือทิ้ง นำมาผ่านกระบวนการเพื่อแปลงกลับมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิม หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป โดยการแปรสภาพนั้นเป็นไปได้ทั้งทางกล (Mechanical Recycle) และทางเคมี (Chemical Recycle) หากเป็นรถยนต์ที่หมดสภาพ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะนำกลับมาผลิตเป็นรถยนต์ใหม่ (ประมาณว่าพังยับทั้งคัน) ชิ้นส่วนที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้แล้วก็จะถูกแยกชำแหละออกมาเพื่อนำไปแปรสภาพต่อไป จะเห็นได้ว่ากระบวนการรีไซเคิลนั้น เกิดขึ้นตอนที่ระดับคุณค่าตกลงมาจากภูเขาจนเกือบจะถึงเชิงเขาแล้ว หากเป็นการต่อสู้ของจอมยุทธ์ ก็จะเปรียบเหมือนกระบวนท่าที่เก็บไว้ใช้ตอนท้าย หลังจากที่งัดเอาทุกกระบวนท่ามาใช้เกือบหมดแล้ว เพราะการรีไซเคิล เมื่อเทียบกับวัฏจักรอื่น ๆ ย่อมถือว่าต้องใช้ความพยายาม ใช้ทรัพยากร และพลังงานที่มากกว่า รวมถึงอาจมีต้นทุนที่สูงกว่า ในการเข็น "คุณค่า" ของผลิตภัณฑ์กลับขึ้นไปที่จุดเดิมบนยอดเขา
Cr. iStock by Getty Images, Photo by RecycleMan
หากรีไซเคิลแล้วก็ยังไม่ไหว ยังมีกระบวนท่าไม้ตายอื่นอีกหรือไม่ ถ้าไปจนสุดทางแล้วจริง ๆ สิ่งที่ทำได้มีอีก 2 อย่างคือ (1) นำไปเผา หรือแปรสภาพเป็นพลังงาน (Recover Energy) และ (2) นำไปฝังกลบ (Landfill) โดยทั้ง 2 วิธีดังกล่าว ไม่ใช่ความมุ่งหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ว่า การนำไปเผา ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ ส่วนการนำไปฝังกลบ ก็ถือเป็นการสร้างความรบกวนต่อระบบธรรมชาติอยู่ดี และหากฝังกลบไม่ดี ก็จะมีสารพิษ หรือมลพิษ เล็ดรอดออกสู่ธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงและใช้เท่าที่จำเป็น
มีประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ Future Perfect ยังไม่ได้กล่าวถึง นั่นคือ วัฏจักรและกระบวนการรักษาคุณค่า ตามที่กล่าวถึงในภูเขาแห่งคุณค่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น มีอีก 2 "Re" ที่สำคัญมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทางของการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และเปรียบเสมือนก้อนเมฆที่ลอยอยู่เหนือภูเขาแห่งคุณค่านั้น มีอะไรกันบ้าง ไปดูเลยครับ
1. Reduce หรือลดการใช้ทรัพยากร แนวทางนี้เราพอจะคุ้นหูอยู่แล้วบ้างในอดีต กล่าวคือเรายังมีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือความจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่เราเลือกได้ที่จะใช้ให้น้อยลง เพื่อลดการสร้างภาระต่อระบบธรรมชาติ หรือเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่น ๆ ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร อย่างเช่นกรณีรถยนต์ เราอาจใช้รถยนต์เท่าที่จำเป็น ใช้วิธี Car Pool ใช้ระบบขนส่งสาธารณะบ้าง หรือประชุมแบบออนไลน์แทนการขับรถเพื่อเดินทางไปร่วมประชุม เป็นต้น
2. Rethink หรือคิดทบทวนใหม่ เป็นแนวทางที่กล่าวถึงการพลิกมุมมองใหม่ การเปลี่ยนหรือฉีกกฎเดิม ๆ เพื่อสร้างพฤติกรรมแบบใหม่ ระบบนิเวศแบบใหม่ที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปจนถึง "การออกแบบใหม่" เพื่อคง "คุณค่า" ไว้ให้อยู่ได้นานที่สุดด้วย ขอยกตัวอย่างกรณีของรถยนต์อีกเช่นเคย สมัยก่อนเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เราเคยคิดว่ารถยนต์เป็นปัจจัยที่ 5 ที่เราจะต้องซื้อไว้ในครอบครอง แต่เมื่อลองคิดใหม่ว่า ถ้าเราสามารถสร้างระบบนิเวศของการขนส่ง (Mobility Ecosystem) แบบไร้รอยต่อได้ การครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ณ ขณะนี้เริ่มมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดัง คิดโมเดลธุรกิจการให้บริการรถยนต์ (ไม่ขายขาด) โดยอาจคิดค่าบริการตามระยะทางที่ขับ หรือจ่ายเป็นระบบระบบสมาชิกตามเงื่อนไขที่กำหนด แทนที่จะจ่ายเงินทั้งก้อน เพื่อซื้อขาดรถยนต์มาเป็นของตัวเอง โมเดลนี้เรียกว่า "Product-as-a-Service" ซึ่ง Future Perfect จะได้นำมาอธิบายขยายความในบทความฉบับถัด ๆ ไป
Rethink นี้ สามารถขยายผลไปยังทุกภาคส่วน และทุกสิ่งอย่างที่อยู่รอบตัวได้อีก ลองสังเกตง่าย ๆ กับผลิตภัณฑ์รอบตัวที่อยู่ในบ้านของทุกคน โดยส่วนใหญ่แล้ว ของใช้ที่เราหยิบใช้บ่อยจริง ๆ มีไม่ถึงครึ่ง หรืออาจจะน้อยกว่านั้นด้วย ที่เหลือคือเก็บไว้สแตนบายรอใช้งาน (ซึ่งบางครั้งไม่รู้ว่าจะได้ใช้อีกเมื่อไหร่) นี่ถือเป็นเพียงตัวอย่างมุมมองในครัวเรือนเท่านั้น จึงถือเป็นโอกาสของการปรับปรุงอีกมากมาย เพื่อหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราลดการใช้ทรัพยากรให้เหลือน้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรักษาคุณค่าของทรัพยากรไว้ให้นานที่สุด จนกว่าจะหมดอายุขัยของมัน
"Re" ต่าง ๆ ทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานั้น ถ้าไปดูในตำรา หรือทฤษฎีจากแหล่งต่าง ๆ อาจจะมีน้อยกว่านี้ หรือมีแยกย่อยเป็นตัวอื่น เพิ่มเข้ามามากกว่านี้ก็ได้ แต่โดยหลักการในภาพใหญ่แล้ว จะมีแนวทางที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และเราสามารถจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการจากดีที่สุด ไปจนถึงแย่ที่สุด (ในแง่ของภาระต่อระบบธรรมชาติ) ทั้งนี้แนะนำให้เริ่มดำเนินการไล่ลำดับจากบนลงล่างของรูปพีระมิดหัวกลับ เพื่อสร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ดังรูปด้านล่างนี้
การจัดลำดับความสำคัญของวัฏจักรและกระบวนการทางเทคนิคของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
ขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวของ Peter Drucker สุดยอดปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ กล่าวไว้ว่า "Doing the right thing is more important than doing the thing right." นั่นคือการทำสิ่งที่ยัง "ไม่ใช่" ให้ดีเลิศหรือมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ยังสู้การทำใน "สิ่งที่ถูกต้อง" ตั้งแต่เริ่มต้นไม่ได้ การจัดลำดับความสำคัญเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสม จึงจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ ผู้อ่านท่านใดที่สนใจเรื่องราวที่ Future Perfect แชร์ สามารถกด Follow เพื่อไม่ให้พลาดสาระน่ารู้อีกมากมายที่จะได้นำมาแชร์ผู้อ่านทุกท่านต่อไป
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) ทรัพยากรมีจำกัด การดึงเอาทรัพยากรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มคุณค่า นำไปสู่การเพิ่มภาระต่อระบบธรรมชาติด้วย ในฐานะผู้บริโภคควรใช้คุณค่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรักษาคุณค่านั้นไว้ให้นานที่สุด
2) เมื่อทรัพยากรที่มีคุณค่าได้ถูกนำใช้งานแล้ว ให้ใช้วัฏจักรและกรรมวิธีของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ไล่ตามลำดับความสำคัญ เพื่อลดภาระต่อระบบธรรมชาติให้เหลือน้อยที่สุด
3) จากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนแบบเต็มตัว สำหรับสตาร์ทอัพ นี่คือช่องทาง โอกาสที่เปิดกว้างให้สามารถแทรกตัวเข้าไปสร้างธุรกิจเพื่อยกระดับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพได้ ( ถ้าคุณมองเห็น! )
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้ #เศรษฐกิจหมุนเวียน #CircularEconomy
โฆษณา