15 ก.ค. 2021 เวลา 04:22 • ไอที & แก็ดเจ็ต
เมื่อเดือนที่ผ่านมาหลายคนน่าจะได้ยินข่าวใหญ่ในวงการไอทีว่าบริษัท Microsoft เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบปฎิบัติการรุ่นใหม่ในชื่อ Windows 11 พร้อมสาธิตฟังก์ชั่นการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ให้ดูกันทั่วโลกผ่านทาง Streaming
ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องปกติที่น่าจะถึงเวลาออกระบบปฎิบัติการใหม่มาแทน Windows 10 ที่ใช้กันมานานถึง 6 ปี แล้ว
แต่ใครจะรู้บ้างว่าปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลในการออกแบบ Windows 11 ก็คือการแพร่ระบาดของ Covid 19
Microsoft ได้เปิดเผยเบื้องหลังในการพัฒนาว่าเดิมทีนั้นบริษัทมีแนวคิดในการพัฒนาระบบปฎิบัติการที่เรียบง่าย มุ่งเน้นให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้ทุกที่
โดยออกแบบเป็นอุปกรณ์พกพาสองหน้าจอตั้งชื่อว่า Surface Neo ใช้ระบบปฎิบัติการ Windows 10X และ Surface Duo ใช้ระบบปฎิบัติการ Android ซึ่งเปิดตัวอุปกรณ์ดังกล่าวในช่วงปลายปี 2019
Surface Neo (บน) กับ Surface Duo (ล่าง) (ภาพจาก droidsans และ zdnet)
หลังจากนั้นไม่นานโลกก็เจอกับโรคระบาดอย่าง Covid 19 ส่งผลให้หลายประเทศมีมาตรการปิดเมือง ผู้คนหยุดเดินทางและต้องนั่งทำงานที่บ้านด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์กันหมด
แม้แต่พนักงานของ Microsoft เอง ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ทํางานที่บ้าน
จากสถานการณ์นี้ทำให้ Microsoft ต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจะออกแบบระบบปฎิบัติการรุ่นใหม่อย่างไร เพื่อตอบสนองการทำงานจากบ้านสลับกับในออฟฟิศให้ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว
ในตอนแรกนั้นทีมพัฒนาเริ่มต้นจากการนำ Windows 10X มาปรับเปลี่ยนใช้กับอุปกรณ์หน้อจอเดียว แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ กลับพบว่าบางอย่างยังไม่ตอบโจทย์
ในที่สุด Microsoft จึงตัดสินใจออกแบบใหม่ทั้งหมดเป็น Windows 11 แทน
จากการที่ทีมพัฒนาต้องทำงานจากที่บ้านเหมือนกับคนอื่นๆ ทำให้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมของคนทำงานที่บ้านว่าต้องการอะไร
กระบวนการพัฒนาระบบปฎิบัติการตัวใหม่จึงเปิดกว้างและอยู่บนวิถีชีวิตแบบ New Normal
จากในอดีตที่เราเคยเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน กลายเป็นการเปลี่ยนตัวเราให้เข้ากับคอมพิวเตอร์แทน
Windows 11 ถูกออกแบบใหม่ให้มีรูปแบบเมนูต่างๆ เรียบง่ายและสะอาดตา
มีการเพิ่มความสามารถหลายอย่างเพื่อช่วยให้การทำงานที่บ้านสะดวกขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มฟีเจอร์ Widgets เพื่อรวมสิ่งที่เราสนใจไว้ในหน้าต่างเดียวกัน
การเพิ่มปุ่ม Mute ปิด-เปิดเสียงไมโครโฟนบนทาสก์บาร์เพื่อป้องกันการเปิดไมโครโฟนโดยไม่ตั้งใจ
มีโปรแกรมประชุมออนไลน์อย่าง Microsoft Teams รวมเข้ากับระบบ
และมีฟีเจอร์เด่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Snap Groups และ Snap Layouts ระบบจะจดจำการจัดเรียงไอคอนบนหน้าจอเอาไว้และแสดงผลเหมือนกันไม่ว่าจะเปิดบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป การเชื่อมต่อแล็ปท็อปกับจอภาพ หรือแม้แต่การต่อหลายจอภาพ ทำให้ใช้งานได้สะดวกไหลลื่นกว่า Windows 10 ที่ไอคอนบนหน้าจอหน้าจอมักถูกจัดเรียงใหม่แบบสุ่มเมื่อมีการเชื่อมต่อจอภาพ
User Interface ของ Windows 11 (ภาพจาก Microsoft และ PCmag)
นอกจากนี้ การทำงานที่บ้านเป็นสาเหตุหนึ่งให้เรื่องงานและชีวิตส่วนตัวอยู่ใกล้ชิดกัน
ใครทำงานที่บ้านคงจะรู้ดีว่าเส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับความบันเทิงมันแคบลง
 
เราสามารถพักเล่นเกมหรือดูอย่างอื่นระหว่างทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนทำงานอยู่ในออฟฟิศ
จากการใช้ชีวิตลักษณะนี้ Windows 11 จึงถูกออกแบบให้สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นจากระบบ Android ได้โดยตรง เพื่อช่วยเติมเต็มฝั่งของความบันเทิงให้สมบูรณ์มากขึ้น
แอพพลิเคชั่น Android บน Windows 11 (ภาพจาก Microsoft)
ปัจจุบัน Windows 11 ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดย Microsoft คาดว่าจะพร้อมให้ใช้งานในเดือนตุลาคมปี 2021
ซึ่งผู้ใช้ Windows 10 สามารถอัพเกรดเป็น Windows 11 ได้ฟรี
ทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่า Windows 11 นั้นมีหน้าตาและฟีเจอร์ใหม่ที่เปลี่ยนไปพอสมควร แต่จะตอบโจทย์การใช้งานในยุค New Normal มากขนาดไหน เราคงต้องอดใจรอและติดตามกันต่อไป
โฆษณา