16 ก.ค. 2021 เวลา 08:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยยังจำเป็นใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอีกนาน เหตุฟื้นตัวช้ากว่าต่างประเทศ
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ฟื้นตัวช้ากว่าต่างประเทศ คาดเห็นโตชัดหลังปี 66 พร้อมใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอีกนาน ขณะที่
เร่งศึกษาข้อดี - เสีย ลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย
ย้ำต้องตอบโจทย์ระยะยาว ห่วงลดแล้วคนหนีออกนอกระบบ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ "THAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ที่จัดโดยธนาคารโลก (World Bank) ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.50% จำเป็นต้องอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจซึ่งในช่วงนี้เหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด กำลังจะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ต้องมาเจอสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ และยังมีข่าวร้ายเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ก็ยังมีความโชคดี ที่ภาคการเงินไทยมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ทำให้ขณะนี้ภาคการเงินถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ แม้หลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปตัว K กล่าวคือ อุตสาหกรรมหนึ่งจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้นหน้าที่รัฐบาลคือการพยุงให้อุตสาหกรรมขาล่างฟื้นตัวได้ดีขึ้น
นายดอน ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยหลังปี 2566 จะฟื้นตัวได้ปีละประมาณ 5% จากปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.8% และปี 2565 ที่ 3.9% โดยการฟื้นตัวจะยังไม่เข้าสู่แนวโน้มเดิมจนกว่าจะถึงปี 2570 ดังนั้นยอมรับว่าปัญหาโควิด-19 ส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ส่วนภาวะเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าในขณะนี้ ถือเป็นข้อดีหนึ่งของเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ หรือใกล้ระดับ 0 จึงทำให้ไม่มีแรงกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่าไม่มี เพราะหากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถรับไหว
ทั้งนี้ ธปท.อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาข้อดีและข้อเสียของการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยตามนโยบายการของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการลดภาระหนี้ของประชาชนภายใน 6 เดือน เพราะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของภาระหนี้ของประชาชน และจะทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงิน จะต้องออกนอกระบบไป
การตอบโจทย์เรื่องภาระหนี้ อาจจะต้องมีมาตรการอื่นด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาภาระหนี้ในระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการรวมหนี้ ก็เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือภาระลูกหนี้ได้ ดังนั้น การลดเพดานอัตราดอกเบี้ย จึงอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในการลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ได้ครอบคลุมมากเท่าที่ควร
....
โฆษณา