Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
U
UK weekly
•
ติดตาม
17 ก.ค. 2021 เวลา 08:25 • ความคิดเห็น
เรียนรู้และต่อยอด “Hacker Way” กลยุทธ์ที่ทำให้ Facebook เติบโตแบบก้าวกระโดด
สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน บทความที่ผมนำมามาแบ่งปันกับทุกท่านในวันนี้นั้น ต่อยอดจากการที่ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ Digital Tips Academy ใน Facebook Fanpage ซึ่งได้พูดถึงปรัชญาของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิก ผู้ก่อตั้ง Facebook หรือ Social Network ที่ทุกท่านรู้จักกันดีในฐานะแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้คนในโลกเชื่อมต่อกันมากขึ้น และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยปรัชญานั้นคือ “Hacker Way” หรือ กลยุทธ์ธุรกิจที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิกใช้บริหารทำให้ Facebook เติบโตอย่างรวดเร็ว และความเชื่อที่ว่าในโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ และ ทุกสิ่งย่อมถูกเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ ซึ่งกลยุทธ์ “Hacker Way” ประกอบด้วยค่านิยมทั้งหมด 5 ประการ โดยผมจะขออนุญาตแบ่งปันมุมมองของผมผ่านค่านิยมทั้ง 5 ประการ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปทำความรู้จัก “Hacker Way” ของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิก กันครับ
ประการที่ 1 : Focus on impact
“ถ้าเราอยากสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ เราก็ต้องพยายามแก้ปัญหา “ที่ยิ่งใหญ่” ให้ได้” ประเด็นนี้ทำให้ผมนึกถึงลักษณะการทำงานในองค์กรปัจจุบัน เรามักจะมองเห็น Opportunity มากมาย ทำให้เกิดจำนวนของแผนงานที่อยากทำมากมายและค่อนข้างหลากหลายตามไปด้วย จนบางครั้งเองก็ทำให้เราไม่รู้จะเริ่มจัดการจาก Task ไหนก่อน และ Task ไหนควรจะทำให้สำเร็จโดยเร็ว พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือหลักในการ Priority หรือ การจัดลำดับความสำคัญที่เราละเลยไป เพราะคิดว่าทุกอย่างมันสำคัญเท่า ๆ กันหมด และควรจะรีบดำเนินการทำให้สำเร็จโดยเร็ว
ย้อนกลับไปที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิก กล่าวไว้ในประการที่ 1 ว่าเราควร Focus on impact ซึ่งการที่จะทำให้เรารู้ได้ว่างานไหนมี Impact มากหรือน้อยเท่าไหร่นั้น? มีวิธีประเมินโดยเป็นแนวทางในการพิจารณาเปรียบเทียบกัน ยกตัวอย่างเช่น
1) Market Size ขนาดของตลาด
2) Market Growth แนวโน้มการเติบโตของตลาด
3) ปัญหาที่ยิ่งใหญ่นั้น ยังไม่มีผู้เล่นรายใดแก้ไขปัญหาได้ และ ยากต่อการเลียนแบบ รวมถึง
4) ถ้าเราพัฒนา ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่แก้ไขปํญหานั้น ลูกค้าจะยอมจ่ายในราคาที่ให้ค่ามากกว่าสินค้าทั่วไป
โดยหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อนี้เองที่จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่ทำให้เราสามารถ ประเมินเพื่อคัดเลือก Focus on impact ได้
นอกจากนี้ผมขอพูดถึงประเด็นที่ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องของการปรับสูตรธุรกิจ SCG “ลดเรื่องที่จะทำ ทำทีละเรื่องให้เสร็จ” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ว่า "SCG จะทำงานแข่งกับเวลา ส่งมอบนวัตกรรมป้องกันโควิด 19 เช่น ห้องตรวจหาเชื้อ ห้องไอซียู อุปกรณ์ขนย้ายผู้ป่วย เตียงสนามกระดาษ ฯลฯ เพื่อปกป้องบุคลากรการแพทย์และคนไทย ให้พ้นจากวิกฤติโควิด 19ไปด้วยกัน " ก็เป็นผู้นำและองค์กรตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับประเด็นนี้ที่ว่า “ถ้าอยากสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องแก้ปัญหา “ที่ยิ่งใหญ่” ให้ได้” และอย่าลืมนะครับว่า “ลดเรื่องที่จะทำ ทำทีละเรื่องให้สำเร็จ แล้วค่อยทำเรื่องอื่นต่อ”
ประการที่ 2 : Move Fast
“หลายบริษัทพอเติบโตไปถึงจุด ๆ หนึ่งก็ชะลอตัวเองลง เพราะกลัวการทำอะไรผิดพลาด มากกว่ากลัวเสียโอกาสดี ๆ ไป” อีกหนึ่งปัญหาขององค์กรที่เก่าแก่นั้น คือการมีโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่และทำงานหลายลำดับขั้นตอน ส่งผลให้กว่าหนึ่งไอเดียจะถูกพัฒนา สร้างและสำเร็จได้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ พิจารณาอนุมัติในแต่ละขั้นตอนหลายขั้นตอน ซึ่งเวลาที่เราใช้ดำเนินการ มันเทียบเท่ากับ เวลาที่เราสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไป
ตัวช่วยที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ คือ การลดลำดับขั้นตอนในการทำงานลง เพื่อให้ง่ายและรวดเร็วต่อการดำเนินการ ซึ่งองค์กรใหญ่ที่อยู่มาอย่างยาวนาน ควรนำวิธีการการทำงานแบบสตาร์ทอัพมาประยุกต์ใช้ โดยในปัจจุบันมีแนวคิดการทำงานแบบสตาร์ทอัพที่ค่อนข้างหลากหลายและน่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดแบบ Agile หรือ ลักษณะของการทำงานเป็นทีม มีการสื่อสารและ Update งานกันอย่างต่อเนื่อง ผิดพลาดได้ แต่ความผิดพลาดที่เกิดนั้นต้องถูกแก้ไขโดยเร็วที่สุด หรือองค์กรต้องปรับตัวจัดแบ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบ(Sandbox) ที่ช่วยรองรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานได้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การแก้ไข และ ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุปนั้นคือ องค์กรควรจะ Lean และปรับรูปแบบการทำงาน เพื่อให้ง่ายต่อการ Move Fast เราจะได้ไม่เสียโอกาสดี ๆ ไป
ประการที่ 3 : Be Bold
ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากครับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิก บอกว่า “การสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ย่อมมีความเสี่ยง ทำให้หลายบริษัทกลัว และ ไม่กล้าตัดสินใจลงมือทำ(สิ่งที่ควรจะทำ)” “แต่ในโลกที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลยคือเครื่อง การันตีแห่งความล้มเหลว” และ “อีกคติที่เราชอบพูดกันคือ ความเสี่ยงสูงสุด คือ การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย”
ประเด็นนี้เป็นมุมคิดที่ดีนะครับที่ผู้นำองค์กรควรนำมาปรับใช้ เพราะในปัจจุบันถ้าเราต้องการจะมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือแม้แต่ การท้าทายความสามารถของตัวเองโดยการคิดค้นออกแบบสินค้า หรือ บริการใหม่ ๆ สู่ตลาด ถ้าเราไม่ยอมเสี่ยงที่จะเริ่มทำในตอนนี้ ก็เท่ากับเราไม่ได้ทำอะไรเลย เผลอ ๆ เราได้ก้าวถอยหลังจากสนามไปก้าวหนึ่ง ในขณะที่คู่แข่งกำลังหาทางลองผิดลองถูกเพื่อก้าวไปข้างหน้าอยู่ทุกนาทีก็ได้ครับ สิ่งสำคัญที่ผมชวนทุกท่านคิดตามในประเด็นนี้
คือ กล้าตัดสินใจ“การลงมือทำ” เมื่อผู้นำองค์กรตัดสินใจเสี่ยงที่จะลงมือทำแล้วต้องลดความเสี่ยงด้วยการสนับสนุน (Support) ทั้งในเรื่องของงบประมาณ คน กำลังใจรวมถึงคำแนะนำ เพราะทีมที่ทำเรื่องใหม่เรื่องที่เสี่ยงต้องการแรงขับเคลื่อนให้ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคอีกมากมาย อย่างที่ผมเคยนำเสนอไปว่ามา “ถ้าเราไม่เสี่ยงในวันนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรมาการันตีได้ว่า ธุรกิจที่เราทำอยู่อย่างมีกำไรในวันนี้ จะเป็นกำไรต่อไปในวันพรุ่งนี้ หรือวันต่อไป”
ประการที่ 4 : Be Open
“ที่ Facebook เราพยายามให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรในทุกแง่มุม เพื่อให้พวกเขาตัดสินใจและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ” ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าไม่ว่าองค์กรไหนก็อยากจะเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการเติบโตขององค์กรนั้น มาจากการที่พนักงานในองค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพของผลงานจะเกิดได้อย่างสูงสุดเมื่อพวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลองค์กรได้เต็มที่ รวมถึงพวกเขาเหล่านั้นต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้นำองค์กรด้วย หากผู้นำองค์กรสามารถมอบความไว้วางใจ และพยายามที่จะให้พนักงานทุกคนเข้าถึงข้อมูลขององค์กรที่เอื้อต่อประโยชน์ในการทำงานออกมาให้มีประสิทธิภาพในแต่ละตำแหน่งหน้าที่นั้น การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ
ประการที่ 5 : Build Social Value
“เราต้องการให้คนใน Facebook คิดทุกวันว่าเราจะสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้อย่างไร?” มาร์ค ซัคเคอร์เบิก พยายามสร้างความหมายของ Facebook ว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์ม Social Media เท่านั้น แต่ Facebook คือ พื้นที่บนโลกออนไลน์ที่สมาชิกทุกคนสามารถแบ่งปันข้อมูล รูปภาพ ความรู้สึกของตนเอง เพื่อทำให้ทุกคนในโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น
Sense of purpose : credit image - Encore Tampa Bay
ประเด็นนี้ในมุมมองของผม เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ถ้าองค์กรหรือทีมใดทีมหนึ่งสามารถสร้างให้คนในองค์กรสามารถรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำ สิ่งที่เขากำลังพัฒนานั้นมันมีความหมายต่อตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า หรือต่อสังคมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร จะทำให้เกิดพลังแรงขับเคลื่อนในการทำงาน ไปสู่เป้าหมายที่เป็นภาพของจุดมุ่งหมายเดียวกัน เห็นวัตถุประสงค์เดียวกัน เห็นเส้นชัยเดียวกัน องค์กรก็จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sense of purpose)
ท้ายนี้ผมอยากฝากให้ทุกท่านลองนำกลยุทธ์ “Hacker Way” ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิก ไปลองปรับใช้กับการทำงานในชีวิตประจำวันกันครับ และ อย่าลืม “ลดเรื่องที่จะทำ ทำทีละเรื่องให้เสร็จ” ด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
บันทึก
1
5
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย