17 ก.ค. 2021 เวลา 13:02 • การศึกษา
7 วิธีคุยโทรศัพท์กับเพื่อน ที่กำลังหัวร้อน
คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่มีเพื่อนที่มักจะนึกถึงคุณเสมอ เมื่อมีเรื่องร้อน ๆ หรือไม่สบายใจ ซึ่งถ้าเราไม่สามารถรับมือกับเพื่อนเหล่านี้ได้ ชีวิตของเราก็จะวุ่นวายมากเลยครับ แต่ถ้าเราสามารถรับมือได้อย่างดี เราก็จะรักษามิตรภาพที่ดีกับเพื่อนไว้ได้ มันจะดีกว่าต้องปล่อยเขาไปแบบนั้นแล้วห่างเหินกันไปนะครับ เอาล่ะครับ ทั้ง 7 ข้อจะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยครับ
1.เน้นฟัง ไม่เน้นแนะนำ
ใช่ครับคนที่กำลังหัวร้อนทุกคน เขาไม่ได้ต้องการคำแนะนำอะไรหรอกครับ แต่เขาต้องการเวลาจากคุณ เพื่อที่จะระบาย และรู้สึกว่า มีใครกำลังรับฟังเขาอยู่ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สามารถฝึกทักษะการฟังได้อย่างชำนาญ คุณจะเข้าใจได้เองว่า แค่ฟังเฉย ๆ ก็แก้ปัญหาได้แล้ว เกินครึ่งครับ
2.จับประเด็นปัญหาให้ได้
ถึงจะบอกว่าเน้นฟัง แต่ถ้าเราเอาแต่ฟังแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพื่อนจะคิดว่าเราไม่จริงใจที่จะรับฟังนะครับ ดังนั้นให้รู้เรื่องคร่าว ๆ ซะหน่อยก็ดีครับ ว่าปัญหาของเขาคืออะไร อะไรทำให้เขาหัวร้อน เราจะได้ต่อยอดกันที่วิธีต่อไปได้นั่นเองครับ
3.ใช้คำเชื่อม หรือคำถาม และโต้ตอบให้เป็น
การโต้ตอบในการสนทนานั้นง่ายมากเลย ครับ และ แต่ กับ หรือ เพราะ ดังนั้น คำในกลุ่มคำเชื่อมเอามาใช้พูดกับเพื่อนได้ครับ เพื่อให้การสนทนานั้นไหลลื่น เพื่อจะได้ระบายมันออกมาให้หมดไม่ให้เหลือค้างในใจเขาอีกครับ
หรืออาจจะใช้คำถามก็ได้ครับ เปิดประเด็นให้เขาระบายมันออกมาให้มากที่สุด คำถามง่ายเช่น ทำไมล่ะ เกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้ไง คำถามง่าย ๆ เหล่านี้จะเปิดประเด็นให้เพื่อนได้พูดทุกอย่างออกมานั่นเองครับ
ถ้าไม่รู้จะถามอะไรอาจจะพูดซ้ำคำสุดท้าย และ/หรือ ใจความสุดท้ายของประโยคก็ได้นะครับแบบนี้จะเป็นการตอบสนองที่ง่ายแต่ได้ผลครับ เพราะมันจะดูเหมือนว่าเราตั้งใจฟังอยู่นั่นเองครับ เช่น
“แก...วันนี้ที่ทำงานแย่มาก ฉันนะหัวร้อนสุด ๆ เลย”
“หัวร้อนเลยเหรอ”
“ใช่แก ก็เพื่อนที่ทำงานฉันน่ะสิสุดจะทนจริง ๆ”
“เพื่อนที่ทำงานแกทำไมเหรอ”
“ก็อีป้าที่เคยเล่าให้ฟังนั่นแหล่ะ”
“อื้ม แล้ว...”
ประมาณนี้นะครับ ลองเอาไปใช้ดูได้ครับ
4.ทำให้รู้ว่ากำลังโกรธ
อันนี้เป็นการเรียกสติเบา ๆ ให้เพื่อนนะครับ เราอาจจะต้องถามเพื่อนว่า นี่แกโกรธอยู่เหรอ หรือ ถามไปตรง ๆ ว่า รู้สึกยังไงเหรอ เพื่อให้คนถูกถามได้รู้ตัวว่าเขากำลังรู้สึกยังไงนั่นเองครับ วิธีนี้จะช่วยให้เพื่อนใจเย็นลงในเวลาร้อน ๆ แบบนี้นั่นเองครับ
5.แสดงความเข้าใจ
พยายามแสดงความเข้าใจว่า ถ้าเป็นเราในสถานการณ์แบบนั้น เราก็อาจจะรู้สึกแบบเดี่ยวกันกับเพื่อนก็ได้ เทคนิคนี้จะทำให้เพื่อให้เพื่อนรู้ว่าเราอยู่เคียงข้างเขาและไว้ใจที่จะเล่าต่อไปครับ หลาย ๆ คนอาจจะใจเย็นลงมากแล้วเวลาที่มีคนเข้าใจเขาแล้วก็เป็นได้ครับ ไม่ต้องเข้าข้างจนเว่อนะครับ แค่แสดงออกเบา ๆ ก็พอว่า ถ้าเป็นเราเราก็คงรู้สึกแบบเธอเหมือนกันนะ
6.อย่าอินกับเรื่องที่ฟังมากไป
ปัญหาที่เรารับฟังมาอาจจะทำให้ใจเราหวั่นไหวและร่วมโมโหไปกับเพื่อนก็ได้ครับ ให้จำไว้ว่า เราเป็นเพียงผู้รับฟังเท่านั้นครับ ปัญหาที่เขาทุกข์ใจไม่ใช่ปัญหาของเรา และเพื่อนคงรู้สึกไม่ดีเวลาที่เราฟังแล้วทุกข์ใจไปด้วยแน่ ๆ ครับ ดังนั้นให้มันจบที่ตรงกลางระหว่าเรากะเพื่อนดีกว่าครับ อย่าเอามาเป็นประเด็นใจชีวิตเลยครับ
7.ติดตามหลังวางสาย
หลังคุยกันเสร็จให้โทรไปอีกสักครั้ง เพื่อถามว่ายังรู้สึกยังไงกับเรื่องที่เล่าไปแล้วครั้งก่อน แบบนี้เป็นการดูแลใจกันแบบง่ายที่สุดครับ เพื่อนที่โทรมาจะรู้สึกดีมาก ๆ เลย แต่อย่างติดตามเพื่อเพิ่มไฟโทสะนะครับ เอาแค่เช็คดูก็พอว่าที่เขาหัวร้อน ๆ นั้น เย็นลงหรือยัง
เป็นไงบ้างครับ 7 วิธีที่ว่ามา ลองเอาไปใช้ดูนะครับ อาจจะไม่ได้ทุกรายนะครับ แล้วแต่รายไป แต่หลัก ๆ ส่วนใหญ่วิธีนี้จะทำให้เราและเพื่อนที่หัวร้อนโทรมา ไม่บาดเจ็บกันทั้งคู่ครับ
โฆษณา