18 ก.ค. 2021 เวลา 14:00 • สิ่งแวดล้อม
สองภาพนี้บอกอะไรกับเรา
2
ภาพบนคือไฟป่าที่กำลังเผาไหม้รุนแรงอันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนที่จู่โจมหลายพื้นที่ทางด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ภาพล่างคือความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันในเยอรมนี ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 180 คนและบ้านเรือนพังทลายอีกเป็นจำนวน มาก
คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งเป็นประวัติการณ์ และเกิดอุณหภูมิสูงสุดทำลายสถิติในหลายๆเมือง รวมทั้งเมือง Lytton ที่มีอุณหภูมิพุ่งสูงเกือบ 50 องศา สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้ของแคนาดา ต่อมาก็เกิดไฟป่าจนต้องอพยพคนหนีออกจากเมืองทั้งหมด
ในรอบ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงแล้วถึง 4 ครั้ง ทางด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จนทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงในหลายพื้นที่ โดยตอนนี้ยังมีไฟไหม้อยู่กว่า 71 แห่ง กินพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่
1
พื้นที่ด้านตะวันตกกว่า 60% ของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง เป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับอุณหภูมิที่สูงผิดปกติไปมาก
ส่วนภาวะน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงที่เยอรมนีก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศไม่อยากเชื่อว่า สภาพอากาศสุดขั้วจะมาถึงเร็วขนาดนี้
ปริมาณน้ำฝนที่สูงชนิดทำลายสถิติในลุ่มน้ำไรน์ (148 ลิตร/ตร.ม. ภายในเวลา 48 ชม) ทำให้บ้านเรือนนับหมื่นหลังเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 180 คน มีการประเมินความเสียหายเบื้องต้นอย่างน้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน Potsdam ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดยอมรับว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง ทั้งในเรื่องของความรุนแรงและความเร็วของหายนะที่เกิดขึ้น
1
ปริมาณน้ำฝนในเมือง Koln-Stammheim ที่สูงถึง 154 มม.ในรอบ 24 ชม เป็นอะไรที่เหลือเชื่อ ก่อนหน้านี้ปริมาณน้ำฝนสูงสุดที่วัดได้ในรอบ 24 ชม.อยู่ที่ 95 มม. เท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศคาดการณ์มานานแล้วว่า ภาวะโลกรวน (climate change) จะทำให้เกิดน้ำท่วม คลื่นความร้อน พายุ และสภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ รุนแรงมากขึ้น แต่ภาวะคลื่นความร้อนและน้ำท่วมฉับพลันล่าสุด ก็ยังเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายมาก
คำกล่าวที่ว่า โควิดคือเผาหลอก ภาวะโลกรวน (climate change) คือเผาจริง คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินไปอีกแล้ว
โฆษณา